Skip to main content

ปัญหาบางเรื่องมิได้เกิดจากการเดินเข้าไปพบปัญหา แต่บางครั้งปัญหาก็บุกมาถึงตัวเราด้วยปฏิบัติการเป็นหมู่คณะของบริษัทห้างร้านที่ทำธุรกิจร่วมกันไขว้โปรโมชั่นไปมา แล้วเอาข้อมูลของเรามาหาประโยชน์ทางการค้า ด้วยการติดต่อมาหาแล้วพูดจาหว่านล้อมสารพัดจนเราพลัดตกลงไปในหลุมพรางหรือบ่วงล่อบางอย่างจนทำให้เกิดการตัดสินใจที่ไม่ถี่ถ้วน แต่บริษัทล้วนแต่ใช้พนักงานทักษะสูงจูงใจให้เราตกลงปลงใจไปด้วยข้อเสนอที่น่าสนใจหรือบางครั้งก็กดดันใจเราจนไม่กล้าปฏิเสธ แต่ในบางครั้งเราก็บอกปัดไปแล้วแต่กลับไม่เป็นไปตามที่พูดกันจนชักนำปัญหาเข้ามาในชีวิตอย่างกรณีของพ่อน้องคนนี้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนผู้บริโภคในการทำธุรกรรมต่างๆ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันพอสมควร

“พ่อของหนูเป็นสมาชิกพิเศษของสายการบินยี่ห้อหนึ่งเนื่องจากพ่อทำงานที่ต้องเดินทางบ่อยจึงได้คะแนนสะสมเยอะมากจนได้เป็นสมาชิกขั้นสูงซึ่งดูเหมือนคนรวย เพราะหลังจากได้เป็นสมาชิกพิเศษนี้จะมีโปรโมชั่นสินค้าและบริการต่างๆ ส่งเอกสารโฆษณาเข้ามาเยอะแยะเลย บางทีหนูก็คิดว่าน่าจะใช้สิทธิพิเศษไปตามคำเชิญชวนบ้าง แต่ก็อย่างที่บอกว่า มันสำหรับคนมีเงินทั้งนั้น ที่บ้านเราไม่ได้รวยขนาดนั้นเพราะที่พ่อได้มาก็เพราะการทำงาน ไม่ใช่เงินของเราเอง ถึงขนาดมีสถาบันการเงินแห่งหนึ่งโทรมาเข้าเชิญชวนให้ทำบัตรเครดิตกับบริษัทโดยบอกว่าไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายใดๆทั้งนั้น ขอแค่ให้ตกลงเดี๋ยวทางบริษัทจะจัดส่งบัตรมาให้เองไม่ต้องไปดำเนินการใดๆที่สำนักงาน เพราะเขาสามารถเอาข้อมูลต่างๆ จากสายการบินได้ทันที หากไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆทั้งสิ้น

หลังจากนั้นบริษัทก็ได้ส่งบัตรเครดิตมาให้แต่พ่อก็ไม่ได้สนใจอะไรเนื่องจากไม่ได้ใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายกันอยู่แล้ว เพราะค่อนข้างกังวลกับการใช้จ่ายเกินตัวและกลัวเรื่องข่าวการลักบัตรเครดิตไปใช้บ้าง รวมไปถึงข่าวต่างๆ ที่มีการขโมยรหัสไปใช้ทางมือถือหรืออินเตอร์เน็ตแบบที่เราเคยดูข่าวกันอีก จึงไม่ได้ใช้บริการทำนองนี้กันทั้งครอบครัว ต่อมามีบริษัทประกันโทรมาหาพ่อต่อรองว่าขอให้พ่อเพิ่มบริการประกันวงเงินโดยทางบริษัทจะเข้ามาดูแลวงเงินและจ่ายดอกเบี้ยต่างๆให้ พ่อก็บอกไปว่าไม่เอาเพราะไม่ได้ใช้บริการอะไรอยู่แล้ว หลังจากนั้นก็โทรมาใหม่และเชิญชวนให้ทำประกันชีวิตแต่พ่อก็ไม่ได้ตกลงเนื่องจากมีสวัสดิการของที่ทำงานกับประกันชีวิตที่ทำไว้นานแล้ว อีกไม่นานก็มีพนักงานประกันสุขภาพโทรเข้ามาชักชวนว่าน่าจะเพิ่มประกันเข้าไปจะได้มีคนดูแลในช่วงที่ไม่สบายทำงานไม่ได้ หรือเพิ่มคุณภาพการรักษาให้หรูหราและดีขึ้นไปอีก ซึ่งพ่อเริ่มไม่พอใจจงปฏิเสธอย่างหงุดหงิดไปแล้วบอกว่าอย่าโทรมาอีก

พอครบหนึ่งปีที่อายุบนบัตรระบุไว้ ทางบริษัทบัตรเครดิตก็ได้ส่งจดหมายแจ้งเรื่องบัตรหมดอายุมาแล้วเตือนว่าควรจะติดต่อขยายอายุบัตรต่อไปเพราะนี่เป็นบัตรพิเศษที่พ่วงกับสมาชิกสายการบินจะมีสิทธิพิเศษและโปรโมชั่นมากมายตามมา แต่พ่อก็บอกไปว่าไม่เอาแล้วเนื่องจากมีบริษัทห้างร้านโดยเฉพาะบริษัทประกันโทรเข้ามาทำให้รำคาญใจในหลายๆครั้ง จึงตัดสินใจจบความสัมพันธ์ทั้งหลายไว้เพียงเท่านี้ แต่แล้ววันหนึ่งก็มีจดหมายแจ้งค่าชำระบริการจำนวนเจ็ดพันกว่าบาท เป็นค่าบริการประกันวงเงินประกันที่ค้างชำระสิบสองเดือน จึงโทรไปสอบถามทางบริษัทบัตรเครดิต พบว่าเป็นค่าใช้จ่ายจากการที่บริษัทประกันที่เคยโทรมาให้ทำประกัน แต่พ่อของหนูยังไม่ได้ตอบตกลงใดๆกับบริษัทประกันเลย และยังไม่เคยได้รับกรมธรรม์ใดๆด้วย

ทางบริษัทบัตรเครดิตไม่รับผิดชอบใดโดยบอกปัดให้ไปคุยกับทางบริษัทประกันภัยเอง ส่วนทางบริษัทประกันภัยบอกว่าจะยกเลิกสัญญาประกันไม่ได้จนกว่าจะได้ชำระเบี้ยประกันให้ครบสิบสองเดือนก่อน ซึ่งพวกเราคิดว่าไม่เป็นธรรมมากเนื่องจากเราไม่เคยตอบตกลงใดๆเลย เอกสารอะไรก็ไม่เคยเซ็น ตัวแทนก็ไม่เคยเจอหน้า เอกสารสัญญาหรือกรมธรรม์อะไรก็ไม่มี จะมาผูกมัดกันอย่างนี้ได้อย่างไร แม้เงินจะไม่ได้มากมายอะไร แต่มาหากินกันด้วยการโกงง่ายๆแบบนี้ รับไม่ได้ จึงเข้ามาปรึกษากับพี่เพื่อหาทางออกต่อไป” ใช่ครับเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อยมากในช่วงหลังและก็เกี่ยวข้องกับคดีผู้บริโภคด้วย แต่ในเบื้องต้นที่ต้องคิดก่อนคือ สัญญาเกิดขึ้นและผูกมัดแล้วหรือไม่ จึงค่อยดูต่อว่าจะแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างไร

