Skip to main content

ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ

\\/--break--\>

การภาวนาในตอนกลางคืนแบบโต้รุ่งนี้ดำเนินมาได้ 3 วัน ผมก็พบว่าตัวเองมีกำลังกายไม่พอที่จะอยู่ภาวนาต่อทั้งคืนเพราะต้องทำงานตอนกลางวัน พอไม่ได้หลับก็เลยทำให้ไม่มีเรี่ยวแรงในการทำงานหรือไปไหนมาไหน ผมจึงใช้วิธีใหม่คือ ถ้าจะนอนก็จะนอนตื่นเดียว คือ เมื่อง่วงก็จะนอน และหากสะดุ้งตื่นมาก็จะภาวนาต่อ ทั้งนี้ก็ยังคงถือแนวทางเดิมคือจะนอนโดยไม่ให้หลังระนาบกับพื้น


เมื่อตั้งใจและทำต่อไปได้อีกไม่กี่วัน ก็เกิดความเหนื่อยกายและใจก็เริ่มที่จะท้อ เพราะร่างกายไม่ค่อยจะแข็งแรงสมบูรณ์ ดูเหนื่อยเพลียและไม่มีเรี่ยวแรง ทั้งที่ๆ คิดว่าการภาวนาโต้รุ่งแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้ เพราะย้อนไปก่อนหน้านี้หลายปี ยังสามารถเที่ยวผับกลางคืนจนโต้รุ่งได้เลย เพียงแค่การภาวนาฝึกสติทำไมเราจะทำไม่ได้


และท้ายที่สุดความพยายามในการฝึกฝนตนเองในครั้งนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไปได้ไม่ถึงไหน เพราะร่างกายที่ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง จนกระทั่งถึงขั้นที่ต้องไปนอนโรงพยาบาลเลยทีเดียว เพื่อเติมน้ำเกลือและพักผ่อน ตอนที่เข้าโรงพยาบาลใจที่อยากจะลองดูใหม่อีกครั้ง กับใจหนึ่งก็บอกว่าพอก่อนดีกว่า ไม่งั้นจะฝืนสังขารร่างกายมากไป จึงตัดสินเปลี่ยนแนวทางการภาวนาใหม่ จากที่เข้มข้นมากเกินไป เป็นการบังคับกายมากเกินไป มาเป็นการใช้ชีวิตปกติธรรมดา อย่างวันทั่วๆ ไป


ทว่าก็ดำเนินการภาวนาเหมือนเดิม คือ ตอนเช้าและก่อนนอนจะเดินจงกรมและนั่งขัดสมาธิเพื่อเจริญสติและระหว่างวันก็ดูจิตดูกายทำงานของเขาไป


จากการทดลองภาวนาเข้มในช่วงเข้าพรรษาทำให้ผมเห็นว่าเราควรจะปฏิบัติธรรมเพื่อให้สมควรแก่ธรรม และสมควรแก่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเราด้วย เพราะเราเองก็ต้องทำงานตอนกลางวัน และการภาวนาต่อเนื่องตอนกลางคืนบางทีอาจทำให้ร่างกายเราไม่ได้พักผ่อน จนก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียงได้


หรือแม้แต่การภาวนาครั้งนี้ก็เป็นการเรียนรู้ ฝึกความอดทนของตน ต่อความขี้เกียจ และความอยากเลิก ก็ทำให้ได้เรียนรู้ที่จะค่อยๆ เป็นค่อยๆไป ไม่เร่งความเพียรมากเกินไป เพราะหากทำแบบนี้มันมีเส้นแบ่งระหว่างภาวนาเพื่อเพิ่มปัญญา และภาวนาเพื่อเพิ่มอัตตา แม้ว่าผมจะเล่าให้ใครฟังน้อยมาก ว่าได้ทำการภาวนาอย่างไรในช่วงเข้าพรรษา แต่เมื่อใจหนึ่งมันทำได้ก็กลายเป็นการนึกคิดว่าฉันแน่ ฉันเจ๋ง


แม้ว่าเราตั้งใจจะภาวนาเพื่อเป็นพุทธบูชาก็ตามที และการภาวนาลักษณะนี้เราจึงต้องน้อมกลับมาที่ใจของตนว่าเราภาวนาเพื่อลดอัตตา ละกิเลส โดยการรู้ทันกายและใจที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไปมา สิ่งต่างๆ นี้เป็นบททดสอบทางจิตใจแก่ผม และผมก็ได้รับบทเรียนที่มีค่าทั้งในแง่ของการภาวนาและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพกายของตนที่เรายังต้องใช้กายนี้เป็นฐานในการปฏิบัติทางใจอีกต่อไป ฉะนั้นเรื่องการถนุถนอมร่างกายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว ไม่งั้นเราจะมีความเพียรมากไปจนกลายเป็นวิปัสสนูอย่างหนึ่ง ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็ต้องเจออะไรมาเตือนอย่างที่ผมเจอนี้แหละครับ

 

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์