Skip to main content

Man act women appear. Men look at women.  

Women watch themselves being looked at.

John Berger (I970)  

 

บทนำ

ในบรรดาศาสตร์ทั้งหลายที่สังกัดอยู่ใต้ชายคาของศาสตร์ที่เรียกว่า “วัฒนธรรมศึกษา” (Cultural Studies) นั้น “วัฒนธรรมทางสายตา”1 (Visual Culture Studies) นับว่าเป็นศาสตร์ที่แฝงเร้นและแนบแน่นอยู่ในชีวิตประจำวัน (Everyday Practice) มากที่สุด ทั้งนี้ก็ด้วยสาเหตุประการสำคัญที่สุดก็คือ การที่สังคมมนุษย์ในปัจจุบันล้วนถูกห่อหุ้ม – รายล้อมด้วยสื่อทางสายตานานาชนิด (Media Saturated Society) ซึ่งเข้ามาแทนที่สังคมแบบ ‘Linguistics Turn’ หรือ ‘การหันไปหาภาษา’ เมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่อำนาจและความรู้ถูกปลดปล่อยออกจากชนชั้นปกครอง (กษัตริย์และบาทหลวง) เข้าสู่มือของชนชั้นกลาง (Bourgeoisie) ชนชั้นเกิดใหม่ในขณะนั้น ทั้งนี้ก็ด้วยอานิสงค์ของระบบการพิมพ์ที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด จากประดิษฐ์คิดค้นแท่นพิมพ์ของ โยฮันน์ กูเทนแบร์ก (Johannes Gutenberg) ช่างเหล็ก - นักประดิษฐ์ชาวเยอรมัน มีชื่อเสียงจากการมีส่วนร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ในช่วงคริสศตวรรษ 1450 ซึ่งได้เปลี่ยนชีวทัศน์ของประชากรโลกสืบมานับแต่นั้น ขณะที่ในยุคปัจจุบัน หรืออาจจะนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ที่นับตั้งแต่เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital technology) ได้รับการพัฒนาขึ้น การเล่นแร่แปรธาตุกับข่าวสารข้อมูลเริ่มมีความสะดวกง่ายดายมากขึ้นในการนำเอารูปภาพเข้ามาผสมผสานเพื่อแข่งขันกันดึงดูดสายตา – เรียกร้องความสนใจมากขึ้น ตามปริมาณของสื่อที่ผุดขึ้นมามากมายทุกวินาที มนุษย์เราจึงอยู่ในยุคของการบริโภคภาพ (Image) จำนวนมากมายมหาศาล จึงเป็นการควรแก่เหตุที่นักวิชาการอย่าง J.W.T. Michael แห่งสำนัก Media Studies มหาวิทยาลัยชิคาโก จะเรียกว่ายุคนี้ว่า ‘Visual Turn’ หรือ ‘การหันไปภาพ/การใช้สายตาในการมอง’

