Skip to main content

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

 

 

 

ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าเมื่อชีวิตย่างเข้าสู่วัย 50 ปี จะกลายเป็นอาชญากรแผ่นดิน ติดคุกตะราง ถูกจองจำสูญเสียอิสรภาพ ใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังแน่นหนาเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน

ผมใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอยู่กับผู้ใช้แรงงาน ต่อสู้เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสิทธิเสรีภาพ และความเป็นธรรมในสังคม เช่นเดียวกันกับผู้คนร่วมสมัยมากมายที่ใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่ที่ดีงาม ปราศจากการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เป็นสังคมแห่งความเสมอภาพเท่าเทียมกัน ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

ผมไม่ได้ร่ำรวย ไม่ได้มีเงินทองมากมาย ผมใช้ชีวิตพออยู่พอกิน ไม่เคยคดโกงหรือเบียดเบียนคนอื่น ไม่คิดสะสม พอมีเงินเหลือบ้างก็แบ่งปันให้คนที่ยากจนทุกข์ยากมากกว่าผม เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับผมบอกผมว่า “ผมคิดผิดไปแล้ว” เพ้อฝันอยู่กับอุดมคติเกินไป

หลายคนประสบผลสำเร็จเป็นนักธุรกิจเงินล้าน เป็นครูอาจารย์ที่น่านับถือ เป็นนักการเมืองชื่อดัง มีชีวิตที่มั่งคั่งร่ำรวย สุขสบาย ส่วนผมเป็นคนสามัญชนคนธรรมดา เดินถนน กินข้าวแกงอยู่ตามตรอกตามซอย

ผมเติบโตมากับการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยจะเลวร้าย ย่ำแย่ลง ไร้สิทธิเสรีภาพ รัฐประหารมีแต่ความรุนแรงด้วยการปราบปราม เข่น”ประชาชน และจับกุมคุมขัง ผมไม่อาจอยู่เฉย เอาตัวรอดตามลำพัง ผมออกมาต่อต้านการรัฐประหารตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2519 , 23 กุมภาพันธ์ 2534  และล่าสุด 19 กันยายน 2549  ผมเห็นว่านี่เป็นการทำหน้าที่พลเมืองไทย และเป็นการทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นคุณงามความดีตามความเชื่อของพุทธศาสนา

ผมเป็นเพียงผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร ฟังการปราศรัย เข้าร่วมการเดินขบวนเป็นบางครั้ง ผมเริ่มรู้จักหลายคนที่ร่วมการชุมนุม จึงได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตยขึ้นมา เป็นองค์กรหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง

เมื่อแกนนำ นปช. ถูกจับกุมในปี 2550 , 2552 และ 2553 ผมและพรรคพวกในนามกลุ่ม24มิถุนาประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกเขา ขนถูกเรียกว่า แกนนำ นปช. รุ่น 2 เป็นการขนานนามโดยสื่อมวลชน ครั้นเมื่อแกนนำได้รับการปล่อยตัวแล้ว ผมก็กลายเป็นคนธรรมดา ที่ยังต่อสู้อยู่กับประชาชนเหมือนเดิม จนผมถูกพลเอกสพรั่ง กัลยาณมิตร ฟ้องหมิ่นประมาทจากการขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีคณะรัฐประหาร ผมต่อสู้คดีในศาลอย่างโดดเดี่ยว มีทนายความอาสามาช่วยฟรีอย่างอนาถา ผลก็คือศาลพิพากษาปรับ 100,000 บาท จำคุก 2 ปี รอลงอาญาไว้ 1 ปี ทำให้ผมกลายเป็นคนมีหนี้สินที่ต้องชดใช้ จนเดี๋ยวนี้ผมยังชดใช้ไม่ได้

เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทบอกกับผมว่า “ผมเลือกข้างผิดแล้ว ดูซิ ไม่มีใครสนใจให้ความช่วยเหลือเลย”

ผมถูกเชิญให้มาช่วยเขียนบทความให้กับนิตยสาร Voice of Taksin ต่อมาทีมงานจัดทำเกิดความขัดแย้งกัน ผมจึงถูกมอบหมายทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารให้ ผมคิดแต่เพียงว่าจะได้ใช้โอกาสนี้ผลิตสื่อเสรี เป็นเวทีกลางของประชาชนที่ต่อต้านอำมาตย์ และการก่อการรัฐประหาร คัดค้านอำนาจนอกระบบที่ครอบงำการเมืองไทยมาช้านาน

หลังจากที่รัฐบาลอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ เข่นฆ่าคนเสื้อแดงอย่างโหดร้ายระหว่างเดือนเมษายน – เดือนพฤษภาคม 2553 ผมและอาจารย์สุธาชัย  ยิ้มประเสริฐ ออกมาประณามรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผลก็คือตำรวจตามล่า จับกุมตัวไปไว้ที่ค่ายทหารอดิศร จังหวัดสระบุรี ตำรวจที่มาสอบสวนขอร้องให้เลิกทำนิตยสาร Voice of Taksin เลิกยุ่งเกี่ยวกับคนเสื้อแดง ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นพยานปรักปรำชายชุดดำซึ่งมีอาวุธ หากไม่ให้ความร่วมมือจะเจอข้อหาตามมาตรา 112 อย่างแน่นอน

ผมปฏิเสธโดยเด็ดขาดที่จะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้ใส่ใจต่อคำเตือนของตำรวจคนดังกล่าว เมื่อปล่อยตัวผมออกมา ผมยังคงดำเนินงานเหมือนเดิมทุกประการ แค่เปลี่ยนชื่อนิตยสารเท่านั้น ผมเห็นว่าเป้นความถูกต้องชอบธรรมของประชาชนในการต่อสู้ด้วยสันติวิธี และเป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้ว่าอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตก็ตาม

ช่วงนั้นมีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มมากขึ้น ผมเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายนี้คุกคามเสรีภาพของประชาชน ผมได้แสดงความคิดเห็นโดยเปิดเผยว่า มาตรา 112 เป็นกฎหมายไม่เป็นธรรม ผมจึงแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2554 ว่าจะรวบรวมรายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน จนถึง 1 ล้านคน เพื่อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 อันเป็นสิทธิของประชาชนคนไทยตามรัฐธรรมนูญ 2550

อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เคยเตือนให้ผมหลบหนีเพราะมีกระแสข่าวว่า DSI ออกหมายจับในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน ผมจึงไม่หลบหนีไปไหน แม้ว่าในเวลานั้นผมถูกสะกดรอยตามอย่างใกล้ชิดจนคุ้นเคย และจำใบหน้าได้เป็นอย่างดี แต่ไม่รู้ว่าเป็นใคร และประสงค์อะไร

ถึงแม้ผมจะทุ่มเททำงานในหน้าที่สื่อมวลชน และร่วมกับขบวนการประชาชนต่อต้านรัฐประหาร จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว แต่ผมก็รักครอบครัว ไม่เคยคิดหนีไปไหน ผมมีความสุขอยู่กับการอุทิศตนร่วมกับประชาชน เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความถูกต้อง เพื่อสังคมใหม่ที่ดีงาม ผมจึงไม่คิดหนีไปไหนอย่างแน่นอน จนกระทั่งผมนำคณะท่องเที่ยวไปกัมพูชา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2554 ผมจึงถูกจับกุม ผมไม่ได้ขัดขืนหรือตระหนกตกใจ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ต้องถูกใส่กุญแจมือ ถูกนำไปขังไว้ที่ห้องขังกองปราบปราม ซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นเกรอะกรัง กลิ่นเหม็นอับด้วยคราบสกปรกของห้องน้ำที่น่าขยะแขยง ผมล้มตัวลงนอนด้วยความอ่อนเพลีย

ตำรวจคอมมานโดพร้อมอาวุธปืนกลควบคุมตัวผมมาฝากขังที่ศาลอาญาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2554 ราวกับเป็นอาชญากรร้ายแรง และถูกส่งตัวมาขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

คุณสุรชัย  ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งถูกจับกุมด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เช่นกันแนะนำให้รับสารภาพดีกว่า เพราะการต่อสู้คดีไม่มีวันได้รับความเป็นธรรม เพราะจะไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เมื่อสารภาพแล้วจึงขอพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป

ผมไม่เชื่อคำแนะนำดังกล่าว ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ และมั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ผมยื่นคำร้องขอสิทธิประกันตัวอยู่หลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นคดีร้ายแรง กลัวว่าจะหลบหนี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 – เมษายน 2555 ผมถูกส่งตัวไปไต่สวนสืบพยานฝ่ายโจทก์ที่ศาลจังหวัดสระแก้ว   ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์  ศาลจังหวัดนครสวรรค์ และศาลจังหวัดสงขลา โดยที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในคุกแต่ละจังหวัดเป็นเวลานาน จนล้มป่วยหนัก ร่างกายผ่ายผอม ไอออกมาเป็นลิ่มเลือด

