ถึง มีนา
อย่างที่เธอได้บอกฉันนั่นแลว่า กว่าคนเราจะสามารถเอาใจมาอยู่กับกายได้นั้นต้องใช้เวลาและให้โอกาสตัวเองพอสมควร ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคิดเลยว่าทำไมต้องเอาใจมาอยู่กับกาย หรือเอากายมาอยู่กับใจ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้รู้ว่าควรทำอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่
บ่อยครั้งที่ “ความสุข” ทางโลก ที่เข้ามากระทบเราทั้งทาง หู ตา จมูก ลิ้น และกาย รวมถึงใจของเรานั้นทำให้เราคิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง แต่หารู้ไม่ว่าการที่รับผัสสะเหล่านั้นมาปรุงแต่งก็กลับทำให้จิตใจของเรามีแต่การสร้างกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
หลายคนที่เข้าถึงธรรมปฏิบัติ บางคนพบว่าความสุขทางโลกไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบของชีวิต พวกเขาจึงเลือกที่จะแสวงหาความสุขอันแท้จริง ความสุขที่เป็นความจริงอันสูงสุด ด้วยวิธีการทางธรรม
ตอนที่ไปชัยภูมิ ณ วัดป่าสุคะโต ฉันเดินทางโดยไม่คิดว่าจะพบอะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าต้องเจอพระอาจารย์มาสอน เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่า การได้ทำความรู้จักกับ แนวปฏิบัติสาย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ คือการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว เพียงเท่านั้น
การมาเยือนที่วัดป่าสุคะโตในช่วงปลายปี เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะแก่การปฏิบัติเพื่อละบางอย่างจากทางโลก ผู้คนที่เข้ามาปฏิบัติมีหลายสิบคน ที่วัดนี้เราอยู่กันดั่งญาติมิตร เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านได้เขียนไว้ว่า “ที่นี่ไม่มีใครแปลกหน้า มีแต่ญาติมิตรที่เพิ่งได้พบกัน”
ไม่มีใครแปลกหน้า, ฉันเดินทางมาเพียงลำพัง แต่เมื่อขากลับออกจากวัด ได้พบกับญาติมิตรทางธรรม สองคน คนหนึ่งเป็นไกด์ ชื่อพี่อุ๊ อีกคนเป็นนักออกแบบ ชื่อ พี่หนู พวกเราต่างเดินทางมาโดยไม่รู้จักใคร แต่ท้ายที่สุด เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดก็ได้รู้จักและสนิทกัน จนพี่ๆ คนอื่นๆ ให้สมญาพวกเราทั้งสามว่า “แก๊งหลุมศพ”
เนื่องเพราะคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พวกเราทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันเดินจงกรม ที่สุสานภายในวัดป่าสุคะโต พี่อุ๊เดินตรงศาลา พี่หนูเดินตรงหลุมศพ ส่วนฉันเดินตรงเมนเผาศพ ที่เป็นเชิงตะกอน โดยเริ่มเดินตอน 3 ทุ่ม แต่ละคนได้ไฟฉายประจำกายและเดินไปในป่ามืดตามลำพัง คนละเส้นทาง เพื่อไปพบกันที่สุสาน – เราใช้เวลาปฏิบัติที่สุสาน จนถึง 5 ทุ่มกว่าๆ พระอาจารย์ปู่ ที่เป็นครูสอบอารมณ์ก็เข้ามารับออกไป
ช่วงที่เดินจงกรมนั้น เป็นการเดินในสถานที่ที่เรามีแต่ “ความกลัว” การเดินก็เพื่อมุ่งให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้ที่จะเฝ้าดูจิตของตน โดยใช้กายเป็นฐานของการปฏิบัติ
ซึ่งแนวปฏิบัติโดยการเคลื่อนไหวทางกายนี้เอง เป็นแนวที่หลวงพ่อเทียนได้สั่งสอนลูกศิษย์มาเรื่อยๆ ทั้งนี้ที่วัดป่าสุคะโต นักแสวงหาทางธรรมที่เดินทางมาเองหรือมากับคอร์สปฏิบัติที่มีการจัดทุกๆ เดือน ก็จะมีที่พักให้ และจะมีการทำวัตรเช้า เย็นร่วมกัน ตอนตี 4 และ 6 โมงเย็น ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นการปฏิบัติ ใครที่นั่งก็เคลื่อนไหวมือตามจุด สร้างจังหวะ และเดินจงกรมเพื่อให้รู้กาย ระลึกรู้ตามกายในตัวเรา
อาหารนั้น เป็นการรับประทานร่วมกัน ตอนเช้า 7 โมง และใครที่จะกินตอนกลางวันก็สามารถห่อใส่ปิ่นโตเอาไว้ทานได้ และอาจเผื่อสำหรับเวลาเย็นด้วย
ฉันใช้เวลาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ถึง วันที่ 1 มกราคม 2551 และก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับญาติธรรมทั้ง 2 คน
การเดินทางไปยังวัดป่าสุคะโตในครั้งนี้ ฉันพบว่า การปฏิบัติที่ฉันเคยปฏิบัติกับการปฏิบัติในแนวทางนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันใน “สติปัฏฐาน” จากเดิมที่ใช้ “เวทนา” เป็นฐาน ก็พบ “กาย” เป็นฐาน ซึ่งเราสามารถที่จะประยุกต์เข้ากับตัวเองได้ นั่นคือ หากเรารู้สึกตรงไหน แบบใด ก็เพียงแค่รู้ก็พอ ย้ำ แค่รู้ก็พอ
เวลาเราคิด เกิดอารมณ์โกรธ กลัว เราก็เพียงรู้ แล้วดึงสติกลับมายังฐานสติของเรา ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีแนวทางต่างกัน ทว่าหลักใหญ่แล้ว ก็มีสองแบบ คือ “ดูกาย” และ “ดูจิต”
ดูกายก็คือการรู้กาย ดูจิต ก็คือการรู้จิต รู้ใจ ของตน แค่เพียงรู้ก็พอ....
มาถึงตรงนี้ ฉันก็พบว่าอันที่จริงแล้ว เมื่อจิตกับกายเราไม่ได้ล่องลอยหลุดออกจากกันแล้ว เราสามารถที่จะรู้การทำงานของกาย การทำงานของจิต รู้ว่าอันที่จริงแล้ว เราควรดู “ภาวะด้านใน” ของตนมากกว่า ผัสสะภายนอกที่มาในรูปของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผ่านทางตา ลิ้น จมูก หู และร่างกายของเรา
การเข้าถึงสุคะโต หนนี้ ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางมาถึงวัดป่าสุคะโตอีก นั่นคือเรื่องมารผจญและเรื่องเล็กๆ ที่เกิดก่อนมาถึงวัด ไว้มาเล่าให้เธอรับรู้อีกครา ฉบับหน้านะครับ
ธรรมรักษา....