Skip to main content

ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล


ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...มื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร


ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา เพื่อให้ได้มาซึ่งกรอบการวิเคราะห์ที่สมบูรณ์


ประเภทของความรู้และความสามารถ ซึ่งถือว่าเป็นทักษะสำคัญในการโต้คลื่นฯ คือความรู้และความสามารถซึ่งทำให้แต่ละปัจเจกบุคคล ใช้ประโยชน์จากปริมาณข้อมูลรอบตัวที่เพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับประโยชน์จากวิถีชีวิตใหม่ๆ อย่างเต็มที่ เนื่องจากทั้งสองปรากฎการณ์นี้ เป็นสองผลลัพธ์สำคัญ ซึ่ง ICT ได้ก่อให้เกิดขึ้นกับโลกของเรา


โดย...เมื่อมองไปที่ปรากฎการณ์ การเพิ่มปริมาณของข้อมูลรอบตัว ความรู้และความสามารถต่างๆ ที่จะช่วยให้แต่ละปัจเจกบุคคล สามารถใช้งานและได้รับประโยชน์ จากข้อมูลปริมาณมหาศาลดังกล่าวได้ มีดังนี้

1. ความรู้เกี่ยวกับวิธีและเครื่องมือที่จำเป็นในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและค้นหาข้อมูลที่ต้องการ

2. ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและข้อมูลที่ตนต้องการ

3. ความรู้และความสามารถในการเลือกรับ กรอง และเรียงลำดับ ความสำคัญของข้อมูลและความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

4. ความรู้และความสามารถในการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิด

5. ความสามารถในการใช้เหตุผลประกอบการพิจารณาและการให้เหตุผลรองรับการตัดสินใจ


ซึ่งข้าพเจ้าขอให้เหตุผลรองรับความสำคัญ ของความรู้และความสามารถข้างต้น ดังนี้


ความรู้ข้อที่ 1และ 2 เป็นความรู้ที่แต่ละบุคคลจำเป็นต้องมี เพื่อทำให้ตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งเก็บข้อมูล และสามารถค้นหาข้อมูลที่ตนต้องการจากแหล่งข้อมูลนั้น อย่างมีประสิทธิภาพ และเนื่องจากข้อมูลแต่ละแหล่งและข้อมูลแต่ละประเภท ต้องการความรู้เกี่ยวกับวิธีและเครื่องมือในการค้นหาที่แตกต่างกันไป นั่นจึงทำให้แต่ละบุคคลอาจต้องการความรู้ที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับแหล่งข้อมูลและประเภทข้อมูลที่ตนต้องการ


และเนื่องจากในปัจจุบัน กำแพงข้อจำกัดในการทำการสื่อสารมวลชน ได้ถูกทำลายลง จากผลของการขยายตัวของอินเตอร์เนต และราคาที่ต่ำลงของอุปกรณ์ดิจิตอล สองสิ่งซึ่งอนุญาตให้เกิดการสร้างและแพร่กระจายข้อมูล ทำให้ความรู้และความสามารถในข้อที่
3 มีความสำคัญ ในการช่วยให้แต่ละปัจเจกบุคคล สามารถเลือกบริโภคข้อมูลที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และถูกต้อง ตามลำดับความสำคัญของตัวแปรวิเคราะห์ที่ตนกำหนด ท่ามกลางสภาวะการถูกโถมกระหน่ำด้วยคลื่นแห่งข้อมูลข่าวสารปริมาณมหาศาล


ในขณะที่ความรู้และความสามารถในข้อที่ 1-3 จำเป็นต่อการผจญกับผลลัพธ์ทางตรงของภาวะการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของปริมาณข้อมูลข่าวสาร ความรู้และความสามารถในข้อที่ 4 และ 5 เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์รอดชีวิตจากผลลัพธ์ทางอ้อมของภาวะดังกล่าว


ผลลัพธ์ทางอ้อมที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง คือสิ่งที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ในบทความหลายๆบทก่อนหน้านี้ นั่นคือ การเกิดขึ้นของสังคมในแนวขนาน การท้าทายกระแสหลัก และผลลัพธ์ทางสังคมที่ย้อนแย้ง (บทความที่ 1, 4, และ 5) ซึ่ง ICT เป็นตัวการให้เกิดขึ้น


เมื่อปริมาณข้อมูลที่มนุษย์สามารถเลือกบริโภคมีมากขึ้น อีกทั้งข้อมูลจำนวนมหาศาลนั้นยังมีความหลากหลายมากขึ้นอีกด้วย ย่อมทำให้เกิดความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น อีกทั้งการที่ ICT เปิดโอกาสให้มนุษย์ทุกคน สามารถคิดได้เสียงดังมากขึ้น หมายถึงสามารถแสดงออก แลกเปลี่ยน และสร้างอิทธิพลทางความคิด รวมทั้งเคลื่อนไหวทางสังคมได้ง่ายและเร็วขึ้น


เมื่อเป็นเช่นนี้ ความรู้และความสามารถในข้อที่ 4 ซึ่งได้แก่การยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิด และในข้อที่ 5 ซึ่งก็คือความสามารถในการใช้เหตุผลประกอบการพิจารณาและรองรับการตัดสินใจต่างๆ ของสมาชิกทุกคนในสังคม จึงเป็นทักษะจำเป็นอย่างมากต่อการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์หรือการถกเถียงในสังคม เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ และเพื่อทำให้สังคมสามารถดำรงความสงบสุขได้ ในช่วงเวลาที่ความหลากหลายทางความคิดในสังคมเพิ่มปริมาณมากขึ้นในทุกขณะ


นอกจากความรู้และความสามารถ อันเกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มปริมาณของข้อมูลรอบตัว ข้างต้น ยังมีความรู้และความสามารถอีกกลุ่มหนึ่ง ที่จำเป็นกับการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร นั่นคือความรู้และความสามารถเพื่อการรับประโยชน์จากวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ ที่ ICT ก่อให้เกิดขึ้น


รูปแบบชีวิตใหม่ที่ข้าพเจ้าพูดถึงนี้ได้แก่ รูปแบบชีวิตที่มีอิสระในการจัดการงานและกิจกรรมต่างๆมากขึ้น โดยมีสาเหตุหลักจากการที่ข้อมูลและธุรกรรมต่างๆถูกนำมาให้บริการออนไลน์ อีกทั้งเทคโนโลยีเครือข่ายและอุปกรณ์ ICT ต่างๆ ได้เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อออนไลน์ได้จากทุกหนแห่งให้กับมนุษย์


โดยในทัศนะของข้าพเจ้า ความรู้และความสามารถเพื่อการรับประโยชน์จากวิถีชีวิตใหม่ข้างต้น มีรายละเอียดดังนี้


1. ความรู้และความสามารถในการใช้เครื่องมือช่วยจัดการข้อมูลออนไลน์ต่างๆ

2. ความรู้และความสามารถในการใช้งานโปรแกรมมาตรฐานเปิด (Open Source Software)

3. ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้นโดย ICT

4. ความสามารถในการสร้างรายได้รูปแบบใหม่ๆ


และเหตุผลรองรับความจำเป็น ของความรู้และความสามารถข้างต้น มีดังต่อไปนี้


ความรู้ข้อที่ 1 เป็นความรู้สำคัญที่ช่วยให้ผู้ต้องการโต้คลื่นฯ ประหยัดเวลาในการบริหารจัดการข้อมูล ทำให้แต่ละบุคคลได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการในเวลารวดเร็ว และใช้ประโยชน์ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของเครื่องมือต่างๆเหล่านี้ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี web feed และโปรแกรม aggregator เช่น RSS reader ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลสดใหม่จากเว็บที่อยู่ในความสนใจ ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในทุกๆหน้าเว็บ ทุกครั้งที่ต้องการอัพเดทข้อมูล หรือการใช้ประโยชน์จากโปรแกรมช่วยบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล เช่น Microsoft Outlook ซึ่งช่วยจัดการตารางและเตือนนัดหมาย ช่วยทำบันทึกช่วยจำ จัดระเบียบบริหารงานที่ได้รับมอบหมาย และบริหารจัดการอีเมล์จากที่อยู่อีเมลต่างๆที่แต่ละบุคคลมี


