Skip to main content

พันธกุมภา

ถึง มีนา

ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรุ่นพี่คนหนึ่งมาหาผมที่บ้าน เราสองคนไม่ได้เจอกันมานานหลายปี พอมาเจอกันอีกหนจึงเป็นเรื่องที่ตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้พบเจอกัน รุ่นพี่คนนี้ชื่อ “นนท์” พี่นนท์ เป็นรุ่นพี่ที่เคยสอนผมเต้นเชียลีดเดอร์ เมื่อตอนเรียนมัธยมต้น อายุของพี่นนท์ห่างจากผม 2 ปี พี่นนท์เป็นคนต่างหมู่บ้าน แต่เราอยู่ในตำบลเดียวกัน

ผมค่อนข้างแปลกใจที่พี่นนท์เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการพูด ท่าที การแสดงออก จากเมื่อก่อนที่ค่อนข้างกรี๊ดกร๊าด พูดไม่หยุด และชอบนินทาคนอื่นอยู่บ่อยๆ มาคราวนี้พี่นนท์ไม่เหมือนเดิม คือ นิ่งขึ้น ท่าทีสุขุมเยือกเย็น ไม่ทำท่ารุกรี้รุกรนตอนคุยกันเหมือนเมื่อก่อน แถมยังไม่นินทาใคร ให้ได้ยินเลย

“ตอนนี้เป็นยังไงบ้างจ๊ะลูก” พี่นนท์ถามผม หลังจากที่ผมยกมือไหว้ และผมค่อนข้างแปลกใจที่พี่เค้าเรียกผมว่าลูก ผมไม่ได้ถามกลับว่าทำไมถึงเรียกผมว่า ‘ลูก’ ผมเพียงแต่พยักหน้า ตอบและบอกว่า “สบายดีครับ ไม่ได้เจอกันนานเลย พี่สบายดีนะครับ แหม เดี๋ยวนี้เปลี่ยนแปลงเยอะเลยนะ”

“ใช่” พี่นนท์ตอบด้วยความมั่นใจ แล้วก็เล่าชีวิตของเขาที่ผ่านมา เขาบอกว่า หลังจากเรียนจบมัธยมปลายก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ตอนนั้นเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยรุ่น และออกไปอยู่ห่างบ้านเป็นครั้งแรก ช่วงที่เรียนปี 1 ปี 2 ก็ต้องใจเรียน และโทรกลับบ้าน คุยกับคนที่บ้านบ่อยๆ แต่พอขึ้น ปี 3 ปี 4 ก็เริ่มเที่ยวกับเพื่อนๆ แล้วก็ใช้จ่ายของฟุ่มเฟือย จนต้องยืมเงินคนอื่นมา แล้วติดหนี้ในที่สุด

“นี่ไม่นับหนี้เงินกู้ยืมที่กู้นะ เวลาเงินไม่พอจ่ายก็ไปขอยืมคนอื่นๆ พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตัวเองใช้จ่ายฟุ่มเฟือยขนาดนั้น ครั้งหนึ่งมีเพื่อนชวนไปทำงานอย่างว่า แต่ดีที่ไม่ไปเพราะรู้เลยว่าเรากำลังจะเข้าไปสู่อะไร” พี่นนท์เล่ามาถึงตรงนี้ น้ำเสียงเริ่มนิ่งและอ่อนลง ดูเหมือนแกจะเริ่มปลงกับชีวิต

ชายหนุ่มรุ่นพี่ เล่าต่อว่า ตอนนั้นชีวิตทุกข์มาก เครียดและคิดมาก การเรียนก็ไม่ค่อยดีเหมือนช่วงแรกๆ เพื่อนๆ ที่เที่ยวก็ทะเลาะกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง เลยไม่รู้ว่าจะเอายังไงดี แต่แล้วมันก็ผ่านพ้นช่วงนั้นมาได้ เพราะมีคนที่รู้จักกันอีกคนมาช่วยใช้หนี้ให้ โดยเค้าให้เราทยอยใช้หนี้เดือนละไม่มากนัก ตอนนั้นจึงเป็นโชคของตัวเอง

