Skip to main content

การประกวดความงามในช่วงหลังได้กลายเป็นเวทีแสดงพลังของความงดงามที่หลากหลาย และใช้ประเด็นการสร้างความเข้มแข็งให้สตรีเป็นแกนหลักส่งเสริมความงาม “อย่างมีคุณค่า”

                การนำเสนอภาพลักษณ์ของนางงามแต่ละคนแต่ละชาติมิได้ยึดติดอยู่กับรูปร่างน่าตากริยาบุคลิกภาพเพียงอย่างเดียว แต่คำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมอย่างต่อเนื่องหลายสิบปีได้ขัดเกลาให้เวทีประกวดต้องสร้าง “แก่นสาร” ให้กับกิจกรรมนี้อย่างสอดคล้องกับบริบททางการเมืองทั้งในประเทศต้นทางของกองประกวด ไปจนถึงการเมืองระหว่างประเทศที่ประเทศมหาอำนาจต้องการส่ง “สาสน์” ไปยังผู้รับชมทั่วโลก

                การเปิดพื้นที่ให้สตรีส่งเสียงที่ก้าวข้ามขนบธรรมเนียมเดิมๆไปสู่การแสดงให้เห็นถึงศักยภาพนอกกรอบ “นางงาม” ที่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันให้กับผู้คนถูกหยิบยกและตีแผ่แก่ผู้รับชมทั่วโลกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและสตรีทั่วโลกเห็น “ความเป็นไปได้” ที่จะพัฒนาตนเองไปมากกว่าแค่เป็น “นางงามเพื่อการกุศลสงเคราะห์”

                จุดตัดสำคัญน่าจะอยู่ที่การเปลี่ยนบทบาทของนางงาม จากเดิมเป็นเหมือนพรีเซนเตอร์เปลี่ยนสายตาที่จับจ้องความงามบนร่างกายตนให้หันไปสนใจปัญหาของสังคมแล้วตระหนักถึงปัญหาแบบที่เราคุ้นชินว่า “นางงามรักเด็ก รักษ์โลก” แบบเหมือนๆกันไปหมด ไปสู่การพูดด้วยตัวนางงามแต่ละคนว่า คนนี้สนใจประเด็นทางสังคมที่แตกต่างหลากหลายกันไปแล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคนว่ามีความรู้สึกแรงกล้ากับเรื่องใด ก็จะหยิบเรื่องเหล่านั้นมานำเสนอสะท้อนให้เห็น “กึ๋น” ของแต่ละคน

                จากปีก่อนที่มีคำถามสำคัญทำให้คนทั้งประเทศตั้งข้อสงสัยว่า “Social Movement” (ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” คืออะไร มาถึงคำถามที่เฉพาะเจาะจงลงไปถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและค่านิยมประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา อาทิ เสรีภาพของสื่อมีความสำคัญ การรับรองให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย ขอบเขตของการเคลื่อนไหวให้สตรีลุกขึ้นมาเปิดเผยประสบการณ์ถูกคุกคาม นโยบายบริหารจัดการผู้ลี้ภัย และการตอบข้อวิจารณ์ของขบวนการสตรีนิยมที่บอกว่าการประกวดความงามขัดขวางการส่งเสริมสิทธิสตรี

                คำถามเหล่านี้ต้องการคำตอบที่เริ่มด้วยการเข้าใจความหมายที่เฉพาะเจาะจงของศัพท์เฉพาะและความรู้เท่าทันสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่พัฒนาขึ้นมาจากข้อถกเถียงในประเด็นเหล่านั้นไม่น้อย   การตอบคำถามเหล่านี้โดยอาศัยเพียง “สามัญสำนึก” ของผู้เข้าประกวดที่มิได้เตรียมตัวเชิงวิชาการ หรือไม่มีประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการขบวนขับเคลื่อนทางสังคม ย่อมได้คำตอบที่ตื้นเขิน หรือในบางครั้งก็หลงประเด็นไป หรืออย่างดีที่สุดก็ทำได้เพียงน้ำตาเอ่อล้นพ่นเรื่องส่วนตัว แต่ไม่ตรงเป้าหมายของคำถาม

                หากเทียบกิจกรรมถามตอบในเวทีประกวดนางงามในยุคนี้เข้ากับขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็จะเห็นว่าใกล้เคียงกับการ “เรียกร้องสิทธิ” ให้สังคมตระหนักรู้ถึงปัญหา แล้วเกิดความรู้สึกร่วมไปกับความทุกข์ทรมานของกลุ่มเสี่ยงเปราะบางเจ้าของปัญหา แล้วเกิดแรงบันดาลใจลุกขึ้นมาหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

                การพูดถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนเหล่านี้มีมิติที่สำคัญอยู่ 2 ประการ คือ

  1. ควรให้ “เจ้าของปัญหา” นั้นพูดเรื่องของตัวเอง เสนอเองว่าต้องการอะไร อยากให้แก้ปัญหาอย่างไร โดยไม่ต้องรอให้ผู้มีอำนาจมาคิดแทน แล้วยัดเยียดวิธีการแก้ไขแบบ “สงเคราะห์” โดยไม่สนใจความต้องการและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเจ้าของปัญหา   แต่แนวทางแรกนี้มีปัญหาใหญ่ คือ สังคมมักไม่สนใจเสียงของคนเหล่านี้ เพราะมิได้มีเสน่ห์ดึงดูดให้มองหรือติดตามฟัง ต่างจากการพูดของคนดังอย่าง ดารา นักการเมือง หรือนางงาม
  2. การให้ “คนเสียงดัง” พูดเพื่อขยายเสียงของเจ้าของปัญหา ดึงดูดให้สังคมรับฟังปัญหาของคนที่ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย สนับสนุนให้สังคมเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาของคนอื่นในลักษณะคล้อยตามหรือเห็นดีเห็นงามไปกับ ไอดอลคนดังผู้สร้างแรงบันดาลใจให้สังคม  แต่แนวทางนี้ก็มีความเสี่ยงหากคนดังไม่เข้าใจปัญหาแล้วเสนอทางแก้ไขที่ไม่ตรงความต้องการเจ้าของปัญหา หรือทำให้เกิดการลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพิ่มเติม หรือทำให้ต้องรอคอยการบริจาคสงเคราะห์ไปตลอด

องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้งหลายได้รับความร่วมมือจากคนดังเพื่อส่งเสียงไปยังสังคม เช่น คุณปูไปรยา แห่ง UNHCR ที่ทำให้เห็นความสำคัญของปัญหาผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีการประหัตประหารเข้ามาหลบภัยและต้องการหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและการสนับสนุนงบประมาณจากคนทั่วโลกรวมถึงคนไทย

กลับมาที่เวทีประกวดก็จะพบว่ามีนางงามหลายท่านได้ลุกขึ้นมาพูดในฐานะ “เจ้าของปัญหา” เช่น นางงามสเปนที่ยืนหยัดเรื่องความงดงามตามอัตลักษณ์ และเพศสภาพของตนในฐานะผู้หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์ส   หรืออีกหลายท่านที่เคยเผชิญการล้อเลียน หมิ่นประมาท คุกคาม ก็ได้แสดงจุดยืนและเรียกร้องให้เพื่อนผู้หญิงทุกคนลุกขึ้นสู้  ก็นับเป็นอีกคุณค่าที่เกิดจากการลงทุนจัดประกวดยิ่งใหญ่และถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การตอบคำถามที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเฉพาะตัวของนางงามแต่ละคน  ยกตัวอย่างผู้ชนะในปีนี้อย่าง นางงามฟิลิปปินส์ ที่เหมือนจะเป็นเรื่องประสบการณ์ส่วนตัว แต่การแสดงออกของนางงามนั้นแสดงให้เห็น “กึ๋น” ที่มองทะลุเจตนารมณ์เบื้องหลังคำถามได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

เธอตอบคำถามว่าประสบการณ์ใดในชีวิตที่สร้างบทเรียนให้กับเธอ โดยมองออกไปยังเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ในภาวะยากจน แล้วเปลี่ยนเป็นความเห็นอกเห็นใจ พัฒนาให้กลายเป็นพลังอยากเปลี่ยนแปลงโลก

และมันจะเปลี่ยนได้มากขึ้นเมื่อเธอได้เป็นมิสยูนิเวิร์ส

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
หากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็น สังคมทุนนิยม องค์กร สถาบัน จารีต ต่างๆ เสื่อมลง คนสัมพันธ์ผ่านระบบตลาด แคร์คนอื่นน้อยลง ขาดสำนึกร่วมในความอยุติธรรมทางสังคม หรือ มีสำนึกเชิง “ปัจเจก” มากขึ้นเรื่อยๆ
ทศพล ทรรศนพรรณ
อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การลดช่องว่าง ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองมาจัดการเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ สร้างความมั่นคงขจัดความขัดแย้งด้วยแนวทางเจือจานบนพื้นฐานของภราดรภาพป้องกันการลุกฮือของมวลชน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
มหกรรมฟุตบอลโลกจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของกองเชียร์ฝ่ายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้อพยพ เนื่องทีมแชมป์โลกเป็นการรวมตัวของนักฟุตบอลที่มิได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส (พูดอย่างถึงที่สุด คือ มิได้มีบุพการีที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศส)
ทศพล ทรรศนพรรณ
พอมาอยู่ที่ยุโรป ถึงได้รู้ว่า อิตาลี กับ สเปน มันไม่แคร์เรื่อง ขาดดุลตัวเลขเลย เพราะมันเอาไปลงทุนไว้กับคน รอถอนทุนคืน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นคาตาลุนญ่า ราชอาณาจักรสเปน จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2015 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสเปนประมาณ 2 เดือน ความตื่นตัวของประชาชนสูงเพราะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผลิตบนหลักการอย่างหนึ่ง เช่น ทำกำไรจากกิจการอะไรที่ให้เงินเยอะ ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมบริโภคบนหลักการอีกอย่างหนึ่ง เช่น การอุดหนุนสินค้าที่โฆษณาว่าห่วงใยสังคม หรือแสดงออกว่าเสพกิจกรรมการกุศลอาการ พร่องความดี
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทศพล ทรรศนพรรณ
            ความสัตย์ซื่อและยึดถือกฎหมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า            มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ว่า คำสั่งทั้งหลายของรัฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด