Skip to main content

 

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

25  พฤศจิกายน 2556

 

วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แต่ปัญหาความรุนแรงต่อสตรียังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทุกมิติของสังคมไทย

ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงความรุนแรงทางวาจา และจิตใจอีกด้วย ผู้หญิงทุกชนชั้นมีโอกาสพบกับความรุนแรงเสมอไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ในที่สาธารณะในที่สว่าง หรือทุกมุมมืด

ความรุนแรงทางเพศที่เป็นเรื่องโด่งดังคือกรณีอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาตินายจักรกฤษณ์  พณิชย์ผาติกรรม ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 สาเหตุมาจากความรุนแรงทางเพศ จากการเปิดเผยของแม่ยายนางสุรางค์  ดวงจินดา รับสารภาพว่าเป็นผู้ว่าจ้างสังหารลูกเขยเพราะทนเห็นลูกสาวนางนิธิวดี  ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ถูกทุบตี ถูกทำร้าย ได้รับความทรมานทางร่างกายและจิตใจเป็นเวลากว่า 6 ปีด้วยกัน

แม้แต่ในระดับการเมืองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านยังมีการใช้ถ้อยคำที่เป็นความรุนแรงทางเพศ เช่น การเหยียดหยามนายกรัฐมนตรีผู้หญิงว่า “โง่” หรือการเสียดสีหยาบคาย เช่นคำว่า “กะหรี่” อันเป็นการสะท้อนถึงความรุนแรงต่อสตรี และอคติทางเพศในสังคมไทย

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัว โดยผู้หญิงในภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลางตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ทรมานมากที่สุด ผลการศึกษานำข้อมูลจาก 81 ประเทศพบว่า ระดับของการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงสูงสุดในเอเชีย โดยบังคลาเทศ ติมอร์ตะวันออก อินเดีย พม่า ศรีลังกา และประเทศไทย มีผู้หญิง 37.7 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบส่วนที่ตอกย้ำความรุนแรงของปัญหาให้ดูเลวร้ายยิ่งขึ้น คือ ในบรรดาผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมทั่วโลก 38 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากน้ำมือคู่ของตนเอง

จากข้อมูลของ UN WOMEN พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ 7 จาก 71 ประเทศที่ใช้ความรุนแรงทางเพศกับคู่ของตนเอง ที่หนักไปกว่านี้ก็คือ เป็นลำดับที่ 2 ใน 49 ประเทศที่เชื่อว่าสามีที่ใช้กำลังกับภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าระหว่างปี 2550 – 2554 เด็กและสตรีถูกกระทำด้วยความรุนแรง เข้ารับการรักษาพยาบาลกว่า 1 แสนราย เฉลี่ยปีละ 2 หมื่น 3 พันราย หรือเฉลี่ยมีการก่อเหตุรุนแรงต่อสตรี และเด็กทุก 20 นาที ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยรายงานคดีข่มขืนทั่งประเทศเกิดขึ้นชั่วโมงละ 1 คน

ความรุนแรงทางเพศสะท้อนถึงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ การยอมรับความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการกดขี่สตรีเพศ เป็นความคิดความเชื่อตั้งแต่ระบบศักดินาในยุคโบราณที่มีการปลูกฝัง และถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมาโดยตลอด

ความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงในยุคดั่งเดิมมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย ซึ่งค้นพบรูปปั้นส่วนใหญ่เป็นรูปเจ้าแม่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวสินธุนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นเทพสตรี หรือมารดา เช่น แม่พระธรณีเป็นเทพแห่งแผ่นดิน ผู้ให้ความร่มเย็นสงบสุข  ในภูมิภาคสุวรรณภูมิอุษาคเนย์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ผู้หญิงมีสถานะภาพ หรือบทบาททางสังคมสูงกว่าผู้ชาย เช่น เป็นหมดผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์เท่ากับเป็นใหญ่ในพิธีกรรม ภาษาไทยคำว่า “แม่” แสดงถึงบทบาทของผู้เป็นใหญ่ หรือหัวหน้า เช่น แม่ทัพ แม่ไม้มวยไทย แม่งาน แม่พิมพ์ แม่น้ำ แม่ทูนหัว ฯลฯ แต่หลังจากมีการสถาปนาระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ต่อมาก็คือสังคมศักดินา หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์และขุนนาง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคมไว้ทั้งหมด ส่วนราษฎรส่วนใหญ่เป็นทาส – ไพร่ ไร้สิทธิเสรีภาพ ถูกบีบบังคับทำงานให้กับกษัตริย์และขุนนาง โดยผู้หญิงมีฐานะเป็นเพียงวัตถุบำเรอความใคร่ เป็นทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าขุนมูลนาย หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการถวายให้กับกษัตริย์ และเจ้าเมืองต่างถิ่นในการสร้างอำนาจการปกครอง

แม้สังคมก้าวสู่ความทันสมัยในโลกทุนนิยม ผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น การขึ้นต่อพึ่งพาผู้ชายน้อยลง มีอิสรภาพด้านต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทว่าความคิด ความเชื่อ การกดขี่ และความรุนแรงทางเพศ ยังได้ถ่ายทอดผ่านหลักสูตรการศึกษา และการผลิตซ้ำผ่านระบบครอบครัวและสื่อสารมวลชน

ความรุนแรงทางเพศซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างของสังคมถูกทำให้เป็นเพียงปัญหาในระดับส่วนตัว ด้วยวาทะกรรมที่ว่า “เรื่องของผัวเมีย อย่ามายุ่ง” สังคมจึงปล่อยปละละเลยต่อความรุนแรงทางเพศ และผู้หญิงซึ่งถูกกระทำเองส่วนใหญ่ยอมจำนน หรือยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง ไม่คิดต่อสู้ปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการสังคมชายเป็นใหญ่

หน่วยงานของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมักทำงานระดับสังคมสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือรายกรณี การรณรงค์ยุติความรุนแรง กระทำในลักษณะพิธีกรรม หรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เฉพาะกิจ เฉพาะเวลา เช่น ติดริบบิ้นสีขาว หรือเพียงแค่จัดอีเว้นท์ชั่วครั้งชั่วคราว เพียงแค่ให้รัฐมนตรีมาเปิดงานให้แล้วเสร็จตามงบประมาณเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในสังคมอย่างถึงรากถึงโคน

ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองสตรี คือ พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พศ. 2550 ซึ่งมีความก้าวหน้าในมาตรการความช่วยเหลือ คุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่ความรับรู้ยังไม่มากพอ และหน่วยงานตำรวจยังมีบุคคลากรไม่เพียงพอจะดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาในระดับกว้างรัฐควรจะจัดให้มีสวัสดิการสังคมเพื่อให้ผู้หญิงที่หย่าร้างจากความรุนแรงทางเพศ สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ตามปกติสุข ให้กองทุนประกันสังคมขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร และการสงเคราะห์บุตรให้สูงขึ้น รวมทั้งจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงานหรือทุกชุมชนอย่างเพียงพอ

กองทุนสตรีควรจะต้องมีนักสิทธิสตรี เข้ามาจัดทำหลักสูตรสำหรับการศึกษาในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง สนับสนุนสตรีให้มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการ หรือองค์กรต่าง ๆ มีผู้หญิงเข้าร่วมด้วย เป็นสัดส่วนที่แน่นอน รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มสตรีให้มีอำนาจต่อรองในสังคม สามารถจัดการกับปัญหาความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ

หากดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วยความแน่วแน่แล้วเชื่อว่าจะสามารถยุติความรุนแรงทางเพศ และนำมาสู่สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคได้ในที่สุด ด้วยความภาคภูมิใจของชาติไทยที่มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรก

 

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง