Skip to main content

พันธกุมภา

20080218 ภาพประกอบ (1)

ถึง มีนา....

เมื่อวางแผนการเดินทางเสร็จสิ้น และพยายามที่จะเคลียร์งานทุกอย่างให้แล้วเสร็จก่อนช่วงส่งท้ายปีเก่า ฉันเดินทางออกจากบ้านที่เชียงรายในวันที่ 24 ธันวาคม 2550 เพื่อมาจัดการงานต่างๆ เอกสารที่คั่งค้างจากการทำวิจัย

ช่วงการเดินทางโดยรถทัวร์จากเชียงรายมายังกรุงเทพฯ ฉันนอนไม่ค่อยหลับ เพราะกลัวหลายเรื่อง กลัวรถจะชน กลัวจะมี “มาร” มาขวางไม่ให้ได้ไปปฏิบัติ

คำว่า “มาร” ในที่นี้ ฉันไม่รู้ว่าคืออะไร แต่เท่าที่เคยสัมผัสคือ น่าจะมาเป็นลักษณะของอุปสรรค กีดกันไม่ให้เราไปปฏิบัติ อย่างเช่นบางคนพอจะไปปฏิบัติธรรม ก็ป่วยไม่สบาย หรือ ประสบอุบัติเหตุ หรือว่าคนรอบข้างเราเช่น ญาติพี่น้อง ป่วยไม่สบาย ทำให้เราเดินทางต่อไปไม่ได้ เมื่อก่อนตอนที่ฉันจะไปปฏิบัติที่ธรรมอาภา จ.พิษณุโลก ก็เจอแบบอาการป่วยไม่สบายตามร่างกาย ซึ่งก็กลัวว่าการจะไปปฏิบัติครั้งนี้ที่วัดป่าสุคะโตจะเป็นแบบนั้นอีก

ทีนี้พออยู่บนรถทัวร์ระหว่างทางไปกรุงเทพฯ ในคืนนั้น รถทัวร์ขับเร็วมากๆ และก็เกือบชนกันสองหน แต่ตอนนั้นก็ตั้งสติตลอดว่า ถ้าจะตายก็ขอให้ตายไปเลย......

สุดท้าย มาถึงกรุงเทพฯ ด้วยความปลอดภัย และใช้เวลาอยู่ในกรุงเทพฯ สอง วัน ก่อนจะเดินทางไปจังหวัดชัยภูมิในวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ระหว่างที่อยู่กรุงเทพฯ ได้จัดการเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย ซึ่งเพื่อนที่ทำงานร่วมกันบอกว่าต้องหาเอกสารเพิ่มอีกหลายชุด เกี่ยวกับทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคงต้องใช้เวลาหานานพอสมควร ดีไม่ดีอาจจะไม่ได้ไปวัดป่าสุคะโต ซึ่งเมื่อฟังข้อเสนอแนะเสร็จ ฉันก็ได้พยายามที่จะหาเอกสารงานต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และจัดการเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทางไปยังวัดป่าสุคะโต เพื่อไม่ให้ขัดขวางต่อการไปปฏิบัติธรรมในครั้งนี้

ในที่สุด ฉันก็สามารถจัดการงานได้ทันท่วงที และพร้อมที่จะเดินทางไปยังจังหวัดชัยภูมิ การเดินทางไปวัดป่าสุคะโตที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นการเดินทางไปยังที่หมายนี้ครั้งแรก ....ทว่าฉันยังคงระวังตัวและตื่นเต้นอยู่ทุกขณะ

ระหว่างการเดินทาง ฉันคิดถึงหลายๆ เรื่อง ทั้งที่เกิดขึ้นมาในอดีต และคาดการณ์ถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ระยะเวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ – ชัยภูมิ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ค่าโดยสารรถทัวร์ก็ไม่ถึง 300 บาท (ถูกกว่าค่าเหล้าและกับแกล้มมื้อหนึ่งด้วยซ้ำ)

ฉันนั่งคิดไปคิดมา สลับกับการโทรศัพท์หาเพื่อนๆ พี่น้องหลายๆ คน เพื่อทักทายก่อนสิ้นปี

บางคนที่เคยมีเรื่องราว “บางอย่าง” ต่อกันในอดีต ก็ขอ “อโหสิกรรม” ต่อกัน - การขอหรือให้อโหสิกรรมเพื่อไม่ให้จองเวร จองกรรม ผูกกรรม สร้างวิบากใหม่ต่อไปให้เกิดขึ้นแก่กัน

ฉันเดินทางจากกรุงเทพฯ ตอนบ่าย 2 และถึงจังหวัดชัยภูมิประมาณ 1 ทุ่ม

คุณลุงที่เป็นเพื่อนแม่ มารอรับที่บริษัทรถทัวร์ประจำทางที่จังหวัดชัยภูมิ – ลุงทา คือคำเรียกชื่อลุง

ลุงทา พาฉันไปทักทายกับญาติฝ่ายผู้ใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ บางท่านเป็นผู้อำนวยการเขตการศึกษา เป็นผู้บริหารขนส่งจังหวัดชัยภูมิ ผู้ใหญ่หลายท่านนั่งสรวลเสเฮฮาเพื่อฉลองการเกษียณอายุราชการของลุงคนหนึ่ง

