Skip to main content
พันธกุมภา

ถึง มีนา

อย่างที่เธอได้บอกฉันนั่นแลว่า กว่าคนเราจะสามารถเอาใจมาอยู่กับกายได้นั้นต้องใช้เวลาและให้โอกาสตัวเองพอสมควร ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยคิดเลยว่าทำไมต้องเอาใจมาอยู่กับกาย หรือเอากายมาอยู่กับใจ เพราะเขาไม่มีโอกาสได้รู้ว่าควรทำอย่างไร ควรทำเมื่อไหร่

บ่อยครั้งที่ “ความสุข” ทางโลก ที่เข้ามากระทบเราทั้งทาง หู ตา จมูก ลิ้น และกาย รวมถึงใจของเรานั้นทำให้เราคิดว่านี่คือความสุขที่แท้จริง แต่หารู้ไม่ว่าการที่รับผัสสะเหล่านั้นมาปรุงแต่งก็กลับทำให้จิตใจของเรามีแต่การสร้างกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว

หลายคนที่เข้าถึงธรรมปฏิบัติ บางคนพบว่าความสุขทางโลกไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบของชีวิต พวกเขาจึงเลือกที่จะแสวงหาความสุขอันแท้จริง ความสุขที่เป็นความจริงอันสูงสุด ด้วยวิธีการทางธรรม

ตอนที่ไปชัยภูมิ ณ วัดป่าสุคะโต ฉันเดินทางโดยไม่คิดว่าจะพบอะไรบ้าง ไม่ได้คิดว่าต้องเจอพระอาจารย์มาสอน เพราะไม่ได้คาดหวังอะไรมากไปกว่า การได้ทำความรู้จักกับ แนวปฏิบัติสาย หลวงพ่อเทียน จิตตฺสุโภ คือการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว เพียงเท่านั้น

การมาเยือนที่วัดป่าสุคะโตในช่วงปลายปี เป็นสิ่งที่ดีและเหมาะแก่การปฏิบัติเพื่อละบางอย่างจากทางโลก ผู้คนที่เข้ามาปฏิบัติมีหลายสิบคน ที่วัดนี้เราอยู่กันดั่งญาติมิตร เหมือนที่หลวงพ่อคำเขียน ท่านได้เขียนไว้ว่า “ที่นี่ไม่มีใครแปลกหน้า มีแต่ญาติมิตรที่เพิ่งได้พบกัน”

ไม่มีใครแปลกหน้า, ฉันเดินทางมาเพียงลำพัง แต่เมื่อขากลับออกจากวัด ได้พบกับญาติมิตรทางธรรม สองคน คนหนึ่งเป็นไกด์ ชื่อพี่อุ๊ อีกคนเป็นนักออกแบบ ชื่อ พี่หนู พวกเราต่างเดินทางมาโดยไม่รู้จักใคร แต่ท้ายที่สุด เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันที่วัดก็ได้รู้จักและสนิทกัน จนพี่ๆ คนอื่นๆ ให้สมญาพวกเราทั้งสามว่า “แก๊งหลุมศพ”

เนื่องเพราะคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2550 พวกเราทั้ง 3 คน ได้ร่วมกันเดินจงกรม ที่สุสานภายในวัดป่าสุคะโต พี่อุ๊เดินตรงศาลา พี่หนูเดินตรงหลุมศพ ส่วนฉันเดินตรงเมนเผาศพ ที่เป็นเชิงตะกอน โดยเริ่มเดินตอน 3 ทุ่ม แต่ละคนได้ไฟฉายประจำกายและเดินไปในป่ามืดตามลำพัง คนละเส้นทาง เพื่อไปพบกันที่สุสาน – เราใช้เวลาปฏิบัติที่สุสาน จนถึง 5 ทุ่มกว่าๆ พระอาจารย์ปู่ ที่เป็นครูสอบอารมณ์ก็เข้ามารับออกไป

ช่วงที่เดินจงกรมนั้น เป็นการเดินในสถานที่ที่เรามีแต่ “ความกลัว” การเดินก็เพื่อมุ่งให้เรามีสติ อยู่กับปัจจุบันขณะ เรียนรู้ที่จะเฝ้าดูจิตของตน โดยใช้กายเป็นฐานของการปฏิบัติ

ซึ่งแนวปฏิบัติโดยการเคลื่อนไหวทางกายนี้เอง เป็นแนวที่หลวงพ่อเทียนได้สั่งสอนลูกศิษย์มาเรื่อยๆ ทั้งนี้ที่วัดป่าสุคะโต นักแสวงหาทางธรรมที่เดินทางมาเองหรือมากับคอร์สปฏิบัติที่มีการจัดทุกๆ เดือน ก็จะมีที่พักให้ และจะมีการทำวัตรเช้า เย็นร่วมกัน ตอนตี 4 และ 6 โมงเย็น ส่วนเวลาที่เหลือก็เป็นการปฏิบัติ ใครที่นั่งก็เคลื่อนไหวมือตามจุด สร้างจังหวะ และเดินจงกรมเพื่อให้รู้กาย ระลึกรู้ตามกายในตัวเรา

