มีนา
ถึง...พันธกุมภา
ตั้งแต่ตกงาน พี่ยังไม่ได้หยุดงานเลย
พี่พบว่าโลกปัจจุบันมีงานอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนิยามมันว่าเป็นงานอย่างไร สำหรับชีวิตพี่ตอนนี้ มีงานแบบที่ถูกให้คุณค่าทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม และงานที่ไม่ได้ถูกให้ค่าเชิงเศรษฐกิจแต่จำเป็นต้องทำ อันนี้ยังไม่ได้นับรวมเรื่องทางธรรมที่พี่ไปพบมา คืองานที่ทำแล้วไม่มีคุณค่าทางโลกแต่ได้ “บุญ”
คิดดูสิว่า... ในโลกเรามีงานมากมายขนาดไหน
งานที่พี่ลาออกมาเพื่อขอพัก พี่ยังไม่ได้พักเลยจนกระทั่งบัดนี้ เพราะพี่ทำแต่งานที่ไม่ให้ค่าทางเศรษฐกิจ อย่าง การดูแลแม่ งานบ้าน และการดูแลบ้าน และยังงานอื่นๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับครอบครัว ไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน ไม่ได้อยู่ที่เนื้องานที่ทำให้เราได้รับการชื่นชมในความเก่ง แต่อาจจะได้รับความชื่นชมในความดี ... ยังไงก็อย่าติดดีละกัน
พี่วางแผนคร่าวๆ ว่าพี่จะกลับมาบ้าน พักสักครู่ เพื่อจะดูแลบ้านและแม่ที่ต้องย้ายบ้านให้เรียบร้อย เราเองก็ย้ายบ้านเหมือนกัน ก็ต้องดูแลข้าวของที่แม้จะไม่มาก แต่ก็ต้องจัดเก็บให้เรียบร้อย จากนั้นก็คิดว่าจะไปปฏิบัติธรรมเพื่อพักใจ พักจิต ให้เราเองได้พักจริงๆ บ้าง ... นี่เป็นความคาดหวังของพี่
พี่ไปวัดแห่งหนึ่ง พบกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาปฏิบัติธรรม ทุกคนล้วน ว่างงาน ตกงาน ไม่ได้ทำงานประจำที่มีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ น้องคนหนึ่งก็เพิ่งออกจากงานประจำ แล้วมาปฏิบัติธรรมเพื่อเรียนรู้ธรรมและปฏิบัติธรรม อีกสองคนปิดเทอมจากการเรียนศิลปะ อีกคนหนึ่งไม่ทำงานนานแล้ว แต่ก็สามารถอยู่ได้ คนนี้พี่เรียกเขาว่านักปฏิบัติธรรมมืออาชีพ
พี่ผู้หญิงคนหนึ่งที่มาปฏิบัติธรรมเพราะไม่ได้ทำงานเหมือนกัน เธอเพิ่งหมดภาระหน้าที่ทางโลก คือการดูแลแม่ แม่เธอเพิ่งเสียชีวิต แต่ก่อนหน้านั้น เธอไม่ได้ทำงานประจำนานแล้ว พี่เขาเป็นลูก 1 ใน 5 ของแม่ ที่ทุกคนตกลงปลงใจและคุยกันว่าขอให้เธอลาออกจากงานมาเพื่อดูแลแม่ และคอยเป็นเพื่อนแม่ทำในสิ่งที่แม่อยากจะทำ เพราะลูกทั้ง 5 คนเหลือแม่คนเดียว
พี่เขาทำหน้าที่นี้มา 10 กว่าปี ทุกเดือนพี่ๆ น้องๆ จะส่งเงินค่าใช้จ่ายมาให้ พี่น้องอีก 4 คนค่อนข้างมีฐานะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พี่คนนี้และแม่จะอยู่อย่างสุขสบายกายพอสมควร และได้มีโอกาสอยู่กับตลอดช่วงระยะเวลา ได้มีเวลาที่จะดูแลซึ่งกันและกัน รวมทั้งตราบสิ้นลมหายใจ
งานอย่างนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้ว แต่มีคุณค่าทางจิตใจ จะตีเป็นราคาได้ไหม
ซึ่งต่างจากอีกกรณีหนึ่งที่พี่ได้พบเจอกับ เพื่อนรักอีกคนหนึ่ง แม่ของเพื่อนป่วยหนักมาก จนกระทั่งแม่เขาหัวใจหยุดเต้นไปขณะกำลังทำการรักษา เพื่อนคนนี้พยายามยื้อชีวิตแม่ทุกทาง เพื่อให้แม่ได้มีชีวิตอยู่ ผู้หญิงสองคนนี้ไม่ได้ต่าง แต่ความต่างอยู่ตรงที่ เพื่อนพี่คนนี้บอกว่า
ตอนที่อยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาล มีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จำนวนมาก ที่มาอยู่ในห้องรวมดังกล่าว ลูกหลานหลายคนพูดออกมาว่า “เมื่อไรจะตายเสียที…” “ครั้งนี้เป็นครั้งที่เท่าไรแล้วที่เข้าโรงพยาบาล...ไม่เห็นตาย” “ลางานมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว...”
เพื่อนพี่คนนี้เฝ้าแต่สงสัยว่า ทำไมลูกหลานจึงอยากให้พ่อแม่ตายนัก ทั้งๆ ที่เพื่อนเราคอยเฝ้าห่วงใยอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อไรที่แม่จะดีขึ้น และมีชีวิตอยู่กับเขาต่อไป หรืออย่างน้อย การมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ก็เพื่อทำความดี ทำในสิ่งที่มีอยู่ให้ดี อาจจะไม่ดีไปมากกว่าเดิม แต่การได้แก้ไขในสิ่งที่ค้างคาใจก็น่าจะเป็นโอกาส สำหรับคนที่ยังมีชีวิต
พี่คิดว่า ความเจ็บป่วย หรือการต้องดูแลคนเจ็บ คนป่วย ที่เป็นพ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ด้านหนึ่งเป็นภาระหน้าที่ แต่ไม่ใช่งานที่ทำแล้วได้เงิน แต่เป็นงานที่มีคุณค่าทางจิตใจ และทำให้เราปฏิบัติธรรม เห็นในความไม่เที่ยงแท้ของชีวิต เห็นชีวิตของเราที่วันหนึ่งก็จะก้าวล่วงไปสู่ความแก่ ความเจ็บป่วย ความตาย ในที่สุด
การเรียนรู้ธรรมะจากคนใกล้ชิด เป็นเรื่องยากเหลือเกิน เพราะเราต่างมีความคาดหวังจากทั้งตัวเราที่มีต่อเขา ... แม่ที่มีต่อลูก ความคาดหวังที่มีต่อแฟน ความคาดหวังที่มีต่อสามีหรือภรรยา ลูกมีต่อแม่... ความสัมพันธ์เหล่านี้แหละที่เป็นห่วงผูกเอาไว้...
หากเราปฏิบัติธรรมกับการเรียนรู้ชีวิตไปด้วยได้ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะการไปอยู่วัด ก็ใช่ว่าจะหนีโลกพ้น ยังมีเรื่องราวของมนุษย์ โลก และความเป็นคนที่เป็นสัตว์สังคมไปอยู่ที่นั่นด้วย
แม้สถานที่จะช่วยให้เราได้ละทิ้งจากบางเรื่องทางบ้าน แต่เราก็ไม่ได้ละทิ้งทุกอย่าง ตราบที่เรายังปล่อยวางมันไม่ได้
งานที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ แต่มีคุณค่าทางจิตใจมีอยู่มากมาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างมาก คนหลายคนในโลกก็สามารถทำให้งานทั้งสองอย่างในชีวิตมีสมดุล คนบางคนทำได้อย่างเดียว หรือคนบางคนไม่ทำเลย...
สำหรับพี่น่าจะดีกว่า ถ้าสร้างสมดุลกับการทำงานทั้งสองอย่าง อย่างปล่อยวาง และลดความเป็นตัวตน พี่เองก็อยากประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่ การงาน แต่อาจจะไม่ใช่วันนี้ เดี๋ยวนี้ หรืออาจจะไม่...เลยในชีวิตนี้ สิ่งที่ทำได้ก็ปล่อยวางมัน
เคยมีหลายคนบอกว่า “ปล่อยวาง” พูดน่ะง่าย แต่ทำน่ะยากเหลือเกิน
พี่เพียงแต่เรียนรู้โลก และรู้จักตัวเอง เพื่อวางแล้วละมันไปในที่สุด ... แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกครั้งหรอกนะ เราอาจจะพบว่า แม้แต่ครูบาอาจารย์ที่เก่งกว่าเรามากมาย เรียนรู้ธรรมะมากมาย ก็อาจจะยังยึดกับอะไรบางอย่าง ... ยึดตำรา ยึดความรู้ เพราะตัวตนเป็นครู อาจารย์ คนนับถือในความรู้นั้นๆ มาก ...ก็เป็นได้