Skip to main content

หลังจากครุ่นคิดมาทั้งคืน ถึงพื้นที่การเรียนรู้ มุกได้เลือกไปที่ ชุมชนไทดำ จังหวัดสุราษฎร์ธานีค่ะ มีหลายเหตุผลมากมายในการเลือกเดินทางครั้งนี้ นั่นก็คือ อยากที่จะไปเรียนรู้ถึงวัฒนธรรม พิธีกรรม รวมถึงวิถีชีวิตต่าง ๆของคนไทดำ ว่ามีความแตกต่างกับชีวิตประจำวันของเราอย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เลือกพื้นที่นี้ คือการที่มุกจะสามารถทำลายกำแพงของความกลัว เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับตนเองได้ นี่จึงถือว่าเป็นการเดินทางไกลคนเดียวครั้งแรกของมุกอีกด้วย

สถานีของการเริ่มต้น

              ตอนนี้มุกกำลังนั่งอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ก้าวแรกเมื่อมาเหยียบที่นี่ ก็ได้เห็นถึงความแตกต่างของหลายๆสิ่ง หลายๆอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิด นั่นก็คือ ผู้คนที่หลากหลายในที่แห่งนี้ ที่ทำให้มุกคิดขึ้นได้ว่า การที่คนเราต่างกัน มาอยู่ในที่เดียวกัน จะต้องยอมรับกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันให้ได้ รวมถึงเราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างนั้นด้วย เพื่อการเปิดใจยอมรับในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ฉะนั้นแล้ว มุกจึงคิดว่า เราไม่ควรตั้งความคาดหวังมากเกินไป แต่ควรที่จะเปิดใจเรียนรู้สิ่งที่เป็นอยู่ให้มากขึ้น โดยใช้ใจที่ไม่ปิดกั้นนั่นเอง

ระหว่างทาง

              เสียงของล้อที่กระทบกับรางรถไฟ กำลังมุ่งหน้าไปสู่สถานีปลายทาง มันมุ่งหน้าไปพร้อมกับความคิดต่าง ๆ ความตื่นเต้น ความกังวล และความคาดหวัง เราไม่รู้ว่าปลายทางข้างหน้าเราจะเจอกับอะไร เราจะสามารถก้าวผ่านปัญหานั้นได้มั้ย เสียงของความคิดมันดังกึกก้องยิ่งกว่าเสียงของรางรถไฟ หรือแม้แต่เสียงของผู้คนในขบวนเดียวกัน มุกพยายามบอกกับตัวเองว่าอย่าคาดหวังกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงมากเกินไป และต้องเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถผ่านมันไปได้

              เสียงของความคิดเริ่มแผ่วลงพร้อมกับเสียงของผู้ร่วมเดินทางในขบวนเดียวกันเริ่มดังขึ้น นั่นเป็นสัญญานเตือนให้เราตื่นขึ้นพร้อมที่จะไปเผชิญโลกของความจริง ที่รอเราอยู่

        เวลา 05:50 น.ตอนนี้มุกอยู่ที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี  ความกังวลเกิดขึ้นเต็มไปหมด เพราะมุกไม่รู้ว่าจะไปเจอครูเอี้ยงได้ที่ไหน เลยตัดสินใจนั่งรอเวลา แต่ความโชคดีก็เกิดขึ้น พี่ยี่หวาที่เดินทางมาก่อนได้ติดต่อมาเพื่อบอกวิธีการเดินทางไปยังจุดนัดพบ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นการเดินทางที่ดีเลยทีเดียวค่ะ

ขนมจาก ( ใจ )

              เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่ ศูนย์การเรียนรู้ ของกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์ สายตาทั้ง 5 คู่ที่จ้องมองอยู่ตอนนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกเกร็งๆขึ้นมา มุกจึงเริ่มเปิดบทสนทนา และทำความรู้จักกับน้อง ๆอย่างสนุกสนาน

              โดยวันนี้ได้มีโอกาสไปขายขนมจาก กับน้องกลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์  ร่วมกับคุณครูเอี้ยง บรรยากาศตอนนี้เริ่มชุลมุนขึ้นมา เพราะเราไม่สามารถก่อกองไฟให้ติดภายใน 30 นาทีได้ เริ่มเกิดปัญหาที่ว่า เราจะขายทันมั้ย หรือจะขายหมดมั้ย เพราะเราออกมาขายขนมจากช้ากว่าเวลาที่ควรจะเป็น เราจึงต้องขอความช่วยเหลือจากคุณลุงที่มาขายของด้วยกัน การก่อกองไฟของเราจึงผ่านพ้นไปด้วยดี หน้าที่ตอนนี้คือ เราต้องปิ้งขนมจาก ให้ทันตามความต้องการของลูกค้า โดยพื้นที่ที่มุกได้มาร่วมขายขนมจากนี้ เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากชมรมคนรักในหลวง เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างรายได้ และเป็นพื้นที่ในการแชร์สิ่งต่าง ๆของคนในชมรมอีกด้วย โดยจะจัดขึ้นเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น

หลังจากกิจกรรมการขายขนมจากของกลุ่มน้อง ๆเยาวชนสร้างสรรค์ พวกเราได้นั่งจับกลุ่มกันเพื่อสรุปบทเรียนที่ได้รับจากกิจกรรมนี้ รวมถึงการสอนถึงเรื่องกำไรขาดทุน โดยมีการแบ่งต้นทุนออกเพื่อมาใช้ในการลงทุนครั้งต่อไป นำกำไรที่ได้แบ่งให้กับน้อง ๆ และคุณครูเอี้ยงยังสอนถึงการเรียนรู้คุณค่าของเงินอีกด้วย

              ช่วงเย็นได้มีโอกาสไปส่งน้อง ๆที่บ้าน ทำให้เราได้เห็นคุณภาพชีวิตที่แตกต่างออกไปจากสิ่งที่เราได้พบเจอ จะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมรวมถึงปัญหาของครอบครัว เป็นตัวกำหนดแนวทางการใช้ชีวิตของเขา เด็กบางคนอยู่บ้านกับตายาย บางคนต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว การที่เขาจะต้องเผชิญกับปัญหา บางครั้งเขาเองก็ไม่สามารถผ่านมันไปได้ด้วยตัวคนเดียว กลุ่มเยาวชนสร้างสรรค์จึงถือว่าเป็นพื้นที่ในการพัฒนาศักยภาพ ร่วมกับการสร้างภูมิคุ้มกันการดำเนินชีวิตให้เป็นไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น

 

เพราะนี่คือประเพณี

              หลังจากคำเชิญชวนของครูเอี้ยง ที่ให้โอกาสมุก ในการร่วมเดินทางไปเรียนรู้ถึงพิธีกรรมของคนไทดำ ณ จังหวัดชุมพร โดยในช่วงเช้า มุกได้มาร่วมงานบุญทอดกฐิน ที่วัดคอเตี้ย  ซึ่งเมื่อมาถึงต้องบอกเลยว่า มีความสนุกสนานครึกครื้นมาก ๆ จังหวะของกลองยาวที่ผสานกันเสียงแคนแบบดั้งเดิม ทำให้บรรยากาศรอบตัวมีความเป็นกันเองอย่างบอกไม่ถูก และสิ่งที่สะดุดตาที่แสดงถึงความเป็นคนไทดำนั่นก็คือ การแต่งกาย ด้วยชุดไทดำ โดยผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม พาดผ้า และผู้ชายจะใส่เสื้อไตหรือเสื้อไท แต่ในปัจจุบันนั้น มีการนำมาประยุกต์ ใส่กับเสื้อผ้าที่ร่วมสมัยมากขึ้น

 

              ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ก็ได้เดินทางมาร่วมพิธีกรรมทางศาสนาที่สำคัญสำหรับคนไทดำ นั่นก็คืองานศพ ที่จัดขึ้น ณ วัดดอนรวบ คุณครูเอี้ยงได้เล่าถึงประเพณีการตาย คร่าวๆว่า สมัยก่อนเมื่อมีคนตาย ในหมู่บ้านจะมีการยิงปืนขึ้นฟ้า 3 นัด เพื่อเป็นสัญญาณบอกแก่ชาวบ้าน ภายหลังที่มีคนตาย ลูกหลานจะต้องอาบน้ำศพ และเปลี่ยนชุดเป็นเสื้อผ้าของคนไทดำ กรณีเป็นเด็กตาย จะไม่ประกอบพิธีกรรม ต้องนำไปฝังภายในวันนั้นเลย ถ้าเป็นหนุ่มสาว จะต้องฆ่าหมูหรือวัวควาย 1ตัว เพื่อทำอาหารจัดสำรับทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ซึ่งเรียกว่า เฮ็ดงาย กรณีเป็นวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ จะต้องเก็บศพไว้ 1-2 คืน มีการทำเฮ็ดงายก่อนจะนำร่างไปฝัง จะต้องมีการฆ่าหมู 1 ตัว เพื่ออุทิศให้ เรียกว่า หมูเข้าขุม หลังจากนั้น 3 วันจะเป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้ เรียกว่า เฮ็ดเฮียว

              ในปัจจุบัน การประกอบพิธีกรรมจะเป็นไปตามศาสนาที่ตนนับถือ แต่สิ่งที่ยังคงแสดงถึงความเป็นไทดำ คือการแต่งกาย การเปลี่ยนเสื้อผ้าให้คนตาย จะเปลี่ยนเป็นเสื้อฮี เพราะคนไทดำเชื่อว่าการที่คนตายไม่ได้ใส่เสื้อฮี จะทำให้วิญญาณไม่ไปถึงบรรพบุรุษ  ส่วนลูกหลานก็ต้องมีการใส่เสื้อฮี เพราะแสดงให้เห็นว่าเป็นญาติผู้ตาย และเป็นการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่อีกด้วย

              ระหว่างการเดินทางกลับไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานี เหล่าคุณตาที่เดินทางมาด้วยกันชวนคุยแลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงการแลกเปลี่ยนภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทดำ ซึ่งเป็นภาษาที่สวยงามและน่าสนใจมาก ๆ และบทสนทนาต่าง ๆระหว่างการเดินทางกลับ สามารถทำให้มุกกล้าที่จะเป็นตัวเอง และทำให้มุกรู้สึกว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป

 

วิถีชีวิต

              เช้ามืดที่มีเสียงของนกร้องมาพร้อมกับเสียงของเครื่องยนต์เรือประมง เป็นสัญญาณที่ทำให้เราตื่นขึ้นจากความฝัน มาสู่โลกของความจริง ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันที่มุกรู้สึกสนุกมาก ๆอีกวันหนึ่งเลยค่ะ แค่ก้าวลงจากที่พัก ก็มาพบกับปลาซิวใบไผ่กองโต ที่พ่อและแม่ของครูเอี้ยงไปหามา เพื่อนำมาจำหน่าย วันนี้เลยได้มีโอกาสเป็นลูกมือผ่าพุงปลา เพื่อเอาเครื่องในออก ช่วงแรก ๆก็จะยากในระดับนึง พอเริ่มจับเทคนิคได้ ความเร็วและอัตราการผ่าพุงปลาของเราก็เพิ่มขึ้น ระหว่างที่นั่งผ่าพุงปลา ก็ได้เห็นถึงวิถีชีวิตใกล้แหล่งน้ำของคนในพื้นที่นั้น ว่าทุกอย่างคือการพึ่งพิงกันระหว่างคนในชุมชน และธรรมชาติที่จะต้องยอมรับในกฎเกณฑ์เดียวกัน ไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ถูกตั้งขึ้นไว้ เช่น การไม่หาปลาในช่วงฤดูวางไข่ เพราะการกระทำนี้จะส่งผลทำให้ปลาสูญพันธ์ในอนาคตได้นั่นเอง

              นอกจากจะผ่าพุงปลาแล้ว มุกก็ได้ลองแกะปาล์มน้ำมันครั้งแรกในชีวิตอีกด้วย ซึ่งปาล์มที่เราแกะนี้จะนำไปส่งโรงงานผลิตน้ำมัน ที่เราใช้บริโภคนั่นเองค่ะ แต่ก็น่าแปลกทั้งที่เมื่อก่อนปาล์มสามารถขายเป็นพวงได้ และได้ราคาสูง แต่ทุกวันนี้ เราจะต้องมานั่งแกะปาล์มและคัดเลือกผลปาล์มไปส่ง แต่ราคาที่ได้นั้นกลับต่ำลงอย่างสิ้นเชิง ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ได้ทำลงไป นี่จึงถือว่าเป็นปัญหาหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในประเทศไทยตอนนี้ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย

              ช่วงบ่ายนี้ เราอยู่กันที่ โรงเรียนไทรงาม เป็นโรงเรียนที่ครูเอี้ยงจะเข้าไปสอนวิชาภูมิปัญญาไทดำให้กับเด็ก ๆ ในทุก ๆวันจันทร์ มุกก็เลยได้ร่วมในการเรียนรู้ไปกับน้อง ๆ ทั้งภาษา การเขียน รวมถึงวิธีการรำ ที่เป็นการละเล่นของคนไทดำ ทั้งนี้เลยถือโอกาสเป็นคุณครูสอนน้อง ๆในวิชาที่ตัวมุกถนัด นั่นก็คือวิชาคณิตศาสตร์ โดยเราได้ร่วมคิดและวิเคราะห์ไปด้วยกัน ทำให้ระหว่างการเรียนรู้ เป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด และเพิ่มมุมมองในการเรียนให้สนุกกับน้อง ๆ อีกด้วยค่ะ

 

ลายผ้ากับความทรงจำ

              ช่วงเย็น ในวันเดียวกันนี้ มุกและเด็ก ๆโรงเรียนไทรงามได้มีโอกาสในการเรียนการปักลายผ้าของคนไทดำ ซึ่งผ้าแต่ละลายจะให้ความหมายที่แตกต่างกันรวมถึงความยากในการทำลายผ้า ก็ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแต่ละคนด้วย โดยครูเอี้ยงได้เล่าให้ฟังว่าก่อนหน้านี้มีคุณยายท่านหนึ่งที่ยึดการปักลายผ้าเป็นอาชีพหลักในการหารายได้ อีกทั้งท่านยังสามารถปักผ้าได้ทุกลายได้อย่างสวยงาม ก่อนที่คุณยายท่านนี้จะเสียชีวิตท่านได้เผยแพร่วิธีการปักผ้าให้แก่คนในชุมชน จนเกิดเป็นกลุ่มส่งเสริมภูมิปัญญาการปักลายผ้าขึ้น โดยคุณครูเอี้ยงก็เป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนกิจกรรมไปพร้อมกับการส่งเสริมแนวทางอนุรักษ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างอย่างเกิดประโยชน์ และใช้เวลาเหล่านั้นในการสร้างรายได้จากการปักผ้า มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ ชิ้นละ 10 บาท โดยลายผ้าที่รับซื้อมานี้จะนำมาประยุกต์ใช้กับเครื่องแต่งกาย หมอน กระเป๋า เป็นต้น สินค้าที่ได้จะนำออกมาจำหน่าย เพื่อนำรายได้มาหมุนเวียนภายในกลุ่ม นอกจากนี้แล้วการจัดการสอนการปักลายผ้าที่เกิดขึ้นนี้ยังเป็นการส่งสริมอัตลักษณ์ให้กับชุมชน และเป็นการรักษาภูมิปัญญาให้ยังคงอยู่คู่กับลูกหลานต่อไป

คำสัญญาของครูอาสา

              ในช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ มุกได้รับหน้าที่เป็นครูอาสาอยู่ที่โรงเรียนวัดประสิทธาราม โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนเพียง 35 คน มีการจัดการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งโรงเรียนนี้มีคุณครูประจำราชการเพียงท่านเดียว การที่จะสอนนักเรียนให้ทั่วถึงนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เด็ก ๆจึงต้องเรียนรู้ด้วยตนเองจากการสอนผ่านทางโทรทัศน์ การที่เรียนรู้ผ่านโทรทัศน์แบบนี้ ทำให้เด็ก ๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตนเองสงสัยได้ หน้าที่ของคุณครูจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่การที่จะมีคุณครูประจำเพิ่มขึ้นก็เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน เพราะว่าเงินสนับสนุนขั้นพื้นฐานนั้นไม่เพียงพอ จึงเกิดเป็นงานของครูอาสาขึ้นมา ทุกคนที่มาสอนที่นี่มาสอนด้วยใจที่เป็นผู้ให้ ที่ต้องการเพิ่มโอกาสทางการเรียนรู้ให้กับเด็ก ๆ ให้สามารถนำความรู้พื้นฐานที่ได้มาใช้ในสังคมเพื่อความเท่าเทียมของชีวิตของตนเอง

              โรงเรียนวัดประสิทธาราม เคยตกเป็นรายชื่อหนึ่งของโรงเรียนที่จะต้องถูกยุบ มีปัญหาการฟ้องร้องมากมายที่เกิดขึ้น แต่ด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชน ทำให้โรงเรียนแห่งนี้ได้กลับมาเป็นห้องเรียนอีกครั้ง เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเด็ก ๆในชุมชนได้ฝึกทักษะการอ่าน และการเขียน เพื่อนำไปใช้ในชีวิตให้ได้

              โดยเด็กนักเรียน ร้อยละ 90 ของที่นี่นั้นมีปัญหาของครอบครัวที่แตกแยก เด็กบางคนต้องอาศัยอยู่ที่วัด บางคนต้องอาศัยอยู่กับญาติ หรือแม้แต่บางคนต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว การที่เขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ขาดสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ทำให้บางครั้งการที่เด็ก ๆ เหล่านี้จะต้องเลือกแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องนั่นเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับเด็ก ๆเช่นกัน เราจึงต้องเป็นครูที่มากกว่าการให้ความรู้ คือเราจะต้องเป็นคนชี้นำแนวทางชีวิตที่ดีให้กับเด็ก ๆ คอยรับฟังปัญหา และร่วมหาทางออกไปกับเขาเหล่านั้นให้ผ่านพ้นไปได้

              ตอนที่มุกได้รับหน้าเป็นครูอาสาไปสอนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6  ต้องบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะว่าก่อนที่เราจะไปสอน เราเตรียมเนื้อหา และเป้าหมายทางการเรียนรู้ไว้ ว่าเด็ก ๆ ควรที่จะได้อะไรจากเรื่องนี้ แต่เมื่อมุกเริ่มสอน สิ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือศักยภาพของเด็ก ๆที่ต่างกัน ทำให้มุกต้องปรับวิธีการสอนของตัวเองให้เป็นไปตามตัวของนักเรียน และปรับเนื้อหาให้สามารถเข้าใจง่าย โดยนำสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบและถนัดมาประยุกต์ใช้ เช่น การวาดภาพ  อีกทั้งการสอนผ่านการเล่าเรื่องก็ทำให้เด็ก ๆสนใจ และเข้าใจในเนื้อหาที่เราจะสอนง่ายขึ้นด้วยค่ะ

              ก่อนก้าวเท้าออกจากที่นั่น เด็ก ๆ วิ่งเข้ามากอดมุกแล้วพูดว่า “ ครูต้องกลับมาสอนพวกผมอีกนะครับ  พวกผมจะรอ ” สายตาที่เด็ก ๆ จ้องมองในตอนนั้น ทำให้มุกรู้สึกว่า เขาพูดออกมาจากหัวใจของเขา มันเป็นประโยคหนึ่งที่สร้างแรกผลักดัน และสร้างกำลังใจให้กับตัวมุกเพื่อกลับมาฮึดสู้ ในการทำเป้าหมายของตัวเองให้สำเร็จ เพื่อที่วันหนึ่ง ถ้ามุกได้มีโอกาสกลับไป มุกจะสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีและเป็นแรงบันดาลใจให้กับเขาได้

              จากการที่ได้มาสอนที่นี่ ทำให้มุกได้บทเรียนในหลาย ๆ อย่าง ที่ทำให้มุกมองโลกใบนี้กว้างมากขึ้น เข้าใจและยอมรับในมุมมองของชีวิตที่ต่างออกไปได้ อีกทั้งต้องขอบคุณโครงการ Storytellers In Journey ที่ให้โอกาสมุกได้มาร่วมกิจกรรมนี้ ขอบคุณที่เป็นพื้นที่ในการสร้างแรงบันดาลใจ และสร้างแรงผลักดันที่สำคัญในการใช้ชีวิตของมุก

                                                          ขอบคุณค่ะ

 

