มีนา
ถึง พันธกุมภา
…แม้ว่าฉันจะไม่ได้ไปที่วัดป่าสุคะโตกับเธอ ฉันเห็นบรรยากาศไปพร้อมกับการเล่าสู่กันของเธอ อดไม่ได้ที่จะนึกถึง “ความกลัว”
ตั้งแต่เด็ก เรามักถูกขู่ให้กลัวอยู่เสมอ เมื่อพ่อแม่เลี้ยงเรามา รัก ดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี เด็กเล็กๆ มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นของตัวเอง เขาเพิ่งเกิดใหม่ ยังไม่รู้ว่า ไฟมันร้อน น้ำในบ่อมันลึกหรือตื้นเพียงไหน ปลั๊กไฟห้ามเอานิ้วแหย่เข้าไป อาจจะเดินไปไหนไกลๆ โดยพ่อแม่ไม่เห็นแล้วประสบอันตราย
สิ่งที่เด็กไม่ได้ประสบกับตัวเอง เด็กไม่รู้ว่าอันตราย ไฟมันร้อน น้ำมันลึก เป็นอย่างไร พ่อแม่จึงมักดึงเอาสัญชาติญาณด้านลึกคือความกลัวออกมา การขู่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็น ตุ๊กแก ตำรวจ คนบ้า ผี ฯลฯ อีกมากมายที่หล่อหลอมเรามา
ความกลัว เมื่อสัมพันธ์กับสิ่งใด นอกจากเราจะไม่แย่กว่า เรากลัวสิ่งนั้นจริงๆ หรือความกลัวที่อยู่ด้านในของเรามากกว่า
ตอนเด็กๆ ฉันกลัวที่จะเห็นผี ฉันไม่รู้จักว่าผีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างน้อยผีอาจจะหน้าตาเหมือน ปู่ ย่า หรือตา ของฉัน เพราะเขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตตั้งแต่ฉันยังเด็ก ถ้าฉันพบหน้าตาแบบในรูปที่บ้าน หมายความว่าเขาเหล่านั้นเป็นผี ใช่ไหม แต่ตลอดช่วงชีวิตของฉัน ฉันไม่เคยเห็นเขาเลย แม้ว่าจะรู้ว่าเขาเคยมีชีวิตอยู่จริง
หรือจริงๆ แล้ว ฉันกลัวความตายกันแน่...
หากเปรียบกับชีวิตที่ฉันดำเนินอยู่ในเมือง ต้องพบเจอผู้คนมากมาย ทั้งที่รู้จัก ไม่รู้จัก และไม่สามารถรับรู้สิ่งที่เขาคิดได้ ไม่รู้ว่าเขาคิดดี คิดร้าย เป็นคนดีหรือคนร้าย เราเรียนรู้...ว่า คนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ ประสบการณ์ชีวิตกับความกลัว สอนให้เรากลัวคนอื่นมากกว่ากลัวตัวเราเอง
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง เราประสบกับความกลัวของตัวเองมากกว่ากลัวคนอื่น เหตุการณ์ครั้งหนึ่งของฉัน ที่ทำให้คลี่คลายจุดนี้คือ ฉันมักชอบอ่านดวงชะตาชีวิตผ่านหนังสือต่างๆ ที่เพื่อนๆ บอกว่าแม่น!
...แล้วอย่างไร ฉันกลัวมาก เมื่อเขาเขียนว่า วันนี้ต้องระวังนั่น ระวังนี่ “ให้ระวังคนจะทำร้ายจิตใจ แล้วมีผลกระทบกับการงาน” วันนั้นไม่เป็นอันทำอะไร ได้แต่ระวังว่า คนที่เขาไม่ชอบเราอยู่แล้วจะเล่นงานเราอย่างไร นอกจากสิ่งที่ได้คือความเครียดแล้ว ยังทำให้เราไม่มีความสุข ไม่สนุก เราไม่ได้จดจ่ออยู่กับการทำงาน มัวแต่กังวลว่าเขาจะทำอะไรเรา เราจะถูกเล่นงานอย่างไร
แท้จริงแล้ว ความกลัวคือสิ่งที่อยู่ในใจของฉันนี่เอง มากกว่าความกลัวในสิ่งที่เกิดขึ้นจริง หากเรามีสติและใช้ปัญญาที่เรามี แก้ไขสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นจริง เราก็จะผ่านพ้นมันไปได้
ความกลัวของคนเมืองหรือคนสมัยใหม่ (modern human) มันลึกซึ้งกว่าการทำร้ายจิตใจซึ่งกันและกัน ทั้งกลัวว่าจะไม่มีงาน กลัวว่าคนที่ทำงานกับเราจะแย่งผลงานของเรา กลัวเราเก่ง/ไม่มีความสามารถเท่าเทียมกับคนอื่น
การแข่งขันกันในที่ทำงาน ในสำนักงาน ผู้ที่ได้รับประโยชน์มักเป็นองค์กรหรือสถาบัน หรือจะชี้ให้ถูกจุดก็คือ คนที่เป็นเจ้าของบริษัทหรือสถาบันนั้น ยิ่งลูกน้องแข่งขันกันทำงานให้ดีมากเท่าไร ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน ชื่อเสียงก็ย่อมอยู่กับองค์กรนั้นๆ มากขึ้น
แล้วจะทำอย่างไรให้เรามีสติและใช้ปัญญากับความกลัวเหล่านั้นได้...จะมีอะไรดีไปกว่าการฝึก ใช้สติ และมีหลักธรรม คือความเป็นจริงตามธรรมชาติเป็นหลักในการไม่ทำร้ายกัน ซึ่งหากสถาบัน องค์กรใดๆ มีการสร้างระบบที่ดีก็จะช่วยให้คนที่แข่งขันกัน อยู่ในกฎ กติกา อย่างเช่น การสอบเพื่อให้ได้งาน มีความยุติธรรม ผู้เลือกและผู้ถูกเลือกเป็นคนที่มีความสามารถจริงๆ
แต่คนเราเดี๋ยวนี้ มักมีความสามารถ ความเก่ง มาอยู่แถวหน้าได้ จากการแข่งขันแล้วเป็นผู้ชนะที่เห็นได้ภายนอก ทั้งการเลื่อนตำแหน่ง การประกวด คนที่ได้ที่ 1 มีคนเดียวเสมอ หากการประกวด การสอบแข่งขัน หรือการเลื่อนตำแหน่งนั้น ไม่ได้ใช้ความยุติธรรมในมือของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ย่อมได้คนที่มีความสามารถ
หากเราเป็นคนที่แข่งขันในเกมนี้ แล้วเราเป็นผู้ชนะในเกม แล้วเราเอาชนะความกลัวในขณะที่เราแข่งขันมาได้อย่างไร บางคนภาคภูมิใจในการแข่งชนะ เพราะเขาแข่งด้วยความสามารถและสติปัญญาที่แท้จริง บางคนแม้จะชนะแต่ไม่ภาคภูมิใจเลยเพราะเขารู้ตัวว่า เขาไม่ได้ใช้สติปัญญาที่แท้จริงมาแข่ง เขาย่อมกลัว กลัวว่าคนอื่นจะรู้ กลัวว่าแล้วเขาจะรักษาชัยชนะอย่างไร
นอกจากความกลัวและการแข่งขันนี้แล้ว ความกลัวยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์พยายามเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ที่อยู่ภายใต้ธรรมชาติที่โหดร้าย อย่างทะเลทราย นอกจากมีความรู้เรื่องการอยู่กับทะเลทราย พายุทะเลทรายแล้ว ยังพยายามสร้างเครื่องมือ การป้องกันตัวให้พ้นจากธรรมชาติที่โหดร้าย และสามารถใช้เครื่องมือ ความรู้เพื่อการอยู่รอดอีกด้วย
ความกลัว...นอกจากจะมีด้านไม่ดีแล้ว ยังมีด้านดี อันเป็นปัจจัยผลักให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ไม่ต่างอะไรกับการที่พันธกุมภาเจอะเจอกับความกลัวที่หลุมศพ แล้วผ่านมันมาได้ แท้จริงแล้ว ไม่มีความกลัวใดในมนุษย์ เท่ากับความกลัวที่อยู่ในใจของตนเลย