อาหารนั้น เป็นการรับประทานร่วมกัน ตอนเช้า 7 โมง และใครที่จะกินตอนกลางวันก็สามารถห่อใส่ปิ่นโตเอาไว้ทานได้ และอาจเผื่อสำหรับเวลาเย็นด้วย

ฉันใช้เวลาอยู่ที่วัดป่าสุคะโต 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ถึง วันที่ 1 มกราคม 2551 และก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับญาติธรรมทั้ง 2 คน

การเดินทางไปยังวัดป่าสุคะโตในครั้งนี้ ฉันพบว่า การปฏิบัติที่ฉันเคยปฏิบัติกับการปฏิบัติในแนวทางนี้ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันใน “สติปัฏฐาน” จากเดิมที่ใช้ “เวทนา” เป็นฐาน ก็พบ “กาย” เป็นฐาน ซึ่งเราสามารถที่จะประยุกต์เข้ากับตัวเองได้ นั่นคือ หากเรารู้สึกตรงไหน แบบใด ก็เพียงแค่รู้ก็พอ ย้ำ แค่รู้ก็พอ

เวลาเราคิด เกิดอารมณ์โกรธ กลัว เราก็เพียงรู้ แล้วดึงสติกลับมายังฐานสติของเรา ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีแนวทางต่างกัน ทว่าหลักใหญ่แล้ว ก็มีสองแบบ คือ “ดูกาย” และ “ดูจิต”

ดูกายก็คือการรู้กาย ดูจิต ก็คือการรู้จิต รู้ใจ ของตน แค่เพียงรู้ก็พอ....

มาถึงตรงนี้ ฉันก็พบว่าอันที่จริงแล้ว เมื่อจิตกับกายเราไม่ได้ล่องลอยหลุดออกจากกันแล้ว เราสามารถที่จะรู้การทำงานของกาย การทำงานของจิต รู้ว่าอันที่จริงแล้ว เราควรดู “ภาวะด้านใน” ของตนมากกว่า ผัสสะภายนอกที่มาในรูปของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ผ่านทางตา ลิ้น จมูก หู และร่างกายของเรา

การเข้าถึงสุคะโต หนนี้ ยังมีเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการเดินทางมาถึงวัดป่าสุคะโตอีก นั่นคือเรื่องมารผจญและเรื่องเล็กๆ ที่เกิดก่อนมาถึงวัด ไว้มาเล่าให้เธอรับรู้อีกครา ฉบับหน้านะครับ

ธรรมรักษา....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
ชีวิตนี้แสนสั้นและใจก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช้าสายบ่ายค่ำจิตใจไม่เหมือนเดิม กายก็มีทั้งสุขและทุกข์แปรปรวนไปตามธรรมดา ชีวิตแต่ละวันจึงแสนจะสั้นและดูแล้วไม่เที่ยงเอาเสียเลย จนบางครั้งรู้สึกกลัวว่าจะไม่ได้ทำอะไรก่อนที่ลมหายใจจะหมดไป จึงต้องใคร่ครวญคิดคำนึงอยู่เสมอๆ ว่าตั้งแต่เกิดมามีอะไรที่ตัวเองยังไม่ได้ทำบ้าง และก็ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตนี้เพื่อลงมือทำสิ่งนั้นอย่างจริงจังไม่ใช่แค่คิดและปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ
พันธกุมภา
เร็วๆ นี้ผมและญาติธรรมกำลังร่วมกันดำเนินการจัดพิมพ์ธรรมใจไดอารี่ ฉบับธรรมทาน ซึ่งพี่ๆ ญาติธรรม ทุกๆ คน ที่ได้มาพบเจอ รู้จัก สนทนาธรรมกัน ได้ช่วยเหลือ เกื้อกูล ให้คำปรึกษา แนะนำต่างๆ มากมาย และเมื่อมีผู้เสนอให้ทำ ธรรมใจไดอารี่ขึ้น
พันธกุมภา
สำหรับผมกับแฟน เราทั้งสองคบกันด้วยเหตุแห่งความศรัทธาที่มีต่อกัน ในวันที่เราเจอกันครั้งแรก แม้ไม่ได้รู้สึกอยากจะได้มาครอบครองแต่ด้วยความที่เธอเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่สนใจในทางธรรม ทั้งการถือศีล และการปฏิบัติ ทำให้เราทั้งสองได้สนทนาและแบ่งปันการภาวนาของกันและกันและก็ได้คุยกันเรื่อยมา
พันธกุมภา
วันธรรมดาวันหนึ่ง ชีวิตประจำวันก็ผ่านไปด้วยเหตุปัจจัยเหมือนเดิม มีประชุม ทำค่าย อบรม เดินทางจัดกิจกรรมตามจังหวัดต่างๆ ได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา มีโอกาสได้สนทนากันตามเรื่องราวที่แตกต่างกันไป แต่ข้างในใจกลับเต็มไปด้วยความเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนัก
พันธกุมภา
การได้สังเกตจิตใจของตัวเองตามความเป็นจริงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าจิตใจนี้มีธรรมชาติแปรเปลี่ยนไปมาตามเหตุปัจจัยเงื่อนไขชีวิต แล้วยังมีปกติไหลลงสู่ที่ต่ำ ไปสู่ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ความโกรธ ขุ่นเคือง หงุดหงิด ความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ขาดสติ เผลอหลงใหลไปกับโลกของความคิดและสิ่งภายนอกใจ
พันธกุมภา
คำอวยพรจากเพื่อนๆ พี่น้อง หลายๆ คน ส่งมายังผมหลายฉบับ ทำให้เกิดความปีติยินดี ที่ได้รับคำอวยพรอย่างยิ่ง และผมก็ได้ตอบกลับไปยังเพื่อนๆ พี่น้อง ทั้งที่ส่งมาและไม่ได้ส่งมา อีกหลายๆ คน การให้พรจึงเสมือนเป็นการให้กำลังใจและบอกให้กันและกันรู้ว่ายังคงระลึกถึงกันอยู่เสมอ
พันธกุมภา
บ่อยครั้งที่การเจริญสติของใครหลายคนติดอยู่กับอารมณ์คือหลงไปแช่อยู่กับอารมณ์นานจึงทำให้เกิดการเผลอยึดมั่นในอารมณ์นั้น กลายเป็นติดหลุม เผลอลงไปแช่ จะรู้สึกมัวๆ หรือเผลอไปแทรกแซง จนยากยิ่งนักที่จะรู้สึกตัวทัน ทั้งนี้ครูบาอาจารย์ท่านแนะไว้ว่าอาจเป็นเพราะจิตยังไม่ถึงฐานหรือจิตยังไม่ตั้งมั่น
พันธกุมภา
  ในการภาวนาบ่อยครั้งนักที่ผมมักจะได้ยินคนอื่นๆ มาเล่าให้ฟังทำนองว่า สถานที่นี้ไม่ดีเลย ไม่เหมาะที่จะภาวนาเลย เสียงก็ดัง คนก็เยอะ ไม่มีที่ ไม่มีทางเดินจงกรมหรือนั่งปฏิบัติเลย เพราะมองว่าการที่จะภาวนาได้นั้นจะต้องไปในสถานที่ที่มีรูปแบบ เช่น มีทางให้เดินจงกรม มีเบาะให้นั่งภาวนา เป็นต้น
พันธกุมภา
ปลายเดือนตุลาคม 2552 นี้ ผมได้มีโอกาสไปภาวนากับพี่ๆ ญาติธรรมเชียงใหม่ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพวกเราไปกัน 4 คน ได้แก่ พี่เอ้ พี่ยา พี่นา และผม ซึ่งผมรู้จักพี่ๆ ผ่านทางการสนทนาในอินเตอร์เน็ตและทุกๆ คนก็ภาวนาในแนวดูจิตเหมือนๆ กัน
พันธกุมภา
บ่อยครั้งที่รู้สึกตัว และอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นภายในใจ มันยิ่งทำให้เห็นว่าเราสามารถตามรู้ ตามดูสภาวะต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวก หรืออารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นภายในใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีหน้าที่เหมือนกันคือ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับบัญชาได้
พันธกุมภา
ในแต่ละวันชีวิตคนเราก็มีเวลา 24 ชั่วโมง เหมือนกัน ไม่มีใครมีเวลามากหรือน้อยไปกว่ากัน ทว่าอยู่ที่ว่าใครจะจัดสรรเวลาให้กับตัวเองมากน้อยเพียงใด ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และอื่นๆ อีกมายมาย ซึ่งการจัดระดับความสำคัญของภารกิจระหว่างวันแต่ลัอย่างนื้ถือเป็นเรื่องที่ช่วยให้วันแต่ละวันผ่านไปอย่างมีคุณประโยชน์
พันธกุมภา
โดยปกติแล้ว ผมมักจะเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่กับที่ เป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวตัวเองไปๆ มาๆ ดังนั้นการเจริญสติด้วยการรู้สึกที่กายและใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมานี้ จึงเป็นการภาวนาที่ทำให้ผมถนัดและสามารถรู้สึกตัวได้บ่อยที่สุด