Skip to main content

แพ

 ใครว่า ทปท. ไม่มีทัพเรือ

1.

          สำนัก 101 เก่า อยู่ริมฝั่งแม่จัน ฝั่งตรงข้ามคือบ้านประชาชน แม่จันทะ การเดินทางจากสำนักจังหวัดไปเขตงาน ต.17 ในจังหวัดอุทัยธานีและสุพรรณบุรีนั้น มีเส้นทางที่ใช้กันโดยทั่วไป 2 เส้นทาง

          เส้นทางแรก ออกจากสำนัก หันหลังให้แม่จันมุ่งไปทิศตะวันออก ข้ามแม่กลองแถวๆบ้าน บาเก่ จากนั้นเดินทางราบไปจนถึงบ้าน กากะต่า ขึ้นภูม้ง ไปบ้านทุ่งนาน้อย ซึ่งมีพี่น้องม้งเพียง 3 หมู่บ้านในเขตใต้ ( ทุ่งนาน้อย-บ้านเก่า-ไร่มูเซอร์ ) นอนที่นี่หนึ่งคืน, จากบ้านทุ่งนาน้อย, นอนกลางทางอีกหนึ่งคืน  ก็ถึงที่หมาย

          เส้นทางหลัง ออกจากสำนัก หันหน้าเข้าหาแม่จันมุ่งไปทางทิศตะวันตก  ข้ามแม่จันทันที ผ่านบ้านแม่จันทะ   เดินไปสักพักใหญ่ จะเป็นทางแยก เลี้ยวขวา ไปอีกพอสมควรจะขึ้นภูก่องก๊อง ไปจะแก แต่เราจะเลี้ยวซ้าย ตอนนี้ทางจะมุ่งลงใต้เลย สบแม่จัน-แม่กลอง มา จะลัดเลาะไปตามป่าไผ่ช่วงนี้ยังไม่ขึ้นภูสูง ใช้เวลาเดินหนึ่งวันเต็ม เราจะมาถึงริมฝั่งแม่กลอง(ตอนนี้เหลือสายเดียวแล้ว) เย็นมากแล้วคืนนี้นอนที่นี่ รุ่งขึ้นเช้าพอข้ามแม่กลองเรียบร้อย ที่ยืนตระหง่านขวางหน้าเราอยู่ก็คือน้ำตกห้วยน้ำเขียว เราจะต้องปีนทวนน้ำตกขึ้นไปจนถึงยอด นอนในไร่เก่าหนึ่งคืน รุ่งขึ้นเย็นๆก็ถึง สำนัก ต.17 สิริรวม ก็ 3 วันเท่ากัน

          น้ำตกแห่งนี้สูงมาก เกิดจากน้ำในลำห้วยน้ำเขียวที่ไหลมาลงแม่กลอง แต่ไม่ได้เป็นน้ำตกที่ช่วงของน้ำ ตกลงมาสูงเหมือน ทิลอซู แต่ตกลงมาตามลาดเขาเป็นช่วงสั้นๆซึ่งในระยะเวลาที่ยาวนานมาก ทำให้เกิดหินปูนงอกสะสมเป็นแอ่งรับน้ำแอ่งเล็กๆ คล้ายขั้นบันไดจำนวนหลายร้อยขั้น ซึ่งงดงามไปอีกแบบ และด้วยสภาพแอ่งหินปูนที่มีจำนวนชั้นมากมายเช่นนี้ ได้เกิดความแปลกมหัศจรรย์ขึ้น เมื่อเราไปยืนอยู่ถูกที่และถูกเวลา ถ้าเรามองจากด้านล่างริมฝั่งแม่กลองขึ้นไปจะเห็นน้ำตกทั้งเส้นไปจนจรดยอดภู เป็นสีชมพู และเมื่อขึ้นมองจากยอดภู โดยให้จุดสุดสายตาอยู่ที่น้ำแม่กลองด้านล่างแล้ว เราจะเห็นน้ำตกทั้งเส้นเป็นสีฟ้า จากจุดที่เล่ามานี้ ถ้าเราเดินเลาะเลียบฝั่งแม่กลองตามน้ำลงไป(ผมไปไม่ถึง) แม่น้ำแม่กลองที่รองรับน้ำจากน้ำตกมาแล้วหลายสิบแห่งคราวนี้กลายเป็นน้ำตกเสียเอง นั่นคือ ” น้ำโจน” อันลือชื่อที่ทุกท่านคงจะจำชื่อนี้ได้

          น่าจะเป็นปี2520 หรืออาจจะก่อนหน้านั้นแล้วก็ได้ ที่ทางรัฐบาลดำริจะสร้างเขื่อนขึ้นที่นี่ ในนาม เขื่อนน้ำโจน เพื่อการนี้ ทางรัฐบาลได้ส่งกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล ของกองทัพภาคที่ 1 มาลาดตระเวนกรุยทางเพื่อจะสำรวจในระยะต่อไป ทางฝ่ายภูเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเมื่อลากเส้นตามเส้นระดับความสูงในแผนที่แล้ว เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จระดับน้ำจะท่วมฐานที่มั่นถึง 70เปอร์เซ็นต์ มีภูม้งและภูก่องก๊อง เป็นเกาะอยู่กลางน้ำ

2.

          จะเป็นวันใด,เวลาใด ผมจำไม่ได้แล้ว,และจะเป็นสหายรุ่งหรือสหายโรจน์ หรือทั้งคู่ก็จำไม่ได้อีกเหมือนกัน แต่จำได้ว่าเมื่อสหายผู้รับผิดชอบเขตงานตะวันออกเดินทางมาถึงสำนัก สักครู่ทางจัดตั้งได้แจ้งให้เราทราบว่าขณะที่สหายเดินมาที่จุดข้ามแม่กลองได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ราชการเดินทางด้วยเรือยางติดเครื่องมาถึงจุดที่เราใช้ข้าม แต่เป็นหน่วยไหน,มีกำลังเท่าไรยังกุมไม่ได้ ทางจัดตั้งเห็นว่านี่เป็นกรณีฉุกเฉิน เพราะเมื่อนับรวมกับเวลาที่สหายเราเดินมาอีกหนึ่งวันแล้ว บางทีกำลังส่วนที่ว่า อาจจะอยู่ใกล้ๆแม่จันทะแล้วก็ได้      

          เป็นครั้งแรกที่ฐานที่มั่นส่วนใจกลางอาจถูกคุกคามได้ คำสั่งก็คือให้ผู้กองนิยม นำกำลังลงติดตามและสกัดกั้นหน่วยที่ขึ้นมาโดยเรือยางทันที  ผู้กองนิยม รีบระดมทหารเท่าทีพอจะหาได้ในตอนนั้น มีทหารหลักไม่กี่คน ทหารสื่อสาร และทหารบ้าน ประกอบกำลังกันได้สัก2หมู่ ทั้งผู้กองนิยมและจ่าสมานกับพวกเราระดมกันตัดไม้ไผ่ทำแพขึ้นมา 4-5 ลำ กว่าจะเสร็จก็เลยเที่ยงแล้ว เราตัดสินใจออกเดินทางกันเลย นอกจากปืน M16 และ Carbine ที่เราถือติดมือมาคนละกระบอกแล้ว ทางผู้บัญชา ได้นำ M-60 ไปด้วยโดยมัดไม้ไผ่ทำเป็นฐาน ตั้งจังก้าอยู่กลางแพนั้นเอง จำได้ว่าตอนเราล่องแพเลยบ้านประชาชนมาแล้ว สหายช่วงร้องเพลงทำนองมาร์ชสี่เหล่าด้วยความครึ้มอกครึ้มใจ “……ฝั่งแม่กลองของเรา อย่าให้เขารุกล้ำ ทหารแพทุกลำ ยอมสู้ตาย…….”

     ขบวนแพของเรานั้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศ  ผมจะบรรยายด้วยศัพท์แสงทางทหารก็แล้วกัน ขบวนแพรบของพวกเรานั้น ติดปืนประจำแพขนาด 7.65 มีอาวุธปล่อยจากพื้นสู่พื้น แบบ OOS (Only One Shoot) จำนวน 1 ท่อ พลประจำ3 ผู้บัญชาการ 1 อุปกรณ์ช่วยรบประกอบด้วยหม้ออลูมิเนียม เบอร์ 26และ28อย่างละ 1 ใบ แหใหญ่ 1 ปาก เล็ก 1 ปาก ตะคัด (ตาข่ายรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้ขึงขวางน้ำดักปลา) สั้น 1 ราว เรดาร์ระบบสองตา ส่วนระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศเราเลือกใช้ระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือระบบ JAR ( Jump and Run ) การขับเคลื่อนใช้แรงน้ำเป็นหลักแรงคนเป็นรอง การบังคับทิศทางใช้ระบบ พายและถ่อ

3.

          ได้เรื่องละครับ ลงบรรทุกกันแบบนี้ พอเลยสบแม่จัน-แม่กลองมาได้สักสองชั่วโมง เจ้าแพที่ว่าก็เกิดอาการ ” แตก ” ครับ แตกจริงๆ ผมยืนอยู่บนแพ เห็นหวายที่มัดหัวแพขาด ลำไม่ไผ่ที่มัดคลอน แล้วค่อยๆแยกออกเป็นลำๆไปคนละทิศละทาง เราคว้าของแล้วกระโดดลงไปยืนอยู่ในน้ำ ที่ลึกประมาณ เลยเข่าขึ้นมาหน่อย สันนิษฐานว่าเนื่องจากเป็นหน้าแล้ง น้ำไม่สูง เวลาเราผ่านแก่งต่างๆบางแห่งแพครูดไปกับกรวดใต้น้ำต้องถ่อช่วยกันอุตลุด และเราบรรทุกน้ำหนักเกินด้วย เราช่วยกันซ่อม พอจะไปกันต่อได้ ระหว่างที่เรากำลังซ่อมอยู่นั้น มีสหายคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า ” ผมว่าเราตามไปไม่ทันหรอก” ทุกคนหยุดนิ่ง คิด เออ จริงๆนะ แพไม้ไผ่ กับเรือยางติดเครื่องยนต์ แต่อย่างไรเราก็ต้องไปให้ถึงจุดที่เราใช้ข้าม

          มาถึงตรงนี้ผู้กองสั่งปรับขบวนใหม่ ให้ลำของแกอยู่ข้างหน้าสุด ให้พวกเราทิ้งระยะให้ห่างเข้าไว้และที่สำคัญ ห้ามส่งเสียงดังโดยเด็ดขาด แล้วแกก็หายขึ้นฝั่งไปสักครู่ กลับมาพร้อมกับไม้ไผ่ลำเล็กๆขนาดใหญ่กว่าคันเบ็ดตกปลาแต่ค่อนข้างยาว แกสั่งให้ออกแพทันที แล้วให้พวกเราเว้นระยะให้ห่างขนาดส่งเสียงไม่ได้ยินค่อยออกแพตามไป เรารอสักครู่ก็ค่อยตามไปจนทัน ผู้กองแกใช้ตะคัด ผูกเข้ากับปลายไม้ไผ่ อีกข้างก็ผูกใกล้ๆกับโคนให้เหลือที่สำหรับจับสักสองคืบ บังคับให้แพกินร่องน้ำด้านซ้ายมือแล้วเหวี่ยงเจ้าสิ่งประดิษฐ์ของแกไปทางขวา ตะคัด กางออกขวางน้ำ มันคือการตีอวนขนาดเล็กนั่นแหละครับ ดูแกบังคับด้วยสองมือแล้ว ต้องใช้กำลังมากทีเดียว ผ่านแค่ หนึ่งแก่ง แกก็ยกขึ้นมา ติดปลาขนาดฝ่ามือเต็มไปหมด สหายกระเหรี่ยงที่อยู่บนแพกับผม เอ่ยอย่างผู้รู้สถานการณ์ว่า ” เดี๋ยวเราคงพักกันแถวนี้ละสหาย”

          ปฎิบัติการไล่ล่าตามลำน้ำสิ้นสุดลงที่จุดข้ามแม่กลองตามที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น เราหยุดย่างปลาที่นั่น อีกหนึ่งวัน จากนั้นผู้บัญชาการสั่งสละแพ แปรสภาพจากทหารแพเป็นนาวิกโยธิน เดินบกกลับอีก 1 วันเต็ม คราวนี้ก็มาถึง เจ้าM60 ใครก็ไม่อยากแบก ในที่สุดภารกิจอันหนักอึ้งทางประวัติศาสตร์ ก็ตกอยู่บนบ่าอันล่ำสันของสหายอดทน ผู้เป็นขาประจำ ส่วนขาจรแบกปลาย่าง และเนื้อย่างกลับสำนัก

..............................

บล็อกของ รวี

รวี
ความตายสำหรับบางคนนั้นหนักกว่าขุนเขา  สำหรับบางคนนั้นเบากว่าขนนก
รวี
 กลางปี 2555 สหายประชา ขึ้นไปเยี่ยมยามเขตงานเก่า ลุงพินิจ ได้ฝากคำเชิญให้สหายเหล่ายาและสหายเหล่าเล่ง ขึ้นไปร่วมงานบุญใหญ่ฤาษี ที่ม่งควะ ในเดือนมีนาคม 2556 แกกำชับมาว่า บรรดาสหายรุ่นบุกเบิกที่ยังเหลืออยู่ก็อายุมากๆกันทั้งนั้น ดังนั้น การพบกันครั้งนี้ อาจเป็นการพบกันครั้งสุดท้าย
รวี
แพ ใครว่า ทปท. ไม่มีทัพเรือ1.
รวี
เสือ เสือตัวนั้นที่ห้วยซัมพาล่า
รวี
ปลา          Moby Dick ที่แม่จันทะ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในลำน้ำแม่จัน ใต้บ้านแม่จันทะเก่าไปสัก 2กม. เมื่อปี 2521 ก่อนสิ้นปีไม่กี่วัน
รวี
*เรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่สมัยอยู่ในเขตป่าเขา ปี 2521-2523 จังหวัดตาก เคยเขียนบางตอนลงในเฟซบุคส่วนตัวของผม ปัจจุบันปิดไปแล้วผิดผี