ผมไม่คิดเลยว่า พี่ที่ไม่เคยเจอกันมานาน เมื่อมาเจอกันอีกครา มันเหมือนมีเรื่องราวที่มาเล่าสู่กันฟังมากมายและลึกเพียงนี้ ผมได้เล่าให้พี่นนท์ฟังเรื่องชีวิตตัวเอง ทั้งการเรียน การทำงาน และความรัก – เราคุยกันไป หัวเราะไปและบางคราก็หยุดนิ่งอยู่นานเมื่อเป็นเรื่องเศร้าของอีกคนหนึ่ง

กว่า 3 ชั่วโมง ที่เราคุยกัน มีเรื่องหนึ่งที่เราคุยแล้วดูเหมือนจะทำให้ชีวิตเราอิ่มเอมใจและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่เราคุยนั้นก็คือเรื่อง “ธรรมะ” – ธรรมะที่ไม่ได้คุยถึงหลักธรรม ศีล หรือ พระไตรปิฎก แต่เป็นเรื่อง “ชีวิต” เป็นเรื่อง “ภายใน” ที่เราต่างได้เรียนรู้จากการเจริญสติ หรือ ปฏิบัติธรรม

พี่นนท์เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ใกล้จบปี 4 เขาได้พบกับหนังสือธรรมะของพระอาจารย์ปราโมทย์ ปราโมชโช จากนั้นเขาก็ได้อ่าน และนำหลักปฏิบัติในหนังสือมาอ่าน ซึ่งหนังสือเป็นเรื่องของการ “ดูจิต” โดยมีเนื้อหาเน้นในการปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม และการเจริญสติในแนวการดูจิต

พี่นนท์ บอกว่า “พี่ค่อยๆ อ่านหนังสือทีละหน้า ไม่กล้าอ่านทั้งหมด พออ่านไปหน้าไหนก็เริ่มเอามาปฏิบัติไปทีละน้อย ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ไม่กล้าทำอะไรมาก เพราะบางเรื่องถ้าไม่ได้ทำ มันจะอ่านไม่รู้เรื่อง เลยต้องเอาทีละเล็ก ทีละน้อย”

เมื่อได้อ่านและนำมาปฏิบัติแล้ว พี่นนท์บอกว่า ชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไปมาก รู้ทันจิตใจของตัวเอง รู้ทันอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด สุข ทุกข์ เศร้า ดีใจ เสียใจ อยู่บ่อยๆ และไม่คิดมากเหมือนอดีต ซึ่งพี่นนท์บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ชนิดหักมุมอย่างที่ผมได้เห็น เป็นผลพวงมาจากหนังสือเล่มนี้นั้นเอง

พอคุยเรื่องหนังสือ เราก็พบเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้หนังสือธรรมะ มีเยอะมากในท้องตลาด นอกจากหนังสือที่มีแจกเป็นธรรมทานตามแหล่งต่างๆ แล้ว ก็จะมีหนังสือธรรมะขายในราคาที่ต่างกันไป และคนก็ไม่รู้สึกเสียดายเงินที่จะซื้อ ถึงแม้บางเล่มจะมีราคาสูงก็ตาม

“พี่ว่าเดี๋ยวนี้คนเข้าถึงธรรมะมากขึ้น” พี่นนท์พูดลอยๆ ออกมา แต่เป็นสิ่งที่น่าคิดมาก เพราะผมเองก็เห็นด้วยว่าคนเข้าถึงธรรมะมากขึ้น ทั้งเรื่องการเจริญสติ เรื่องหลักธรรม มีหลายรูปแบบที่มีการนำธรรมะเข้ามาเชื่อมโยงให้กับคน ทั้งทำให้เป็นเรื่องสนุก ตื่นเต้น ขำขัน หรือออกมาผ่านสื่อเวบไซต์ โปรแกรมบล็อกต่างๆ

ผมไม่ได้คิดลึกลงไปว่า สิ่งเหล่านี้เหมาะสมหรือไม่อย่างไร ทว่ากลับมองเห็นว่ายิ่งธรรมะเข้าใกล้ชีวิตคนได้มากเท่าใด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แม้ว่าแต่ละคนจะเรียนรู้ต่างกัน เช่น บางคนเรียนรู้จากการฟัง การอ่าน แต่การเรียนรู้เหล่านี้ก็ช่วยให้คนได้เข้าใจหลัก เข้าใจธรรมะที่นำมาปรับใช้กับชีวิตของตนเอง ตามภูมิปัญญา ภูมิธรรมของแต่ละคนที่มีอยู่ (ทั้งที่สั่งสมมาแต่อดีตกาล และปัจจุบัน)

บ่อยครั้งธรรมะถูกมองให้เป็นเรื่องไกลตัวคน มองเป็นเรื่องเครื่องรางของขลัง มองเป็นเรื่องพระ เรื่องเจ้า เพียงเท่านั้นที่ “ผูกขาด” ความรู้นี้แต่เพียงกลุ่มเดียว แต่หาใช่เป็นของคนทุกคน ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ธรรมไม่ได้หมายความว่าเป็นของกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง แต่หลักธรรมนั้นเป็นของคนทุกๆ คน คือหลักสากล

ครั้งหนึ่งในพุทธกาล เมื่อ พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย.....” ภิกษุ ที่พระพุทธองค์หมายถึงคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ชาย หญิง นี่หมายความว่า คำสอนของพระพุทธองค์ เมื่อเรียกภิกษุแล้วไม่ได้หมายความแค่ “ผู้ที่นุ่งห่มผ้าเหลือง” เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นจุดสะท้อนว่าคนทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมะได้เสมอกัน

ส่วนจะเข้าถึงมากน้อย ลึกตื้น หนาบาง อย่างไร ก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนจะได้รับและเรียนรู้ ตามศักยภาพและภูมิธรรมของตนที่มี

อย่างไรก็ตามนอกจากเรื่องคนที่เข้าถึงธรรมะเยอะแล้ว อีกอย่าง ที่พี่นนท์ ถามผมว่า “คิดยังไง ที่วัยรุ่นสนใจธรรมะ เป็นค่านิยม เป็นกระแส เป็นเพียงความฮิตเท่านั้นหรือยังไง”

ผมตอบพี่นนท์ทันทีว่า “ถ้าวัยรุ่นฮิตธรรมะแล้วจะเป็นปัญหาอะไร เพราะอย่างน้อยเขาก็ได้ซึมซับเข้าไปสู่ตัวเอง ได้เข้าใกล้ธรรมะ และเมื่อเข้าถึงแล้ว บางคนไม่ชอบ ก็เป็นสิทธิในการเลือกของเขา แต่บางคนที่ชอบก็เป็นสิ่งที่เขาเลือกด้วยความเต็มใจว่าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่ละคนก็มีเวลาที่ธรรมะจะจัดสรรแตกต่างกัน แล้วแต่ปัจจัยต่างๆ ด้วย”

พี่นนท์พยักหน้า และเสริมว่า “ผู้ใหญ่มักชอบบ่นว่าวัยรุ่นชอบฮิตอะไรแล้วจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไม่ได้มองหรือสนับสนุนให้วัยรุ่นได้ทำอะไรดีๆ จริงๆ เลย พอทำอะไรที่ไม่ดีก็ต่อว่า พอทำอะไรดีๆ ก็ว่าเป็นค่ากระแสชั่วคราว แต่ไม่มีความพยายามให้วัยรุ่นมีช่องทางที่จะทำอะไรดีๆ ต่อเนื่องเลย”

