2 กันยายน 2552
นั่งกินมะขามหวานเพลิน ๆ มะขามก็เปรี้ยวขมขึ้นมาทันที
เพื่อนโทรมาบอกว่า เธอไปที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ยินเสียงตามสายที่ รพ.ขอบริจาคเงินช่วยเหลือเด็กชาวเขาที่แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล
“แม่มาคลอดตายที่โรงพยาบาล แสดงว่าเธอตายระหว่างคลอด”
เพื่อนตอบว่าใช่
“เด็กยังอยู่รอดปลอดภัย”
“ใช่”
ฉันไม่ได้ถามว่าทำไมเธอถึงเสียชีวิตระหว่างคลอดเพราะถึงอย่างไรเธอก็ตายไปแล้ว ส่วนที่ยังเหลือคือลูกของเธอ เด็กที่กำพร้าแม่และสิ่งที่โรงพยาบาลรับผิดชอบคือประกาศรับบริจาคเงินช่วยเหลือ
“พ่อของเด็กล่ะ พ่อมีหรือเปล่า”
“น่าจะมี”เธอตอบ
ฉันเป็นคนไม่มีลูก ทุกครั้งที่เพื่อนหรือใครมาบอกเล่าเรื่องราวเด็ก เช่นเพื่อนเก่ามีลูกสามคนแล้ว และลูกคนที่สี่เกิดมาพร้อมกับที่พ่อเสียชีวิต หลานเพื่อนตั้งท้องในวัยเรียน พวกเขาเข้ามาจุดประกายให้ฉันอยู่เสมอ ในการตัดสินใจรับเด็กมาเลี้ยงเป็นลูกสักคน แต่ไม่เคยทำสำเร็จสักราย
อย่างเพื่อนที่สามีตายมีลูกสี่คนที่ต้องเลี้ยงดู ลูกคนเล็กอายุแค่เดือนเดียว ฉันก็ลังเลและเธอก็ลังเล เธอบอกฉันว่า ให้ฉันเลี้ยงลูกเธออย่างที่ป้าเลี้ยงหลาน นั่นหมายความว่า เธอยังเป็นแม่ตลอดไปและฉันเป็นป้า ซึ่งก็เป็นไปตามสูตรการเลี้ยงดูที่ต้องบอกความจริงแก่เด็กเพราะถ้าบอกตอนโตหรือเขามารู้ตอนโตเขาจะปรับตัวปรับใจยาก แต่ในที่สุดเธอก็เงียบไปและฉันก็ไม่ตามเรื่อง
รายต่อมาเป็นเด็กสาวพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่สามีฉันไปเล่นดนตรีร้องเพลงที่นั่น เด็กสาวเธอจะไปทำแท้ง ฉันบอกเธอว่า อย่าทำเลย ฉันจะรับเลี้ยงเด็กที่เกิดมา และจะดูแลเธอระหว่างตั้งครรภ์ด้วย โดยช่วยค่าห้องพักและอาหาร ฉันไม่มีเงินมากพอแต่พอจะอยู่กันได้ถ้าอยู่อย่างประหยัด และฉันมีเพื่อน ๆ ใจดีอยู่หลายคนที่ฉันเชื่อว่าพวกเขาพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือ นี่เป็นครั้งแรกที่ฉันจริงจังมาก เธอนั่งฟังนิ่งเฉยไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ แต่ฉันแอบคิดไปเองแล้วว่าเธอตกลง ฉันหาโรงพยาบาลให้เธอไปฝากครรภ์
วันหนึ่งในขณะที่ฉันนั่งฟังเพลงสบาย ๆ อยู่ในร้านอาหาร เธอเข้ามาบอกว่า “พี่หนูทำแท้งแล้ว” ฉันรู้สึกใจหายเล็กน้อยแต่ต้องยอมรับทางเลือกของเธอที่เธอเห็นว่าดีที่สุดแล้วในเวลานั้น
