Skip to main content

จากประสบการณ์ตรงและการสังเกตการณ์งานต่อสู้ของประชาชนในท้องถิ่นหลายงานสะท้อนปัญหาหนึ่งที่คล้ายกันในหลายพื้นที่ คือ ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการและนโยบายพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ หรือการลงทุนของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มักจะถูกจ้องมองด้วยสายตาหวาดระแวงไปจนถึงการถูกสลายทำลายขบวนการเรื่อยมา

                วิธียับยั้งการเติบโตตื่นตัวของชุมชนสามารถกระทำได้โดยการคุกคามด้วยความรุนแรงสารพัดรูปแบบ ไล่ไปตั้งแต่ การส่งคนไปด้อมๆมองๆ การบันทึกภาพบันทึกเสียง คลิปวิดีโอ โดยไม่ได้รับอนุญาต ไปจนถึงการก่อกวนด้วยวาจา ขัดขวางการจัดกิจกรรม และข่มขู่ทำลายร่างกายและทำความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชีวิตในท้ายที่สุด

                เนื่องจากเราไม่สามารถพูดถึงเรื่อง มาเฟีย และการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีและมีความเชี่ยวชาญด้านจรยุทธ์ได้โดยตรง แม้จะมีสิ่งบ่งชี้ชัดเจนว่า หน่วยงานรัฐและบรรษัทขนาดใหญ่มีเส้นสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพล มากบารมี จะมีสีหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ ขอให้ท่านผู้อ่านไปไล่ชื่อผู้ถือหุ้น กรรมการบริหารและที่ปรึกษาของบรรษัทอุตสาหกรรมที่มีปัญหากับชุมชนกันเอาเองก็พอทราบได้ แต่จะไม่พูดถึงในบทความนี้

                มาตรการทางกฎหมาย คือ ความรุนแรงสูงสุด ที่จะกล่าวถึงมาในรูปแบบของการฟ้องคดีหมิ่นฯ ตั้งแต่ฟ้องคดีอาญาให้ผู้นำหรือชุมชนหวาดกลัวต่อโทษทัณฑ์ และต้องเผชิญกับกระบวนการขึ้นโรงขึ้นศาลให้เสียเวลาเสียกำลังใจแล้ว ยังมีการฟ้องหมิ่นประมาททางแพ่งเรียกค่าเสียหายหลายร้อยหลายพันล้านให้นอนไม่หลับด้วย  แต่จะไม่พูดถึงการฟ้องคดีหมิ่นฯอีกประเภทที่มีการนำมาใช้จัดการกับผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวในระยะหลัง

                เป็นที่ทราบดีว่าการเล่าเรื่องอะไรแล้วมีชื่อพ่วงนามสกุลของคนจริงๆ จะกลายเป็นข้อหาและอาจต้องรับผิดได้ในชั้นศาล ประชาชนชาวไทยจึงเสียโอกาสไปมากในการได้รู้ “ความจริง” หลายเรื่องในประเทศ เพราะนักข่าวอาชีพหรือนักข่าวพลเมืองจำต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะพูดความจริงให้โลกรู้หรือไม่ ถ้าต้องแรกกับการติดคุก เพราะ “ยิ่งพูดเรื่องจริงก็ยิ่งผิด” หากผู้เสียหายฟ้องร้อง

                การเลือกใช้ มาตรการทางกฎหมายเป็นเครื่องมือปาก จึงเป็นที่แพร่หลายมากในช่วงหลัง เพราะบริษัทและหน่วยงานรัฐมีทีมทนาย และนิติกรที่พร้อมทำหน้าที่ฟ้องแหลกเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ให้องค์กรอยู่แล้ว

                ความสามารถในการใช้กระบวนการทางกฎหมายของทีมทนายอาชีพ และนิติกรชำนาญการจึงถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องภาพลักษณ์องค์กร หรือตัวผู้นำองค์กรที่ริเริ่มโครงการจนเกิดความขัดแย้งกับประชาชน ชุมชน

