1
ฉันเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความตายครั้งแรกเมื่อพ่อตายจากไป ในวันที่แม่ พี่ ๆและ ญาติ ๆ ต่างช่วยกันจัดงานให้พ่อ ผู้หญิงเตรียมอาหาร ปอกหอมกระเทียม เด็ดก้านพริกขี้หนู หั่นตะไคร้ ผู้ชายเตรียมไม้ฟืนเพื่อทำอาหาร หุงข้าว ต้มแกง ต้องหุงข้าวด้วยกระทะใบใหญ่ ต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาหลายวัน เรามีญาติเยอะ มีเพื่อนบ้าน และคนรู้จักมากมาย เพราะเราไม่ได้มีพ่อที่ดีต่อลูกเท่านั้นแต่มีพ่อที่ดีต่อผู้อื่นด้วย
นอกจากไม้ฟืนก็ต้องเตรียมไม้ทำโลงอีก ได้ยินใครสักคนหนึ่งพูดว่า เหมือนพ่อเตรียมไม้ไว้แล้ว แค่เอามาตอกต่อประกอบเข้าเท่านั่น เรารู้สึกดีที่พ่อได้นอนในโลงไม้ใหม่
ในขณะใครต่อใครกำลังทำงานกันฉันได้อยู่เฉย ๆ เพราะฉันบอกแม่ว่า ปวดหัว ฉันมีอาการปวดหัวอยู่เสมอเมื่อวัยเยาว์ ดังนั้นเมื่อฉันพูดคำว่าปวดหัว แม่จึงบอกให้ฉันอยู่เฉย ๆ นั่งนิ่ง ๆ ทันที แม่คงกลัวว่าโรคปวดหัวจะกลับมาอีก
เมื่อฉันได้นั่งนิ่ง ๆ อยู่เฉย ๆ ฉันจึงนั่งเขียนถึงพ่อ ฉันเขียนเรื่อง "ถนนสายเดียวดายที่พ่อรออยู่" ตอนนั้นฉันรู้สึกว่า ดีแล้วที่พ่อตาย เพราะฉันรู้สึกว่าในโลกแห่งการมีชีวิตช่วงสุดท้ายของพ่อ มีแต่ความเจ็บปวด แม้จะมีลูกหลานญาติมิตรมากมายแต่ไม่มีใครแบ่งปันความเจ็บปวดได้ ฉันเชื่อว่าความตายไม่เจ็บปวดเท่ากับการมีชีวิตอยู่ที่เจ็บป่วยอันยาวนานของพ่อ เส้นทางที่พ่อเดินไปนั้นน่าจะเป็นถนนที่ดีกว่าแม้จะเดียวดายเพราะพ่อเดินทางไปคนเดียว
พ่อจะรอพวกเราอยู่ที่ถนนสายเดียวดายและเมื่อถึงวันที่พวกเราลูก ๆ ไป เราก็จะไม่เดียวดายเพราะมีพ่อรออยู่แล้ว เหมือนที่พ่อรอให้รถไฟเข้าเทียบชานชลา เมื่อเราก้าวลงจากรถไฟเราก็จะพบพ่อรออยู่ทุกครั้ง
ผ่านมานานเกือบสามสิบปี ฉันคิดว่าพ่อไม่รอพวกเราแล้ว มันนานเกินไปที่จะให้พ่อรอและแม่ก็ทำบุญอุทิศสวนกุศลให้พ่อทุกวันตลอดเวลาสามสิบปี แม่ตักบาตรทุกเช้า ไปวัดทุกวันพระ เรียกลูก ๆ กลับมาทำบุญประจำปีให้พ่อทุกปี ลูกคนไหนไมได้กลับแม่ก็จะโทร.มาเตือน และลูกก็จะพูดว่า ปีนี้ไม่ได้กลับแต่ลูกจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านที่ลูกอยู่
นี้คือการเขียนถึงความตายครั้งแรก ในช่วงวัยเยาว์ แต่ไม่ได้ทำหนังสืองานศพ ต่อมาฉันส่งไปลงในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์และนำมารวมเล่มในบทสุดท้าย เรื่องแผ่นหลังของพ่อ
2
เดือนที่ผ่านมา ฉันได้รับโปสการ์ดจากน้องคนหนึ่ง เธอบอกว่า พวกพี่ ๆ เขาฝากมา ให้พี่เขียนและส่งไปที่สวนทูนอิน เพื่อจัดทำหนังสือ ให้คุณรงค์ วงษ์สวรรค์
โปสการ์ดสีขาว ด้านหน้าภาพวาดลายเส้นใบหน้าของ นักเขียน ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนโดย เทพศิริ สุขโสภา และบทกวี ของ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
สองบรรทัดสุดท้าย เขียนว่า
เอกอักขราจารย์
คือ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์
(ที่เขียนมาไม่หมดยกมาสองบรรทัด เพราะกลัวผิดค่ะ ตัวอักษรลายมือหวัดอ่านยาก) แต่สองบรรทัดนี้ก็พอเพียงแล้ว
ด้านหลังของโปสการ์ด แบ่งเป็นสองส่วน มีตัวอักษรเล็ก ๆ ขั้นระหว่างส่วนว่า พญาอินทรี...ขยับปีกบินกลับรัง ในส่วนหนึ่งสำหรับเขียนที่อยู่ส่งไปที่สวนทูนอิน อีกซีกหนึ่งสำหรับเขียนข้อความไว้อาลัย สำหรับฉันคิดว่า เนื้อที่มันน้อยไปจริง ๆ น้อยจนไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร หรือถ้าเขียนลงไปก็คงได้ตัวเล็ก ๆ เหมือนบทกวีสั้น ๆ แค่หกบรรทัดของคุณเนาวรัตน์ซึ่งก็เกือบจะอ่านไม่ออกหรืออ่านออกก็อาจจะผิด
ฉันจึงไม่เขียนแต่เก็บโปสการ์ดที่สะอาดสวยงามไว้เป็นที่ระลึกและไว้อาลัยอยู่ในใจเพราะกระดาษบรรจุตัวอักษรไม่พอ