ยิ่งเมื่อพี่นนท์คุยมาถึงตรงนี้ก็ทำให้ผมคิดถึงสิ่งที่พี่มีนาเขียนเมื่อฉบับที่แล้ว ว่าจริงๆ แล้วจิตของวัยรุ่น นั้นก็ต้องเป็นสิ่งที่วัยรุ่นคนนั้นๆ จะพยุง พยายามรักษาสภาวะจิตของตัวเองต่อไป แต่ต่อข้อที่ว่า “ใจของใคร” นี่สิ ยิ่งกลับเห็นว่าผู้ใหญ่ได้เอาใจออกมาที่วัยรุ่นมากกว่าการมองใจของตนเอง ทำให้คิดแทนเด็ก กลัว กังวลใจต่างๆ นานาว่าวัยรุ่นจะทำแบบนั้นไม่ดี หรือจะทำแบบนี้ได้จริงหรือไม่

ผู้ใหญ่บางท่านไม่ได้นำใจมาสู่ตนหรือดูจิตของตัวเอง จนต้องพบกับความทุกข์ใจนานาประการ (ที่ว่าดูจิตตัวเอง ไม่ได้แปลว่าเห็นแก่ตัว หรือที่ว่าไม่ให้ผู้ใหญ่เอาใจมาไว้ที่วัยรุ่น ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ห่วงใย หรือเข้าใจวัยรุ่นนะครับ) เพียงเพราะส่งจิตออกข้างนอก

การที่วัยรุ่นฮิตธรรมะ หรือคนทั่วไปหันมาเข้าถึงธรรมะมากขึ้นนั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ควรให้เวลา เพราะการเรียนรู้ทางธรรมเป็นสิ่งที่ควรให้เวลา ไม่ใช่ว่ารู้จักธรรมแล้วจะบรรลุธรรมในไม่กี่วินาที หรือเป็นคนดีในชั่วพริบตา ( ในพุทธกาลอาจมี แต่ปัจจุบันผมไม่แน่ใจนัก) เพราะทุกๆ อย่างต้องให้เวลา

ให้เวลาตัวเองในที่นี้คือ ให้เวลาตัวเองดูจิตของตัวเองบ่อยๆ ขึ้น รู้ตัวบ่อยขึ้น ไม่ส่งจิตออกนอก ค่อยๆ ทำไปทีละนิด ทำเหมือนดั่งคำกล่าวของพระอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนว่า “ให้ปฏิบัติ เหมือนไม่ได้ปฏิบัติ” คือ ทำไปแบบเล่นๆ ไม่เพ่ง ไม่กดดันตัวเอง ค่อยๆ รู้ รู้ไปทีละนิด เวลาโกรธก็รู้ เวลากลัวก็รู้ เวลาหลงก็รู้ เวลารู้ก็รู้ สักแต่ว่ารู้ไปอย่างเดียว

ค่อยๆ ทำ ไปทีละเล็ก บ่อยๆ ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ

ท้ายที่สุดแล้ว ผมและพี่นนท์ เราต่างเป็นวัยรุ่น และเราทั้งสองก็เป็นคนที่อยู่ในกระแสฮิตธรรมะ แต่สิ่งที่ทำให้เราได้พบและเดินทางแห่งธรรมเสมอมา ก็คือ การจัดสรรธรรมะที่เข้ามาในตัวเราโดยที่เราเองต่างตอบไม่ได้ว่าทำไมเราจึงเป็นเช่นนั้น และเราก็เป็นเพียงคนที่แสวงหาบางสิ่ง ที่เราเองก็บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้....

