Skip to main content

พันธกุมภา

ถึง มีนา

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาหาผมที่บ้าน เราสองคนไม่ได้เจอกันมานานหลายปี พอมาเจอกันอีกหนจึงเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้พบเจอกัน รุ่นพี่คนนี้ชื่อ “นนท์” พี่นนท์ เป็นรุ่นพี่ที่เคยสอนผมเต้นเชียลีดเดอร์ เมื่อตอนเรียนมัธยมต้น อายุของพี่นนท์ห่างจากผม 2 ปี พี่นนท์เป็นคนต่างหมู่บ้าน แต่เราอยู่ในตำบลเดียวกัน

ผมค่อนข้างแปลกใจที่พี่นนท์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการพูด ท่าที การแสดงออก จากเมื่อก่อนที่ค่อนข้างกรี๊ดกร๊าด พูดไม่หยุด และชอบนินทาคนอื่นอยู่บ่อยๆ มาคราวนี้พี่นนท์ไม่เหมือนเดิม คือ นิ่งขึ้น ท่าทีสุขุมเยือกเย็น ไม่ทำท่ารุกรี้รุกรนตอนคุยกันเหมือนเมื่อก่อน แถมยังไม่นินทาใคร ให้ได้ยินเลย

“ตอนนี้เป็นยังไงบ้างจ๊ะลูก” พี่นนท์ถามผม หลังจากที่ผมยกมือไหว้ และผมค่อนข้างแปลกใจที่พี่เค้าเรียกผมว่าลูก ผมไม่ได้ถามกลับว่าทำไมถึงเรียกผมว่า ‘ลูก’ ผมเพียงแต่พยักหน้า ตอบและบอกว่า “สบายดีครับ ไม่ได้เจอกันนานเลย พี่สบายดีนะครับ แหม เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงเยอะเลยนะ”

“ใช่” พี่นนท์ตอบด้วยความมั่นใจ แล้วก็เล่าชีวิตของเขาที่ผ่านมา เขาบอกว่า หลังจากเรียนจบมัธยมปลายก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ตอนนั้นเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น และออกไปอยู่ห่างบ้านเป็นครั้งแรก ช่วงที่เรียนปี 1 ปี 2 ก็ต้องใจเรียน และโทรกลับบ้าน คุยกับคนที่บ้านบ่อยๆ แต่พอขึ้น ปี 3 ปี 4 ก็เริ่มเที่ยวกับเพื่อนๆ แล้วก็ใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย จนต้องยืมเงินคนอื่นมา แล้วติดหนี้ในที่สุด

“นี่ไม่นับหนี้เงินกู้ยืมที่กู้นะ เวลาเงินไม่พอจ่ายก็ไปขอยืมคนอื่นๆ พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตัวเองใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขนาดนั้น ครั้งหนึ่งมีเพื่อนชวนไปทำงานอย่างว่า แต่ดีที่ไม่ไปเพราะรู้เลยว่าเรากำลังจะเข้าไปสู่อะไร” พี่นนท์เล่ามาถึงตรงนี้ น้ำเสียงเริ่มนิ่งและอ่อนลง ดูเหมือนแกจะเริ่มปลงกับชีวิต

ชายหนุ่มรุ่นพี่ เล่าต่อว่า ตอนนั้นชีวิตทุกข์มาก เครียดและคิดมาก การเรียนก็ไม่ค่อยดีเหมือนช่วงแรกๆ เพื่อนๆ ที่เที่ยวก็ทะเลาะกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง เลยไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี แต่แล้วมันก็ผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้ เพราะมีคนที่รู้จักกันอีกคนมาช่วยใช้หนี้ให้ โดยเค้าให้เราทยอยใช้หนี้เดือนละไม่มากนัก ตอนนั้นจึงเป็นโชคของตัวเอง

ผมไม่คิดเลยว่า พี่ที่ไม่เคยเจอกันมานาน เมื่อมาเจอกันอีกครา มันเหมือนมีเรื่องราวที่มาเล่าสู่กันฟังมากมายและลึกเพียงนี้ ผมได้เล่าให้พี่นนท์ฟังเรื่องชีวิตตัวเอง ทั้งการเรียน การทำงาน และความรัก – เราคุยกันไป หัวเราะไปและบางคราก็หยุดนิ่งอยู่นานเมื่อเป็นเรื่องเศร้าของอีกคนหนึ่ง