ถัดมาคือ ความรู้และความสามารถในข้อที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดหาโปรแกรม ที่มีประโยชน์กับการดำเนินชีวิต และมีความจำเป็นต่อการทำงาน ในยุคปัจจุบัน ได้อย่างมากมาย เนื่องจากคุณลักษณะหลักของโปรแกรมมาตรฐานเปิด ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้โดยเสรี และไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ อีกทั้งโปรแกรมในมาตรฐานนี้ ยังไม่ปิดกั้นการนำ source code ไปใช้เพื่อการพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป หากแต่มีข้อแม้ว่า สิ่งที่พัฒนาต่อยอดนั้น ต้องเปิดให้ผู้อื่นนำไปใช้ หรือนำไปพัฒนาต่อยอดต่อไป ภายใต้มาตรฐานเดียวกันด้วยเช่นกัน


ในขณะที่ความรู้และความสามารถในข้อที่ 1 และ 2 เป็นสิ่งที่ช่วยให้การใช้ทรัพยากรอันมีค่าสำคัญสองประการนั่นคือ “เวลา” และ “รายได้” (ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่าย ตามลำดับ) ความรู้และความสามารถในข้อที่ 3 และ 4 กลับสร้างประโยชน์ให้ผู้โต้คลื่นฯ ในลักษณะของการเปิดช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ


รูปแบบธุรกิจใหม่ๆที่เกิดขึ้น ซึ่งมี ICT เป็นตัวผลักดัน ได้แก่ การทำธุรกิจออนไลน์ต่างๆ อันได้แก่ การค้าขายออนไลน์ การโฆษณาออนไลน์ และการพัฒนาสังคมออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจออนไลน์ อันได้แก่ การทำธุรกิจให้เช่าพื้นที่เก็บรักษาเว็บและอุปกรณ์เกี่ยวข้องต่างๆ และระบบการรับจ่ายเงินออนไลน์เช่น Paypal เป็นต้น


รูปแบบธุรกิจข้างต้นนี้ เป็นตัวอย่างเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ ICT เปิดช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ๆ ยังมีช่องทางธุรกิจอีกหลายรูปแบบ ที่รอให้แต่ละปัจเจกบุคคลเข้ามาค้นหา และสร้างรายได้ของตน หากแต่บุคคลผู้นั้น ต้องมีวิสัยทัศน์ที่จะมองเห็นธุรกิจ และต้องมีความรู้และความสามารถ เพื่อทำให้มันเป็นจริงขึ้นมาได้


ทั้งหมดที่กล่าวมาในวันนี้คือ ความรู้และความสามารถ ที่ถือได้ว่าเป็นทักษะที่มีความจำเป็นต่อการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ซึ่งข้าพเจ้าอยากให้ทุกท่านได้ตระหนักและมีติดตัวไว้ เพื่อให้ทุกท่านสามารถใช้กระดานโต้คลื่นฯ ที่ได้เลือกสรรอย่างดี ตามคำแนะนำของข้าพเจ้าในบทความที่แล้ว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่ทุกท่านมีกระดานโต้คลื่นฯ พร้อมทักษะสำคัญในการโต้คลื่นฯแล้ว ทุกท่านจะใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเอาตัวรอดจากความวุ่นวายและสับสนของข้อมูลรอบตัว เพื่อเลือกนำข้อมูลรอบตัวมาใช้ประโยชน์อย่างมีสติ และเพื่อให้ทุกท่านสามารถใช้เวลาและรายได้ ที่ทุกท่านมีอยู่อย่างจำกัด ได้อย่างคุ้มค่า


ขออวยพรให้ทุกท่าน สามารถขึ้นไปยืนอยู่บนยอดคลื่นได้อย่างสง่าผ่าเผย มุ่งไปสู่การมีชีวิตที่ดี และอนาคตที่สดใส


...
แล้วไปเจอกันบนยอดคลื่นนะ

บล็อกของ SenseMaker

SenseMaker
ในบทความที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับคุณลักษณะสำคัญของอุปกรณ์ ICT ที่ถูกนำมาใช้เป็นกระดานโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวความคิดในการเลือกกระดานโต้คลื่นฯ ที่เหมาะสมกับแต่ละปัจเจกบุคคล ในบทความนี้เรามาพิจารณาว่า...เมื่อเราได้กระดานโต้คลื่นฯที่เหมาะสมมาแล้ว เราจะใช้กระดานโต้คลื่นฯของเราอย่างไรให้คุ้มค่าต่อการลงทุน แล้วความรู้และความสามารถประเภทไหนและอะไรบ้างที่ถือได้ว่า เป็นทักษะที่จำเป็นในการโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร ในการวิเคราะห์นี้ “เวลา” และ “รายได้” สองสิ่งที่ทวีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ยังคงเป็นสองตัวแปรหลัก ที่ข้าพเจ้าใช้ประกอบการพิจารณา…
SenseMaker
  หลังจากเขียนบทความ ในหัวข้อโลกยุคหลังอุตสาหกรรม กับสภาวะข้อมูลท่วมโลก เสร็จเมื่อสองอาทิตย์ก่อน ได้เกิดหนึ่งคำถามขึ้นกับข้าพเจ้า นั่นคือ หากมนุษย์ต้องดิ้นรน เพื่ออยู่รอดบนโลกใบนี้ ในยุคที่คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร โถมกระหน่ำใส่ประชาคมโลกอย่างรุนแรง และได้ทำให้กระแสแห่งความเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และในทิศทางที่ยากจะคาดเดา มากขึ้นทุกที เราต้องทำอย่างไรบ้างในทัศนะของข้าพเจ้า ผู้ที่สามารถโต้คลื่นแห่งข้อมูลข่าวสาร พาตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดคลื่น และเป็นผู้กำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง คือ ผู้ที่สามารถอยู่รอด และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อบทความในตอนนี้และตอนถัดไปข้าพเจ้าขอเริ่มต้นด้วย…
SenseMaker
หัวข้อวิพากษ์วันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ ในการประยุกต์ใช้ ICT ขององค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือภาคเอกชน และไม่ว่าจะเป็นองค์กรแสวงหากำไรหรือไม่ โดยข้าพเจ้าเจาะจงไปที่ ทัศนะของผู้บริหารองค์กร ที่ต้องการนำ ICT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ในลักษณะของการลดต้นทุนแรงงานคน กระชับขบวนการทำงาน และเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ให้กับขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะกับทัศนะองค์กรที่ว่า “ประสิทธิภาพในการทำงานของ ICT สูงกว่ามนุษย์”หรือที่ว่า ”ICT สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้” สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ความคิดในลักษณะดังกล่าวแพร่หลาย สืบเนื่องมาจาก…
SenseMaker
“โลกยุคหลังอุตสาหกรรม (Post industrial Age)” คือชื่อเรียกขานโลกในยุคปัจจุบัน เนื่องด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจ มีความแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าหรือ ยุคอุตสาหกรรม (Industrial Age) ซึ่งเป็นยุคที่โลกของเราถูกผลักดัน ด้วยการแข่งขันของแต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ผ่านการพัฒนาความสามารถและเทคโนโลยีทางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในที่สุดอย่างไรก็ดี โลกยุคหลังอุตสาหกรรม แต่ละปัจเจกบุคคลหรือองค์กร ยังคงดิ้นรนต่อสู่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพื่อความมั่งคั่งในบั้นปลายเช่นเดิม หากแต่ความสำเร็จดังกล่าว กลับถูกขับเคลื่อน…
SenseMaker
เมื่อพูดถึงเหตุและปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ บนโลกนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยีคือตัวการอันดับต้นๆ โดยในช่วงหนึ่งศตวรรษหลังสุด ICT ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนวิถีชีวิตมนุษย์ในทุกสังคม และในวงกว้างไล่มาตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ICT ยุคแรกๆ ซึ่งได้แก่โทรเลข ตามมาด้วยโทรศัพท์ มาจนถึง ICT ในยุคปัจจุบัน นั่นคือโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์ต่อเชื่อมอินเตอร์เนตต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ หรือคอมพิวเตอร์พกพาขนาดต่างๆความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏการณ์ชัดเจน คือ การที่ ICT ทำให้สังคมมนุษย์ มีรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และรูปแบบการเข้าถึง ประมวลผล…
SenseMaker
หน้าเว็บไซท์ที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมา หากไม่นับรวมเว็บไซท์ขายของออนไลน์ ส่วนมากยังคงมีลักษณะคล้ายคลึงกับยุคก่อนหน้านี้ นั่นคือ เป็นเว็บไซท์ที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผ่านการเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ เข้ามาสร้างหัวข้อและบทสนทนาร่วมกัน สร้างกิจกรรมระหว่างกลุ่มผู้ใช้ และเป็นช่องทางให้ผู้ใช้ทำความรู้จักกันวัตถุประสงค์ของเว็บไซท์ดังกล่าว คือเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ที่มีความสนใจหรือความต้องการคล้ายๆกัน ซึ่งทำให้ในขณะที่ ผู้ใช้ได้รับประโยชน์ ในรูปแบบของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการมีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้น ผู้จัดทำเว็บไซท์ก็ได้ประโยชน์ ผ่านการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางอ้อม…
SenseMaker
ข่าวต่างๆทางด้าน ICT ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นผลกระทบของ “การโลกาภิวัฒน์ (Globalisation)” ที่มีต่อมนุษย์ทุกคน เนื่องจากอิทธิพลของการมีโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีแบบเดียวทั่วโลก จะลดทอนความหลากหลายของวิถีชีวิตมนุษยชาติ ก่อให้เกิดตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนข้ามชาติ แต่ในขนะเดียวกัน ปัญหาลักษณะเดียวกัน จะเกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นวงกว้าง หากแต่จะเกิดผลกระทบแตกต่างกันไป ตามบริบทของสังคมนั้นข่าวแรกที่อยากนำเสนอ คือการเกิดขึ้นของ “ปฏิญญากรุงเทพ” ซึ่งถูกจัดทำขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค หรือ APEC (Asia-…
SenseMaker
แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีในช่วงสิบปีหลัง เป็นไปในลักษณะที่เรียกว่า “convergence” หมายถึงแต่ละเทคโนโลยี พยายามรวบรวมความสามารถของเทคโนโลยีอื่นๆ เข้าไว้ในตัวเอง ดังจะเห็นได้ชัดจากการเกิดขึ้นของกระแสของศัพท์คำว่า ICT ซึ่งสะท้อนถึง การที่เทคโนโลยีเพียงหนึ่งเดียว แต่สามารถให้บริการทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และ เทคโนโลยีทางการสื่อสาร (Communication Technology) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับ โครงข่ายสื่อสารและระดับสินค้าอุปโภคทางเทคโนโลยี
SenseMaker
วันนี้อยากชวนสนทนาถึงศัพท์คำว่า “การเข้าถึงเทคโนโลยี” ซึ่งในทัศนะส่วนตัวคือสภาวะที่บุคคล องค์กร หรือประเทศหนึ่งสามารถได้มาซึ่งความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่และจำเป็นต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่เกี่ยวข้องปัจจุบันแนวทางการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก เป็นไปในลักษณะที่เทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการการผลิต และเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมายเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจโลก…