Skip to main content

(ต่อ)

 

2.1 ความเป็นไทยแท้ในเชิงของความเชื่อ ในละครเรื่อง ”บ่วง” ที่มีแก่นเรื่องอยู่ที่การชิงรักหักสวาทระหว่าง ‘อีแพงกับคุณพระภักดีบทมาลย์’ และ การห้ำหั่นกันระหว่างฝ่ายธรรมะกับฝ่ายมารคือ ‘คุณหญิงอบเชยกับอีแพง’ ซึ่งไม่ว่ารายละเอียดของเรื่องนั้น ผู้ประพันธ์จะใช้จินตนการซับซ้อนในการผูกเรื่องอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งก็คือ การที่ ‘อีแพง’ หรือไพร่ ไม่ว่าจะถูกผิดดีชั่วอย่างไร ย่อมไม่มีสิทธิ์ใช้เหตุผลและสิทธิ์ความเป็นมนุษย์เสมอกัน ทั้งยังอาจมีสิทธิ์ถูกละเมิดสิทธิส่วนตัวได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะ การรุกล้ำเข้ามาก้าวก่ายร่างกายอีแพงของอำนาจของผู้ปกครอง(คุณหญิงอบเชย) เช่น การกล้อนผม หรือการห้ามแต่งเนื้อแต่งตัวเสมอ/เกินหน้า เพราะไพร่นั้นต้อง ‘นุ่งเจียม-แต่งเจียม’ เป็นได้เพียง’ร่างกายใต้บงการ’เท่านั้น และผลลัพธ์ของการเรียกร้องสิทธิ์ของอีแพงที่ผู้ปกครองเรียกว่า’การอวดดี-ดื้อดึง’ ราวกับพ่อ/แม่กระทำกับลูก ๆ(พ่อปกครองลูก) นั้น ทำให้ชีวิตของอีแพงทั้งในเชิงส่วนตัวและทางสังคมมีสภาพที่น่าเวทนา ไร้ศักดิ์ ไร้สิทธิ์อย่างน่าอเนจอนาถ แต่สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อำนาจของผู้ปกครองนั้นลงลึกถึงจิตใต้สำนึกและฝังลึกเป็นความเชื่อ อยู่ที่การอ้างธรรมะ (Dharma Centric) และพร่ำสอนอยู่ตลอดเวลา ราวกับคุณหยิงอบเชยและผู้สร้างละครเรื่องนี้ ได้กลายสภาพไปเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) แกมขู่ทางชนชั้นชนิดหนึ่งโดยเฉพาะการที่อีแพงถึงขั้นต้องไปเกิดในชาติภพใหม่เป็นสุนัขในตอนจบ (รวมไปถึงการตัดเอาฉากสั้น ๆ ในเชิงอบรมธรรมะมาประกบปิดท้ายอีกทีหนึ่งก้เช่นกัน) หรืออาจจะนับได้ว่า ความเชื่อในเรื่องชนชั้นก็คือความเป็นไทยขนานแท้ที่ ถึงอย่างไรก็ต้องไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าบริบทแวดล้อมแบบปรากฏการ์เชองประจักษ์จะเปลี่ยนแปลงไปมากมาย เช่น จากเรือนไม้ในสปา ไปสู่เครื่องบินที่ทำให้มนุษย์บินได้เหมือนนกอยู่บนท้องฟ้า ก็ตาม ทั้งหมดนี้ คือกรอบคิดแบบคู่แย้ง (Binary Oppsition) ที่ฝังลึกในจิตสำนึกของมนุษย์มาตั้งแต่ก่อนยุคอุตสาหกรรม

นั่นก็คือ “ชนชั้นปกครอง => ธรรมะ/ความดี/คุณธรรม => อำนาจ” กับ
“ไพร่ => กิเลส (ทุนวัฒนธรรม/ศีลธรรมน้อยกว่า) => ผู้ถูกปกครอง

 

2.2 ความเป็นไทยแท้ในแง่การเป็นเจ้าของความเป็นชาติ ดังที่ปรากฏในละคร “ขุนศึก” และ “ขุนรองปลัดชู” นั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากบรรยากาศทางการเมืองของอำนาจหลาย ๆ ฝ่าย ที่พยายามจะเข้ามาอ้างความเป็นเจ้าของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ “ขุนศึก” นั้นแสดงตัวว่าเป็นเรื่องแต่ง (Fiction)  อิงเค้าโตรงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะตัวละคร’เสมา’นั้น คือการประกอบสร้างของตัวละครผ่านเรื่องเล่าขนาดใหญ่ (Grand Narative) จำพวก ตำนานหรือพงศาวดารชุดต่าง ๆ  เกี่ยวกับวีรบุรุษ (Romantic Hero) ในสงครามกู้ชาติหลาย ๆ เรื่อง โดยอาศัยพม่าเป็นศัตรูขับเคี่ยวเป็นฉากหลัง ที่พอจะสร้างน้ำหนักของความรักชาติขึ้นมาได้บ้าง แต่เมื่อเทียบกับน้ำหนักของความน่าเชื่อถือแล้ว ยังเป็นรอง “ขุนรองปลัดชู” อยู่มาก เนื่องจากเรื่องหลังนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล่า แต่ก็อ้างอิงกับตัวบุคคลที่มีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรณรงค์ (Launch Campaign) ทั้งก่อนชมและระหว่างชมละครเรื่องนี้ในช่วงที่ออกอากาศทางทีวีไทย โดยการสัมภาษณ์ผู้กำกับ จับเอานักวิชาการและบุคคลผู้มีชื่อเสียงและดูน่าเชื่อถือเพราะต้นทุนทางสังคมและวัฒนธรรมมานั่งถกกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การยิงโฆษณา (Teaser) ตัวอย่างภาพยนตร์และมิวสิควิดีโอ อย่างค่อนข้างเป็นระบบ ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างเรื่องเล่าขนาดใหญ่ (Grand Narative) อีกชุดหนึ่งขึ้นมารองรับตัวบท จากที่ตัวมันเองก็มีความน่าสนใจอยู่แล้ว เพื่อให้ “สาร” (Message) ในเรื่องมีน้ำหนักมากขึ้นและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นไปอีก

ผลก็คือ สังคมไทยได้ละครที่เป็นภาพแทนทางประวัติศาสตร์ของความรักชาติและความสามัคคีของคนไทย (ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ใช่’ไทย’) ที่เกิดจากการระดมทีมครีเอทีฟจากสายงานต่าง ๆ โดยเฉพาะสายโฆษณา ที่ช่ำชองในการใส่รหัส (Encode) เพื่อขายสินค้าอยู่แล้ว และละคร “ขุนรองปลัดชู” จึงกลายเป็นสินค้าเชิงวัฒนธรรม ที่ยกตัวเองขึ้นมาจากระดับ (3.) ผลงานชิ้นเอกที่ไม่เป็นของแท้ (Inauthentic-Masterpiece) –  เป็นสิ่งทำเทียม สร้างขึ้นใหม่ มาเป็นระดับ (1.) ผลงานชิ้นเอกที่เป็นของแท้ (Authentic-Masterpiece) - ถือว่ามีคุณค่าสูง ดังที่ผู้เขียนได้นิยามไว้ว่า ‘เป็นงานศิลปะ (Art) ไม่เคยมีมาก่อน มีเพียงชิ้นเดียว’ ในขณะที่ ละครอย่าง “บ่วง” และ “ขุนศึก” ก็ยังคงเป็นสินค้าระดับ (4.) อันเป็นผลงานทางวัฒนธรรมที่เป็นของไม่แท้ (Inauthentic-Artifact) – เป็นสิ่งทำเทียมผลิตซ้ำได้ ไม่ต่างจากสินค้าประเภทของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว

จากการวิเคราะห์ตัวบท (Text) นั้นจะเห็นว่า ตัวตนของขุนรองปลัดชู มีทุนทางสังคมสูง รวมไปถึงทุนทางวัฒนธรรมอย่างความกล้าหาญ เสียสละ และรักชาติ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นชนชั้นปกครองโดยกำเนิด แต่เรื่องเล่าก็แสดงให้เห็นว่าชาติกำเนิดไม่สำคัญ เพราะใครก็รักชาติได้และควรจะรักให้มาก ๆ ซึ่งก็เป็นตรรกะที่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งเรื่องเล่าชุดนี้ใช้เล่าก็คือ การหักหลังกันของขุนนางชั้นล่าง ๆ ที่ต้องต่อกรกับเหล่าวีรชนผู้รักชาติทั้งหลาย หรือจะพูดในนิยามของสมัยใหม่แล้ว ขุนนางชั้นล่างเหล่านั้นก็คือนักการเมืองที่เอาชีวิตประชาชนเป็นเบี้ยไปตายแทน เป็นการเบี่ยงน้ำหนักของประเด็นรักชาติ จากศัตรูภายนอกมาสู่ศัตรูภายใน ไม่ต่างจากสังคมไทยปัจจุบันในสภาวะเปลี่ยนผ่านนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะพยายามใช้ภาษาภาพให้ดูเป็นสารคดีเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ อย่างเช่นการใช้สัดส่วนบนจอภาพแบบ Wide-Screen, การใช้สี Monotone แบบภาพขาว-ดำ หรือใช้การเล่าเรื่องแบบพูดกับตัวเอง (Monologue) เพื่อที่จะให้ตัวละครสามารถบอกเล่าความในใจได้ตลอดเวลา หรือที่จริงก็คือสารที่ชนชั้นกลางอยากจะพูดกับสังคมไทยก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวก็มีผลค้างเคียงที่ทำให้ละครทั้งเรื่องดูอืดเอื่อย น่าเบื่อ ราวกับมีใครสักคนพร่ำบ่นกับตัวเอง โดยหวังว่าจะให้คนอื่นมาเข้าใจความรักชาติในมุมของตัวเอง ขณะมุมมองอื่น ๆ กลับถูกเก็บกดปิดกั้น ผลก็คือ คนที่เชื่อในสารเหล่านั้นอย่างสนิทใจกลับไม่ใช่’คนอื่น’แต่คือตัวของเจ้าของน้ำเสียงนั้นเอง ดังนั้น เรื่องเล่าของงขุนรองปลัดชู’จึงไม่ต่างไปจากการสะกดจิตตัวเองของชนชั้นกลาง ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ตนเองต้องการจะส่งสารไปถึง และยิ่งให้ขุนรองปลัดชูพูดซ้ำ ๆ ผสานกับภาพย้อนกลับ (Flashback) บ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของเรื่องที่ไม่มีอะไรใหม่และไม่มีอะไรที่จะพูดมากนัก นอกจากการพลิกมุมเล่นกับโครงเรื่อง (Plot) ราวกับอยากจะย้อนถอยไปหาอดีตอันแสนอบอุ่นและมั่นใจมากกว่าอนาคตที่น่าหวาดหวั่นเท่านั้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ชวนให้นึกถึง ข้อเขียนสั้น ๆ ของ อ.เกษียร เตชะพีระ เกี่ยวกับการคลั่งชาติและความเป็นไทย ที่ว่า 

ไข้ความเป็นไทยขึ้นสมอง – ความหมาย : พยาธิสภาพหรือโรคชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการตกอยู่ในมายาคติเรื่องความเป็นไทยมากเสียจนไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์และความคิดอย่างมีเหตุผลได้ ผู้ป่วยมักแสดงอาการในสองลักษณะ คือ ชอบคาดคั้นหรือปรักปรำผู้อื่นโดยการตั้งคำถามว่าเป็นคนไทยหรือเปล่าและชอบข่มขู่คุกคาม ผู้ที่มีพฤติกรรมหรือความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นไทยที่ตนยึดถือโดยการขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น