กว่า 3 ชั่วโมง ที่เราคุยกัน มีเรื่องหนึ่งที่เราคุยแล้วดูเหมือนจะทำให้ชีวิตเราอิ่มเอมใจและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่เราคุยนั้นก็คือเรื่อง “ธรรมะ” – ธรรมะที่ไม่ได้คุยถึงหลักธรรม ศีล หรือ พระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่อง “ชีวิต” เป็นเรื่อง “ภายใน” ที่เราต่างได้เรียนรู้จากการเจริญสติ หรือ ปฏิบัติธรรม

พี่นนท์เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ใกล้จบปี 4 เขาได้พบกับหนังสือธรรมะของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชโช จากนั้นเขาก็ได้อ่าน และนำหลักปฏิบัติในหนังสือมาอ่าน ซึ่งหนังสือเป็นเรื่องของการ “ดูจิต” โดยมีเนื้อหาเน้นในการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม และการเจริญสติในแนวการดูจิต

พี่นนท์ บอกว่า “พี่ค่อยๆ อ่านหนังสือทีละหน้า ไม่กล้าอ่านทั้งหมด พออ่านไปหน้าไหนก็เริ่มเอามาปฏิบัติไปทีละน้อย ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่กล้าทำอะไรมาก เพราะบางเรื่องถ้าไม่ได้ทำ มันจะอ่านไม่รู้เรื่อง เลยต้องเอาทีละเล็ก ทีละน้อย”

เมื่อได้อ่านและนำมาปฏิบัติแล้ว พี่นนท์บอกว่า ชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไปมาก รู้ทันจิตใจของตัวเอง รู้ทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด สุข ทุกข์ เศร้า ดีใจ เสียใจ อยู่บ่อยๆ และไม่คิดมากเหมือนอดีต ซึ่งพี่นนท์บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ชนิดหักมุมอย่างที่ผมได้เห็น เป็นผลพวงมาจากหนังสือเล่มนี้นั้นเอง

พอคุยเรื่องหนังสือ เราก็พบเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้หนังสือธรรมะ มีเยอะมากในท้องตลาด นอกจากหนังสือที่มีแจกเป็นธรรมทานตามแหล่งต่างๆ แล้ว ก็จะมีหนังสือธรรมะขายในราคาที่ต่างกันไป และคนก็ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จะซื้อ ถึงแม้บางเล่มจะมีราคาสูงก็ตาม

“พี่ว่าเดี๋ยวนี้คนเข้าถึงธรรมะมากขึ้น” พี่นนท์พูดลอยๆ ออกมา แต่เป็นสิ่งที่น่าคิดมาก เพราะผมเองก็เห็นด้วยว่าคนเข้าถึงธรรมะมากขึ้น ทั้งเรื่องการเจริญสติ เรื่องหลักธรรม มีหลายรูปแบบที่มีการนำธรรมะเข้ามาเชื่อมโยงให้กับคน ทั้งทำให้เป็นเรื่องสนุก ตื่นเต้น ขำขัน หรือออกมาผ่านสื่อเวบไซต์ โปรแกรมบล็อกต่างๆ

ผมไม่ได้คิดลึกลงไปว่า สิ่งเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทว่ากลับมองเห็นว่ายิ่งธรรมะเข้าใกล้ชีวิตคนได้มากเท่าใด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าแต่ละคนจะเรียนรู้ต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้จากการฟัง การอ่าน แต่การเรียนรู้เหล่านี้ก็ช่วยให้คนได้เข้าใจหลัก เข้าใจธรรมะที่นำมาปรับใช้กับชีวิตของตนเอง ตามภูมิปัญญา ภูมิธรรมของแต่ละคนที่มีอยู่ (ทั้งที่สั่งสมมาแต่อดีตกาล และปัจจุบัน)

บ่อยครั้งธรรมะถูกมองให้เป็นเรื่องไกลตัวคน มองเป็นเรื่องเครื่องรางของขลัง มองเป็นเรื่องพระ เรื่องเจ้า เพียงเท่านั้นที่ “ผูกขาด” ความรู้นี้แต่เพียงกลุ่มเดียว แต่หาใช่เป็นของคนทุกคน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ธรรมไม่ได้หมายความว่าเป็นของกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง แต่หลักธรรมนั้นเป็นของคนทุกๆ คน คือหลักสากล

