Skip to main content
พันธกุมภา

ถึง มีนา

อย่างที่เธอได้บอกฉันนั่นแลว่า กว่าคนเราจะสามารถเอาใจมาอยู่กับกายได้นั้นต้องใช้เวลาและให้โอกาสตัวเองพอสมควร ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคิดเลยว่าทำไมต้องเอาใจมาอยู่กับกาย หรือเอากายมาอยู่กับใจ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้รู้ว่าควรทำอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่

บ่อยครั้งที่ “ความสุข” ทางโลก ที่เข้ามากระทบเราทั้งทาง หู ตา จมูก ลิ้น และกาย รวมถึงใจของเรานั้นทำให้เราคิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง แต่หารู้ไม่ว่าการที่รับผัสสะเหล่านั้นมาปรุงแต่งก็กลับทำให้จิตใจของเรามีแต่การสร้างกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

หลายคนที่เข้าถึงธรรมปฏิบัติ บางคนพบว่าความสุขทางโลกไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบของชีวิต พวกเขาจึงเลือกที่จะแสวงหาความสุขอันแท้จริง ความสุขที่เป็นความจริงอันสูงสุด ด้วยวิธีการทางธรรม

ตอนที่ไปชัยภูมิ ณ วัดป่าสุคะโต ฉันเดินทางโดยไม่คิดว่าจะพบอะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าต้องเจอพระอาจารย์มาสอน เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่า การได้ทำความรู้จักกับ แนวปฏิบัติสาย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ คือการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว เพียงเท่านั้น

การมาเยือนที่วัดป่าสุคะโตในช่วงปลายปี เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะแก่การปฏิบัติเพื่อละบางอย่างจากทางโลก ผู้คนที่เข้ามาปฏิบัติมีหลายสิบคน ที่วัดนี้เราอยู่กันดั่งญาติมิตร เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านได้เขียนไว้ว่า “ที่นี่ไม่มีใครแปลกหน้า มีแต่ญาติมิตรที่เพิ่งได้พบกัน”

ไม่มีใครแปลกหน้า, ฉันเดินทางมาเพียงลำพัง แต่เมื่อขากลับออกจากวัด ได้พบกับญาติมิตรทางธรรม สองคน คนหนึ่งเป็นไกด์ ชื่อพี่อุ๊ อีกคนเป็นนักออกแบบ ชื่อ พี่หนู พวกเราต่างเดินทางมาโดยไม่รู้จักใคร แต่ท้ายที่สุด เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดก็ได้รู้จักและสนิทกัน จนพี่ๆ คนอื่นๆ ให้สมญาพวกเราทั้งสามว่า “แก๊งหลุมศพ”

เนื่องเพราะคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พวกเราทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันเดินจงกรม ที่สุสานภายในวัดป่าสุคะโต พี่อุ๊เดินตรงศาลา พี่หนูเดินตรงหลุมศพ ส่วนฉันเดินตรงเมนเผาศพ ที่เป็นเชิงตะกอน โดยเริ่มเดินตอน 3 ทุ่ม แต่ละคนได้ไฟฉายประจำกายและเดินไปในป่ามืดตามลำพัง คนละเส้นทาง เพื่อไปพบกันที่สุสาน – เราใช้เวลาปฏิบัติที่สุสาน จนถึง 5 ทุ่มกว่าๆ พระอาจารย์ปู่ ที่เป็นครูสอบอารมณ์ก็เข้ามารับออกไป

ช่วงที่เดินจงกรมนั้น เป็นการเดินในสถานที่ที่เรามีแต่ “ความกลัว” การเดินก็เพื่อมุ่งให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้ที่จะเฝ้าดูจิตของตน โดยใช้กายเป็นฐานของการปฏิบัติ

ซึ่งแนวปฏิบัติโดยการเคลื่อนไหวทางกายนี้เอง เป็นแนวที่หลวงพ่อเทียนได้สั่งสอนลูกศิษย์มาเรื่อยๆ ทั้งนี้ที่วัดป่าสุคะโต นักแสวงหาทางธรรมที่เดินทางมาเองหรือมากับคอร์สปฏิบัติที่มีการจัดทุกๆ เดือน ก็จะมีที่พักให้ และจะมีการทำวัตรเช้า เย็นร่วมกัน ตอนตี 4 และ 6 โมงเย็น ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นการปฏิบัติ ใครที่นั่งก็เคลื่อนไหวมือตามจุด สร้างจังหวะ และเดินจงกรมเพื่อให้รู้กาย ระลึกรู้ตามกายในตัวเรา

อาหารนั้น เป็นการรับประทานร่วมกัน ตอนเช้า 7 โมง และใครที่จะกินตอนกลางวันก็สามารถห่อใส่ปิ่นโตเอาไว้ทานได้ และอาจเผื่อสำหรับเวลาเย็นด้วย

ฉันใช้เวลาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ถึง วันที่ 1 มกราคม 2551 และก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับญาติธรรมทั้ง 2 คน

การเดินทางไปยังวัดป่าสุคะโตในครั้งนี้ ฉันพบว่า การปฏิบัติที่ฉันเคยปฏิบัติกับการปฏิบัติในแนวทางนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันใน “สติปัฏฐาน” จากเดิมที่ใช้ “เวทนา” เป็นฐาน ก็พบ “กาย” เป็นฐาน ซึ่งเราสามารถที่จะประยุกต์เข้ากับตัวเองได้ นั่นคือ หากเรารู้สึกตรงไหน แบบใด ก็เพียงแค่รู้ก็พอ ย้ำ แค่รู้ก็พอ

เวลาเราคิด เกิดอารมณ์โกรธ กลัว เราก็เพียงรู้ แล้วดึงสติกลับมายังฐานสติของเรา ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีแนวทางต่างกัน ทว่าหลักใหญ่แล้ว ก็มีสองแบบ คือ “ดูกาย” และ “ดูจิต”

ดูกายก็คือการรู้กาย ดูจิต ก็คือการรู้จิต รู้ใจ ของตน แค่เพียงรู้ก็พอ....

มาถึงตรงนี้ ฉันก็พบว่าอันที่จริงแล้ว เมื่อจิตกับกายเราไม่ได้ล่องลอยหลุดออกจากกันแล้ว เราสามารถที่จะรู้การทำงานของกาย การทำงานของจิต รู้ว่าอันที่จริงแล้ว เราควรดู “ภาวะด้านใน” ของตนมากกว่า ผัสสะภายนอกที่มาในรูปของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผ่านทางตา ลิ้น จมูก หู และร่างกายของเรา

การเข้าถึงสุคะโต หนนี้ ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางมาถึงวัดป่าสุคะโตอีก นั่นคือเรื่องมารผจญและเรื่องเล็กๆ ที่เกิดก่อนมาถึงวัด ไว้มาเล่าให้เธอรับรู้อีกครา ฉบับหน้านะครับ

ธรรมรักษา....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์