รายที่สองนี้ไม่ใช่เด็กสาวแล้วแต่ เป็นสาวใหญ่อายุสีสิบ ฉันไปเป็นเพื่อนเธอหาหมอเพื่อตรวจให้แน่ชัดว่าท้องแน่ ในระหว่างนั้น เธอมาพักผ่อนที่บ้าน นั่ง ๆ นอน ๆ ทำอาหารกิน เธอไม่เคยพูดเรื่องการทำแท้ง แต่พูดเสมอว่า เกิดแล้วจะยกให้พี่ และทุกครั้งที่เธอไปหาหมอ เธอก็จะโทร.มาบอกว่า “ลูกของพี่ทั้งสองสบายดีนะ”
ฉันไม่กล้าถามอะไรมากกว่านั้น เช่น ถามว่าพ่อเด็กเป็นใคร หรือเธอจะให้ลูกแก่ฉันจริงหรือ แต่ฉันก็แอบเตรียมพร้อมเอาไว้ บอกกับสามีว่า ถ้าเขาให้เราก็จะเลี้ยงไปตามสภาพ พอโตขึ้นเราก็ให้กินกล้วยน้ำว้า กล้วยราคาไม่แพง หรือไม่เราจะปลูกก็ได้ เรียนอนุบาลมันแพงไปเราก็สอนเอง ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะเข้าสังคมไม่เป็ นเรามีเพื่อนมากมายไปมาหาสู่ โตขึ้นเรียนโรงเรียนวัดใกล้ๆ แล้วให้เขาเรียนวิชาชีพที่เขาชอบที่สุดไว้เลี้ยงตัวเอง กว่าเราจะแก่ เขาก็ผ่านวัยรุ่นแล้ว มรดกคือหนังสือมากมาย
แล้วก็ไม่เป็นจริงเพราะว่า เมื่อเธอคลอดลูกออกมา เธอไม่พูดถึงเรื่องนี้อีกเลย เธอย้ายกลับไปบ้านเกิดในชนบทและเลี้ยงลูกด้วยตัวเอง แต่ส่งรูปลูกสาวมาให้ดูเสมอ เล่าถึงเรื่องพัฒนาการของลูกเธอ ตอนนี้แกกำลังเรียนอนุบาลแล้ว
ข่าวผู้หญิงคลอดลูกแล้วตาย ทำให้ฉันคิดถึงเรื่องราวของเด็ก ๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจ เพื่อนยังบอกต่อว่า เด็กเกิดใหม่คนนี้เป็นลูกชาวเขา และเธอคิดว่าถ้าเขาไม่ใช่ลูกชาวเขา ญาติพี่น้องของเขาคงจะร้องขอความกระจ่างว่าทำไมแม่ของเด็กตาย และโรงพยาบาลก็คงจะไม่ทำแค่ประกาศให้คนที่อยู่ในโรงพยาบาลช่วยกันบริจาคแต่อาจจะต้องคิดมากกว่านั้น
เธอยืนยันว่า การรับบริจาคหรือการรวบรวมเงินสักก้อนให้กับพ่อเด็กหรือผู้ดูแลเด็กต่อไปยังไม่เพียงพอเพื่อนฉันบอกว่า การบริจาคก็เป็นเรื่องดีแต่ว่าเขาน่าจะทำอะไรกันมากกว่าการบริจาคเพราะเด็กไม่ได้อยู่แค่ปีเดียว เงินบริจาคอาจจะหมดไปแค่เดือนเดียวปีเดียวแล้วแต่จำนวนเงิน แต่มันไม่ยั่งยืน เด็กจะมีชีวิตต่อไปอย่างไร ควรจะคิดยาว ๆ ออกไป เช่นว่า การศึกษาของเขา สุขภาพของเขา ทั้งหมดที่ว่าด้วยคุณภาพชีวิตนั่นแหละ
ฉันเห็นจริงด้วยกับเธอ บริจาคอย่างเดียวไม่พอ ถ้าจะรับผิดชอบต้องคิดไกลกว่านั้นเพราะชีวิตเด็กคนหนึ่งที่ขาดแม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่มากกว่าการเปิดเสียงทั่วโรงพยาบาลขอรับบริจาคเงิน