บล็อกของ Storytellers

Storytellers
“เมื่อเส้นที่ขอบฟ้าจดแผ่นน้ำ มันเรียกเราและจะต้องไป อีกไกลเท่าไรแค่เพียงลมที่มันโหม บนแผ่นน้ำยังคอยช่วยเราก็คงเข้าใจ ว่าห่างเพียงใดSee the line where the sky meets the sea it calls me
Storytellers
บ้านที่มีเนื้อที่เกือบไร่ในชุมชนชนบท กว้างและเหงาเกินไปที่จะอยู่กันเพียงแค่สองคน สี่ขาซักตัวอาจจะช่วยลดความเหงาลงได้ บ้านเราคุยกันแล้วมีข้อสรุปว่า เราจะหาสมาชิกเข้าบ้าน พี่สาวของผู้เขียนจึงเริ่มปฎิบัติการหาสมาชิกใหม่มาเป็นเพื่อนพ่อกับแม่ ด้วยวิถีชาวไร่ที่ไม่มีห้องแอร์ มีแต่เพียงป่าอ้อยป่ามันล้อมร
Storytellers
สวัสดีครับ  ชื่อนายสมบัติ  แก้วเนื้ออ่อน  ชื่อเล่นบัติครับ  อายุ  24  ปี  เกิดเมื่อวันที่  6  พฤษภาคม  พ.ศ.2537  มีพี่น้องทั้งหมด  5  คนครับ  บัติเป็นคนสุดท้อง  ภูมิลำเนาเป็นคนสงขลาตั้งแต่กำเนิดครับ  เกิดที่จังหวัดสงข
Storytellers
ขอกล่าวสวัสดีอาจจะไม่เป็นทางการซักเท่าไหร่นะครับ ผมชื่อ ศุภศิษฏ์ สิทธิสิงห์ ชื่อเล่นชื่อ เอิร์ธ
Storytellers
สวัสดีครับ ผมชื่อ ศิริศักดิ์ นิยมเดชา ชื่อเล่น ลิฟ อายุ 24 ปี ศึกษาอยู่ชั้นปีที่3 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อก่อนผมไม่เคยเชื่อเรื่องการผันเปลี่ยนของชีวิตเลย ไม่เชื่อว่าชีวิตของผมนั้นจะเปลี่ยนไปถึงขั้นที่ตกต่ำในชีวิต ขณะที่ตัวเองกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของความฝัน คือการเรียนหนังสื
Storytellers
สวัสดีครับ ผม ศราวุฒิ เหตุเกตุ นิสิตชั้นปีที่2 มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร เป็นคนที่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ เคยได้ทำละครเวทีมาแล้ว 2 เรื่อง เวลาว่างจากการเรียนก็จะออกไปช่วยพ่อแม่ขายของตามงานวัดทั่วไป มีหลากหลายเหตุการณ์และเรื่องราวเกิดขึ้น หนึ่งเรื่องที่เลือก
Storytellers
สวัสดีพี่ๆทุกคนค่ะหนูเป็นเด็ก 3 จังหวัด ชายแดนใต้ หนูเป็นคนหนึ่งที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรม "นักเล่าเรื่องในที่อื่น"เป็นอย่างมาก หนูรู้ข่าวสารกิจกรรมนี้ ตอนที่กำลังจะสอบ อยู่ๆเฟสบุคก็แจ้งเตือนมาว่ามีบางคนโพสต์อะไรบางอย่างในกลุ่ม หนูกดเข้าไปดูพร้อมอ่านรายละเอียด ณ.ตอนนั้นหนูบอกกับตัวเองว่า" สอบเสร็จฉั
Storytellers
สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาวปราดา เชียงกา อายุ 23ปี เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาบริหารธุรกิจ เอกการท่องเที่ยวและการโรงแรม วันนี้อยากมาเล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวเองที่ได้ไปฝึกงานที่บริษัทดำน้ำ ที่เกาะช้างเป็นเวลา 4 เดือน คือ 1 เทอมสุดท้ายก่อนเรียนจบจากมหาวิทยาลัย&nbs
Storytellers
 สวัสดีค่ะดิฉันชื่อ นางสาวดาราวดี พานิช อายุ18ปี อาชีพ นักศึกษาเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ คือเรื่อง ดาวดวงสุดท้าย