การมาถึงของ “วัฒนธรรมทางสายตา” (Visual Culture) นับเป็นอาการสำคัญที่มาพร้อมกับกระแสของยุคหลังนวสมัย2 (Postmodern) ที่การจับจ้องมองดู (Gaze) เป็นเรื่องสำคัญระดับเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสังคมทุนนิยมไร้พรหมแดนเช่นปัจจุบัน ซึ่งมีการสื่อสารแบบไร้พรหมแดนผ่านสื่อผสม (Multimedia) และเครื่องมือรับสื่อที่ติดตัวปัจเจกไปได้ทุกกาลและเทศะทั้งโทรศัพท์มือถือไปจนถึงแท๊บเลทรุ่นต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการดู – อ่าน – ฟัง ได้อย่างสะดวกสบาย เมื่อการมองเป็นหัวใจของการรับรู้ของมนุษย์มาตั้งแต่ต้น (Visual Perception) โดยธรรมชาติของการเรียนรู้ และกลายเป็นหัวใจสำคัญในปัจจุบัน การมองจึงถูกพัฒนาให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จนถึงขั้นของการแลกเปลี่ยนความหมาย (Meaning Exchange) การบริโภคความหมาย และการต่อรองความหมาย การมองจึงมีนัยสำคัญไปถึงขั้นของการอ่านความหมาย (Reading) ที่มาพร้อมกับภาษาภาพในระดับของสัญญะ (Sign) ในตัวสื่อหรือตัวบท (text) ต่าง ๆ ในบรรดาการบริโภคความหมายทั้งหลาย การจับจ้องมองกันและกันของมนุษย์ดูจะมีอำนาจ,อิทธิพล และใช้กันมากที่สุดในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ก็เพราะว่าร่างกายของมนุษย์ เป็นต้นกำเนิดของระบบสัญญะอย่างแท้จริง และจะโดยเจตนาจงใจหรือไม่ก็ตาม การสื่อสารของมนุษย์ผ่านภาษาร่างกาย (Gesture) ใบหน้า (Facial Expression) เสื้อผ้าหน้าผม (Fashion) ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรอบที่สังคมและวัฒนธรรมกำหนดไว้แล้วทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลง (Convention) ของแต่ละสังคมจะตกลงกันว่าการแสดงออกของสีหน้า แววตา เสื้อผ้า ภาษาร่างกายชนิดใด เหมาะควรแล้วกับกาละและเทศะไหน ดังนั้น มนุษย์จึงเป็นเพียงร่างทรงและทางผ่านของโครงสร้างทางบริบทสังคมและวัฒนธรรมที่ปลูกฝังอยู่แล้วในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึก โดยข้อตกลงต่าง ๆ ที่หน้าที่ปลูกฝังผ่านกรอบคิดทางภาษา ดังที่นักโครงสร้างนิยมทั้งหลาย (Struturalist) เชื่อ ค้นพบ และพิสูจน์ตลอดมานับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะผู้ริเริ่มเส้นทางสายนี้อย่าง Ferdinand de Saussure3 นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส

ดังที่เชื่อกันตลอดมาว่า การจับจ้องหรือจ้องมอง (Gaze) เป็นเรื่องของอำนาจ ผู้ที่จ้องมองคือผู้ที่มีอำนาจ ขณะที่ผู้ที่ถูกจับจ้องมีอำนาจต่อรองที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะในสังคมแบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) ที่ผู้ชายเป็นใหญ่นั้น ผู้ชายจึงเป็นเพียงเพศเดียวที่มีสิทธิ์และถือครองอำนาจในการจ้องมอง (Male Gaze) ขณะที่ผู้หญิงเป็นได้เพียงวัตถุแห่งการจับจ้อง แต่อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้จะทำการสำรวจตรวจสอบอำนาจของการจับจ้องหรือจ้องมอง ทั้งในแบบที่ยังคงเดิมและในแบบที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเพศหญิงที่สามารถสร้างอำนาจต่อรองในกลยุทธ์ของการจ้องมองนี้ได้มากยิ่งขึ้น ขณะที่อำนาจที่เกิดจากสมรภูมิของการจ้องมองได้ย้ายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ แทน และทั้งหมดนี้ปรากฏอยู่สื่อและชีวิตประจำวันจนกลายเป็นมายาคติที่เราคุ้นเคยจนไม่ทันสังเกต เพราะมันเกิดขึ้นอย่างแนบเนียนเป็นธรรมชาตินั่นเอง

 

มายาคติในภาพถ่ายและภาพถ่ายแฟชั่น (Fashion Photography)

