Skip to main content


ผมคิดไว้มานานหลายเดือนแล้วว่า จะตั้งใจเขียน
"บันทึกการเจริญสติ" ของตัวเองขึ้นมา
เพราะคิดว่าคงจะดี ถ้าได้บันทึกไว้ เพื่อการเรียนรู้ของตัวเอง และคนอื่นๆ ที่สนใจ


ก่อนที่จะบันทึกในกาลต่อไป ขอเล่าเรื่องการภาวนาของตัวเองก่อน....

สำหรับผมแล้ว เริ่มต้นของการปฏิบัติคือเมื่อปลายปี 2549 ก็เกิดจากทุกข์ทางใจ เพราะงานเยอะ เครียด และตอนนั้นแฟนจะขอเลิก เขาเลยเสนอว่าให้ไปปฏิบัติธรรมเพื่อทำใจ จึงได้สมัครไปปฏิบัติของท่าน โกเอ็นก้า ที่ ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก พอไปทำมา 10 วัน ก็ดีใจ ที่ทุกข์ครั้งนี้ทำให้ได้พบกับธรรมะ

ต่อจากนั้นก็สงสัยในหลายๆ อย่าง ที่ไม่รู้ จึงอยากปฏิบัติเพื่อให้รู้แจ้งเพิ่มมากขึ้น เช่น อยาก รู้ว่าทำแล้วจะได้อะไร, ปฏิบัติไปแล้วจะพ้นทุกข์จริงๆ หรือ, มรรค คืออะไร, วิปัสสนา เป็นอย่างไร, ขันธุ์ 5 ธาตุ 4 เป็นอย่างไร, ตัวเราไม่มี จริงเหรอ ฯลฯ

ความสงสัยเหล่านั้น ทำให้ อยากรู้มากขึ้น สิ่งที่ทำต่อมาก็คือ ลงมือปฏิบัติตามแนวทางของท่านโกเอ็นก้า เช้า – ค่ำ และหาหนังสือมาอ่าน เพื่อเอาความรู้ใส่หัวบ้าง แต่ก็กลัวตัวเองจะคิดมาก เพราะยิ่งอ่าน บางทีก็ไม่เหมือนกับที่เราปฏิบัติ เลยไม่รู้ว่าแบบไหน ถูก แบบไหนผิด

แล้ว ก็ต้นปี 2550 ได้มีโอกาส "บวช" 10 วัน แต่ไม่ได้บวชเพื่อปฏิบัติอะไรนะครับ กะว่าบวชให้พ่อแม่ แล้วช่วงนั้นมีงานศพของหลวงพ่อที่เป็นญาติกันด้วย เลยได้มีโอกาสอยู่วัด และก็อย่างที่ทราบคือ ทุกวัดเป็นวัดบ้าน แถวเชียงราย เขาไม่ค่อยนิยมปฏิบัติเท่าไหร่ เราก็ถามหลวงพี่ แถวนั้น ที่มาช่วยงานศพว่าอยากปฏิบัติธรรม ขอให้ท่านช่วยสอนหน่อย ท่านก็เมตตาสอนเดินจงกรม (ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ) แล้วก็สอนเคลื่อนไหวมือ เราก็ลองปฏิบัติดู แล้วก็ตอนเช้าๆ ก็ไปนั่งภาวนา สายๆ ก็กวาดลานวัด ก็พยายามรู้สึกตัวตลอด ว่า เรากำลังทำอะไร กำลังคิดอะไร ทำไปเรื่อยๆ จนสึกออกมา แล้วก็รู้สึกดีขึ้น

ต่อมาก็พยายามหาคอร์สไปปฏิบัติเรื่อยๆ เช่น “ภาวนาเพื่อสันติภาพ” ของหมู่บ้านพลัม โดยหลวงพ่อติช นัท ฮันห์ ซึ่งก็ไปฝึกเจริญสติ แล้วก็เห็นว่าที่จริงแล้วเราสามารถทำในชีวิตประจำวันได้เยอะเลย เช่น ล้างจาน เดินทาง ขับรถ อ่านหนังสือ ทำงาน กินข้าว ซึ่งแต่เดิมคิดแค่ว่า มานั่งภาวนา เช้า - ค่ำ ก็พอ แต่จริงๆ แล้ว ก็ได้หลักมาเพิ่มอีก จึงเอามาเป็นแนวทางภาวนา

คือ เช้า - ค่ำ ก็ภาวนาแบบท่านโกเอ็นก้า ตอนระหว่างวันก็เจริญสติ รู้ตัว เข้าไว้ ว่าทำอะไร เพื่ออะไร ทำนองนี้.....

ตอนปลายปี 2550 มีโอกาสไปที่วัดป่าสุคะโต โดยคำแนะนำของผู้ใหญ่ที่นับถือ เป็น ngo อยู่เชียงใหม่ บอกว่า สายหลวงพ่อเทียน ดีนะ ลองไปดูสิ เป็นการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวมือ สร้างจังหวะ ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ลองไปดู ไปเอาหลัก แล้วก็มาฝึกใหม่

ตอนไปวัดป่าสุคะโต ก็มี "หลวงปู่" หรือ "พระอาจารย์วรเทพ ฉนฺทพหุโล" มาช่วยสอนและแนะนำการปฏิบัติ ท่านมีเมตตามาก และช่วยให้เข้าใจหลักในการปฏิบัติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวมือหรือแม้แต่การเดินจงกรมก็ตาม.....