เมื่อได้กลับมาคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ฝ่ายพนักงานสอบสวน และอัยการ เสนอแนะผ่านทางเรือนจำให้ผมยอมรับสารภาพจะได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง ส่วนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เองได้เกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสารภาพ เพื่อจะได้ขอรับพระราชทานอภัยโทษให้

ผมไม่เชื่อ และมั่นในความบริสุทธิ์ มั่นใจว่ายังมีความยุติธรรมอยู่ ผมจึงเดินหน้าต่อสู้คดี ในกระบวนการยุติธรรมต่อไป ระหว่างการไต่สวนไม่มีการเตรียมพยาน ไม่มีการเตรียมคดี เพียงแต่พูดความจริงให้หมดเปลือก ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์เหมือนเดิมทุกประการ

ผมถูกคุมขังถึง 2 ปีเต็ม ใช้ชีวิตไร้อิสรภาพด้วยความซ้ำซาก จำเจ น่าเบื่อหน่าย อยู่กับนักโทษคนอื่น ๆ มากมายที่เข้ามาใหม่ และปล่อยตัวออกไป คดีนี้เป็นเพียงความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนั้น เพียงแต่มีการตีความเกินไปกว่าถ้อยคำที่ปรากฏเพื่อเอาผิดให้ได้ ผมทำหน้าที่สื่อมวลชนในตำแหน่งบรรณาธิการบริหารโดยสุจริตใจ ผมจึงมั่นใจว่าจะได้รับการปล่อยตัวในที่สุด แต่แล้วเมื่อ 23 มกราคม 2556 ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี บวกกับคดีหมิ่นประมาทที่รอลงอาญาไว้อีก 1 ปี รวมเป็นจำคุก 11 ปีด้วยกัน

ผมคิดทบทวนอยู่หลายวัน ความทุกข์ทรมานเจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต ทำให้ผมคิดจะฆ่าตัวตายให้พ้นไปจากความทุกข์เหลือคณานับในครั้งนี้ มีเพียงนายปณิธาน  พฤกษาเกษมสุข บุตรชายมาบอกให้ผมต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด แม้ว่าในชั้นการอุทธรณ์ และฎีกา อาจจะยืดเยื้อถึง 5 – 6 ปีก็ตาม โดยมี คุณวสันต์  พานิช เป็นทนายความอีกคนหนึ่งที่เข้ามาช่วยในการโต้แย้งคดีในชั้นศาลอุทธรณ์

ผมคิดทบทวนอยู่หลายวันว่าการตัดสินใจของผมนั้นถูกหรือผิดกันแน่ ?  ผมเลือกข้างผิดไปแล้ว ดูซิติดคุกมา 2 ปีแล้ว ยังประกันตัวไม่ได้ คนอื่น ๆ   เขาได้ตำแหน่งสุขสบายกันไปหมดแล้ว ?

อุดมคติกินไม่ได้ สู้ไปติดคุกฟรี สารภาพไปเถอะ อยู่ไม่กี่ปีก็ได้ออกจากคุกไปเร็วกว่าสู้คดีอีก ถ้าสารภาพป่านนี้คงได้ออกจากคุกแล้ว ?

การต่อสู้คดีเป็นการท้าทาย   ผมเตือนคุณแล้ว  กองเชียร์ไม่ได้ติดคุกด้วย  สู้ไปข้างหน้าติดคุกยาวแน่  ?

2 ปี แห่งความทุกข์ทรมานที่ผ่านมากับอีก 9 ปีข้างหน้าเป็นเดิมพันชีวิต  ด้วยอิสรภาพทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณของผม  ผมไม่รู้ว่าจะหมดลมหายใจเมื่อใด เมื่อต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่หลังกำแพงขัง และอยู่ในกรงขังเหล็กที่แน่นหนา

ไม่ว่าจะตายหรือเป็น ผมยังมั่นใจในความบริสุทธิ์  ช่วยผมหาคำตอบจากคำถามที่ผมคิดทบทวนอยู่หลายวันด้วยเถิด ... !!!

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง