Skip to main content

 

สมยศ  พฤกษาเกษมสุข

25  พฤศจิกายน 2556

 

วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ทั่วโลกกำหนดให้เดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี แต่ปัญหาความรุนแรงต่อสตรียังทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในทุกมิติของสังคมไทย

ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น แต่รวมถึงความรุนแรงทางวาจา และจิตใจอีกด้วย ผู้หญิงทุกชนชั้นมีโอกาสพบกับความรุนแรงเสมอไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ที่บ้าน ในที่สาธารณะในที่สว่าง หรือทุกมุมมืด

ความรุนแรงทางเพศที่เป็นเรื่องโด่งดังคือกรณีอดีตนักกีฬายิงปืนทีมชาตินายจักรกฤษณ์  พณิชย์ผาติกรรม ที่ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 สาเหตุมาจากความรุนแรงทางเพศ จากการเปิดเผยของแม่ยายนางสุรางค์  ดวงจินดา รับสารภาพว่าเป็นผู้ว่าจ้างสังหารลูกเขยเพราะทนเห็นลูกสาวนางนิธิวดี  ภู่เจริญยศ หรือหมอนิ่ม ถูกทุบตี ถูกทำร้าย ได้รับความทรมานทางร่างกายและจิตใจเป็นเวลากว่า 6 ปีด้วยกัน

แม้แต่ในระดับการเมืองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านยังมีการใช้ถ้อยคำที่เป็นความรุนแรงทางเพศ เช่น การเหยียดหยามนายกรัฐมนตรีผู้หญิงว่า “โง่” หรือการเสียดสีหยาบคาย เช่นคำว่า “กะหรี่” อันเป็นการสะท้อนถึงความรุนแรงต่อสตรี และอคติทางเพศในสังคมไทย

องค์การอนามัยโลกเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2556 ว่า มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงภายในครอบครัว โดยผู้หญิงในภูมิภาคเอเชีย และตะวันออกกลางตกเป็นเหยื่อของความทุกข์ทรมานมากที่สุด ผลการศึกษานำข้อมูลจาก 81 ประเทศพบว่า ระดับของการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงสูงสุดในเอเชีย โดยบังคลาเทศ ติมอร์ตะวันออก อินเดีย พม่า ศรีลังกา และประเทศไทย มีผู้หญิง 37.7 เปอร์เซ็นต์ ได้รับผลกระทบส่วนที่ตอกย้ำความรุนแรงของปัญหาให้ดูเลวร้ายยิ่งขึ้น คือ ในบรรดาผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการฆาตกรรมทั่วโลก 38 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากน้ำมือคู่ของตนเอง

จากข้อมูลของ UN WOMEN พบว่าประเทศไทยอยู่ในระดับ 7 จาก 71 ประเทศที่ใช้ความรุนแรงทางเพศกับคู่ของตนเอง ที่หนักไปกว่านี้ก็คือ เป็นลำดับที่ 2 ใน 49 ประเทศที่เชื่อว่าสามีที่ใช้กำลังกับภรรยาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้

ศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่าระหว่างปี 2550 – 2554 เด็กและสตรีถูกกระทำด้วยความรุนแรง เข้ารับการรักษาพยาบาลกว่า 1 แสนราย เฉลี่ยปีละ 2 หมื่น 3 พันราย หรือเฉลี่ยมีการก่อเหตุรุนแรงต่อสตรี และเด็กทุก 20 นาที ในขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยรายงานคดีข่มขืนทั่งประเทศเกิดขึ้นชั่วโมงละ 1 คน

ความรุนแรงทางเพศสะท้อนถึงโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ การยอมรับความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการกดขี่สตรีเพศ เป็นความคิดความเชื่อตั้งแต่ระบบศักดินาในยุคโบราณที่มีการปลูกฝัง และถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งมาโดยตลอด

ความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงในยุคดั่งเดิมมีอำนาจเหนือกว่าผู้ชาย อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุในอินเดีย ซึ่งค้นพบรูปปั้นส่วนใหญ่เป็นรูปเจ้าแม่ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชาวสินธุนับถือเทพเจ้าหลายองค์ ส่วนใหญ่เป็นเทพสตรี หรือมารดา เช่น แม่พระธรณีเป็นเทพแห่งแผ่นดิน ผู้ให้ความร่มเย็นสงบสุข  ในภูมิภาคสุวรรณภูมิอุษาคเนย์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ผู้หญิงมีสถานะภาพ หรือบทบาททางสังคมสูงกว่าผู้ชาย เช่น เป็นหมดผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์เท่ากับเป็นใหญ่ในพิธีกรรม ภาษาไทยคำว่า “แม่” แสดงถึงบทบาทของผู้เป็นใหญ่ หรือหัวหน้า เช่น แม่ทัพ แม่ไม้มวยไทย แม่งาน แม่พิมพ์ แม่น้ำ แม่ทูนหัว ฯลฯ แต่หลังจากมีการสถาปนาระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ต่อมาก็คือสังคมศักดินา หรือรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กษัตริย์และขุนนาง เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดครอบครองปัจจัยการผลิตของสังคมไว้ทั้งหมด ส่วนราษฎรส่วนใหญ่เป็นทาส – ไพร่ ไร้สิทธิเสรีภาพ ถูกบีบบังคับทำงานให้กับกษัตริย์และขุนนาง โดยผู้หญิงมีฐานะเป็นเพียงวัตถุบำเรอความใคร่ เป็นทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าขุนมูลนาย หรืออาจถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการถวายให้กับกษัตริย์ และเจ้าเมืองต่างถิ่นในการสร้างอำนาจการปกครอง

แม้สังคมก้าวสู่ความทันสมัยในโลกทุนนิยม ผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น การขึ้นต่อพึ่งพาผู้ชายน้อยลง มีอิสรภาพด้านต่าง ๆ มากขึ้น แต่ทว่าความคิด ความเชื่อ การกดขี่ และความรุนแรงทางเพศ ยังได้ถ่ายทอดผ่านหลักสูตรการศึกษา และการผลิตซ้ำผ่านระบบครอบครัวและสื่อสารมวลชน

ความรุนแรงทางเพศซึ่งเป็นเรื่องโครงสร้างของสังคมถูกทำให้เป็นเพียงปัญหาในระดับส่วนตัว ด้วยวาทะกรรมที่ว่า “เรื่องของผัวเมีย อย่ามายุ่ง” สังคมจึงปล่อยปละละเลยต่อความรุนแรงทางเพศ และผู้หญิงซึ่งถูกกระทำเองส่วนใหญ่ยอมจำนน หรือยอมรับชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับตนเอง ไม่คิดต่อสู้ปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการสังคมชายเป็นใหญ่

หน่วยงานของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนมักทำงานระดับสังคมสงเคราะห์ ให้ความช่วยเหลือรายกรณี การรณรงค์ยุติความรุนแรง กระทำในลักษณะพิธีกรรม หรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เฉพาะกิจ เฉพาะเวลา เช่น ติดริบบิ้นสีขาว หรือเพียงแค่จัดอีเว้นท์ชั่วครั้งชั่วคราว เพียงแค่ให้รัฐมนตรีมาเปิดงานให้แล้วเสร็จตามงบประมาณเท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง ในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติในสังคมอย่างถึงรากถึงโคน

ปัจจุบันมีกฎหมายคุ้มครองสตรี คือ พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พศ. 2550 ซึ่งมีความก้าวหน้าในมาตรการความช่วยเหลือ คุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่ความรับรู้ยังไม่มากพอ และหน่วยงานตำรวจยังมีบุคคลากรไม่เพียงพอจะดำเนินคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การแก้ปัญหาในระดับกว้างรัฐควรจะจัดให้มีสวัสดิการสังคมเพื่อให้ผู้หญิงที่หย่าร้างจากความรุนแรงทางเพศ สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ตามปกติสุข ให้กองทุนประกันสังคมขยายขอบเขตสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร และการสงเคราะห์บุตรให้สูงขึ้น รวมทั้งจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงานหรือทุกชุมชนอย่างเพียงพอ

กองทุนสตรีควรจะต้องมีนักสิทธิสตรี เข้ามาจัดทำหลักสูตรสำหรับการศึกษาในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง สนับสนุนสตรีให้มีส่วนร่วมต่อการพัฒนาด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการ หรือองค์กรต่าง ๆ มีผู้หญิงเข้าร่วมด้วย เป็นสัดส่วนที่แน่นอน รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มสตรีให้มีอำนาจต่อรองในสังคม สามารถจัดการกับปัญหาความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบ

หากดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องด้วยความแน่วแน่แล้วเชื่อว่าจะสามารถยุติความรุนแรงทางเพศ และนำมาสู่สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคได้ในที่สุด ด้วยความภาคภูมิใจของชาติไทยที่มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรก

 

 

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 สวัสดีค่ะลุงสมยศ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สุกัญญา พฤกษาเกษมสุขเขียนจดหมายถึงสามีผู้ต้องขังข้อหากระทำความผิดตามกฏหมายอาญา มาตรา112 /เป็นเวลา 80สัปดาห์แล้วที่สมยศไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจาก The Economist Caracus , Mexico city, Santiago, Sao Paulo
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  สมยศ พฤกษาเกษมสุข 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
 โดย  ..  จิม  ยาร์ด  เล (Jim  Yard  Ley) ถอดความโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข