Skip to main content

สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 

สุชาติ นาคบางไซ เป็นนามแฝงของวราวุธ ฐานังกร ประธานกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นผู้สร้างตำนานของการต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อันโด่งดัง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคนเสื้อแดงในรุ่นบุกเบิก เขาเป็นนักปราศรัย และนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว จนถูกตำรวจออกหมายจับกุมในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระราชินี เขาหายตัวไปราวปีเศษจึงถูกจับกุม เขารับสารภาพในทันที เพราะรู้อยู่แล้วว่าการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมในคดีหมิ่นเบื้องสูง ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนตกอยู่ในสภาพถูกมัดมือชก เพราะไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกจองจำด้วยความทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน เขาถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี กลายมาเป็นนักโทษเต็มขั้นตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553

วราวุธ ฐานังกร อายุ 54 ปี แต่งงานแล้วมีบุตร 3 คน จบการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่กลับหันมาประกอบอาชีพด้านไอทีในยุคโลกาภิวัตน์ จนเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีการสื่อสาร เขาเป็นผู้ก่อตั้งเว็บบอร์ด Weekend Corner เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงการสื่อสารบนอินเตอร์ชื่อดังหลายแห่ง ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อต้านเผด็จการทหาร เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนในที่สุดนำมาสู่การพบปะพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ เป็นที่มาของการก่อตั้งกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการในเดือนพฤศจิกายน 2549

บทบาทของเขาถูกจับตามองเป็นพิเศษในฐานะที่เป็นแกนนำต่อต้านการรัฐประหารอย่างห้าวหาญ ดุเดือด อันเป็นบุคลิกเฉพาะตัวของเขา “สุชาติ นาคบางไซ” กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ยังมีส่วนสร้างกระแสคลื่นความคิดต่อต้านการรัฐประหารในเว็บบอร์ดการเมืองซื่อดังหลายแห่ง มีการแสดงความคิดเห็นต่อกระแสการเมืองกันอย่างคึกคัก มีชีวิตชีวา มีการตอบโต้วาทะทางความคิดอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นเสมือนภูมิปัญญาของคนรุ่นใหม่ในโลกอินเตอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่า “นักรบไซเบอร์” หลายคนรับรู้ความจริงด้วยข้อมูลมากมายที่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ จนสามารถทะลุทะลวงผ่านมายาทางความคิดซึ่งถูกมอมเมา และครอบงำจากกรอบประเพณี จารีตนิยมเก่าแก่คร่ำครึมายาวนาน

กลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการมีส่วนร่วมแข็งขันในการก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเมื่อแกนนำ นปช.รุ่นแรกจำนวน 9 คนถูกจับกุมคุมขัง หลังจากนำประชาชนบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์จนเกิดเหตุการณ์จลาจลเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 สุชาติ นาคบางไซ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแกนนำ นปช.รุ่น 2 ที่มีบทบาทสูงเด่นบนเวทีปราศรัยในเวลานั้น

หลังจากก่อตั้ง นปช. ขึ้นมาแล้วบรรดาสมาชิกกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการกระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขยายแนวรบทางด้านสื่อสารมวลชนในรูปแบบของวิทยุอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม แต่สำหรับสุชาติ นาคบางไซ ยังคงยืนหยัดในนามของกลุ่มวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการด้วยการจัดเวทีขนาดเล็กทุกวันเสาร์ที่สนามหลวงเป็นการให้ความรู้ในระดับที่ลึกซึ้งกว่าการปราศรัยบนเวทีใหญ่ของ นปช.

ความคิดที่แหลมคม ก้าวหน้าและการเคลื่อนไหวที่ท้าทาย ดุเดือดของเขาทำให้แกนนำ นปช. ส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นการนำที่สุ่มเสี่ยงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จัดการชุมนุมยืดเยื้อเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2551 เขานำมวลชนออกไปต่อต้าน จึงถูกกลุ่มพันธมิตรฯ เล่นงานจันหัวร้างข้างแตกไปหลายคน แต่สำหรับสุชาติ นาคบางไซ อัตราเสี่ยงของเขาคือความกล้าหาญ มุ่งมั่น และจริงใจในการเคลื่อนไหวต่อสู้
วันที่ 14 ตุลาคม 2552 เขาขึ้นเวทีปราศรัยซึ่ง นปช. จัดชุมนุมรำลึก 36 ปี 14 ตุลาคม การปราศรัยด้วยความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เขาจึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดูหมิ่นพระราชินี ตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