นับตั้งแต่กล้องถ่ายภาพและภาพถ่ายภาพได้ถูกผลิตขึ้นมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะโดย Louis Daguerre นักฟิสิกส์ – ศิลปินชาวฝรั่งเศส (ค.ศ. 1787 - 1851) ก่อนที่กล้องและฟิลม์จะได้รับการพัฒนาจนเกิดการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) โดย George Eastman (ค.ศ. 1854-1932) ผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตกล้องและฟิล์ม Kodak นั้น ความเชื่อที่ว่ากล้องย่อมแสดงความจริงโดยไม่บิดเบือน หรือการที่ความคิด – ความเชื่อของมนุษย์ย่อมต้องขึ้นอยู่กับความจริงเชิงประจักษ์นั้น ยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันในเชิงของกลไกในการบันทึกภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะภาพข่าว สารคดี งานสืบสวนสอบสวน ภาพจากห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ - การแพทย์  หรือในงานวิจัยต่าง ๆ ก็ตาม แม้ว่าในความเป็นจริงของยุคปัจจุบันนั้น มีเทคโนโลยีตกแต่งภาพสารพัดเกิดขึ้นมากมาย แล้วแต่เจตนาของผู้ถ่าย – ผู้ผลิตภาพจะประกอบสร้างความหมาย – ใส่ชุดของรหัส (Coding) ใด ๆ เข้าไป เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะนักคิดยุคหลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) คนสำคัญ ๆ อย่าง Michel Foucault4 และ Roland Barth5 ที่งานเขียนของทั้งคู่เริ่มมีอิทธิพลต่อวงการต่าง ๆ ทั้งวรรณกรรม จิตวิทยา สังคมวิทยา และศาสตร์ทางด้านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เป็นต้นมา

โดยในขณะที่ Michel Foucault พูดถึงอำนาจที่แฝงอยู่ในภาพซึ่งสามารถครอบงำความจริง หรือสร้างความจริงชุดใหม่ขึ้นมาได้ (Construction) ตามเจตจำนงของผู้ผลิตภาพ ซึ่งอำนาจนั้นอาจจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจทุน หรืออำนาจของปัจเจกชนคนใดคนหนึ่งก็ตามแต่ โดยภาพนั้นที่หน้าที่เป็นวาทกรรม (Discourse) ในการชิงอภิปรายความหมายต่าง ๆ ที่มันอ้างอิงถึง และคนอื่นที่มีอำนาจน้อยกว่าต้องยอมรับในความหมายที่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่นั้น ส่วน Roland Barth นั้น แม้ว่าจะปรับแนวคิดเข้าสู้หลังโครงสร้างนิยมในยุคหลัง ๆ แต่ก็เพราะเหตุนี้เองที่ทำให้เขาค้นพบอำนาจของมายาคติ ที่ทำงานอยู่อย่างเงียบ ด้วยการแอบอิงตัวมันเองเข้ากับ บรรทัดฐาน/ขนบ (Norms) และ ธรรมเนียม/ชุดข้อตกลง (Convention) ทางวัฒนธรรมและสังคมอย่างเป็นธรรมชาติ หากโครงสร้างนิยม (Structuralism) คือการใช้สัญญะ (Sign) ในการปลดปล่อยการผูกขาดความหมายให้มีเพียงหนึ่งเดียว หลังโครงสร้างนิยม (Post-structuralism) โดยมายาคติ (Mythologies) ของ Roland Barth ก็คือการปลดปล่อยสัญญะออกจากสัญญะ ให้สัญญะได้ทำงานพร้อม ๆ กันหลาย ๆ ตัวในคราวเดียวกัน ซึ่งนั้นคือมายาคติ (Mythologies) ที่เราเสพย์รับเข้าไปอย่างเต็มใจและไม่รู้ตัว ซึ่งในภาพถ่ายก็ล้วนแล้วแต่เต็มไปด้วยหลุมพรางแห่งมายาคติเพราะในขณะที่ภาพถ่ายให้ความหมายตรงจากสิ่งที่นำเสนออยู่เบื้องหน้า (Denotative Meaning) มันก็ได้ให้ความหมายแฝง (Connotative Meaning) มาพร้อมกันด้วยเสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพที่ใช้ในงานโฆษณา (Advertising Photography) และแฟชั่น (Fashion Photography) นั้น ล้วนแล้วแต่ผ่านการประกอบสร้างทางความหมายขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโฆษณาสินค้าและบริการ หรือโฆษณานโยบายทางการเมืองซึ่งก็คือสินค้าชนิดหนึ่งก็ตาม เพราะนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการต่าง ๆ เริ่มเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันมากขึ้น ภาพถ่ายจากที่เคยเป็นเครื่องมือทางศิลปะและวัฒนธรรม ได้ถูกนำมาใช้ในการนำเสนอสินค้า ผ่านกระบวนการโฆษณาและการตลาด เหตุผลก็เพราะภาพถ่ายและการถ่ายภาพเกิดจากระบบทุนและอำนาจทางเศรษฐกิจ ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับระบบทุนนิยมนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ด้วยเหตุนั้น การถ่ายภาพเพื่องานโฆษณาจึงต้องมีการใส่รหัส (Encoding) เข้าไป เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่เป็นสาร (Message) ไปสู่ผู้รับ และผู้รับสารก็ต้องถอดรหัส (Decoding) ออกมา สารที่ว่า เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของสูงสุดของงานโฆษณานั่นก็คือสร้างความเชื่อเพื่อขายสินค้าชนิดใดก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร การถ่ายภาพโฆษณาและแฟชั่นเพื่อขายสินค้า มักจะหนีไม่พ้นที่จะเกี่ยวโยงไปถึงแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นหญิง (Femininity) และความเป็นชาย (Masculinity) ตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายแฟชั่นและโฆษณาในช่วงทศวรรษที่ 1930-40/1940-50 นั้นเน้นให้ผู้หญิงเป็นตัวแทนของสินค้า ขณะที่ช่วงทศวรรษที่ 1970-90 เน้นไปที่ความความยั่วยวน (Eroticism) มุมมองของภาพหรือกล้อง จึงถ่ายทอดมุมมองแทนสายตาของเพศชายที่จ้องมองไปที่เพศหญิง (Male Gaze) และผู้หญิงเองก็รู้ว่าผู้ชายกำลังมองตัวเองอย่างไร คิดอะไร และรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะอำนาจที่เกิดจากการจ้องมองของเพศชาย รวมถึงการต่อรองเชิงอำนาจของเพศหญิงที่ตอบสนองต่อการจ้องมองก็ไม่ต่างกัน ภาพถ่าย จึงทำหน้าที่เป็นวาทกรรมส่งต่อมายาคติออกไปเป็นทอด ๆ เป็นอำนาจที่แผ่ซ่านในแนวราบไม่ใช่แนวดิ่ง () อย่างที่เป็นมา ดังคำกล่าวของ Michel Foucault ที่ว่า  “Power is everywhere: not that it engulfs everything, but that it comes from everywhere.”  ซึ่งนัยของการจ้องมองและการทำงานของภาพเหล่านี้ จะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดต่อไปโดยผ่านสื่อที่เรียกว่านิตยสารสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะในส่วนของหน้าปกที่มีการต่อรองของอำนาจแบบยืดหยุ่น (Soft Power) ผ่านระบบสัญญะอย่างเข้มข้นและละเอียดอ่อน เพราะมันคือจุดขายที่สำคัญที่สุด เป็นด่านหน้าที่แบกรับภาระของการตัดสินใจบริโภคนิตยสารของผู้บริโภค รวมถึงชะตากรรมของทีมงานผู้ผลิตนิตยสารอีกหลายชีวิต

(ต่อตอน 2)

...........................................................................................................................................................................................................................

* ภาพจาก  Vogue ฉบับ The September Issue

1 นิยามภาษาไทยโดย รองศาสตราจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ก่อตั้งและอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

2 ดร.สุรพงษ์ โสธนะเสถียร ศาสตราจารย์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมธีอาวุโส สกว.                         

3. Ferdinand de Saussure นักภาษาศาสตร์ชาวสวิส แนวคิดของเขาได้ปูรากฐานที่สำคัญจำนวนมากในพัฒนาการของภาษาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในบิดาของภาษาศาสตร์ยุคศตวรรษที่ 20 แนวความคิดสำคัญ มีอิทธิพลทางความคิดต่อโครงสร้างนิยมและสัญวิทยา

4 Michel Foucault - นักปรัชญา นักประวัติศาสตร์ ปัญญาชน นักวิพากษ์ และนักสังคมวิทยา ชาวฝรั่งเศส เคยดำรงตำแหน่ง "ศาสตราจารย์ทางประวัติศาสตร์ของระบบความคิด" ที่วิทยาลัยฝรั่งเศส และเคยสอนที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์  ผู้บัญญัติศัพท์คำว่า ‘วาทกรรม’ (Discourse) ขึ้นมาใช้อย่างได้ผล

5 Roland Barth- นักวิพากษ์วรรณกรรม นักทฤษฎีวรรณกรรม ทฤษฎีสังคม นักปรัชญา และนักสัญวิทยา งานของบาร์ตแผ่คลุมหลายสาขาวิชา และเขามีอิทธิพลต่อการพัฒนาสำนักทฤษฎีหลายสำนัก ซึ่งรวมถึง โครงสร้างนิยม สัญวิทยา อัตถิภาวนิยม ลัทธิมาร์กซ และหลังโครงสร้างนิยม โดยเฉพาะงานในช่วงหลัง ๆ อย่าง ‘มายาคติ’ (Mythologies) เป็นต้น

 

เอกสารอ้างอิง

 

ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข แปล. (2550). เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ : ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ

นรชิต จิรสัทธรรม. (2553). โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ : บทวิพากษ์สมมติฐานความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ = Post modern & economics.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา

วงหทัย ตันชีวะวงศ์. (2554). การโฆษณาข้ามวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Anne D'Alleva. (2005). Methods & Theories of Art History. London, UK: Laurence King Publishing.     

John Berger. (1972). Ways of Seeing. London, UK: Penguin.     

Michael O' Shaughessy, Jane Stadler. (2002) Media and Society.USA: Oxford University Press.

Richard J. Lane. (2000). JEAN BAUDRILLARD. London : Routledge.

Tony Schirato and Jen Webb. (2004). Reading the visual. Australia: National Library of Australia.

สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2556, http://www.signature9.com/style/fashion/vogues-september-issue-will-bring-in-more-than-92-million.jpg

สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2556, http://caseyculture.tumblr.com/post/181476027/the september issue.jpg

สืบค้นเมื่อ ตุลาคม 2556, http://bluenwhite.wordpress.com/tag/miranda-priestly/

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556,  http://en.wikipedia.org/wiki/Venus_of_Willendorf

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556,  http://www.dek-d.com/board/view/2733007/ SNSD

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556,  http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=design-fashion&month=01-05-2005&group=4&gblog=2

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556,  http://www.apexprofoundbeauty.com/th/news-detail.asp?newsID=464

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556, http://www.manager.co.th/home/viewnews.aspx?NewsID=9520000055424

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556, http://www.mornor.com/2009/forum/redirect.php?tid=188562&goto=lastpost

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556, http://en.wikipedia.org/wiki/File:%C3%89douard_Manet_-_Le_D%C3%A9jeuner_sur_l%27herbe.jpg

สืบค้นเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2556, http://www.huffingtonpost.com/2009/01/27/emvogueem-photoshopped-si_n_161310.html

สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2556, http://en.wikipedia.org/wiki/Le_d%C3%A9jeuner_sur_l'herbe     

 

 

บล็อกของ รอลงบัส (Rawlongbus)

รอลงบัส (Rawlongbus)
Q- What makes you depressed?Slavoj Zizek  “Seeing stupid people happy.”
รอลงบัส (Rawlongbus)
          (ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งแรก: วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2556)   
รอลงบัส (Rawlongbus)
ปกนิตยสารสำหรับผู้ชาย FHM และ Mars - องค์ประกอบบนหน้าปก (Composition) และ- รูปที่ใช้ (Image)  
รอลงบัส (Rawlongbus)
กรณีศึกษาจากนิตยสาร (Case Studies) 
รอลงบัส (Rawlongbus)
การปฎิบัติการของสัญญะ  
รอลงบัส (Rawlongbus)
Man act women appear. Men look at women.  Women watch themselves being looked at.