Skip to main content

มีนา


ถึง...น้อง พันธกุมภา


ความขี้เกียจมันไม่เข้าใคร ออกใครจริงๆ ...

แต่ตอนนี้ต้องเริ่มลุกขึ้นมาทำงานแล้ว เพราะคนที่อดทนไม่ได้เมื่อเราไม่ทำงานก็คือ “แม่” ของเราเอง


แม่ของพี่ เป็นภาพสะท้อนของคนจีนในเมืองไทย รุ่นที่ 2 ที่ยังคง ลำบาก ทำงานหนัก และถือปรัชญาพุทธ “ขงจื๊อ” ในเรื่องการทำงานว่าต้องมี ความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ความขยัน อดทน และอดออม แม่มีทุกอย่างจริงๆ แต่พี่อาจจะไม่มีทุกอย่าง อย่างที่แม่มี


เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่เรามีความเหมือนและความต่าง แม้เราจะเติบโตมาท่ามกลางครอบครัวที่สอนให้เราเป็นคนค้าขาย เราอาจจะไม่ได้อยากค้าขาย ครอบครัวสอนให้เราทำงานหนัก ในที่สุดเราอาจจะเลือกที่จะไม่ทำงานหนัก


ทำไม เราจึงแตกต่าง...


พี่คิดว่า ทางเลือกและทางเดินของเรา ย่อมเป็นสิ่งที่เราเลือกเอง เลือกที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเรา เมื่อเราเข้มแข็งพอ ไม่ว่าเราจะได้รับการสนับสนุนหรือไม่ก็ตาม


เมื่อตอนที่พี่ยังเด็ก จะต้องทำงานที่เกี่ยวกับการค้าขาย คือ การช่วยที่บ้านขายของ ทำงานบ้าน และใช้ชีวิตเหมือนเพื่อนๆ เด็กๆ คนอื่นๆ ไปด้วยในเวลาเดียวกัน คือเรื่องการศึกษา ...


สำหรับพี่แล้วเป็นเด็กที่ขี้เกียจอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนมาก พี่จะอ่านรอบเดียวเท่านั้น แต่ตอนที่เรียนก็จะตั้งใจเรียน เนื่องจากเรารู้สึกว่าการฟังเป็นเรื่องสนุก เราสนุกและตื่นเต้นกับการได้นั่งเรียน ได้รู้อะไรใหม่ๆ และคิดอะไรตามที่ครูเล่าให้ฟัง


แต่เท่าที่จำได้ วิชาพุทธศาสนา พี่ไม่ได้อะไรมากนัก นอกจากการสวดมนต์ เพราะสมัยนั้นมีการแข่งขันสวดมนต์ และทุกคนก็แข่งกันให้ได้เข้าประกวด เพราะคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดี เหมือนกับแข่งกันเรียน และเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการเรียน เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาในชั้นมัธยมสมัยสิบกว่าปีก่อน ... ไม่รู้ว่าสมัยนี้มีหรือเปล่า


พออยู่บ้าน ก็ต้องทำงาน พี่เลยอดรู้สึกไม่ได้ว่า ชีวิตมีแต่เรื่องงาน ช่วง 3-4 เดือนก่อนจึงคิดว่า เราน่าจะหยุดงานบ้าง หยุดเพื่อฟังเสียงลมหายใจของเราบ้าง


แต่คนที่น่าจะเข้าใจเรามากที่สุดคือ แม่กลับบอกเราว่า ... “ทำงานเถอะลูก” ... เซ็งเลย


พอมาถึงจุดนี้ พี่นึกถึงชีวิตของเพื่อนๆ ที่ต่างทำงานเพื่อหาเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต บริโภคสิ่งต่างๆ ตามความต้องการ บางคนเป็นพยาบาล ทำงานปกติและต้องเข้าเวร เพื่อให้มีเงินพิเศษมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ดูแลครอบครัว พ่อแม่ เดือนหนึ่งทำงานไม่ต่ำกว่า 26-28 วัน วันหนึ่งทำงาน 8-12 ชั่วโมง บางวันก็ควบ 3 เวร 24 ชั่วโมง


เพื่อนที่ทำงานโรงงานอยู่ในสายการผลิต สมัยที่ยังมีการสังการผลิตค่อนข้างมาก บางคนทำงาน 2 กะ (2 ช่วงเวลา คือ 16 ชั่วโมง) บางคนทำงาน 3 กะ (24 ชั่วโมง) ถ้าวันไหนได้ทำงาน 8 ชั่วโมงก็จะรู้สึกว่าชีวิตมันโล่งๆ


ครอบครัวที่สนิทกันครอบครัวหนึ่งเป็นเจ้าของโรงงานรับซื้อผลผลิตทางการประมง คือ ปลา กุ้ง จากทะเลเพื่อมาแปรรูป วันหนึ่งเขาทำงานไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง


พี่เห็นคนเหล่านี้มีเงินใช้มากมาย ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีอาจจะได้น้อยหน่อย เศรษฐกิจดีๆ ซื้อง่ายขายคล่องก็อาจจะได้มากหน่อย แต่ทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อย และไม่มีเวลาใช้เงิน ไม่มีเวลากระทั่งไปเดินซื้อของกินของใช้ส่วนตัว ไม่มีเวลาที่จะขับรถที่ซื้อไว้


หลายคนเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายที่สะสมความเหนื่อยก็นำมาซึ่งโรคภัย คือร่างกายฝืนกระทั่งไม่ไหวแล้ว ไม่มีเรี่ยวแรงจะต่อสู้ต่อไป ที่โชคร้ายก็เป็นมะเร็ง หรือเส้นเลือดในสมองแตก เนื่องจากความเครียด


พี่เคยถามกับพี่สาวว่า... ทำงานเพื่ออะไร?...”

คำตอบคือ “พออายุเยอะๆ ไป จะได้สบายไง...”

เราก็คุยกันว่า “มันก็คือการพักใช่ไหม?”

เธอก็ตอบว่า “อืม...ก็ใช่”


พี่ก็เลยเอาข้ออ้างของความขี้เกียจมาบอกเขาว่า “ฉันก็พักอยู่นี่ไง ไม่ต้องรวยก็พักได้”

โชคดีที่บ้านเมืองของเราไม่ใช่ประเทศที่อาหารการกินแพงมากมาย ถ้าเรารู้จักใช้เราก็ไม่ได้อดอยากยากแค้นอะไร


เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง (ที่หลายคนอาจจะเคยฟังมาบ้างแล้ว) พี่ชอบมาก อยากเล่าให้ฟัง...


มีผู้ชายคนหนึ่ง วัยประมาณ 50-60 ปี นั่งตกปลาอยู่ริมน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ สวยงาม เหมาะกับการพักผ่อนมาก เขานั่งในท่าสบายๆ เขามีกระติกใส่เหยื่อตกปลา มีน้ำไว้ดื่ม อาหารพกใส่ห่อนิดหน่อย ใส่หมวก และนั่งอยู่ใต้ร่มไม้


ผู้ชายอีกคนหนึ่งขับรถเบนซ์มาจากเมืองหลวงเพื่อมาดูที่ดินผืนนี้ แล้วเขาจะมาพัฒนาเป็นท่าเรือ รีสอร์ท และสถานที่พักผ่อนตกปลากสำหรับคนกรุง เนื่องจากเขาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์


ผู้ชายทั้งสองคนนี้อายุเท่ากัน และได้พบกัน ขณะที่ผู้ชายคนแรกกำลังนั่งตกปลาอยู่นั้นเอง

ผู้ชายคนที่สองถามว่า “คุณมานั่งที่นี่ทำไม?”

ผู้ชายคนแรกตอบว่า “แล้วคุณล่ะมาทำไม?”


ผู้ชายคนที่สองจึงเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตอนแรกเขาเติบโตมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีอาชีพรับซื้อปลาจากทะเลแห่งนี้ อยู่ห่างไปไม่มากจากจุดที่ทั้งสองยืนอยู่ ครอบครัวเขามีสะพานปลา โรงงานขนาดใหญ่ โครงการของเขาตอนนี้ก็คือจะขยายธุรกิจครอบครัวที่มีอยู่เพื่อให้มีความมั่นคงขึ้น และขยายมาทำรีสอร์ท ท่าเรือ และสถานพักตากอากาศ บนที่ๆ ยืนอยู่นี้


ผู้ชายคนแรกถามว่า “คุณทำงานหนักมากมายเพื่ออะไร?”

ผู้ชายคนที่สองตอบว่า “ผมจะได้พักตอนแก่ไง แล้วคุณล่ะ”

ผู้ชายคนแรกตอบว่า “ผมก็พักอยู่นี่ไง”




 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์