ชีวิตการเป็นนักโทษการเมืองตามมาตรา 112 ไม่ต่างจากการเป็นเชลยศึก เพราะไม่มีสิทธิจะโต้แย้ง หรือต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใด ๆ ทั้งสิ้น เขาจึงตัดสินใจไม่ต่อสู้ในคดีนี้ และใช้ชีวิตการเป็นนักโทษอย่างเงียบ ๆ ในคุกตะราง เขาถูกขังอยู่ห้องหมายเลข 3 แดน 7 ในสภาพที่แออัดแน่นขนัด เขาอดทนกัดฟันอยู่กับความยากลำบากโดยไม่ได้ปริปากบ่น บุคลิกภาพความห้าวหาญจนดูเหมือนจะบ้าบิ่น กลายมาเป็นคนธรรมดา เงียบขรึม เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร

หลังการตายของอากง นักโทษ 112 สุชาติ นาคบางไซ ถูกย้ายมารวมกันที่แดน 1 ทั้งหมดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 สุชาติ จึงได้ย้ายมาอยู่ห้องขังเดียวกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข, เลอพงษ์ (โจ กอร์ดอน), ธันย์ฐวุฒิ เขาจึงมีมีโอกาสพูดคุยกับนักโทษ 112 คนอื่น ๆ อยู่เสมอ

เขาได้ทำงานในฝ่ายควบคุมกลางเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในหน้าที่พิมพ์เอกสาร และงานธุรการ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เขากลายเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นเวลา 9 เดือน ทำให้เหลือเวลาถูกจองจำจนถึงเดือนมกราคม 2556 แต่ถ้าในปี 2555 ในโอกาสวันเฉลิมพระชนม์พรรษา 80 ปีพระราชินี หากรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ เขาจะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 12 สิงหาคม 2555

สุชาติ นาคบางไซ ได้ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเป็นรายบุคคลตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 โดยหวังว่าจะได้รับเมตตาให้เขาพ้นโทษได้ แต่เรื่องก็เงียบหายไปอีก แต่พอมาถึงเดือนมิถุนายน 2555 เมื่อเลอพงษ์ ได้รับแจ้งจากสถานทูตอเมริกาว่าการถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษรายบุคคลได้ผ่านพ้นขั้นตอนของกระทรวงยุติธรรมไปยังสำนักพระราชวังแล้ว ทำให้สุชาติ และเลอพงษ์ มีความมั่นใจว่าจะได้รับอิสรภาพก่อนกำหนด เขาดีใจและตื่นเต้นกับวันเวลาแห่งอิสรภาพ

ทั้งสุชาติ และเลอพงษ์ เก็บของใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าพร้อมที่จะได้รับการปล่อยตัว เขาบอกลากับเพื่อนนักโทษ 112 ทุกวัน แต่เวลาผ่านมาหลายสัปดาห์ ไม่มีหมายปล่อยตัวจากสำนักพระราชวังที่ทั้งสองคนเฝ้ารอคอยอยู่ทุกนาทีที่ผ่านไปในแต่ละวัน

เขารอคอยอิสรภาพ เพื่อคืนสู่อ้อมกอดของครอบครัว ญาติ มิตร และแน่นอน กลุ่มคนเสื้อแดงที่ยังไม่ลืมเขาประธานกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เขาปรารถนาจะคืนสังเวียนการต่อสู้อีกครั้งทุกเวที


มิถุนายน 2555

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข18 พฤษภาคม 2556
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข13  พฤษภาคม 2556  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ   พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการเปิดใจ เนื่องในโอกาสถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จากการถูกกล่าวหาตาม กม.อาญา ม.112 ครบ2ปี
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สมยศ  พฤกษาเกษมสุข23 เมษายน 2556  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  แดน 133  ถ.งามวงศ์วาน  ลาดพร้าวจตุจักร  กรุงเทพฯ 10900 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สมยศ  พฤกษาเกษมสุข13 มีนาคม 2556 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
การที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  ขาดความกล้าหาญทางการเมืองหวังแต่เพียงอยู่ในอำนาจต่อไป โดยเพิกเฉยต่อการนิรโทษกรรม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้าหลังทางการเมือง ย่อมทำให้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งมวลสิ้นหวังต่อรัฐบาล ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นของบทอวสานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เพ็ญสุภา สุขตะ ใจอินทร์ ทบทวนประวัติศาสตร์4บรรณาธิการผู้ถูกกล่าวหาปรักปรำให้เป็น “กบฎแห่งแผ่นดิน”