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบอยู่กับตัวเอง เพราะมีความรู้สึกไม่มั่นคง อีกทั้งยังคิดว่าเราควรที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ บ้าง ในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน หรือกิจกรรมต่างๆ ที่มีในความสัมพันธ์  แต่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งที่ทำงานขับเคลื่อนทางสังคมในเรื่องชีวิตทางเพศได้เข้าร่วมภาวนา หรือ Retreat ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการภาวนาเพื่อติดตามเพื่อนๆ ที่ได้ภาวนาในรุ่นต่างๆ ก่อนหน้านี้ให้ได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน ซึ่งกันและกันว่าใครเป็นอย่างไร มีสุข มีทุกข์อย่างไรบ้าง
พันธกุมภา
เมื่อมีเวลาตรวจดูสภาวะจิตใจของตัวเองในช่วงนี้แล้ว ก็เหมือนกับว่าผมได้พบกันสภาวธรรมต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปหลายๆ ประการ มีเกิด มีดับ สลับกันไปในจิตแต่ละช่วงขณะ คือค่อยๆ รู้สึกตัวบ้างในบางครั้ง รู้ว่าเผลอ รู้ว่าหลง รู้ว่าประคอง ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความคิด ความโกรธ หรือแม้กระทั่งความอยาก
พันธกุมภา
ผมถามพี่ที่รู้จักกันท่านหนึ่งว่า "ที่คนทั่วไปไม่ค่อยปฏิบัติธรรมเพราะอะไร"และพี่ท่านนี้ก็ได้ตอบจากประสบการณ์ของตัวเอง ว่า เมื่อก่อนเค้าไม่สนใจ  เพราะเป็นเด็กจะไม่ค่อยมีความทุกข์ แต่พอโตขึ้นแล้วไม่สามารถหาคำตอบได้ในบางคำถาม แต่ธรรมะกลับตอบได้
พันธกุมภา
ถามสวัสดีค่ะเหนื่อยจัง  นอนน้อยเลยเบลอมีคำถามมาถามน้องอีกแล้วค่ะ  คือเมื่อคืนและเมื่อหลายคืนก่อน ดูละครสาปภูษา กับสุสานภูเตศวรสองเรื่องนี้มีความเหมือนกันอยู่อย่างคือ  ย้อนยุค  ทะลุมิติ  โดยมีเรื่องวิญญาณมาเกี่ยวข้องจู่ๆ ก็มีคนถามขึ้นมาว่า  เชื่อเรื่อง ชาตินี้ ชาติหน้า ไหมทำให้พี่คิดขึ้นมาว่า เออ แล้วมันจริงเหรอ เรื่องนี้น่ะไม่รู้สิคะ  ตามความคิดส่วนตัวคือ เชี่อค่ะเชื่อ เลยไม่อยากทำอะไรไม่ดีเลย  อยากสั่งสมความดี สร้างบุญเพราะเราเห็นว่ามันสุขตั้งแต่นาทีที่ทำวันก่อนอ่านหนังสือคุณ ดังตฤณ พี่คิดว่าตามแนวคิดคุณดังตฤณ  มันก็มีจริงสิคะ ชาตินี้…
พันธกุมภา
ต่อจากการตอบจดหมายเรื่องทุกข์ใจกับคนที่ไม่ชอบเรา1 ขอบคุณอย่างยิ่งค่ะอ่านแล้วรู้สึกน้ำตาจะไหล
พันธกุมภา
ช่วงที่ผ่านมา มีจดหมายจาก คุณ พรพรรณ เขียนจดหมายมาสอบถามผม 4 เรื่องดังนี้  1. การที่เราต้องอยู่ร่วมกับคนที่เขาไม่ชอบเรา หรือมีทัศนคติที่ขัดแย้งกัน  เราควรทำอย่างไร2. การแผ่เมตตา  ช่วยให้ทุกข์ที่เกิดขึ้นคลายลง ได้หรือไม่  และการแผ่เมตตามีคุณอย่างไร3. การไปปฏิบัติ  จะช่วยให้เกิดผลบุญถึงเจ้ากรรมนายเวรได้จริงหรือเปล่าคะ4. คุณน้องเต้าเชื่อเรื่องกรรม หรือไม่คะ ผมได้รับและตอบกลับดังนี้.................... สวัสดีครับ ขอบคุณที่ไว้วางใจให้ผมได้แบ่งปันนะครับแต่...สภาวะของผมอาจเป็นคนอื่น…