ตอนนั้นใจก็คิดว่า ไปของท่านโกเอ็นก้า ท่านเน้น "เวทนา" ของหลวงพ่อเทียน เน้น "กาย" ซึ่งเป็นองค์หลักของการ "ดูกาย" จึงคิดว่าน่าจะเอามาประยุกต์เข้ากัน เพราะตอนนั้นสงสัยมากว่าจะเอาที่เคยไปปฏิบัติมาประยุกต์กันอย่างไร มันจะผิดไหม กรรมฐานจะขัดกันหรือเปล่า เลยตัดสินใจ ทำใหม่คือ มีอะไรให้รู้ก็รู้ไปดีกว่า แต่จะเอากายเป็นหลัก เพราะกายเป็นของหยาบกว่าเวทนา ซึ่งเวลานั้นละเอียดมาก อีกอย่างคือ ตัวเองไม่รู้ว่าเหมาะกับการ "ทำสมาธิก่อนแล้วมาทำวิปัสสนา" หรือ "ทำวิปัสสนา" ไปเลย

จากนั้นไม่นานก็ได้ยินคนพูดถึงเรื่องการ "ดูจิต" ที่หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ท่านสอน จึงสนใจและอยากรู้ ก็ได้ไปหาซีดี mp3 มาฟัง ฟังแล้วก็เริ่มรู้ชัดว่า เอ..จริงๆ แล้ว ไม่ว่าเราจะปฏิบัติแบบไหน ฐานไหน มันก็ไปที่ๆ เดียวกัน เรามัวแต่หลงในบัญญัติมากไป จนลืมคิดถึง ความจริง ทางกายและใจที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

มาถึงตอนนี้ค่อยๆ รู้สึกตัวขึ้นมานิดหนึ่งว่า เราก็หลงไปเยอะเหมือนกันนะเนี๊ย....

หลังจากนั้นไม่นาน กลางปี 2551 ก็ได้มีโอกาสไปนมัสการหลวงพ่อปราโมทย์ ที่สวนสันติธรรม และดีใจมากที่ได้สอบถามท่าน ซึ่งท่านก็แนะนำมาว่าให้ "ดูกาย" เป็นหลัก

หลังจากนั้นดูกายมาเรื่อยๆ เอาแนวทางหลวงพ่อเทียน มาเป็นหลัก และพอเกิดความคิดก็เห็นชัด เริ่มเห็นกิเลสมากขึ้น เช่น ความโกรธ จะเป็นบ่อยมาก พอจับได้แล้วมันเริ่มกลัว เฮ้ย เราน่ากลัวขนาดนี้เลยเหรอเนี๊ย อีกอย่างความคิดมาก ฟุ้งซ่าน ต่างๆ ก็เกิด ซึ่งเราก็เห็นมันมากขึ้น บ่อยขึ้น จนเวียนหัว เหนื่อย ต่อมาเลยคิดได้ว่ารู้แล้วก็ปล่อยสิ เราจะไปตามมันไปทำไม คือ พอรู้สึกถึงกายที่เคลื่อนไหว แล้วเกิดความคิด ก็ปล่อยให้มันคิดไปของมันเอง ปล่อยให้จิตเขาได้คิดเอง เรารู้กายที่เคลื่อนไหวต่อไปดีกว่า

ตอนนี้ก็ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ ครับ หนังสือก็เอามาอ่านบ้าง ฟังธรรมบรรยาย จากครูบาอาจารย์หลายๆ แห่ง และก็สนทนาธรรมกับพี่ๆ ใน msn เพื่อนๆ ที่ทำงาน ด้วยกัน

มาถึงตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เอาเป็นว่าทุกวันนี้สร้างเงื่อนไข ให้กายและใจ ได้รู้สึกตัวอย่างเดียวก็พอ แล้วผลที่จะเกิดจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เราทำก็พอแล้ว

ต่อไปนี้ผมตั้งใจจะบันทึกการดูจิต การดูกาย ของตัวเองไว้ เพราะคิดว่าอย่างน้อยก็เป็นการเตือนความจำตัวเอง เวลากลับมาอ่านจะได้รู้อะไรเพิ่มขึ้น เห็นความเปลี่ยนแปลงของตัวเองมากขึ้น และที่อยากมากจริงๆ ก็คืออยากเห็นเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงกัน ประมาณวัยรุ่นทำนองนี้ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วย เพราะจะได้รู้ว่า ผมยังมีเพื่อนรุ่นวัยใกล้เคียงกันที่ปฏิบัติและแลกเปลี่ยนกัน เป็นเพื่อนทางธรรม ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไปๆ นะครับ


บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์