ที่มา:บัญญัติโดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ในบทความชื่อ “ไข้ความเป็นไทยขึ้นสมอง: สมุฏฐาน” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 20 มกราคม 2555

หรือจะนิยามให้สั้นและกระชับก็คือ นิยามของความเป็นไทย ก็มักจะวนเวียนไม่พ้นเรื่อง ชาติกำเนิด เรื่องของโชคชะตา บุญวาสนา และกรรมเวร ส่วนความอ่อนหวาน – อ่อนโยน นั้นก็อาจจะหมายถึงการที่ต้องไม่เรียกร้องสิทธิ์และไม่มีเสียง โดยมีชั้นชั้นปกครองแบบไทยเป็นผู้กำหนดว่า วาสนาควรจะตกถึงใครบ้าง สิ่งใดเรียกว่าบุญ – บาป สิ่งใดทำแล้วจะก่อให้เกิดเวรและกรรม และโลกทัศน์ – ชีวทัศน์ ทั้งหมดนี้ ยังต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับของชนชั้นปกครองตะวันตกอีกชั้นหนึ่งเสียด้วยซ้ำ

 

3.บทสรุป : ความเป็นไทยแบบ Hyper-Real3

 

ในสังคมที่’ก้าวข้าม’การบริโภคสินค้าในกรอบวิธีคิดแบบ Karl Marx  ที่มุ่งเน้นการบริโภคไปที่มุลค่าใช้สอย (Use Value) และมูลค่าแลกเปลี่ยน (Exchange Value) ที่มองเห็นและจับต้องได้ในเชิงกายภาพ อันหมายถึงการลูบคลำจับต้องและกินได้เพียงอย่างเดียว และมีกรอบคิดเชิงโครงสร้างใหญ่ (Super Structure) กับเรื่องเล่าขนาดใหญ่ (Grand Narative)  ไปสู่กรอบคิดแบบ’การบริโภคเพื่อการบริโภค’ หรือ ‘I shop, therefore I am.’ ไปแล้วนั้น ‘ความเป็นไทยง ในฐานะสินค้าที่มีมิติเชิงทุนวัฒนธรรมกำกับอยู่ ก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกแปรรูปให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคในเชิงสัญญะ (Sign Value)  ซึ่งเป็นแนวคิดของ Jean Baudrillard4 นักคิดในสายทฤษฎีสังคมวิทยาแนววิพากษ์ แบบหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism ) ที่ปฏิเสธบทบาทของการครอบงำแบบทางเดียวของโครงสร้างใหญ่ อันหมายถึง ระบบคุณค่าต่าง ๆ ที่กำหนดลงมาจากชนชั้นปกครอง มาสู่การแลกเปลี่ยนเชิงอำนาจผ่านการแสดงออกจากการบริโภคสินค้าต่าง ๆ แทน โดยเฉพาะสินค้าที่มีมิติเชิงวัฒนธรรม เช่น ความเป็นไทย ก็เลี่ยงไม่พ้นตรรกะการบริโภคชุดนี้ นั่นก็คือ เมื่อการบริโภค หรือเสพย์รับสื่อได้ก้าวข้ามจากการอ้างอิงจากหลักฐาน – รากฐานของความเป็นจริง ไปสู่เรื่องแต่ง – เรื่องเล่า ที่ไม่ต้องอ้างอิงตัวมันเองกับสิ่งใดเลย หรือก็คือ เรื่องที่เล่าถูกบิดเบือน – ตัดทอน – ตีความไปตามอำเภอใจ ตามแต่ค่านิยม ความเชื่อของผู้ผลิตสารต้นทาง ประโยชน์ใช้สอยที่แท้จริงของมันก็ดูจะล่องลอยหายไป เหลือเพียงภาพเทียม – ความหมายเทียม ที่สุดจะเสกสรรค์ปั้นแต่งกันไป

สังคมไทยปัจจุบัน ตกอยู่ในระหว่างเขาควาย (Dilemma) ของการแย่งชิงพื้นที่เพื่อนิยามความเป็นไทยให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มหรือชนชั้นของตนเอง ด้วยการคัดสรรภาพแทนขึ้นมาประกวดประชันราวกับเป็นสินค้าและประดิษฐ์กรรมอย่างหนึ่งเพื่อการบริโภค ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ของสื่อ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการนั้น ประเด็นสำคัญก็คือ ในบรรดาภาพแทนทั้งหมดที่ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมา มีใครพอที่จะอ้างอิงหรือมีอะไรที่พอจะนำมาอ้างอิงได้ว่า สารที่ล่องลอยผสมผสานอยู่ในบรรยากาศรอบ ๆ ตัวนั้นเป็นของจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับสื่อในยุคที่เทคโนโลยีดิจิตอล ที่ช่วยให้การสร้างสรรค์ทั้งภาพและเสียงกลายสภาพขึ้นมาเป็นตัวตน ราวกับใช้มนต์วิเศษเสกขึ้นมา จากในยุคโบราณ (Pre-modern) ที่การสร้างภาพแทนจำเป็นต้องอ้างอิงความเป็นจริงจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาจนถึงสังคมยุคใหม่ (Modern) ที่ภาพแทนถูกจำลอง (Simulation)  ขึ้นมาผ่านการอ้างอิงข้อมูลทางสังคม เข้าสู่ยุคหลังสมัยใหม่ ( Post-modern ) ที่การจำลองภาพแทน สามารถทำได้จากความนึกคิดและจินตนาการล้วน ๆ โดยแทบจะไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องไปอ้างอิงกับข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะในเชิงสังคมหรือประวัติศาสตร์อีกเลย หรือที่ Jean Baudrillard เรียกว่า “สภาวะเหนือจริง” (Hyperreal) เพื่อที่จะทำให้ผู้รับสารเชื่อว่าทั้งหมดนั้นคือความจริงในแบบที่ผู้ส่งสารหรือผู้ผลิตอยากจะให้เห็นและเป็น

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพความอ่อนหวาน นุ่มเนียนของสปา, รอยยิ้มแบบไทยบนยานพาหนะของยุคสมัยใหม่, ชะตากรรมของอีแพง, วีรบุรุษในอุดมคติอย่างเสมา หรือ วีรบุรุษสมจริงแบบหนังสารคดีของรองปลัดชู จึงเป็นภาพจำลองแบบเหนือจริงของคนไทยยุคปัจจุบัน ที่กำลังแสวงหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และพยายามนิยามความเป็นไทย ผ่านตัวบทที่หยิบยืมจากอดีต แต่ก็ได้มาแค่เพียงรูปแบบหรือร่องรอยของความเป็นจริงเท่านั้น         

จากพรรณนาทั้งหลาย (Narrative) ทั้งในเชิงของภาษาภาพ (Non-Vebal Language) และ ภาษาพูด/เขียน ( Verbal Language ) ที่ปรากฏให้เห็นนั้น พอจะสรุปได้ว่า ความเป็นไทย (Thainess) นั้น แท้ที่จริงก็คือสิ่งประกอบสร้าง (Construction) จากหลาย ๆ สัญญะ, จากชุดความคิดของสมาชิกในสังคมไทยกลุ่มต่าง ๆ และชุดของวาทกรรม จากหลากที่มา ที่เป็นไปตามอำเภอใจ (Arbitrary) ว่าสิ่งไหนจะช่วยเสริมภาพลักษณ์ของความเป็นไทยให้เห็นเด่นชัดขึ้นในมุมมองที่ผู้ปกครองหรือชนชั้นที่มีอำนาจ ต้องการจะให้เห็น ซึ่งนัยของคำว่า ‘ประกอบสร้าง’ ก็คือคำตอบในตัวของมันเองแล้ว นั่นก็คือ ไม่มีสิ่งใดเป็นของแท้-ที่แท้ และไม่มีสิ่งใดเป็นของเทียม-ที่เทียม ทั้งนี้ จนกว่าจะเกิดความเป็นไทย ที่ค่าของความเป็นคนเสมอกัน

(3-4) ภาวะเหนือจริง แนวคิดของ Jean Baudrillard  (27 กรกฎาคม 1929 – 6 มีนาคม 2007) นักปรัชญาและนักสังคมศาสตร์ชาวฝรั่งเศส หลังสมัยใหม่ กลุ่มหลังโครงสร้างนิยม ที่แบ่งความจริงเสมือนตามลักษณะของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปในแต่ละสมัยเป็น  4 ระยะคือ 1. ยุคก่อนสมัยใหม่ (Pre-Modern Phase) ใช้ภาพแทนที่เป็น’ของจริง’สื่อสารต่อกัน  2. ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (European Renaissance Phase) ภาพนิมิต (Simulacrum/Simulacra) จะ’เลียนแบบความจริง’  3. ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution Phase)  ภาพนิมิต (Simulacrum/Simulacra) เริ่มแสดงสถานะ-ความหมาย-คุณค่าบางอย่าง  4. ยุคหลังอุตสาหกรรม (Post - Industrial Phase) คือการสร้างภาพนิมิต (Simulation) ที่เป็นไปตามตรรกะการบริโภค ‘ไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริง’ ใด ๆ อีกเลย  

...........................................................................................................

 

เอกสารอ้างอิง

 

ภาษาไทย

ประชา สุวีรานนท์(2554). อัตลักษณ์ไทย: จากไทยสู่ไทยๆ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข แปล. (2550). เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ : ปิแยร์ บูร์ดิเยอ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ

นรชิต จิรสัทธรรม. (2553). โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ : บทวิพากษ์สมมติฐานความมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ = Post modern & economics.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วิภาษา

วงหทัย ตันชีวะวงศ์. (2554). การโฆษณาข้ามวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นิตยสาร HIP. เดือนกุมภาพันธ์ 2555. ฉบับที่ 88 ปีที่ 8. เชียงใหม่ : สำนักงาน Hip Magazine    

ภาษาอังกฤษ

John Storey. (1999). Cultural consumption and everyday life. London, UK: Arnold.     

Michael Erlhoff, Tim Marshal. (2008) Design Dictionary : Perspectives on Design Terminology. Berlin, Germany: Birkhäuser Verlag AG.

Tony Schirato and Jen Webb. (2004). Reading the visual. Australia: National Library of Australia.

Richard J. Lane. (2000). JEAN BAUDRILLARD. London : Routledge.

เว็บไซต์

สืบค้นเมื่อ กรกฏาคม 2555, http://thaipolitionary.files.wordpress.com/2012/01/politionary-word-79.jpg

สืบค้นเมื่อ กรกฏาคม 2555,http://postto.me/ik/minihidefdvdqualitytheunsunghero2011720ph.qcthts002103045343.jpg

สืบค้นเมื่อ กรกฏาคม 2555, http://album.sanook.com/files/2208702http://www.showwallpaper.com/show.php?wid=061974

สืบค้นเมื่อ กรกฏาคม 2555, http://www.mcot.net/cfcustom/cache_page/360850.html

บล็อกของ รอลงบัส (Rawlongbus)

รอลงบัส (Rawlongbus)
Q- What makes you depressed?Slavoj Zizek  “Seeing stupid people happy.”
รอลงบัส (Rawlongbus)
          (ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งแรก: วารสารศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2556)   
รอลงบัส (Rawlongbus)
ปกนิตยสารสำหรับผู้ชาย FHM และ Mars - องค์ประกอบบนหน้าปก (Composition) และ- รูปที่ใช้ (Image)  
รอลงบัส (Rawlongbus)
กรณีศึกษาจากนิตยสาร (Case Studies) 
รอลงบัส (Rawlongbus)
การปฎิบัติการของสัญญะ  
รอลงบัส (Rawlongbus)
Man act women appear. Men look at women.  Women watch themselves being looked at.