Skip to main content

พันธกุมภา


ถึง มีนา

 

ปลายปี 2551 นี้ ผมมีโปรแกรมไปเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตอีกครั้ง ภายหลังจากเมื่อสิ้นปี 2550 ที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปที่วัดป่าสุคะโตแล้วและได้พบหลัก พบหนทาง หลายอย่างที่เหมาะสมกับตัวเองยิ่งนัก

 

แต่การเดินทางไปครั้งนี้ไม่เหมือนปีก่อน....มีหลายเรื่องเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง ไปตามกาลเวลา สิ่งที่เข้ามารับรู้ทำให้อารมณ์ของผมเกิดขึ้นไปต่างๆ นานา และสิ่งที่เสียใจที่สุด ทำให้ใจหม่นหมองมาหลายวัน นั่นคือการมรณภาพของ "หลวงปู่" เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ย้อนกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน, ในตอนที่ผมเพิ่งรู้เรื่องการอาพาธของหลวงปู่ จาก "พี่อุ๊" พี่สาวผู้เป็นญาติธรรมที่แสนดี ได้โทรศัพท์มาบอกกับผมว่า หลวงปู่ไม่สบายและกำลังจะเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬา

 

"หลวงปู่เป็นอะไรครับ" ผมถามด้วยความตกใจ

พี่อุ๊ ตอบด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า "หลวงปู่เป็นมะเร็งตับ ไม่รู้ระยะที่ไหน แต่ท่านฉันอาหารไม่ได้แล้ว ยังไงเราไปเยี่ยมทันกันไหม เพราะท่านจะมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ ที่โรงพยาบาลจุฬา"

 

ผมตอบตกลง และในใจรู้สึกถึงความเศร้าที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ผมทำอะไรไม่ถูก พยายามรู้สึกตัว และตั้งสติ ก่อนที่จะติดต่อไปยังโรงพยาบาลจุฬา เพื่อถามนัดหมายเกี่ยวกับการเข้ารักษาอาการของหลวงปู่ หรือ "พระอาจารย์วรเทพ ฉนฺทพหุโล"

 

เมื่อติดต่อโรงพยาบาลจุฬา ได้แล้ว และรับรู้ การเดินทางเข้ารักษาตัวของหลวงปู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมติดต่อทางหลวงปู่ไมได้ จึงเลือกติดต่อโดยตรงกับโรงพยาบาลจุฬาเลย และเมื่อทราบแล้ว ผมจึงได้ติดต่อกลับไปหาพี่อุ๊ เพื่อเดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่

 

เมื่อไปถึง เราพบหลวงปู่กับหลวงพี่ตุ้ม หรือ "พระอาจารย์ สันติพงศ์ เขมปญฺโญ" หลวงปู่นอนพักอยู่บนเตียง ใบหน้าซีดผอมลงมากกว่าเดิม ปากซีดจาง หลวงปู่ยิ้มและทักทายเราสองคนด้วยความเอ็นดู หลวงพี่ตุ้ม ยืนอยู่ปลายเตียงนอน และร่วมทักทายเราสองคนด้วยเช่นกัน

 

ผมสอบถามอาการป่วยของหลวงปู่ ท่านเล่าให้ฟังว่าอาการป่วยด้วยมะเร็งตับนี้เกิดขึ้นนานมาแล้วเมื่อหลายปีก่อน และก็ค่อยๆ เบาลง และหลังจากที่ท่านได้ไปที่สวนแสงอรุณ ท่านก็เกิดอาการกินอะไรไม่ได้ และอาหารดูจะหวานๆ ในตอนนั้นหลวงพี่ตุ้มได้พาไปตรวจและภายหลังทราบว่าเกิดจากมะเร็งที่ตับออกอาการ

 

หลวงปู่เล่าด้วยรอยยิ้มอยู่ตลอดเวลา แวบตาของท่านมีเมตตาต่อผมมาก ส่วนผมนั่งบนเก้าอี้ข้างๆ ท่าน พี่อุ๊ ยืนอยู่ถัดไป หลวงปู่บอกว่าท่านคิดไว้เสมอว่าวันหนึ่งจะต้องเกิดอาการนี้ขึ้น เพื่อเมื่อก่อนที่ท่านจะบวช ท่านก็เคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และรับประทานอาหารที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์เท่าไหร่นัก ท่านยังคิดอยู่ว่าจะเป็นอะไรก่อน จะเป็นที่ตับหรือที่ปอด

