มาตรการรัดเข็มขัด (Austerity) หรือ นโยบายที่มีแนวโน้มปรับลดค่าใช้จ่ายภาครัฐหรือเพิ่มการจัดเก็บภาษีควบคู่ไปด้วย แนวทางนี้เป็นสิ่งที่ถูกโจมตีโดยนักคิดนักวิเคราะห์สายส่งเสริมสวัสดิการสังคมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเพราะการตัดลดงบประมาณหมายถึงการลดคุณภาพและปริมาณสวัสดิการสังคมที่แต่เดิมเคยมีให้กับประชาชน
ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นนโยบายที่องค์กรเศรษฐกิจข้ามชาติอย่าง IMF แนะนำให้ประเทศจำนวนมากปรับใช้ หรือบังคับเป็นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนกับการขอกู้ยืมเงินเพื่อพยุงกองทุนสำรองระหว่างประเทศของตน พูดง่ายๆ คือ เงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือเมื่อเศรษฐกิจประเทศกำลังล้มละลาย
หากเทียบให้เห็นคู่ตรงข้ามแบบที่คนไทยนึกภาพง่ายๆ ก็คือ เป็นนโยบายตรงกันข้ามกับ Populism หรือประชานิยมนั่นเอง แม้จะไม่ชัดเจนว่า นโยบายประชานิยมคืออะไร มีขอบเขตว่าแค่ไหนเป็นหรือไม่เป็นประชานิยม แต่ที่รับรู้ร่วมกัน คือ นโยบายที่รัฐลงทุนไปกับการสร้างสวัสดิการ โครงการ ไปยังกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเพื่อหวังคะแนนเสียง โดยเน้นการเอางบประมาณรัฐมาใช้จ่าย โดยบางกรณีถึงขั้นสุรุ่ยสุร่ายเรื่อยเปื่อยไร้จุดหมายว่า ทำไปแล้วจะได้อะไร
นั่นคือ เป็นการลงทุนที่ไม่อาจคาดหวังผลตอบแทนได้ชัด
ประเด็นที่ต้องขบให้แตก คือ จะลงทุนหรือใช้จ่ายภาครัฐอย่างไรให้เกิดผลตอบแทนกลับมา?
ไม่ว่าจะทำให้เกิดผลตอบแทนเป็นเงินรายได้ต่อรัฐทางตรง เช่น ลงทุนสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจนมีการลงทุนหรือเกิดการบริโภคมากขึ้นจนจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น หรือการลงทุนไปกับสวัสดิการในคุณภาพชีวิตมนุษย์ทำให้พลเมืองอยู่อย่างสงบไม่ลักวิ่งชิงปล้น ก่อหวอด หรือมีสุขภาพดีจนไม่ต้องเข้าสถานพยาบาลบ่อยสิ้นเปลืองงบประมาณสาธารณสุข เป็นต้น
หากลองยกตัวอย่างประเทศที่มีลักษณะความเป็นอยู่ นิสัยใจคอ และเป็นต้นทางให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับเรื่อง นโยบายรัดเข็มขัดและประชานิยม เห็นจะไม่พ้น ลาตินอเมริกา และเมื่อจะย้อนเกล็ดไปให้ถึงต้นตอ ก็ต้องพูดถึง อดีตเจ้าอาณานิคมสเปน นั่นเอง
ปีนี้สเปนจะมีการเลือกตั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตประเทศ นั่นคือ ดุลการเมืองกำลังจะเปลี่ยน โดยที่เศรษฐกิจของสเปนอยู่ในภาวะวิกฤตมาครึ่งศตวรรษแล้ว เมื่อปี 2011-12 เกิดการชุมนุมใหญ่ทั่วสเปนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นักศึกษาที่ว่างงานสืบเนื่องมาจากนโยบายรัดเข็มขัด
จนนำไปสู่กระแสถกเถียงในสังคมว่า วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากอะไรกันแน่ เกิดจากการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยไร้วินัย หรือความด้อยประโยชน์ของพรรคการเมืองของชนชั้นนำที่ไม่สร้างนโยบายมาแก้ปัญหาเอาแต่รักษาผลประโยชน์ของชนชั้นตนเอง ซึ่งไปสอดคล้องกับกระแสต่อต้านการผูกขาดอำนาจของผู้มั่งคั่งเพียง 1% ในอเมริกา จนสร้างกระแส Occupy โดยเหล่านักสู้นิรนาม Annonymous ไปทั่วโลก
อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งของชาติยุโรปในระยะหลังเริ่มเห็นความเสื่อมถอยของพรรคฝ่ายซ้ายที่เน้นนโยบายลงทุนกับคุณภาพชีวิตหรือส่งเสริมสวัสดิการต่างๆของประชาชน อย่างล่าสุดพรรคแรงงานอังกฤษก็พ่ายแพ้ไปเช่นกัน มีเพียงกรีซที่รับทราบกันดีว่าสถานการณ์ล่วงเลยจุดปกติไปแล้ว ประชาชนเริ่มทนไม่ไหวกับภาวะรัดเข็มขัดจนเกิดคนว่างงาน ไร้บ้าน เร่ร่อนจำนวนมาก จนเกิดกระแสหวนกลับทำให้พรรคซ้ายจัดกลับมามีชัยชนะและกำลังงัดข้อกับประเทศร่ำรวยของยุโรปอยู่ในขณะนี้ ว่าจะรับเงินพยุงเศรษฐกิจแลกกับเงื่อนไขรัดเข็มขัดและวินัยการเงินอีกหรือไม่
สเปนก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นในยุโรปนัก คือ พรรคฝ่ายซ้ายอ่อนแรงและประชาชนเสื่อมศรัทธาในพรรคลงไปมาก จนในขณะนี้เกิดพรรคใหม่ที่ชื่อว่า “เราทำได้” (Podemos) ของคนรุ่นใหม่และคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัดเข็มขัดขึ้นมา ด้วยเหตุที่พรรคการเมือง ทั้งขั้ว ซ้าย-ขวา ของสเปนวิกฤต กล่าวคือ แนวโน้มนโยบายพรรคทั้งสองขั้วแทบไม่ต่างกัน และนับวันพรรคกับประชาชนยิ่งห่างกัน มวลชนรู้สึกไม่ได้รับการตอบสนองจากพรรค คนสเปนทั่วไปรู้สึกว่า นักการเมืองทั้งสองขั้วมีลักษณะเป็นเจ้าขุนมูลนาย มีการสืบทอดทายาท ฯลฯ
ความล้มเหลวของ พรรคซ้ายและขวา ของสเปน ทำให้คนเบื่อหน่าย จึงถวิลหา "พรรคทางเลือกที่สาม"
อนึ่งต้องเข้าใจว่า คนยุโรปใต้นี่จะสนใจประเด็น ความเหลื่อมล้ำ นายทุน คนรวย ศักดินา ทุนผูกขาด ต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์มาก พรรคที่เน้นตอบสนองมวลชนอย่าง Podemos เลยมาถูกที่ถูกเวลา
ย้อนกลับไปตอบคำถามข้างต้น คือ แล้วการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างไรล่ะจึงจะเป็นที่พอใจของประชาชน และไม่ทำให้ประเทศล่มสลายไปด้วย
ประชาชนต้องการให้พรรคลดการใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เงินในการคงระบบราชการขนาดใหญ่ที่ประชาชนรู้สึกไร้ประสิทธิภาพ ล่าช้า แม้จะจ้างคนเยอะก็ตาม การใช้จ่ายด้านการทหาร ฯลฯ
รวมไปถึงการสมยอมกันระหว่างนักการเมืองและแกนนำสหภาพแรงงานเรื่องขยายอายุเกษียณ อันเป็นเหตุให้คนรุ่นใหม่ยิ่งหางานทำยากขึ้นไปอีก
ในระดับท้องถิ่น ก็วิจารณ์ การนำเงินมาจัดงานเทศกาลต่างๆ ที่ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหรือดึงดูดนักท่องเที่ยวก็จริง แต่ก็ดูเหมือนไม่ได้ประโยชน์กับคนนอกภาคธุรกิจท่องเที่ยว
สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือ การลงทุนเพื่อสร้างงานใหม่ การคงหลักประกันสุขภาพ หรือสวัสดิการเมื่อว่างงานหรือพ้นวัยทำงาน นั่นก็คือ การลงทุนไปที่การขยายโอกาสทางการผลิต การบริการ มากกว่าอุดหนุนภาคราชการ
การใช้จ่ายภาครัฐไม่ผิด อยู่ที่ว่าจะลงทุนไปกับอะไร ให้ใคร แล้วจะได้ผลลัพธ์อย่างไรต่างหาก
ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์