                ต้นทุนของประชาชนในการใช้กฎหมายนั้นก็ต่ำ เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับการค้าความ ส่วนทนายที่รับสู้คดีกับหน่วยงานรัฐ หรือบรรษัทใหญ่ก็มีไม่มาก เพราะนอกจากทำไปแล้วอาจไม่ได้สตางค์ ยังต้องเอาเส้นทางอาชีพมาเสี่ยงกับการถูกหมายหัว หรือโดนโดดเดี่ยวจากเพื่อนร่วมวิชาชีพ ไม่ต้องพูดถึงการขึ้นแบล็คลิสต์โดยหน่วยงานความมั่นคง หรือเครือข่ายบรรษัท/นายทุน

                แม้นักกฎหมายทั้งปวงจะได้ปฏิญาณต่อหน้าพระบิดากฎหมาย และบรรพชนนักกฎหมายว่าจะใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพื่อผดุงความยุติธรรม แต่เมื่อถึงทางแยกอันตราย ก็หาคนที่จะเลือกอุดมการณ์เพื่อแสดงตัวตน ให้หลุดพ้นไปจากความสัมพันธ์ในชนชั้น เครือข่ายอุปถัมภ์ได้ง่ายๆไม่

                วาทกรรมการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ชาติ จึงกลายเป็นสิ่งที่บดบังอุดมการณ์ของบุคลากรทางกฎหมายมิให้ยืนเคียงข้างประชาชนอยู่ไม่น้อย  เพราะต่างก็ต้องพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวไม่ให้เสียประวัติตกเป็น “แกะดำ” เป็น “ทนายเอ็นจีโอ” หรือ “พวกถ่วงความเจริญ” ให้คนเขาตราหน้า

                เมื่อมิกล้ายืนเคียงข้างประชาชน จึงเห็นแต่ความเป็น “อื่น” ของประชาชนผู้เดือดร้อน  หนำซ้ำยังมอง “นักกฎหมายภาคประชาชน” เป็นคนอื่นไปเสียโดยจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็มิอาจทราบได้

                ความรุนแรง และร้ายแรงของการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก (SLAPP - Strategic Lawsuit against Public Participation) แม้จะฟ้องปิดปากเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มบางองค์กร แต่ได้ขยายไปครอบคลุมสติปัญญาของคนทั้งสังคม ให้ตกอยู่ในภาวะ “มืดบอด”  

                เมื่อประชาชนไม่กล้าพูด สื่อไม่กล้านำเสนอ แล้วสังคมจะตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างไร ในหลายประเทศจึงมีการริเริ่มระบบ Anti-SLAPP คัดกรองมิให้มีการฟ้องปิดปากหากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นสิทธิในปกป้องฐานทรัพยากร หรือสิทธิตามกฎหมายของประชาชน 

                บางประเทศมีองค์กรคัดกรองคดีก่อนมีการประทับรับฟ้องโดยศาล หรือสั่งฟ้องโดยอัยการ ด้วยซ้ำ  ทำให้ประชาชนไม่ต้องตกเป็นจำเลยโดยไม่จำเป็น และสร้างความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นในความเดือดร้อน และสามารถใช้เหตุผลสนับสนุนหรือคัดค้านโครงการ/นโยบายทั้งหลายได้อย่างเสรี

                แต่ในไทยกลับตรงกันข้าม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนมากถูกฟ้องดำเนินคดี คนหนึ่งอาจต้องโดนหลายคดี หรือโดนคดีหมิ่นครบทุกประเภททุกศาล

                สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเสื่อมอำนาจนำของกระบวนการยุติธรรมไปจนถึงการเมืองการปกครองในการระงับข้อพิพาทแทบทุกระดับในประเทศไทย   เวลามีปัญหาคนไทยเริ่มไม่นึกทางแก้ที่ถูกครรลองคลอง(นิติ)ธรรม กันเสียแล้ว

                เมื่อชาวบ้านประชาชนตัวเล็กตัวน้อยไม่ได้รับการอำนายความยุติธรรม การเพาะบ่มความขัดแย้งที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงสร้างสำนึก “สองมาตรฐาน” ในใจคนจำนวนมาก

                กลายเป็นว่า สถาบันทางกฎหมาย คือ เป้าหมายหลักในการปฏิวัติประชาชนเสียแล้ว #กระบวนการยุติธรรมมีไว้ทำไม?