วิเคราะห์ปัญหา
1. การทำสัญญาโดยเราไม่ตกลงจะมีผลบังคับหรือไม่ ใครจะต้องชดใช้จำนวนเงินที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในวงเงินนั้น
2. หากมีผู้ตัดสินใจใช้วงเงินในบัตรเครดิตของเราไปใช้จ่ายโดยที่เราไม่อนุญาต จะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่
3. หากเกิดความเสียหายเกี่ยวกับบัตรเครดิต ใครเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกับผู้ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวเนื่องกับบัตรโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ประชาชนผู้เป็นเจ้าของบัตรร้องดำเนินการอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
5. การนำข้อมูลของลูกค้าจากบริษัทหนึ่งไปให้อีกบริษัทหนึ่งใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่

การนำกฎหมายมาแก้ไข
1. ผู้ที่ทำสัญญาขึ้นตามอำเภอใจไร้ความสมัครใจของคู่สัญญา เจ้าของบัตรที่ถูกบังคับโดยไม่ได้ยินยอมไม่ต้องชดใช้จำนวนเงินที่เกิดจากค่าใช้จ่ายในวงเงินนั้นรวมถึงดอกเบี้ยใดๆทั้งสิ้น
2. หากมีคนนำวงเงินในบัตรเครดิตของเราไปใช้จ่ายโดยที่เราไม่อนุญาต จะเป็นความผิดตามกฎหมายเนื่องจากมิได้เกิดจากความยินยอม และต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำโดยทุจริตนั้นด้วย ซึ่งหมายรวมทั้งบริษัทประกันและบริษัทบัตรเครดิต
3. หากเกิดความเสียหายเกี่ยวกับบัตรเครดิต สถาบันการเงินผู้ออกบัตรเครดิตเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการติดตามผู้ที่นำวงเงินในบัตรไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต และเหตุการณ์เกิดกับบริษัทประกันไหนก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน
4. ประชาชนผู้เป็นเจ้าของบัตรร้องดำเนินการปิดบัตรและวงเงินทันที และแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอจากเจ้าของบัตรหรือห้างร้านก็อาจร้อง สคบ. ได้เพิ่มเติมอีกด้วย หรืออยู่เฉยๆ ให้บริษัทประกันฟ้องแล้วค่อยไปปฏิเสธในชั้นศาลก็ได้ เพราะอีกฝ่ายไม่เคยมอบคู่สัญญาหรือกรมธรรม์ให้แต่อย่างใด จึงบังคับกันไม่ได้
5. ประชาชนผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทสายการบินที่เอาข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเผยให้กับผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จนทำให้เกิดความเสียหายตามมา แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรงจึงอาจดำเนินการยาก เนื่องจากต้องใช้หลักละเมิดตามกฎหมายแพ่งเพื่อพิสูจน์ความเสียหายและผู้เสียหายมีหน้าที่นำสืบแทน

ช่องทางเรียกร้องสิทธิ
1. เมื่อเกิดเหตุการณ์ให้ติดต่อสถาบันผู้ออกบัตรทันที
2. แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทประกันและบริษัทบัตรเครดิตผู้นำวงเงินบัตรไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตที่สถานีตำรวจใกล้บ้านหรือเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ
3. หากสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันไม่ให้การดูแลอาจร้องเรียน สคบ.ในพื้นที่ หรือสคบ.กลางมาดูควบคุมแลหรืออกกฎมาเพิ่มเติมได้ เช่นเดียวกับเรื่องใช้ข้อมูลส่วนตัวโดยพลการก็แจ้งต่อ สคบ.
4. หากยังหาข้อยุติไม่ได้อาจฟ้องคดีอาญาผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเอาผิดและยกเลิกสัญญาทั้งหลาย หรือรอให้บริษัทฟ้องคดีในศาลแพ่งฯ แล้วรอต่อสู้คดีเพื่อยกเลิกสัญญาที่มิชอบ

