สมยศ พฤกษาเกษมสุข
ผมพบกับป้าอุ๊ หรือรสมาริน ตั้งนพกุล ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อป้าอุ๊มาเยี่ยมสามีนายอำพล ตั้งนพกุล หรือที่เรียกว่า “อากง” นักโทษการเมือง ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เสียชีวิตในกรงขัง เป็นชะตากรรมเดียวกับผม ซึ่งกลายเป็นผู้ถูกกดขี่ และสูญเสียอิสรภาพจากระบอกการปกครองเผด็จการ ผมมีโอกาสสนทนากับป้าอุ๊ด้วยเวลาจำกัด ต้องตะโกนเสียงคุยกัน เพราะกระจกหนาทึบปิดกั้นกลางระหว่าเราสองคน
โดยรูปลักษณ์ที่ปรากฏป้าอุ๊คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง แต่เมื่อได้อ่านหนังสือ “รักเอย” ซึ่งเป็นอนุสรณ์งานฌาปณกิจศพนายอำพล ตั้งนพกุล ด้วยแล้วยืนยันได้เลยว่าป้าอุ๊ และอากง คือ คนหาเช้ากินค่ำ จัดอยู่ในประเภทปากกัดตีนถีบด้วยซ้ำไป บันทึกของป้าอุ๊ที่นำมาบอกเล่าในหนังสือรักเอยเล่มนี้จึงเป็นผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า ความหมายเป็นอย่างยิ่ง
“รักเอย” เป็นงานเขียนของคนธรรมดา ที่ไม่ธรรมดา จัดได้ว่าเป็นเพชรเม็ดงานในแวดวงวรรณกรรมที่สะท้อนความจริงของชีวิตสามัญชนคนหนึ่ง ด้วยความเรียบง่ายในแต่ละบรรทัด สัมผัสได้ด้วยความใสซื่อ บริสุทธิ์ เดียงสา จริงใจ ถ่ายทอดมาจากผลึกอารมณ์ความรู้สึกภายในจิตใต้สำนึกงดงามของผู้เขียน
ผมได้อ่านรักเอย อยู่ในห้องขังที่มีเสียงหนวกหูจากข่าว และละครน้ำเน่าหลัง 2 ทุ่ม หนังสือเล่มนี้จึงช่วยบรรเทาทุกข์ในสภาพที่ต้องถูกคุมขังเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ไม่เพียงแต่จะเพลิดเพลินไปกับเกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยจากชีวิตจริงทั้งแง่คิด ชวนไตร่ตรอง และอารมณ์ขันที่นำมาถ่ายทอดได้อย่างลงตัว “รักเอย” จึงเป็นงานวรรณกรรมของคนปากกัดตีนถีบที่ยิ่งใหญ่อีกชิ้นหนึ่ง
ตัวอย่างประโยคธรรมดาที่แฝงข้อคิดอย่างเช่น “ฉันกับอาปอ เราเป็นครอบครัวธรรมดามาก ๆ มีทั้งเรื่องดี และไม่ดี” เป็นมุมของชีวิตแบบปุถุชนที่แตกต่างไปจากครอบครัวคนชั้นสูง ที่มักมีการปั้นแต่ง โฆษณาชวนเชื่อให้เห็นแต่เรื่องดีงามเหลือล้นเพียงด้านเดียว
ในบทบาทความเป็นแม่ที่ดีเด่นที่โรงเรียนมอบให้ลูกสาวในงานวันแม่ แต่พอลูกชาชเกเรก็ถูกโรงเรียนยกเลิกการเป็นแม่ดีเด่น ป้าอุ๊เขียนบรรยายในความเป็นแม่ไว้ว่า “ฉันยังสงสัยตัวเองว่าตกลงกูเป็นแม่แบบไหนกันแน่ ดีเด่น หรือไม่ดีเด่น เป็นสองแม่เลยหรือ”
วิถีชีวิตแบบถนอมอย่างอากงและป้าอุ๊เปี่ยมด้วยความรักอันบริสุทธิ์ ป้าอุ๊ต่อสู้ให้อากงได้รับอิสรภาพด้วยน้ำใสใจจริงของคนธรรมดา ตอนหนึ่งของบันทึกระบุว่า “มันคงเป็นความสุขที่สุด ถ้าหากเขาได้ออกมา เพราะฉันกับเขานี่ไม่ต้องหาความสุขที่ไหน ขอแค่ได้อยู่คุยกัน ยิ่งมาตอนหลังมีหลานเป็นกองเชียร์ เราจะแข่งกันว่าหลานจะเข้าข้างใคร”
“ถึงเราจน แต่เราก็มีความสุข ถึงเราไม่ค่อยมีกิน แต่เราก็ไม่มีอะไรเคลือบแคลง เราหัวเราได้เสียงดัง”
นี่เป็นการบอกเล่าอย่างซื่อตรง ทุกตัวอักษรบ่องบอกถึงน้ำใสใจจริงถึงแม้จะมีชีวิตยากลำบาก กระเสือกกระสน ทั้งสองคนยังมีความสุขแบบคนธรรมดา ไม่ต้องใช้เงินทองมั่งคั่งเหมือนคนชั้นสูงที่มีชีวิตบนกองเงินกองทองที่มาจากการกดขี่ขูดรีดคนอื่น แต่แล้วความสุขของคนอัตคัดที่พอจะหลงเหลืออยู่บ้างสำหรับป้าอุ๊กับอากงยังถูกทำลายลงยับเยินด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และด้วยกระบวนการยุติธรรมอำมหิต
หนังสือ “รักเอย” จึงเป็นประจักษ์พยานบอกเล่าในแง่กฎหมาย และในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทย ไม่อาจนำมาใช้ในกระบวนการไต่สวน หรือในการตัดสินคดีความได้ แต่ทุกตัวอักษรของบันทึกเล่มนี้ ย่อมเป็นประจักษ์พยานอันน่าเชื่อถือในความบริสุทธิ์ของคนธรรมดาคนหนึ่งในสังคมไทย
บันทึกของป้าอุ๊ยังบอกให้รู้ถึงความจริงสำหรับคนจนในอีกมุมหนึ่ง ดังเช่นที่กล่าวไว้ว่า “ฉันไม่มีเวลา ฉันมีภาระเยอะ ฉันต้องทำมาหากิน” สำหรับข้อกล่าวหาที่รุนแรงด้วยอคติของกระบวนการยุติธรรม เป็นสิ่งที่ป้าอุ๊สะท้อนออกมาว่า “นี่มันเกินเลยถึงขนาดนี้ ฉันรับไม่ได้ ครอบครัวฉันเป็นอะไรที่ธรรมดามาก ๆ ไม่รู้ว่ามาเกิดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องมีเหตุในเรื่องแบบนี้”
กฎหมายไม่เป็นธรรม และกระบวนการยุติธรรมอำมหิตทำให้คนจนแบบป้าอุ๊และอากงกลายเป็นแพะรับบาปไปได้อย่างง่ายดาย นี่คือความโหดร้ายทารุณของระบอบการปกครอง (ประชาธิปไตยบูชายัน) สำหรับคนจนที่ไร้เดียงสา จึงใช้ความบริสุทธิ์ไปต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยลูกหลานของอากง ช่วยกันสวดมนต์เพื่อขออิสรภาพให้อากง “เป็นคำขอที่วิเศษมาก ได้ออกมาเร็วกว่ากำหนด” ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของร่างไร้วิญญาณของอากงนั่นเอง ประโยคสั้น ๆ ของคนจนแบบป้าอุ๊นี่แหละได้สั่นสะเทือนมโนธรรมของผู้คนในแวดวงตุลาการ
เป็นความเจ็บปวดซ้ำซากของผู้ถูกกดขี่ เมื่ออากงเจ็บป่วย พยายามขอสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานที่สุด แต่เพราะคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกกำหนดไว้แล้วว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องอคติ สิทธิประกันตัวของอากงจึงหายไป จนในที่สุดต้องจบชีวิตคาขื่อคาในกรงขัง ป้าอุ๊เขียนไว้ว่า “หมาตัวหนึ่ง เลือกที่ตายได้ สมมุติตรงกองทรายร้อนมันกระเสือกระสนหาที่ร่มได้ แต่อาปอในกรงขังตรงนั้น มันไม่มีที่จะไป นอกจากเลือกที่นอนตายไม่ได้แล้ว ยังทำอะไรไม่ได้เวลาหิว”
นอกจากบันทึก “รักเอย” จากชีวิตจริงแล้ว ป้าอุ๊ยังสามารถเขียนกลอนด้วยคำที่เรียบง่าย ธรรมดาจากส่วนลึกของจิตใจที่ใสสะอาด เป็นสุนทรีย์อักษรของคนปากกัดตีนถีบที่มีความรัก ความผูกพัน และยังกล้าต่อสู้กับอำนาจอธรรม ทำให้การตายของอากงเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ต่อสุ้กับความอยุติธรรม
ยังมีอีกมากมายหลายประโยคทรงคุณค่า จากความคิดงดงาม จึงเชื่อมั่นว่า บันทึก “รักเอย” เล่มนี้จะเป็นงานวรรณกรรมเจิดจรัสเป็นดั่งเทียนทองส่องสว่างในความมืดมนของสังคมไทย
บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
นช.สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขเขียนจดหมายถึงสามีผู้ต้องขังข้อหากระทำความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา112 /เป็นเวลา 80สัปดาห์แล้วที่สมยศไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจาก The Economist Caracus , Mexico city, Santiago, Sao Paulo
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
โดย .. จิม ยาร์ด เล (Jim Yard Ley)
ถอดความโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข