Skip to main content

จากประสบการณ์ตรงและการสังเกตการณ์งานต่อสู้ของประชาชนในท้องถิ่นหลายงานสะท้อนปัญหาหนึ่งที่คล้ายกันในหลายพื้นที่ คือ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและนโยบายพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ หรือการลงทุนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มักจะถูกจ้องมองด้วยสายตาหวาดระแวงไปจนถึงการถูกสลายทำลายขบวนการเรื่อยมา

                วิธียับยั้งการเติบโตตื่นตัวของชุมชนสามารถกระทำได้โดยการคุกคามด้วยความรุนแรงสารพัดรูปแบบ ไล่ไปตั้งแต่ การส่งคนไปด้อมๆมองๆ การบันทึกภาพบันทึกเสียง คลิปวิดีโอ โดยไม่ได้รับอนุญาต ไปจนถึงการก่อกวนด้วยวาจา ขัดขวางการจัดกิจกรรม และข่มขู่ทำลายร่างกายและทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชีวิตในท้ายที่สุด

                เนื่องจากเราไม่สามารถพูดถึงเรื่อง มาเฟีย และการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีและมีความเชี่ยวชาญด้านจรยุทธ์ได้โดยตรง แม้จะมีสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐและบรรษัทขนาดใหญ่มีเส้นสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพล มากบารมี จะมีสีหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ขอให้ท่านผู้อ่านไปไล่ชื่อผู้ถือหุ้น กรรมการบริหารและที่ปรึกษาของบรรษัทอุตสาหกรรมที่มีปัญหากับชุมชนกันเอาเองก็พอทราบได้ แต่จะไม่พูดถึงในบทความนี้

                มาตรการทางกฎหมาย คือ ความรุนแรงสูงสุด ที่จะกล่าวถึงมาในรูปแบบของการฟ้องคดีหมิ่นฯ ตั้งแต่ฟ้องคดีอาญาให้ผู้นำหรือชุมชนหวาดกลัวต่อโทษทัณฑ์ และต้องเผชิญกับกระบวนการขึ้นโรงขึ้นศาลให้เสียเวลาเสียกำลังใจแล้ว ยังมีการฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งเรียกค่าเสียหายหลายร้อยหลายพันล้านให้นอนไม่หลับด้วย  แต่จะไม่พูดถึงการฟ้องคดีหมิ่นฯอีกประเภทที่มีการนำมาใช้จัดการกับผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวในระยะหลัง

                เป็นที่ทราบดีว่าการเล่าเรื่องอะไรแล้วมีชื่อพ่วงนามสกุลของคนจริงๆ จะกลายเป็นข้อหาและอาจต้องรับผิดได้ในชั้นศาล ประชาชนชาวไทยจึงเสียโอกาสไปมากในการได้รู้ “ความจริง” หลายเรื่องในประเทศ เพราะนักข่าวอาชีพหรือนักข่าวพลเมืองจำต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะพูดความจริงให้โลกรู้หรือไม่ ถ้าต้องแรกกับการติดคุก เพราะ “ยิ่งพูดเรื่องจริงก็ยิ่งผิด” หากผู้เสียหายฟ้องร้อง

                การเลือกใช้ มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือปาก จึงเป็นที่แพร่หลายมากในช่วงหลัง เพราะบริษัทและหน่วยงานรัฐมีทีมทนาย และนิติกรที่พร้อมทำหน้าที่ฟ้องแหลกเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ให้องค์กรอยู่แล้ว

                ความสามารถในการใช้กระบวนการทางกฎหมายของทีมทนายอาชีพ และนิติกรชำนาญการจึงถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องภาพลักษณ์องค์กร หรือตัวผู้นำองค์กรที่ริเริ่มโครงการจนเกิดความขัดแย้งกับประชาชน ชุมชน

                ต้นทุนของประชาชนในการใช้กฎหมายนั้นก็ต่ำ เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับการค้าความ ส่วนทนายที่รับสู้คดีกับหน่วยงานรัฐ หรือบรรษัทใหญ่ก็มีไม่มาก เพราะนอกจากทำไปแล้วอาจไม่ได้สตางค์ ยังต้องเอาเส้นทางอาชีพมาเสี่ยงกับการถูกหมายหัว หรือโดนโดดเดี่ยวจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ ไม่ต้องพูดถึงการขึ้นแบล็คลิสต์โดยหน่วยงานความมั่นคง หรือเครือข่ายบรรษัท/นายทุน

                แม้นักกฎหมายทั้งปวงจะได้ปฏิญาณต่อหน้าพระบิดากฎหมาย และบรรพชนนักกฎหมายว่าจะใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อผดุงความยุติธรรม แต่เมื่อถึงทางแยกอันตราย ก็หาคนที่จะเลือกอุดมการณ์เพื่อแสดงตัวตน ให้หลุดพ้นไปจากความสัมพันธ์ในชนชั้น เครือข่ายอุปถัมภ์ได้ง่ายๆไม่

                วาทกรรมการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติ จึงกลายเป็นสิ่งที่บดบังอุดมการณ์ของบุคลากรทางกฎหมายมิให้ยืนเคียงข้างประชาชนอยู่ไม่น้อย  เพราะต่างก็ต้องพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวไม่ให้เสียประวัติตกเป็น “แกะดำ” เป็น “ทนายเอ็นจีโอ” หรือ “พวกถ่วงความเจริญ” ให้คนเขาตราหน้า

                เมื่อมิกล้ายืนเคียงข้างประชาชน จึงเห็นแต่ความเป็น “อื่น” ของประชาชนผู้เดือดร้อน  หนำซ้ำยังมอง “นักกฎหมายภาคประชาชน” เป็นคนอื่นไปเสียโดยจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็มิอาจทราบได้