พันธกุมภา
 คืนนี้ ดึกแล้วครับช่วงเวลาตีสามกว่าๆ ควรเป็นเวลาที่ผมจะได้นอนหลับอย่างสงบแต่ไม่รู้ทำไม? คืนนี้จึงเกิดความรู้สึกว่าอยากจะรวมเล่มบันทึก "ธรรมใจ ไดอารี่" นี้ให้เสร็จ
พันธกุมภา
ผมเขียนเรื่องนี้ตอนเพิ่งตื่น ตอนนี้ยังไม่ได้ล้างหน้า แปรงฟัน ตาก็ดูเบลอ ทำอะไรก็เบลอๆ อยู่นิดหนึ่ง ยังไม่ค่อยมีใจอยากจะทำอะไร ความขี้เกียจเป็นเพื่อนที่ไม่หนีไปไหน ยังคงยืนอยู่ข้างๆ กายผม ไม่อยากทำอะไรเลย แม้ว่าจะมีงานมากน้อยเพียงใด ผมอยากจะหยุดเวลาไว้ตรงที่การอยู่เฉยๆ เพราะเวลาไม่ได้ทำอะไรก็ดีไปอีกอย่าง...บอกไม่ถูกครับ
พันธกุมภา
  ตอนนี้ผมพบว่าความอ่อนล้าทำให้เหนื่อยกับสิ่งกำลังทำอยู่ ไม่ว่างานจะสนุกเพียงใด แต่ถ้าอะไรหลายๆ อย่างเข้ามาในชีวิตจนไม่สามารถจัดการได้ว่าจะทำอะไรก่อนหลัง วิธีการเรียงลำดับความสำคัญของงานเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ สำหรับการมีชีวิตที่สมดุลกัน
พันธกุมภา
แม่เพิ่งโทรมาถามผมว่าวันเกิดปีนี้จะทำอะไร? และเตือนว่าอย่าลืมไปทำบุญถวายพระ แถมยังบอกอีกว่าปีนี้ อยากให้ทำทานโดยการซื้อผ้าเช็ดตัวให้กับผู้เฒ่าผู้แก่และเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ ในหมู่บ้าน ผมรู้สึกดีใจที่คุณแม่โทรมา เพราะอย่างน้อยแสดงว่าท่านจำวันเกิดของผมได้ แม้ว่าผมจะไม่ค่อยตื่นเต้นอะไรกับวันเกิดเพราะมันก็เป็นวันธรรมดาวันหนึ่งสำหรับผม แต่ที่ไหนได้วันนี้เป็นวันสำคัญที่สุดในชีวิตของคุณแม่ เพราะท่านได้ให้การเกิดผมมาลืมตาดูโลก
พันธกุมภา
ช่วงอาทิตย์กว่าที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่คนรอบข้างผมต้องเสียชีวิตไปมากกว่า 3 คน คนหนึ่งเสียชีวิตด้วยการยิงตัวตาย อีกคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และคนสุดท้ายเสียชีวิตดูความชรา การจากไปของคนรู้จักเหล่านี้ แน่นอนว่านำมาซึ่งความเสียใจ ความเศร้าโศก และมันก็ทำให้ผมคิดถึง “ความตาย” อยู่ทุกๆ ขณะ เพราะความตายนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราจริงๆ ซึ่งมันเป็นการบอกย้ำธรรมชาติของชีวิตว่าชีวิตทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง
พันธกุมภา
หลังจากวันที่เริ่มบันทึกมาจนถึงวันนี้ ก็ผ่านเลยมาหลายวันแล้ว มีเรื่องราวหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในชีวิตแต่เท่าที่สำคัญและจำได้ดีคือ ช่วงวันที่ 5 - 15 มกราคม ที่ผ่านมา ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสุขภาวะทางเพศประมาณ 20 คนได้เข้าอบรมภาวนาภายในและการเรียนรู้โครงสร้างทางสังคม ที่บ้านสวนธารทิพย์ ซึ่งมีพี่อวยพร เขื่อนแก้ว เป็นกระบวนกรหลัก