 

"หลวงปู่คงจะอยู่กับตัวนี้ เราเคยรับรู้มาแล้วว่าเป็นอย่างไร อาการที่เราเป็น จิตเราบันทึกได้ มีความจำ มันอยู่ในความจำ แต่ถ้าให้ยา อาการคงแรง ไม่รู้จะทนได้ไหม เพราะจิตเรายังไม่เคยรับรู้อารมณ์นั้น แต่ยังไงก็จะพยายามดู ต้องอยู่กับเขาให้ได้ กายป่วยแต่ใจเราไม่ป่วยด้วยอยู่แล้ว" หลวงปู่เล่าด้วยรอยยิ้มแล้ว ทำให้ผมสัมผัสถึงธรรมที่ท่านถ่ายทอด

 

ขณะที่ผมฟังและสนทนากับท่าน ผมไม่กล้าที่จะร้องไห้ให้ท่านรู้ว่าผมเสียใจเพียงใด ในใจมีแต่ความกลัว กลัวหลวงปู่จะมรณภาพ และท่านเองก็ดูเหมือนจะเลือกที่จะอยู่กับมะเร็งและไม่ขอฉีดคีโม ผมน้ำตาเอ่อนองเล็กน้อย พี่อุ๊ ปลอบผมโดยลูบที่ไหล่เบาๆ ....

 

ในช่วงที่สนทนากับหลวงปู่ หลวงพี่ตุ้มท่านก็ได้ร่วมพูดคุยกับเราด้วย ท่านแนะนำเรื่องการปฏิบัติธรรม สอนให้เรา "ดูจิต" เหมือนเรา "แอบมอง" คนที่เราชอบ คือมองเขาแบบไม่ให้เขารู้ตัว ไม่งั้นเขาจะอาย เหมือนกับการดูจิตที่ค่อยๆ ดู ไม่จงใจไปเพ่ง แต่ให้รู้ไปทีละนิดๆ สะสม สภาวะไปเรื่อยๆ และจิตจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่จิตของเรา

 

ผมและพี่อุ๊รับฟังด้วยความตั้งใจ และเราคุยกันว่า คืนนี้จะให้ผมเฝ้าดูแลหลวงปู่ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องสุขภาพของผมที่ต้องรับการตรวจไตและข้อหัวเข่า ทำให้ไม่สามารถอยู่ดูแลท่านได้ จนสุดท้ายต้องขอลาท่าน และกลับไปทำภารกิจของตัวเอง....ก่อนกลับ ผมเอื้อมมือไปจับกับมือของหลวงปู่ เรากุมมือกันไว้ แม้ไม่มีคำพูดใดๆ ออกมา แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกที่ได้รับจากท่าน

 

ภายหลังจากกลับออกมาจากโรงพยาบาลจุฬา ผมก็ไม่ได้มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมท่านอีกเลย เพราะงานที่ต้องจัดการมากมาย และภาระที่ทำไม่เสร็จ แต่ผมก็ได้บอกกับพี่อุ๊ไว้ว่า ปลายปีนี้ ผมจะไปหาหลวงปู่ เพราะตอนที่คุยกับหลวงปู่ ผมได้บอกท่านแล้วว่าจะไปหาตอนปลายปี

 

ผมจำได้ว่าเมื่อครั้งที่เดินทางไปวัดป่าสุคะโตตอนแรกนั้น หลวงปู่ได้รับผมไว้สอนปฏิบัติ น้ำเสียงฉะฉานของท่าน ความอ่อนโยนและเมตตาที่ได้รับจากท่านทำให้ผมรู้สึกดีใจที่ได้พบครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบท่านหนึ่ง และ "ดงไผ่" คือพื้นที่ฝึกตนอันเปี่ยมด้วยความสงบ สัปปายะ อย่างยิ่ง

 

แม้ว่าตอนแรกผมจะคิดว่าหลวงปู่คือ หลวงพ่อไพศาล วิสาโล แต่เมื่อผมได้รู้ว่าท่านไม่ใช่ ผมก็ไม่ได้เสียใจ แต่กลับดีใจมากกว่าที่ได้พบกับท่าน และท่านยังเมตตาพาผมและพี่ๆ บางท่านไปพบหลวงพ่อไพศาล ที่ "ภูหลง" หรือวัดป่ามหาวัน ซึ่งห่างจากวัดป่าสุคะโตประมาณ 13 กิโลเมตร

 

ต่อมาเมื่อกลับจากวัดป่าสุคะโตในครานั้น ผมก็ได้ติดต่อ โทรศัพท์นมัสการหลวงปู่ และส่งการบ้าน รายงานผลของการปฏิบัติให้ท่านรับทราบและสอนอยู่เสมอๆ ผมจำได้ว่าท่านคอยเตือนผมเรื่องการทำงาน เรื่องการแบ่งเวลา การไม่ส่งใจไปไว้กับคนอื่นมากเกินไป และยังเตือนให้รู้สึกกายและมีสติอยู่เสมอๆ

 

ผมดีใจที่ได้พบและเป็นศิษย์คนหนึ่งของท่าน และผมยังได้บอกกับท่านว่าจะไปนมัสการท่านอีกครั้งตอนปลายปี 2551 ประมาณ 5 วัน แต่ท่านก็เสนอว่าน่าจะมาสัก 10 วัน จะได้อะไรมากกว่ามาสั้นๆ และผมก็บอกกับท่านว่าคงต้องดูก่อน แต่คิดว่าจะไปที่วัดอย่างแน่นอน

 

วันคืนผ่านล่วงมา ภายหลังจากที่ผมได้ไปเยี่ยมหลวงปู่ที่โรงพยาบาลจุฬาได้ไม่กี่อาทิตย์ พี่อุ๊ได้โทรมาบอกกับผมว่า "หลวงปู่เสียแล้ว" ท่านได้มรณภาพไปแล้ว ซึ่งทางวัดป่าสุคะโตจะทำพิธีเพียงไม่กี่วัน เพราะหลวงปู่ท่านได้บริจาคร่างกายให้กับทางโรงพยาบาล

 

ผมร้องไห้ ใจสั่น ทำอะไรไม่ถูก รู้สึกผิดที่ไม่ได้อยู่ดูแลหลวงปู่มากกว่านี้ ตอนที่ท่านมารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬา เสียใจที่ตัวเองจัดการอะไรไม่ได้ และต้องสูญเสียครูบาอาจารย์ที่ผมเคารพและนับถือไปอย่างไม่หวนกลับมาได้...

 

ช่วงขณะที่ผมเสียใจนั้น จิตภายในก็บอกกับผมว่า เราเสียใจไปจะได้อะไร สู้เราตั้งใจพากเพียรปฏิบัติและตั้งมั่นในหนทางธรรม ตามที่หลวงปู่สอนไว้จะดีกว่า และอย่าลืมว่าทุกชีวิตไม่เที่ยง ความตายคือความจริงที่ทุกคนต้องพบเจอไม่ช้าก็เร็ว ฉะนั้นจึงควรใช้เวลาที่มีอยู่ของชีวิตให้ดีที่สุด และควรมุ่งมั่นกับการภาวนา พาใจให้พบกับธรรมอันสูงสุด

 

ผมตระหนักรู้ถึงความจริงในแง่ที่ว่าความตายคือการแปรเปลี่ยนสภาพจากแบบหนึ่งไปสู่สภาวะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งแม้หลวงปู่จะละสังขารทิ้งกายเนื้อไว้คืนแก่ผืนโลกและธาตุขันธ์ต่างๆ แต่ผมก็รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าท่านอยู่ข้างๆ และเฝ้าดูผมอยู่เสมอ

 

หลวงปู่ทำให้ผมคิดถึงวัดป่าสุคะโต คิดถึงวันเก่าๆ ที่ผมได้เรียนรู้หลายอย่างจากที่นั้น เรียนรู้ธรรมที่นำพากายและใจนี้ให้เกิดสติปัญญา .....

 

ปลายปีนี้ ผมตัดสินใจไปที่วัดป่าสุคะโต ตามคำมั่นที่ให้ไว้กับหลวงปู่ และผมได้ชวนเพื่อนผองให้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในครั้งนี้ด้วย หลายคนยินดีไปร่วมด้วย หลายคนอนุโมทนาในการเดินทาง พี่ๆ หลายคนนัดแนะการเดินทางและเตรียมที่จะไปที่นั่น

 

ณ เวลาปัจจุบันนี้ ความคิดของผมอยู่ในสภาวะที่ว่า ถ้าไปวัดป่าสุคะโต ในวันที่ไม่มีหลวงปู่...จะเป็นอย่างไร....

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์