สรุปแนวทางแก้ไขปัญหา
ใช้หลักนิติกรรมสัญญาเรื่องความสมัครใจในการเข้าทำสัญญา การใช้สิทธิต้องกระทำโดยสุจริต และการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งกรณีนี้เป็นการบังคับและก่อสัญญาที่คู่สัญญาไม่สมัครใจเข้าผูกพันผลของสัญญาไม่สมบูรณ์สามารถบอกล้างได้ และให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพก่อนเกิดนิติกรรม โดยอาจใช้หลักละเมิดทางแพ่งฯกับการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลด้วย อาจฟ้องคดีอาญา หรือรอสู้คดีในศาลแพ่งฯ เพื่อให้ดำเนินการเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคต่อบริษัทบัตรเครดิตในการร่วมกระทำการกับบริษัทประกันภัยเพิ่มเติม

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี มีการพูดถึงการพัฒนาประเทศโดยใช้เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness - GNH)  มาแทนเป้าหมายด้านการเพิ่ม “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Product - GNP) โดยมีการหยิบยกกรณี ภูฐาน มาพูดกัน   แต่หลังจากที่มีรายงานข่าวสถานการณ์ความเปลี่ยนแ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ทุกประเทศสนใจและให้ความสำคัญมาก จนมีบรรษัทข้อมูลอย่าง Statista และองค์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ออกรายงานสรุปข้อมูลเป็นประจำทุกปี โดยสามารถถ้าสรุปง่ายๆ คือ 
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุวินาศกรรมในเมืองหลวงโดยเฉพาะย่านธุรกิจที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งที่รัฐทั้งหลายไม่ปรารถนามากที่สุด เนื่องจากความเสียหายสูงเพราะมีร้านค้าและผู้คนแออัดหนาแน่น แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือ สภาพจิตใจของผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเคยชินในบริเวณนั้น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตั้งแต่มาประกอบวิชาชีพนี้ สิ่งที่เห็น คือ ความเหนื่อยของคนรุ่นใหม่ต้องขยันตั้งใจเรียน ทำโน่นทำนี่ กระตือรือล้น ทะเยอทะยาน ให้ได้อย่างที่ คนรุ่นก่อนคาดหวังพอทำพังก็อยู่ในสภาพใกล้ตาย เพราะถูกเลี้ยงมาแบบ "พลาดไม่ได้"
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นมาแรงของยุคนี้เห็นจะไม่พ้นสตาร์ทอัพนะครับ (Start-Up Business) เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทุนนิยมที่รัฐต้องการจะผลักดันประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก มาเป็นการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกร
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนจบมหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ คือ กรรมกร?ไร้ตัวตน กว่า พวกเซเล็ปแถมรายได้ต่ำ กว่า คนหาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย รับจ้างอิสระ วิเคราะห์ความคิด สศจ. บทสนทนากับ นิธิ เกษียร ชัดเจน
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนผู้เสียภาษีไม่น้อย คือ ทำไมกองทัพไทยจึงต้องจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ตอนนี้ และซื้อของ “จีน” ด้วยเหตุใด
ทศพล ทรรศนพรรณ
การศึกษาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ณ ต่างประเทศของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามให้มากว่า เรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วได้อะไร ความรู้หรือทักษะที่ได้จะเป็นประโยชน์อะไรกับสังคม หรือครอบครัว   เนื่องจากนักเรียนแทบทั้งหมดใช้เงินทุนจากภาษีของรัฐ หรือทุนของครอบครัว&nbs
ทศพล ทรรศนพรรณ
กระแสการนึกย้อนคืนวันแห่งความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์วัยในช่วงปี ค.ศ.1990-1999 หรือ ปี พ.ศ.2533-2543 ของผู้คนร่วมสมัยในตอนนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ทศพล ทรรศนพรรณ
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้มอบให้แด่ ศาสตราจารย์ชอง ติโรล (Jean Tirole) แห่งมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส    องค์กรให้เหตุผลอย่างชัดเจว่าเป็นผลจาก การวิเคราะห์อำนาจเหนือตลาดของผู้เล่นน้อยรายที่มักจะมีอำนาจเหนือตลาด ประสิทธิภาพของกลไกตลาดจึงเสียหาย และมีข้อเสนอในงานวิจัยของเขา