ป้าคนหนึ่งตักปลาเผาและให้ลุงทาชงเหล้ามาให้ทาน
“อ่อ...เอ่อ...ขอบคุณครับ ผมทานเนื้อสัตว์ไม่ได้ครับและไม่กินเหล้าด้วย” ฉันตอบด้วยความเกรงใจ

ป้าท่านหนึ่งถามว่าทำไม?
ฉันจึงได้โอกาสบอกว่า ฉันกินอาหารมังสวิรัติ และถือศีล 5 จึงไม่สามารถทานเนื้อสัตว์และดื่มเหล้าได้ และได้ขอบคุณในความปรารถนาดีของผู้ใหญ่ทุกๆ ท่าน
 
จริงๆ ฉันอยากจะตอบด้วยเหตุผลที่มากกว่านี้ แต่เวลาไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก เพราะเธอและหลายคนอาจงง ว่าทำไมฉันต้องทำแบบนั้น ทำไมต้องถือศีล กินมังสวิรัติ เหตุผลมีอยู่ สามประการ

หนึ่ง ในการปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวทางมรรคมีองค์ 8 นั้น มีหมวดใหญ่ๆ อยู่ สามอย่างคือ ศีล-สมาธิ-ปัญญา นั่นคือ หากเราจะปฏิบัติสมาธิ-ปัญญัติเราจักดำรงในศีลเพื่อให้ตัวเองเป็นปกติ ไม่ละเมิดศีล แล้วศีลที่บริสุทธิ์ก็จะส่งผลให้เราทำสมาธิได้ดี และการมีสมาธิได้ดีก็จะทำให้เราเจริญสติ เจริญปัญญาได้ดี ทั้งนี้ ปัญญาของเราก็จะเกื้อกูลการรักษาศีลของเราไปไหนตัว

สอง ศีลช่วยกำกับไม่ให้เราทำอะไรที่ไม่ดี เช่น การพูดปด พูดส่อเสียด นินทา ฆ่าสัตว์ ลักขโมยทรัพย์ เพราะการกระทำเหล่านี้จะทำให้เราพบกับผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา ดังนั้นไม่ว่าจะมองทางโลกหรือทางธรรม การรักษาตนในศีลก็ช่วยให้เราไม่พบเจอกับอันตรายใดๆ ที่เข้ามาในชีวิต จากการที่เราทำอะไรผิดๆ

สาม พอปฏิบัติวิปัสสนานานเข้า ก็พบว่าตัวเองโกรธ ที่โกรธเพราะอะไรไม่รู้ ลองดูตัวเองมาหลายวัน ก็พบว่าเพราะทานเนื้อสัตว์ จึงลองตั้งใจไม่กินเนื้อสัตว์ ก็ปรากฏว่าอารมณ์โกรธไม่ค่อยมี เพิ่มเมตตาธรรมในตัวเองเพิ่มมากขึ้น และพอกินไปมากๆ ก็ชินและทำอย่างเป็นปกติติดต่อกันมาหลายเดือน จนพบว่าการทานอาหารมังสวิรัติแม้จะไม่ได้ทานเจ คือ ฉันยังคงกินไข่และนมและผักกลิ่นฉุนต่างๆ อยู่ ก็ช่วยลดการเบียดเบียนสัตว์ ไม่ก่อกรรม สร้างวิบากใหม่ๆ ให้เกิดกับสรรพสัตว์อีกด้วย

เหตุผลต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบอกเล่าให้กับเพื่อนๆ ที่สนิทกันฟังอยู่บ่อยๆ จนหลายคนที่รู้จักและเคยกินเคยเที่ยวด้วยกันเมื่อก่อนถึงกับยอมรับกับฉันว่า “รู้สึกไม่คุ้นเคยกับแกเลยนะ” เพราะเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด ทีละน้อย ช่วงหลังๆ เวลาใครเขาจะไปเที่ยวดื่มเหล้าที่ไหน ก็จึงไม่ค่อยจะชวนฉันไป หรืออย่างมากถ้าไป ฉันก็ไปเที่ยว แต่ดื่มเฉพาะน้ำเปล่าหรือน้ำอัดลมเท่านั้น

การตั้งวงกินอาหาร ทานเนื้อสัตว์อย่างเอร็ดอร่อยก็เช่นกัน หากฉันได้พูดแบบว่าไม่อยากเบียดเบียนสัตว์ต่อหน้าพวกเขา มีหวังโดนตำหนิว่าไม่รู้จักกาลเทศะแน่นอน

โชคดีที่การเจอผู้ใหญ่ในวงเหล้าฉลองปลดเกษียณนี้ฉันไม่เผลอปากพูดออกไป

ทีนี้พอลุงทา ดื่มเหล้าจนหมดแก้วก็ได้พาฉันกลับไปพักค้างคืนที่บ้านของลุงซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 8 กิโลเมตร และคุยกับฉันเพื่อวางแผนการเดินทางในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปยังวัดป่าสุคะโต อย่างที่ฉันได้เล่าให้เธอรับทราบในจดหมายฉบับก่อนนั่นแหละ.....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์