ครั้งหนึ่งในพุทธกาล เมื่อ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย.....” ภิกษุ ที่พระพุทธองค์หมายถึงคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชาย หญิง นี่หมายความว่า คำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อเรียกภิกษุแล้วไม่ได้หมายความแค่ “ผู้ที่นุ่งห่มผ้าเหลือง” เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดสะท้อนว่าคนทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมะได้เสมอกัน

ส่วนจะเข้าถึงมากน้อย ลึกตื้น หนาบาง อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะได้รับและเรียนรู้ ตามศักยภาพและภูมิธรรมของตนที่มี

อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องคนที่เข้าถึงธรรมะเยอะแล้ว อีกอย่าง ที่พี่นนท์ ถามผมว่า “คิดยังไง ที่วัยรุ่นสนใจธรรมะ เป็นค่านิยม เป็นกระแส เป็นเพียงความฮิตเท่านั้นหรือยังไง”

ผมตอบพี่นนท์ทันทีว่า “ถ้าวัยรุ่นฮิตธรรมะแล้วจะเป็นปัญหาอะไร เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้ซึมซับเข้าไปสู่ตัวเอง ได้เข้าใกล้ธรรมะ และเมื่อเข้าถึงแล้ว บางคนไม่ชอบ ก็เป็นสิทธิในการเลือกของเขา แต่บางคนที่ชอบก็เป็นสิ่งที่เขาเลือกด้วยความเต็มใจว่าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่ละคนก็มีเวลาที่ธรรมะจะจัดสรรแตกต่างกัน แล้วแต่ปัจจัยต่างๆ ด้วย”

พี่นนท์พยักหน้า และเสริมว่า “ผู้ใหญ่มักชอบบ่นว่าวัยรุ่นชอบฮิตอะไรแล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ได้มองหรือสนับสนุนให้วัยรุ่นได้ทำอะไรดีๆ จริงๆ เลย พอทำอะไรที่ไม่ดีก็ต่อว่า พอทำอะไรดีๆ ก็ว่าเป็นค่ากระแสชั่วคราว แต่ไม่มีความพยายามให้วัยรุ่นมีช่องทางที่จะทำอะไรดีๆ ต่อเนื่องเลย”

ยิ่งเมื่อพี่นนท์คุยมาถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่พี่มีนาเขียนเมื่อฉบับที่แล้ว ว่าจริงๆ แล้วจิตของวัยรุ่น นั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่วัยรุ่นคนนั้นๆ จะพยุง พยายามรักษาสภาวะจิตของตัวเองต่อไป แต่ต่อข้อที่ว่า “ใจของใคร” นี่สิ ยิ่งกลับเห็นว่าผู้ใหญ่ได้เอาใจออกมาที่วัยรุ่นมากกว่าการมองใจของตนเอง ทำให้คิดแทนเด็ก กลัว กังวลใจต่างๆ นานาว่าวัยรุ่นจะทำแบบนั้นไม่ดี หรือจะทำแบบนี้ได้จริงหรือไม่

ผู้ใหญ่บางท่านไม่ได้นำใจมาสู่ตนหรือดูจิตของตัวเอง จนต้องพบกับความทุกข์ใจนานาประการ (ที่ว่าดูจิตตัวเอง ไม่ได้แปลว่าเห็นแก่ตัว หรือที่ว่าไม่ให้ผู้ใหญ่เอาใจมาไว้ที่วัยรุ่น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ห่วงใย หรือเข้าใจวัยรุ่นนะครับ) เพียงเพราะส่งจิตออกข้างนอก

การที่วัยรุ่นฮิตธรรมะ หรือคนทั่วไปหันมาเข้าถึงธรรมะมากขึ้นนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ควรให้เวลา เพราะการเรียนรู้ทางธรรมเป็นสิ่งที่ควรให้เวลา ไม่ใช่ว่ารู้จักธรรมแล้วจะบรรลุธรรมในไม่กี่วินาที หรือเป็นคนดีในชั่วพริบตา ( ในพุทธกาลอาจมี แต่ปัจจุบันผมไม่แน่ใจนัก) เพราะทุกๆ อย่างต้องให้เวลา

