Skip to main content

Q- What makes you depressed?

Slavoj Zizek  “Seeing stupid people happy.”

Slavoj Zizek, A Slovenian psychoanalytic philosopher, cultural critic, and Hegelian Marxist.

..................................................................................................

ถาม- อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกหดหู่?

สลาวอย ชีเชค “ตอนที่ผมเห็นคนโง่เขลามึนตึงกำลังมีความสุข.”

สลาวอย ชีเชค, นักจิตวิทยา นักปรัชญา นักวิจารณ์สายวัฒนธรรม และนักมาร์ซิสต์สายเฮเกล ชาวสโลเวเนีย

 
..................................................................................................
 
 
 

1.ช่วงแรกของความเสื่อม

 
 
             ในความเป็นจริงแล้ว วาทกรรมว่าด้วย Cultural decline หรือความเสื่อมทางวัฒนธรรมเป็นแนวคิดของนักวัฒนธรรมศึกษาสายคลาสสิก ที่เชื่อว่าสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมหมายถึงของสูงหรือของชนชั้นที่มีหัวนอนปลายเท้า ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็คือชนกลุ่มน้อยที่คอยผูกขาดอำนาจในการนิยามความหมายของวิถีความเป็นอยู่ของผู้คนไว้กับชนชั้นของตัวเอง ขณะที่วิถีความเป็นอยู่ของผู้อื่น (เสื้อผ้าหน้าผม ค่านิยม ความเชื่อ การละเล่น) ไม่ได้มีคุณค่ามากพอที่จะเรียกเป็นวัฒนธรรมได้ หากมีและแพร่หลายถือว่าเป็นความเสื่อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีวัฒนธรรมมวลชน (Pop culture หรือ Low culture) เกิดขึ้น สิ่งประดิษฐ์ที่เคยอยู่ในพื้นที่อันจำกัดก็แพร่หลายออกไปบนพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ของสามัญชนทั้งหลาย ตั้งแต่การดูภาพเขียนที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะในวัดหรือวัง มาสู่พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ ภาพยนตร์ที่มีไว้ดูเป็นการส่วนตัวได้ขยับขยายมาสู่โรงภาพยนตร์  มโหรี – วงดนตรีที่ได้ฟังเฉพาะตอนเล่นสดสำหรับคนชนชั้นสูง ได้ย้ายเข้ามาสู่สถานีวิทยุ แผ่นเสียง เทปคาสเซ๊ท และแผ่นซีดีในที่สุด รวมทั้ง ข้อเขียนและงานวรรณคดีทั้งหลายที่กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งเพื่อความรู้และความบันเทิง เมื่อจำนวนของคนอ่านออกเขียนได้เพิ่มสูงขึ้น เป็นไปตามเงื่อนไขของระบบการพิมพ์ที่สะดวกและทันสมัยมากขึ้น และเมื่อทุกสิ่งเข้าถึงง่าย ใช้เวลาไม่นานในการทำซ้ำและแพร่หลายได้อย่างรวดเร็ว สารในสื่อทางวัฒนธรรม รวมทั้งรูปแบบของมัน จึงต้องมีการปรับตัวให้เข้าถึงฐานมวลชนในวงกว้าง สิ่งที่เคยเป็นเรื่องของพิธีกรรมหรือพิธีรีตอง กลายเป็นสิ่งของจับต้องได้ง่าย ไม่ต้องรอวาระสำคัญจึงจะได้ชม/อ่าน/ฟัง สักครั้ง และกลายเป็นสิ่งที่ไหลเวียนอยู่ในชีวิตประจำวัน (Everyday practice)  ไม่ได้เป็นของดี – ของพิเศษอีกต่อไป แน่นอนว่าสารและรูปแบบเหล่านี้ ย่อมต้องมีการปรับแปลงให้ง่ายขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมาก (Mass) แต่การทำให้ง่ายย่อมมีข้อยกเว้น หมายความว่า ไม่ใช่ทุกสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมมวลชนจะต้องง่าย และสิ่งที่ง่ายก็ไม่จำเป็นต้องไร้คุณค่าเสมอไป วัฒนธรรมมวลชน ทั้งภาพยนตร์ ดนตรี วรรณกรรม ฯลฯ ในแบบของยุโรป ของอเมริกัน หรือส่วนอื่นใดในโลก เองก็มีแบบฉบับ มีบริบท รหัส และขนบบางอย่างเป็นของมันเองให้เราต้องทำความเข้าใจ ไม่ได้ง่ายอย่างที่ว่า และอาจจะมีนัยวับซ้อนยอกย้อนด้วยซ้ำ 
 