                จะปฏิรูปจากภายใน หรือ ปฏิวัติจากภายนอก อะไรจะมาถึงก่อนกัน

 

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี มีการพูดถึงการพัฒนาประเทศโดยใช้เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness - GNH)  มาแทนเป้าหมายด้านการเพิ่ม “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Product - GNP) โดยมีการหยิบยกกรณี ภูฐาน มาพูดกัน   แต่หลังจากที่มีรายงานข่าวสถานการณ์ความเปลี่ยนแ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ทุกประเทศสนใจและให้ความสำคัญมาก จนมีบรรษัทข้อมูลอย่าง Statista และองค์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ออกรายงานสรุปข้อมูลเป็นประจำทุกปี โดยสามารถถ้าสรุปง่ายๆ คือ 
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุวินาศกรรมในเมืองหลวงโดยเฉพาะย่านธุรกิจที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งที่รัฐทั้งหลายไม่ปรารถนามากที่สุด เนื่องจากความเสียหายสูงเพราะมีร้านค้าและผู้คนแออัดหนาแน่น แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือ สภาพจิตใจของผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเคยชินในบริเวณนั้น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตั้งแต่มาประกอบวิชาชีพนี้ สิ่งที่เห็น คือ ความเหนื่อยของคนรุ่นใหม่ต้องขยันตั้งใจเรียน ทำโน่นทำนี่ กระตือรือล้น ทะเยอทะยาน ให้ได้อย่างที่ คนรุ่นก่อนคาดหวังพอทำพังก็อยู่ในสภาพใกล้ตาย เพราะถูกเลี้ยงมาแบบ "พลาดไม่ได้"
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นมาแรงของยุคนี้เห็นจะไม่พ้นสตาร์ทอัพนะครับ (Start-Up Business) เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทุนนิยมที่รัฐต้องการจะผลักดันประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก มาเป็นการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกร
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนจบมหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ คือ กรรมกร?ไร้ตัวตน กว่า พวกเซเล็ปแถมรายได้ต่ำ กว่า คนหาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย รับจ้างอิสระ วิเคราะห์ความคิด สศจ. บทสนทนากับ นิธิ เกษียร ชัดเจน
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนผู้เสียภาษีไม่น้อย คือ ทำไมกองทัพไทยจึงต้องจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ตอนนี้ และซื้อของ “จีน” ด้วยเหตุใด
ทศพล ทรรศนพรรณ
การศึกษาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ณ ต่างประเทศของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามให้มากว่า เรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วได้อะไร ความรู้หรือทักษะที่ได้จะเป็นประโยชน์อะไรกับสังคม หรือครอบครัว   เนื่องจากนักเรียนแทบทั้งหมดใช้เงินทุนจากภาษีของรัฐ หรือทุนของครอบครัว&nbs
ทศพล ทรรศนพรรณ
กระแสการนึกย้อนคืนวันแห่งความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์วัยในช่วงปี ค.ศ.1990-1999 หรือ ปี พ.ศ.2533-2543 ของผู้คนร่วมสมัยในตอนนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ทศพล ทรรศนพรรณ
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้มอบให้แด่ ศาสตราจารย์ชอง ติโรล (Jean Tirole) แห่งมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส    องค์กรให้เหตุผลอย่างชัดเจว่าเป็นผลจาก การวิเคราะห์อำนาจเหนือตลาดของผู้เล่นน้อยรายที่มักจะมีอำนาจเหนือตลาด ประสิทธิภาพของกลไกตลาดจึงเสียหาย และมีข้อเสนอในงานวิจัยของเขา