                ความรุนแรง และร้ายแรงของการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก (SLAPP - Strategic Lawsuit against Public Participation) แม้จะฟ้องปิดปากเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มบางองค์กร แต่ได้ขยายไปครอบคลุมสติปัญญาของคนทั้งสังคม ให้ตกอยู่ในภาวะ “มืดบอด”  

                เมื่อประชาชนไม่กล้าพูด สื่อไม่กล้านำเสนอ แล้วสังคมจะตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างไร ในหลายประเทศจึงมีการริเริ่มระบบ Anti-SLAPP คัดกรองมิให้มีการฟ้องปิดปากหากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นสิทธิในปกป้องฐานทรัพยากร หรือสิทธิตามกฎหมายของประชาชน 

                บางประเทศมีองค์กรคัดกรองคดีก่อนมีการประทับรับฟ้องโดยศาล หรือสั่งฟ้องโดยอัยการ ด้วยซ้ำ  ทำให้ประชาชนไม่ต้องตกเป็นจำเลยโดยไม่จำเป็น และสร้างความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นในความเดือดร้อน และสามารถใช้เหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการ/นโยบายทั้งหลายได้อย่างเสรี

                แต่ในไทยกลับตรงกันข้าม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากถูกฟ้องดำเนินคดี คนหนึ่งอาจต้องโดนหลายคดี หรือโดนคดีหมิ่นครบทุกประเภททุกศาล

                สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเสื่อมอำนาจนำของกระบวนการยุติธรรมไปจนถึงการเมืองการปกครองในการระงับข้อพิพาทแทบทุกระดับในประเทศไทย   เวลามีปัญหาคนไทยเริ่มไม่นึกทางแก้ที่ถูกครรลองคลอง(นิติ)ธรรม กันเสียแล้ว

                เมื่อชาวบ้านประชาชนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับการอำนายความยุติธรรม การเพาะบ่มความขัดแย้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงสร้างสำนึก “สองมาตรฐาน” ในใจคนจำนวนมาก

                กลายเป็นว่า สถาบันทางกฎหมาย คือ เป้าหมายหลักในการปฏิวัติประชาชนเสียแล้ว #กระบวนการยุติธรรมมีไว้ทำไม?

                จะปฏิรูปจากภายใน หรือ ปฏิวัติจากภายนอก อะไรจะมาถึงก่อนกัน

 

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
สิ่งที่ขับเคลื่อนโลก คือ เทคโนโลยี การทหาร การค้า และการแพร่ความคิด ความเชื่อ ศาสนา
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังจากรัฐบาล คสช.
ทศพล ทรรศนพรรณ
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงไซเบอร์” ได้กล่าวอ้างว่า ในปัจจุบันมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม และมีความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของบุคคลและชาติ ซึ่งรวมถึงความมั่น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ในอีก 10 หรือ 100 ปี โครงการร่วมของ Google และ Facebook ในการปล่อยโดรนส์และบอลลูน เพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล อาจถูกนับเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกเนื่องจากโครงการนี้สร้างผลกระทบมหาศาลไม่ว่าจะในแง่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือ "การข่าวกรอง" ในการเมืองระหว่างประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะใช้ เศรษฐกิจดิจิตอล เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ   วาระแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับยุโรปที่เห็นสัญญาณการล่มของเศรษฐกิจมาตั้งแต่สองทศวรรษก่อนใน Banglemann Report on Digital Economy ซึ่งล้าสมัยไปเยอะแล้ว และนักยุทธศาสตร์รุ่นหลังก็ได้ก้าวข้ามวิธีคิดของเขาไปแล้ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
สำหรับคนที่ทำงานประจำต้องเริ่มต้นสัปดาห์ในวันจันทร์อย่างเบื่อหน่าย จนอยากจะหลีกลี้หนีหน้าไปจากสำนักงาน อาจจะเคยบ่นหรือฟังคำบ่นของเพื่อนร่วมชะตากรรมมาไม่น้อย จนถึงขั้นมีบริษัทรับสมัครงานนำมาเป็นคำโปรยว่า หากเบื่อวันจันทร์นักก็หางานใหม่ทำเถอะ   แต่ถ้าย้ายไปแล้วก็ไม่หาย ทำไปหลายปีก็ยังเบื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทำไม สิทธิการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องพื้นฐานของรัฐ?คงต้องตอบโดยใช้ความรู้อย่างน้อยสองชุด คือ1) กฎหมายเรื่องความเป็น "คน"2) เศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่อง เลือกตั้ง
ทศพล ทรรศนพรรณ
จะคืนความสุขให้คนไทย ไม่ง่ายนะครับปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ประชาชนรู้มากขึ้น เห็นข่าวการใช้เงินหรือยุทธศาสตร์ที่วางไว้ยาวนานโดยผู้สูงอายุก็พลอยทำให้คนรุ่นใหม่เครียดมาก  
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับสารพัดโหรที่ออกมาทำนายการเมือง และชะตาประเทศกันอยู่เป็นประจำ แต่บทความนี้จะลองพาไปท่องสังคมไทยที่มีกลิ่นไอของไสยศาสตร์เจือปนอยู่แทบทุกหัวระแหง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ในปีที่ผ่านมา กระแสที่มาแรงในประเทศไทยและมีอิทธิพลมานานในประเทศพัฒนาแล้วก็คือ Slow Life วิถีการใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้า ละเมียดความสุขจากกิจกรรมการบริโภค และผ่อนคลาย แล้วขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน
ทศพล ทรรศนพรรณ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) กำหนดหัวข้อจับ “ตามหาอำนาจจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา” โดยประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มุ่งเน้นในประเด็นความมั่นคง/สิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกา/TPP/อุตสาหกรรมอาวุธ