ให้เวลาตัวเองในที่นี้คือ ให้เวลาตัวเองดูจิตของตัวเองบ่อยๆ ขึ้น รู้ตัวบ่อยขึ้น ไม่ส่งจิตออกนอก ค่อยๆ ทำไปทีละนิด ทำเหมือนดั่งคำกล่าวของพระอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนว่า “ให้ปฏิบัติ เหมือนไม่ได้ปฏิบัติ” คือ ทำไปแบบเล่นๆ ไม่เพ่ง ไม่กดดันตัวเอง ค่อยๆ รู้ รู้ไปทีละนิด เวลาโกรธก็รู้ เวลากลัวก็รู้ เวลาหลงก็รู้ เวลารู้ก็รู้ สักแต่ว่ารู้ไปอย่างเดียว

ค่อยๆ ทำ ไปทีละเล็ก บ่อยๆ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

ท้ายที่สุดแล้ว ผมและพี่นนท์ เราต่างเป็นวัยรุ่น และเราทั้งสองก็เป็นคนที่อยู่ในกระแสฮิตธรรมะ แต่สิ่งที่ทำให้เราได้พบและเดินทางแห่งธรรมเสมอมา ก็คือ การจัดสรรธรรมะที่เข้ามาในตัวเราโดยที่เราเองต่างตอบไม่ได้ว่าทำไมเราจึงเป็นเช่นนั้น และเราก็เป็นเพียงคนที่แสวงหาบางสิ่ง ที่เราเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
ชีวิตนี้แสนสั้นและใจก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช้าสายบ่ายค่ำจิตใจไม่เหมือนเดิม กายก็มีทั้งสุขและทุกข์แปรปรวนไปตามธรรมดา ชีวิตแต่ละวันจึงแสนจะสั้นและดูแล้วไม่เที่ยงเอาเสียเลย จนบางครั้งรู้สึกกลัวว่าจะไม่ได้ทำอะไรก่อนที่ลมหายใจจะหมดไป จึงต้องใคร่ครวญคิดคำนึงอยู่เสมอๆ ว่าตั้งแต่เกิดมามีอะไรที่ตัวเองยังไม่ได้ทำบ้าง และก็ควรจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตนี้เพื่อลงมือทำสิ่งนั้นอย่างจริงจังไม่ใช่แค่คิดและปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ
พันธกุมภา
เร็วๆ นี้ผมและญาติธรรมกำลังร่วมกันดำเนินการจัดพิมพ์ธรรมใจไดอารี่ ฉบับธรรมทาน ซึ่งพี่ๆ ญาติธรรม ทุกๆ คน ที่ได้มาพบเจอ รู้จัก สนทนาธรรมกัน ได้ช่วยเหลือ เกื้อกูล ให้คำปรึกษา แนะนำต่างๆ มากมาย และเมื่อมีผู้เสนอให้ทำ ธรรมใจไดอารี่ขึ้น
พันธกุมภา
สำหรับผมกับแฟน เราทั้งสองคบกันด้วยเหตุแห่งความศรัทธาที่มีต่อกัน ในวันที่เราเจอกันครั้งแรก แม้ไม่ได้รู้สึกอยากจะได้มาครอบครองแต่ด้วยความที่เธอเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่สนใจในทางธรรม ทั้งการถือศีล และการปฏิบัติ ทำให้เราทั้งสองได้สนทนาและแบ่งปันการภาวนาของกันและกันและก็ได้คุยกันเรื่อยมา
พันธกุมภา
วันธรรมดาวันหนึ่ง ชีวิตประจำวันก็ผ่านไปด้วยเหตุปัจจัยเหมือนเดิม มีประชุม ทำค่าย อบรม เดินทางจัดกิจกรรมตามจังหวัดต่างๆ ได้เจอผู้คนมากหน้าหลายตา มีโอกาสได้สนทนากันตามเรื่องราวที่แตกต่างกันไป แต่ข้างในใจกลับเต็มไปด้วยความเฉื่อยชา เบื่อหน่าย ไม่ค่อยมีความสุขเท่าใดนัก
พันธกุมภา
การได้สังเกตจิตใจของตัวเองตามความเป็นจริงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่าจิตใจนี้มีธรรมชาติแปรเปลี่ยนไปมาตามเหตุปัจจัยเงื่อนไขชีวิต แล้วยังมีปกติไหลลงสู่ที่ต่ำ ไปสู่ความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น ความโกรธ ขุ่นเคือง หงุดหงิด ความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ขาดสติ เผลอหลงใหลไปกับโลกของความคิดและสิ่งภายนอกใจ
พันธกุมภา
คำอวยพรจากเพื่อนๆ พี่น้อง หลายๆ คน ส่งมายังผมหลายฉบับ ทำให้เกิดความปีติยินดี ที่ได้รับคำอวยพรอย่างยิ่ง และผมก็ได้ตอบกลับไปยังเพื่อนๆ พี่น้อง ทั้งที่ส่งมาและไม่ได้ส่งมา อีกหลายๆ คน การให้พรจึงเสมือนเป็นการให้กำลังใจและบอกให้กันและกันรู้ว่ายังคงระลึกถึงกันอยู่เสมอ
พันธกุมภา
บ่อยครั้งที่การเจริญสติของใครหลายคนติดอยู่กับอารมณ์คือหลงไปแช่อยู่กับอารมณ์นานจึงทำให้เกิดการเผลอยึดมั่นในอารมณ์นั้น กลายเป็นติดหลุม เผลอลงไปแช่ จะรู้สึกมัวๆ หรือเผลอไปแทรกแซง จนยากยิ่งนักที่จะรู้สึกตัวทัน ทั้งนี้ครูบาอาจารย์ท่านแนะไว้ว่าอาจเป็นเพราะจิตยังไม่ถึงฐานหรือจิตยังไม่ตั้งมั่น
พันธกุมภา
  ในการภาวนาบ่อยครั้งนักที่ผมมักจะได้ยินคนอื่นๆ มาเล่าให้ฟังทำนองว่า สถานที่นี้ไม่ดีเลย ไม่เหมาะที่จะภาวนาเลย เสียงก็ดัง คนก็เยอะ ไม่มีที่ ไม่มีทางเดินจงกรมหรือนั่งปฏิบัติเลย เพราะมองว่าการที่จะภาวนาได้นั้นจะต้องไปในสถานที่ที่มีรูปแบบ เช่น มีทางให้เดินจงกรม มีเบาะให้นั่งภาวนา เป็นต้น
พันธกุมภา
ปลายเดือนตุลาคม 2552 นี้ ผมได้มีโอกาสไปภาวนากับพี่ๆ ญาติธรรมเชียงใหม่ ที่สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งพวกเราไปกัน 4 คน ได้แก่ พี่เอ้ พี่ยา พี่นา และผม ซึ่งผมรู้จักพี่ๆ ผ่านทางการสนทนาในอินเตอร์เน็ตและทุกๆ คนก็ภาวนาในแนวดูจิตเหมือนๆ กัน
พันธกุมภา
บ่อยครั้งที่รู้สึกตัว และอารมณ์ต่างๆ เกิดขึ้นภายในใจ มันยิ่งทำให้เห็นว่าเราสามารถตามรู้ ตามดูสภาวะต่างๆ ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ด้านบวก หรืออารมณ์ด้านลบที่เกิดขึ้นภายในใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีหน้าที่เหมือนกันคือ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่สามารถควบคุมหรือบังคับบัญชาได้
พันธกุมภา
ในแต่ละวันชีวิตคนเราก็มีเวลา 24 ชั่วโมง เหมือนกัน ไม่มีใครมีเวลามากหรือน้อยไปกว่ากัน ทว่าอยู่ที่ว่าใครจะจัดสรรเวลาให้กับตัวเองมากน้อยเพียงใด ทั้งเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว และอื่นๆ อีกมายมาย ซึ่งการจัดระดับความสำคัญของภารกิจระหว่างวันแต่ลัอย่างนื้ถือเป็นเรื่องที่ช่วยให้วันแต่ละวันผ่านไปอย่างมีคุณประโยชน์
พันธกุมภา
โดยปกติแล้ว ผมมักจะเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่กับที่ เป็นคนที่ชอบเคลื่อนไหวตัวเองไปๆ มาๆ ดังนั้นการเจริญสติด้วยการรู้สึกที่กายและใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปมานี้ จึงเป็นการภาวนาที่ทำให้ผมถนัดและสามารถรู้สึกตัวได้บ่อยที่สุด