Skip to main content

*เรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่สมัยอยู่ในเขตป่าเขา ปี 2521-2523 จังหวัดตาก เคยเขียนบางตอนลงในเฟซบุคส่วนตัวของผม ปัจจุบันปิดไปแล้ว

ผิดผี

 

          มีเวลาแค่เดือนเดียว หลังจากที่รู้ว่าตัวผมเองต้องเดินทางเข้าป่า และ” ป่า”ที่จะต้องเข้าไปนั้น ก็เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพี่น้องชนชาติกระเหรี่ยง จึงต้องพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับพี่น้องชนชาตินี้ไปพร้อมๆกับการเตรียมตัวเตรียมของเพื่อเดินทาง และเพื่อมิให้ผมไปทะเร่อทะร่าผิดผีผิดประเพณีที่นั่นเขา ทางผู้รับผิดชอบได้จัดศึกษาขึ้นหนึ่งครั้งที่เซฟเฮ้าส์แถวฝั่งธน มีผมเข้ารับฟังเพียงผู้เดียว

          ”  ที่นั่นเขานับถือฤาษีกันอย่างที่ผมเล่ามา อ้อ แล้วนับถือผีด้วย คุณไปถึงที่นั่นแล้วต้องศึกษาให้ดี เพราะเคยมีสหายเราหลายคนไปทำผิดผีเพราะไม่ศึกษามาก่อน เช่น เคยมีสหายเราทานข้าวที่บ้านชนชาติแล้วด้วยความหวังดีจึงช่วยเขาเก็บถ้วยชามไปล้าง เนี่ย! ไปผิดผีเขาเข้า โทษถึงคอขาดเชียวนะคุณ ” ผู้มาให้ความรู้สรุปให้ผมฟัง ผมใจหายวาบ นึกเถียงอยู่ในใจอ่อยๆว่า นี่ผมจะเข้าไปปฏิวัตินะครับ ไม่ใช่ไปเผยแพร่ศาสนามี่กาฬทวีป ตายห่า รู้งี้ขอไปอยู่ที่อื่นดีกว่า จะทำไงได้ เพราะจัดตั้งเป็นผู้กำหนดงานและเขตมาให้ผมไปที่นี่นี่นา จะไปที่อื่นก็คงไม่ได้ ส่วนงานที่จะไปทำ ถึงจะไม่ใช่งานมวลชนแต่ก็ต้องพบปะสัมพันธ์กับชาวบ้านเป็นจำนวนมากเสียด้วย ผมก็เก็บเอาความกลัว”ผิดผี” ติดตัวมาจนเดินทาง

          จนกระทั่งเดินทางเข้า ” ป่า “  มาแล้วและอยู่ต่อมาอีกเป็นปีๆ   ผมก็ยังขำความไม่รู้ของตัวเองอยู่นั่นแหละ พี่น้องชนชาติกระเหรี่ยงที่ผมมาอยู่ด้วยนั้น น่ารัก โอบอ้อมอารี และมีอารมณ์ขันเหลือเฟือ ดูแล้วก็ไม่มีทางที่ผมจะคอขาดเพราะเอาถ้วยชามไปล้างเลย ที่พวกเขาห้ามก็เพราะเห็นว่าเป็นคนมาจากในเมือง เป็นนักศึกษามีความรู้ไม่สมควรต้องทำ เป็นอันว่าเรามาเถียงกันเรื่องความเท่าเทียมกันในกองทัพ  ว่าถึงเป็นนักศึกษามีความรู้ก็ไม่มีข้อยกเว้นใดๆที่จะไม่ต้องทำงานอย่างนี้ มากว่าที่จะเถียงกันเรื่องผิดผีตัวไหน

          ผมได้รับฟังและหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องผีที่พวกเขาเคยถือหรือยังถืออยู่ แต่ก็ไม่มีบรรยากาศดุเดือดเหมือนที่รับฟังมา ถ้าผิดผีของเขาก็มีโทษปรับ เช่น เหล้าหนึ่งขวด หรือเงินหนึ่งบาท อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ที่เขตตาก ผมมีเรื่องเกี่ยวกับผิดผีครั้งเดียว จำได้ว่าเมื่อไปขึ้นบ้านมวลชนครั้งหนึ่ง พอปีนบันใดไปได้สักสองสามขั้น  ขั้นบันใดเจ้ากรรมก็หักโครมลงมา ตัวผมลงมากองอยู่ข้างล่าง ได้ยินเสียงเอะอะกันขึ้น  หลายคนเป็นห่วงมาช่วยพยุงผมขึ้น เจ้าของบ้านร้องว่า “ ผิดผี ผิดผี ”   และพูดเป็นภาษากระเหรี่ยงอีกหลายคำ ผมฟังไม่เข้าใจ ก็ได้แต่นั่งคลำหน้าแข้ง นึกในใจว่า เอาวะ เอาไงเอากัน วันนี้มาผิดผีเสียได้ จะปรับเท่าไรก็จะยอมจ่ายละ เอ็ดตะโรกันพักใหญ่ ดูเหมือนแตงโม(เตโม)จะมาแปลให้ผมฟังว่า ถ้าผมขึ้นบันใดแล้วบันใดหัก แสดงว่าผมเอาของดีมาทิ้งไว้ที่บ้านเจ้าของแต่ถ้าขากลับลงบันใดแล้วหัก ถือว่าผมมาเอาของดีที่บ้านเขาไป ในกรณีนี้เป็นอันว่าผมเอาของดีมาทิ้งไว้ที่บ้านนี้และพี่น้องชนชาติเป็นฝ่ายผิดผีผม จากการนี้ผมได้รับเงินค่าทำขวัญเล็กน้อยพอเป็นพิธีและด้ายขาวหนึ่งปอย จำได้ว่าดีใจอยู่หลายปี

          เรื่องฤาษีนี่สิ ที่ความรับรู้ของผมไม่ปะติดปะต่อพอที่จะเข้าใจได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่ได้สัมพันธ์มวลชนและทหารชนชาติที่อยู่ด้วยก็เป็นวัยรุ่นวัยคะนองก้าวหน้าที่ไม่นับถืออะไรทั้งสิ้น อยากเป็นนักร้องอยากจีบสาวไปตามเรื่อง เมื่อไต่ถาม เขาก็เล่าในส่วนที่เขาคิดว่าผมควรรู้ซึ่งไม่ตรงกันเลย และความไม่เอาไหนในการสื่อสารเป็นภาษากระเหรี่ยงของผม จนผมคิดว่าต้องหาความรู้จากคนกระเหรี่ยงที่อยู่ในขบวนการมานานและสื่อสารภาษาไทยได้คล่องจึงจะพออธิบายให้ผมฟังอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งคนคนนั้น ลงจากภูก่องก๊องข้ามแม่จันมาที่สำนักพอดี เขาคือลุงเหล็ก

          ลุงเหล็ก เป็นชาวกระเหรี่ยงที่เข้าร่วมการปฏิวัติรุ่นแรกๆ  พื้นเพของลุงอยู่ทางภาคกลาง   เป็นชาวเพชรบุรี  อยู่ที่ราบทำนาทำสวน  ลุงพูดไทยชัดและเข้าใจคนไทยโดยเฉพาะคนเมืองดี    ถึงแม้การศึกษาในระบบจะไม่มากแต่ผ่านโลกผ่านการปฏิวัติมานาน ไปทัศนศึกษาเมืองจีนมาแล้ว มีความรับรู้ทางการเมืองสูง ถ้าจะเทียบพรรษาในหมู่พี่น้องกระเหรี่ยงที่เข้าร่วมการปฏิวัติแล้ว ลุงน่าจะอาวุโสในระดับสมเด็จพระราชาคณะเลยนั่นแหละ

          เนื่องจากเข็มมุ่งที่จะขยายฐานที่มั่นทางภาคตะวันตกให้เป็นผืนเดียวกัน ทางจังหวัดตากจึงมีทิศทางขยายงานลงใต้เพื่อบรรจบกับทางเขตราชบุรี แต่เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะที่ตากเองก็มีปัญหาขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้ว ในที่สุด ทางเขตภาคกลางก็ได้ส่งสหายพงษ์และลุงเหล็ก ซึ่งถ้าจะเปรียบก็เทียบได้กับชั้น”อรหันต์ทองคำ” มาช่วยขยายงานทางตากลงไปบรรจบ ท่านหนึ่งเป็นมือดีทางการทหารส่วนอีกท่านหนึ่งเป็นผู้อาวุโสทางงานมวลชน ปรากฏว่าทำให้ขยายงานลงไปได้ดีพอสมควร แต่ก็ติดปัญหาการเดินทางเพราะเขตงานตากมันค่อนข้างห่างไกล เวลาและเรี่ยวแรงหมดไปกับการเดินทางเสียเป็นส่วนใหญ่

          เมื่อได้ถามเรื่องฤาษีกับลุงเหล็ก ลุงตอบว่า

” จะมาถามอะไรที่ผม ผมก็รู้พอๆกับสหายนั่นแหละ ผมอยู่แม่จันทะครั้งละสามสี่วันก็ต้องรีบกลับไปทางโน้น ไม่เคยคุยด้วยหรอก”

” อ้าว ! ผมนึกว่าเป็นกระเหรี่ยงด้วยกันก็น่าจะรู้” ผมแย้ง

” ไม่รู้หรอก มันไม่เหมือนกับทางบ้านผม ที่โน่นไม่มียังงี้หรอก เรื่องความเชื่อก็แบบเดียวกับคนไทยภาคกลางแหละ เข้าวัดทำบุญ เรื่องผีเรื่องสางก็มีบ้างอย่างเข้าเจ้าทรงผีก็เหมือนทั่วๆไปแหละ”

“นึกว่าจะรู้บ้างครับ”

“ไม่รู้หรอก มารู้ตอนเดินทางมาถึงเขตเหนือแล้ว ก่อนจะลงมาทางใต้ สหายที่นี่เล่าให้ฟังว่าทางใต้นับถือฤาษี ลุงยังนึกว่าที่นี่นุ่งหนังเสือถือไม้เท้ากันเลย”

” ไฮ้ ! ไอ้ที่นุ่งหนังเสือนี่ลุงเอามาจากไหนครับนี่ ”

” อ้าว ฤาษีก็ต้องนุ่งหนังเสือสิสหาย ลุงเอามาจากหนังกลางแปลงที่ไปฉายแถวบ้านลุงบ่อยๆไง”

” ฮ่วย ! ”

...............................

บล็อกของ รวี

รวี
ความตายสำหรับบางคนนั้นหนักกว่าขุนเขา  สำหรับบางคนนั้นเบากว่าขนนก
รวี
 กลางปี 2555 สหายประชา ขึ้นไปเยี่ยมยามเขตงานเก่า ลุงพินิจ ได้ฝากคำเชิญให้สหายเหล่ายาและสหายเหล่าเล่ง ขึ้นไปร่วมงานบุญใหญ่ฤาษี ที่ม่งควะ ในเดือนมีนาคม 2556 แกกำชับมาว่า บรรดาสหายรุ่นบุกเบิกที่ยังเหลืออยู่ก็อายุมากๆกันทั้งนั้น ดังนั้น การพบกันครั้งนี้ อาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย
รวี
แพ ใครว่า ทปท. ไม่มีทัพเรือ1.
รวี
เสือ เสือตัวนั้นที่ห้วยซัมพาล่า
รวี
ปลา          Moby Dick ที่แม่จันทะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในลำน้ำแม่จัน ใต้บ้านแม่จันทะเก่าไปสัก 2กม. เมื่อปี 2521 ก่อนสิ้นปีไม่กี่วัน
รวี
*เรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่สมัยอยู่ในเขตป่าเขา ปี 2521-2523 จังหวัดตาก เคยเขียนบางตอนลงในเฟซบุคส่วนตัวของผม ปัจจุบันปิดไปแล้วผิดผี