ภาพรวมของปัญหา
แม้ทรัพยากรธรรมชาติส่วนหนึ่งจะถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินส่วนรวม (common property) แต่ว่าก็อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานดังกล่าวสามารถอนุญาตให้หน่วยราชการอื่นนำทรัพยากรดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้
ในขณะเดียวกันทรัพยากรที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวมซึ่งโดยหลักการแล้วชาวบ้านจะต้องใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่โดยปกติแล้วพื้นที่ดังกล่าวจะมีชาวบ้านเข้าไปลงหลักปักฐานทั้งสร้างชุมชนและสร้างที่ทำกิน และไม่เพียงการเข้ามาถือครองที่ดินเพื่อการทำกินเท่านั้น แต่ว่ามักมีการซื้อขายสิทธิการครอบครองอย่างซับซ้อนด้วย
สภาพการณ์ดังกล่าวนี้มักนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านในที่สุด โดยความขัดแย้งจะเริ่มจากมีหน่วยงานทางราชการต้องการที่ดินบริเวณดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ และทำหนังสือขอใช้ที่ดินจากหน่วยงานที่ดูแลที่ดินบริเวณนั้นอยู่ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลก็จะอนุญาต โดยการอนุญาตดังกล่าวรัฐจะใช้หลักคิดที่เรียกว่าการกำหนดอาณาเขตดินแดน (teritorialization) คือ รัฐคิดว่าเมื่อที่ดินเป็นทรัพย์สินอยู่ในการดูแลของรัฐตามกฎหมายกำหนด รัฐก็สามารถจะนำที่ดินไปทำอะไรก็ได้ โดยไม่สนใจพิจารณาเลยว่าที่ดินในพื้นที่ต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีชาวบ้านเข้าไปถือครองอยู่ก่อนแล้ว โดยหลักคิดเรื่องสิทธิอีกแบบหนึ่งที่สืบทอดมาแต่เดิมคือสิทธิการถือครองที่เกิดจากการเข้ามาทำประโยชน์
กรณีดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งต้องการขยายวิทยาเขตไปสู่พื้นที่ที่กว้างขวางกว่าที่เดิม และที่ดินสาธารณะแห่งหนึ่งจำนวน 3,500 ไร่ในเขตจังหวัดพัทลุงเป็นพื้นที่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยดังกล่าวจึงทำเรื่องขอใช้ที่ดินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติ ซึ่งผู้ว่าราชการก็อนุมัติให้ใช้ที่ดินได้โดยไม่ได้พิจารณาว่า ในความเป็นจริงนั้นที่ดินบริเวณดังกล่าวมีชาวบ้านเข้าไปถือครองหมดแล้ว
และสถานการณ์ยิ่งซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อแต่เดิมที่ทางราชการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณะสำหรับเลี้ยงสัตว์และต่อมาชาวบ้านเข้าไปถือครองนั้น บริเวณนี้ยังเป็นที่ห่างไกลความเจริญ ต่อมามีถนนสายสำคัญของภาคใต้ตัดผ่านคือถนนเพชรเกษม 41(ถนนสายเอเชีย) บริเวณดังกล่าวจึงกลายเป็นทำเลทอง ที่ดินจึงมีการซื้อขายกันในราคาแพง รวมทั้งมีผู้เข้าไปซื้อสิทธิครอบครองในที่ดินสาธารณะดังกล่าวด้วย
เมื่อทางราชการอนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างมหาวิทยาลัยและดำเนินการขอที่ดินคืนจากชาวบ้านจึงนำไปสู่ความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง แม้ทางราชการจะยอมจ่ายค่าผลอาสินและทรัพย์สิน แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่ยอมรับ และบางส่วนถึงรับไปแล้วก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ต่อไป แม้ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจะสร้างอาคารต่างๆและเปิดทำการสอนแล้ว แต่ว่าที่ดินส่วนอื่นมหาวิทยาลัยก็ยังไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ และทั้ง 2 ฝ่ายต่างพยายามเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเอง โดยฝ่ายมหาวิทยาลัยพยายามที่จะนำที่ดินที่ได้รับอนุญาตมาใช้ประโยชน์ทั้งหมด ในขณะที่ชาวบ้านก็พยายามรักษาที่มั่นไม่ยอมให้มหาวิทยาลัยไปแย่งยึดที่ดินเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันความขัดแย้งดังกล่าวยังเข้มข้นและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้
ความขัดแย้งในกรณีที่ว่านี้อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ได้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่รัฐยังใช้ความคิดแบบการกำหนดอาณาเขตดินแดน ในขณะที่ชาวบ้านมีความจำเป็นที่จะต้องมีที่ทำกินและมีรายได้เพื่อตอบสนองการพัฒนาสมัยใหม่ที่รัฐเป็นผู้กระตุ้นให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงสมควรมีการศึกษากรณีความขัดแย้งระหว่างมหาวิทยาลัยกับชาวบ้านดังที่กล่าว เพื่อให้สังคมได้เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นและตระหนักได้ว่าควรหาทางออกอย่างไร
ความสำคัญของปัญหา
ในประเทศไทยมักมีความขัดแย้งในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ซึ่งมีให้เห็นอยู่หลายกรณี เช่น กรณีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ความขัดแย้งจากการประกาศเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวน รวมทั้งการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้านในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เป็นต้น บางกรณีเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงถึงขั้นมีการปะทะกันด้วยกำลัง เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกรณีเขื่อนปากมูล ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านกรณีการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย และกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยเช่นกันคือการที่รัฐนำที่ดินที่รัฐดูแลไปสร้างสถานที่ราชการ โดยที่ที่ดินดังกล่าวมีชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน
การที่รัฐกระทำเช่นนี้เป็นเพราะรัฐได้ใช้หลักคิดในการกำหนดอาณาเขตดินแดน (teritorialization) คือ รัฐคิดว่า เมื่อที่ดินเป็นทรัพย์สินอยู่ในการครอบครองหรือดูแลโดยรัฐ รัฐก็สามารถจะนำที่ดินไปทำอะไรก็ได้ ในขณะที่ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนและทำกินอยู่นั้นป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเพราะบุกรุกที่ดินของรัฐ ส่วนฝ่ายชาวบ้านก็ถือว่าตนเองนั้นได้ตั้งถิ่นฐานและทำกินในบริเวณนั้นมาแต่ดั้งเดิม หรือสืบทอดมาตามระบบสิทธิของชุมชน ฉะนั้นพวกตนจึงมีสิทธิที่จะทำกินในที่ดินดังกล่าว การคิดบนฐานคิดคนละแบบดังกล่าวนี้จึงนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านอยู่ตลอดเวลา รัฐจึงไม่สนใจว่าที่ดินแห่งนั้นจะมีชาวบ้านตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน หรือทำกินอยู่ในพื้นที่นั้นก่อนหรือไม่ ในขณะที่ชาวบ้านก็ใช้หลักสิทธิในการใช้ประโยชน์ (usufruct rights) จึงไม่ยอมรับอำนาจของรัฐที่เข้าไปขับไล่และลุกขึ้นมาต่อต้านจนนำไปสู่ความขัดแย้งและยุ่งยากในการหาทางออก
กรณีมหาวิทยาลัยทักษิณต้องการขยายงานเพื่อดำเนินการขยายพื้นที่การศึกษาไปอีกจังหวัดพัทลุง จึงได้ดำเนินการขออนุมัติใช้ที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันและขอจัดขึ้นทะเบียนในที่ดินของรัฐจากกระทรวงมหาดไทยผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเมื่อทางจังหวัดได้สำรวจเบื้องต้นแล้วเห็นว่าเป็นสถานที่อันเหมาะสมจึงอนุญาตให้มหาวิทยาลัยใช้เนื้อที่ เพื่อดำเนินการก่อตั้งคณะวิชาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาการอุดมศึกษาที่อาศัยฐานในพื้นที่จังหวัด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวถึงแม้ว่าตามเอกสารหลักฐานจะเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่รัฐเป็นผู้ดูแลและทางจังหวัดสามารถอนุญาตให้ใช้ที่ดินได้ ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวก็เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้ถือครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน และการถือครองของชาวบ้านก็ไม่ได้เรียบง่าย คือ ไม่ได้สืบทอดมาด้วยสิทธิของการทำกินหรือสืบทอดมาจากบรรพบุรุษตามสิทธิของชุมชนเพียงอย่างเดียว แต่ได้มีการซื้อขายสิทธิในการถือครองของชาวบ้านหลาย ๆ กลุ่มกันอย่างซับซ้อนเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกเปลี่ยนความหมายจากพื้นที่ทำกินที่กันดารให้เป็นพื้นที่ทำเลทองสามารถเดินทางได้สะดวกหลังจากมีถนนเพชรเกษม 41(เอเซีย) ตัดผ่าน
ฉะนั้นเมื่อรัฐเรียกเก็บคืนที่ดินจากชาวบ้าน สิทธิต่าง ๆ ในที่ดินก็เกิดการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดินดังกล่าวนั้นได้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างซับซ้อนหลากหลายรูปแบบโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้านหลายกลุ่ม แม้รัฐจะได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ที่มหาวิทยาลัยขอใช้โดยจ่ายชดเชยค่าผลอาสินและทรัพย์สินไปแล้วบางส่วนก็ตาม
ภาพประกอบจาก : ฮาริ บัณฑิตา