              วัฒนธรรมมวลชนที่มาพร้อมกับพัฒนาการของระบบการพิมพ์และสื่ออิเลคโทรนิคส์ในช่วงศตวรรษที่ 20 เอง ก็ได้พิสูจน์ตัวมันเองให้เห็นแล้วว่า คุณค่าและพลานุภาพของมัน ส่งอิทธิพลต่อการรับรู้และพัฒนาการของสังคมโลกเราเพียงใด มีใครบ้างที่ไม่เคยได้รับอิทธิพล จากเพลงร๊อคแอนด์โรล วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก กางเกงยีนส์ น้ำอัดลม หนังสือการ์ตูน หรือหนังฮอลลีวู้ดบ้าง แม้ว่าในจำนวนสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมเหล่านั้นจะมีที่อ่อนด้อย เหลวไหล และไร้ประสิทธิภาพแทรกแฝงอยู่ด้วยก็ตาม แต่มันก็มีหนึ่งในสิบ หรือร้อยในพัน หรือแสนในล้านที่มันใช้ได้ ใช้ได้ดี หรือถึงขั้นยอดเยี่ยม ไม่ต่างจากสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมชั้นสูง (High culture)   
 
 
 

2.ช่วงต่อมาของความเสื่อม

 
 
             ล่วงสู่ปัจจุบันขณะ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เราได้เข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมที่ประกอบสร้างขึ้นผ่านดิจิตอลเทคโนโลยีและโลกคู่ขนานชื่อโลกออนไลน์ การมาถึงของยุคสมัยที่เราเผชิญ รับรู้ และบริโภคอยู่นี้ ได้สร้างประสบการณ์มหัศจรรย์ให้ผู้คนอย่างมากมาย ทั้งสื่อ/สาร องค์ความรู้ในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ถูกนำมาจัดวางให้เลือกสรรค์อยู่ตรงหน้าราวกับเป็นตู้แสดงสินค้า สรรพสิ่งที่เคยปกปิดซ่อนเร้น (แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด) ถูกนำออกมาจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือขลัง เช่น ความลับหรือสิ่งลึกลับทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ พิธีกรรมสูงส่ง เอกสารลับ/เรื่องลึกลับ ถูกแพร่กระจายไปบนพื้นที่ไซเบอร์ ถึงเราจะมีประสบการณ์ชั้นที่สอง – ชั้นที่สามกับสิ่งเหล่านี้ก็ตาม เช่น การชมผลงานศิลปะจากการเสิร์ชในกูเกิล เราชมคอนเสิร์ตตระการตาหรือภาพยนตร์จากแพลทฟอร์มของยูทูป เราอ่านข่าวสาร – ข้อมูล (ไม่ว่าจริงหรือลวง) หนังสือเป็นเล่มๆ ผ่านมือถือหรือจอคอมพิวเตอร์ รวมทั้งดาวน์โหลดมันมาเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวแบบสมบัติผลัดกันชม มันเป็นยิ่งกว่าการปฏิวัติแท่นพิมพ์ของกูเตนเบิร์ก การทดลองส่งสัญญาณวิทยุข้ามทวีป การส่งสัญญาณภาพสู่กล่องทีวี การมีม้วนเทป/ แผ่นซีดีเก็บหนัง – เพลง ไว้ดูส่วนตัว
 
 
             ทั้งนี้ ยังไม่นับว่าความเป็นปัจเจกได้ถูกสร้างขึ้นผ่านการมีหนังสือครอบครองเป็นการส่วนตัวและอ่านออกเขียนได้ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาอ่านและมีคนรอฟังโดยพร้อมเพรียงกันเป็นกลุ่ม (Collective) กระทั่งมีคนสร้างวาทกรรมกล่าว (หา) ว่าสังคมมนุษย์เรากลายเป็น’สังคมก้มหน้า’ ไม่นับว่าปัจจุบัน ทุกคนสามารถสร้างโปรดักท์/สาร ผ่านช่องทางมากมายที่เรียกว่าสื่อโซเชียล เราทุกคนสามารถต่อรองกันได้ (บ้าง) ในโลก/สังคมที่ชนชั้นยังมีอยู่จริง แม้ว่า การบริโภคจะพยายามปกปิดมันไว้ แต่ขณะที่มนุษย์สร้างโปรดักท์/สารผ่านสื่อ เราก็กำลังบริโภคสิ่งที่เราผลิตไปด้วย การบริโภค (ความหมาย) ด้วยการสร้างความหมายของตัวเองขึ้นมาจึงเป็นกลเกมของระบบทุนนิยมขั้นสูงสุดแบบหนึ่ง โดยไม่ต้องนับว่าเป็นทุนของใครบ้าง ทั้งทุนนิยมแท้ๆ ที่มีคุณมากกว่าโทษ ทุนนิยมสามานย์ผูกขาดที่มีโทษมากกว่าคุณ หรือทุนเล็กทุนน้อยที่เป็นแค่เบี้ยก็ตาม 
 
 
            ดังนั้น แม้ว่าดิจิตอลเทคโนโลยีได้ปลดปล่อยบางอย่างแต่ก็หนีไม่พ้นการผูกขาดอยู่ดี เพียงแต่มันลงลึกถึงขึ้นการ’สร้างตัวตน’โดยอาศัยหยิบยืมเทคโนโลยีที่สะดวกขึ้นเพื่อบริโภคตัวตนซ้ำอีก (Subsume) รูปการณ์ปัจจุบันมันจึงเป็นยิ่งกว่าวัฒนธรรมมวลชน ไม่นับว่า วัฒนธรรมชั้นสูงที่คอยบังคับ/ตีเส้นแบ่งมนุษย์ด้วยกันออกเป็นชนชั้นตามชาติกำเนิดอยู่แล้ว ปัจจุบันคือ’วัฒนธรรมตัวตน’ที่ย่อยสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระทั่งองค์ความรู้/กรอบทฤษฎีใหม่ถูกผลิตขึ้นมาจับดัก/กักขัง/แข่งกันให้คำนิยามจนแทบไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักวัฒนธรรมสำนักสายไหน ซึ่งจะว่าไปแล้ว สิ่งเหล่านี้กลับพามนุษย์ย้อนกลับไปสู่ คำถามเชิงปรัชญาเดิมๆ ที่ถามกันมานานว่า ‘มนุษย์คืออะไรและชีวิตคืออะไร’ ‘เจตจำนงที่แท้จริงของชีวิตคืออะไรกันแน่’ การที่มนุษย์ ชม/อ่าน/ฟัง สิ่งที่เป็นทั้งวัฒนธรรมชั้นสูงหรือวัฒนธรรมมวลชนน้อยลงเพราะมันไม่ตอบโจทย์ความคิดจิตใจของมนุษย์ในศตวรรษนี้ ขณะที่การ ชม/อ่าน/ฟัง สิ่งอื่นที่ (อาจจะ) ตอบโจทย์ความคิดจิตใจของมนุษย์ในศตวรรษนี้ได้มากกว่า (?) จึงนำมาซึ่งการพังทลาย (เฉพาะในบางสังคมที่ไม่เคยมีฐานทางวัฒนธรรมใดๆ แข็งแรงทั้งสิ้น) ของทั้งอุตสาหกรรมดนตรี วัฒนธรรมการอ่าน (ที่เกือบจะลงหลักปักฐานแต่ไม่ทันได้เป็น Linguistic turn) หรือแม้แต่วัฒนธรรมที่กลายเป็นกระแสหลักอย่างการบริโภคสิ่งที่เป็นภาพ (Visual turn) กันอีกรอบในคราวนี้เพราะเทคโนโลยีในการสร้างภาพมันล้ำเลิศอย่างชวนขนลุก (Sublime) อย่างภาพยนตร์ คอนเสิร์ต ละครชุดทางทีวี ก็ยังพ่ายแพ้ต่อ ‘วัฒนธรรมดูฟรี’ (นอกเหนือจากฟังฟรี/อ่านฟรี) สิ่งนี้ต่างหากที่เรียกว่าเป็นความเสื่อม (ของทุนเอง) และของผู้บริโภคโดยแท้ นอกเหนือจากปัญหาเรื่อง การไม่แยแสของผู้คนส่วนหนึ่งที่มีจำนวนมากพอว่ามีบริษัท/นายทุนที่เคยรับเหมาผลิตสิ่งเหล่านี้ในแบบอุตสาหกรรมมาให้ผู้คนที่ไม่มีเวลาสร้างสรรค์นอกจากก้มหน้าก้มตาทำงานแล้วรอบริโภคเท่านั้น
 
 
             เช่นนั้น ความเสื่อมจึงยังคงเป็นตัวตนของมนุษย์คนเดิมๆ เอง ที่ยังโง่เขลามึนตึงกับอำนาจที่คอยเบี่ยงความสนใจใคร่รู้/การปลดพันธนาการไม่ให้มาสนใจจับตามองอำนาจระดับโลก/ประเทศ/ท้องถิ่นที่กำลังเคลื่อนไหวชักใยอะไรกันอยู่ ดังที่ สลาวอย ชีเชค กล่าวไว้ในต้นบทความใช่หรือไม่ ความเสื่อมจึงมิใช่อยู่ที่เทคโนโลยีที่วิวัฒนามาในแต่ละยุคสมัยเพราะคุณของมันนั้นอนันต์แต่เป็นรูปการณ์จิตสำนึกของมนุษย์ไม่ว่าจะยุคสมัยไหนต่างหาก ที่ถูกเบี่ยงเบน/เฉไฉ/มอมเมาให้เสื่อมประสิทธิภาพไม่ต่างจากการไม่กล้าตั้งคำถามกับเทพเจ้า/บรรษัท/อำนาจรัฐ เป็นยิ่งกว่าอาการสังคมก้มหน้าซึ่งเป็นอาการแสดงออกแค่ภายนอก – ใช่หรือไม่.               

บล็อกของ รอลงบัส (Rawlongbus)

รอลงบัส (Rawlongbus)
Q- What makes you depressed?Slavoj Zizek  “Seeing stupid people happy.”
รอลงบัส (Rawlongbus)
          (ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งแรก: วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2556)   
รอลงบัส (Rawlongbus)
ปกนิตยสารสำหรับผู้ชาย FHM และ Mars - องค์ประกอบบนหน้าปก (Composition) และ- รูปที่ใช้ (Image)  
รอลงบัส (Rawlongbus)
กรณีศึกษาจากนิตยสาร (Case Studies) 
รอลงบัส (Rawlongbus)
การปฎิบัติการของสัญญะ  
รอลงบัส (Rawlongbus)
Man act women appear. Men look at women.  Women watch themselves being looked at.