Skip to main content

การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันของมนุษย์ปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานควบคู่กับทุกสังคม   แต่ก็มีหลายอารยธรรมพยายามสร้างขอบเขตและแนวทางในการควบคุมความเสียหายของการใช้กำลังมิให้กระทบกระเทือนชีวิตผู้คน ทรัพย์สิน และสังคม มากเกินกว่าจะธำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ไว้ได้

            หลักการสำคัญของกฎหมายสงครามที่รัฐไทยต้องผูกพันตามพันธกรณีระหว่างประเทศมีอยู่ 2 ประการสำคัญ คือ การแบ่งแยกเป้าหมายทางการทหารออกจากเป้าหมายพลเรือน   การโจมตีเป้าหมายที่มีความจำเป็นทางการทหารเท่านั้น

            หากแต่หลักการตามกฎหมายสงครามนั้นจะนำมาใช้กับความขัดแย้งที่มีลักษณะขัดกันอย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น การทำสงครามระหว่างรัฐ หรือสงครามภายในประเทศที่มีลักษณะนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศ หรือสงครามภายในที่มีคู่ขัดแย้งเป็นกองกำลังที่ชัดเจน   เพราะฉะนั้นกองกำลังที่ขัดกับรัฐต้องมีสถานะตามกฎหมายสงครามก่อน จึงจะถือเป็นการปะทะกันตามกฎหมายสงคราม

          หลักการได้สถานะเป็นกองกำลังที่เข้าตามลักษณะกฎหมายสงคราม มีดังต่อไปนี้  เป็นกองกำลังติดอาวุธที่มีความสามารถในการบังคับบัญชา   กองกำลังสามารถควบคุมพื้นที่ของตนได้   กองกำลังต้องสามารถกำหนดสถานะของตนเองได้ชัดเจน   และหากกองกำลังนั้นจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน หรือที่เรียกกันว่า “การกำหนดอนาคตตนเอง” เพื่อตั้งรัฐใหม่นั้น จะต้องมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกประการ คือ ต้องเป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่ของตนเอง

            ความขัดแย้งภายในประเทศไทยที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็น “สงครามกลางเมืองนั้น” ยังไม่เข้าลักษณะตาม กฎหมายสงครามระหว่างประเทศก็จริง   แต่ก็อาจนำหลักการใช้กำลังปะทะ “Rule of Engagement” มาเทียบเคียงใช้ได้บางส่วน   ทั้งนี้ต้องมีการใช้หลัก “นิติธรรม” เป็นกรอบการควบคุมการใช้อำนาจ และกำลังมิให้นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ประชาชนทุกคนพึงมีตลอดเวลาไม่ว่ายามสงคราม หรือยามสงบ

  1. การแบ่งแยกเป้าหมายทางการทหารออกจากเป้าหมายพลเรือน   หลักการนี้มุ่งปกป้องพลเรือนซึ่งถือเป็นประชาชนธรรมดามิให้ได้รับผลกระทบจากการใช้กำลังเข้าปะทะกันของกองกำลังทั้งสอง   ไม่ว่าจะเป็นการ ห้ามโจมตีเป้าหมายพลเรือน เช่น บ้านเรือน เส้นทางคมนาคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หรือทำร้ายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน   ห้ามใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างกว้างขวางไม่อาจจำกัดผลได้ เช่น การใช้ระเบิดที่มีสะเก็ดกระจายในวงกว้าง กับระเบิดสังหาร กระสุนที่แตกกระจาย หรือการใช้เครื่องบินโปรยสารพิษทางอากาศ   เป็นต้น   ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการจำกัดวงความเสียหายเพียงเป้าหมายทางการรบ แต่ไม่กระทบสิทธิของประชาชน
  2. การโจมตีที่มีความจำเป็นทางการทหารเท่านั้น   หลักการนี้มุ่งลดความเสียหายที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินทั้งของประชาชน และ”พลรบ”   เพราะสุดท้าย “คนเหมือนกัน” ที่ต้อง ตาย และได้รับความเสียหายจากการใช้กำลังปะทะกัน   ไม่ว่าจะเป็น “พลเรือน” หรือ “พลรบ” ก็ตาม   อาทิ   การโจมตีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์เท่านั้น เช่น ยิงยุทโธปกรณ์ และผู้ที่จับอาวุธเข้าปะทะกัน ไม่ทำลายทหาร หรือกองกำลังที่พักรบ บาดเจ็บอยู่ หรือโรงพยาบาล รถลำเลียงผู้บาดเจ็บ   การไม่ใช้อาวุธที่ทำให้เกิดการทำลายร้างรุนแรง เช่น ระเบิดเพลิงที่แผดเผาร่างกายทรัพย์สิน อาวุธชีวภาพหรือกัมมันตรังสีที่ตกค้างยาวนาน การใช้กระสุนบดขยี้เนื้อหรือทำลายอวัยวะอย่างรุนแรง   เป็นต้น   ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีการจำกัดวงความเสียหายมิให้รุนแรงเกินกว่าจะเยียวยาสิทธิของประชาชน และทหารทั้งหลายได้ 

เป้าหมาย ของกฎหมายสงคราม ก็คือ การรักษามนุษยธรรมที่มนุษย์พึงมีต่อกันแม้จะขัดแย้งกัน   เนื่องจากสุดท้ายแล้วไม่มีใครชนะเด็ดขาด และเสมอไป   จึงต้องรักษาความเป็นคนไว้เพื่อเปิดช่องทางให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์เพื่อสร้างสันติภาพต่อไปภายหลัง

ส่วนมาตรการ “หนักไปหาเบา” ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งถูกกล่าวถึงในคำพิพากษาศาลแพ่งเกี่ยวกับแนวทางจัดการการชุมนุมให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นก็ต้องสอดคล้องกับหลักการข้างต้น ทั้งเรื่องแบ่งแยกเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ต้องจัดการ ออกจากประชาชนผู้บริสุทธิ์   รวมถึงการพยายามลดความเสียหายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

แนวทางการจัดการกับการชุมนุมที่ปรากฏในต่างประเทศมีลักษณะไล่ระดับไป “จากเบาไปหาหนัก” นั้น อาจนำมาเทียบเคียง ปรับใช้กับการชุมนุมในประเทศไทยได้หลายประการ   ดังมีขั้นตอนต่อไปนี้

  • การจำกัดจำนวนคนที่จะเข้าร่วมชุมนุมรายใหม่ มิให้เข้าร่วมการชุมนุมได้ง่าย 
  • การเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมเก่าออกไปเสมอ โดยไม่มีการขู่ว่าจะใช้กำลังสลายที่จะยิ่งปลุกเร้าอารมณ์
  • การปิดห้องน้ำ และสาธารณูปโภคภายในการชุมนุมแต่จัดให้มีนอกเขตการชุมนุมอย่างสะดวก  
  • การห้ามลำเลียงอาหารน้ำดื่มเข้าสู่บริเวณการชุมนุม แต่จัดให้มีมากมายรอบการชุมนุม  
  • การใช้กระบวนการทางจิตวิทยาเกลี้ยกล่อมโดยญาติพี่น้อง   มิใช่เพียงให้ข้อมูลผ่านสื่อของรัฐ
  • การใช้น้ำสีฉีดสลายการชุมนุม เพื่อให้สีติดผู้ชุมนุมสลายตัวออกไป   และอาจจับกุมตัวได้ภายหลัง
  • การใช้เสียง หรือเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อก่อกวนโสตประสาท และการดำรงชีวิตในที่ชุมนุม  
  • ก่อนที่จะไปถึงการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลัง อาทิ แก๊ซน้ำตา หรือใช้กำลังคนผลักดัน จับกุม

ขั้นตอน การใช้กำลังสลายการชุมนุมนี้เองที่อาจปรับเอาแนวทางการใช้กำลังของกฎหมายสงครามมาใช้ได้ในเชิงวิธีการที่รัฐจะใช้สลายการชุมนุม

            หลักการใหญ่ที่สำคัญกว่า คือ “หลักนิติธรรม” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกฎหมายสงคราม หรือกฎหมายอื่นๆ ที่ย้ำเสมอว่าหากรัฐจะใช้อำนาจนั้นจะต้องเป็นไปโดยชอบธรรม กล่าวคือ คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกประติบัติกับคนกลุ่มใดทั้งสิ้น

 

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
หากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็น สังคมทุนนิยม องค์กร สถาบัน จารีต ต่างๆ เสื่อมลง คนสัมพันธ์ผ่านระบบตลาด แคร์คนอื่นน้อยลง ขาดสำนึกร่วมในความอยุติธรรมทางสังคม หรือ มีสำนึกเชิง “ปัจเจก” มากขึ้นเรื่อยๆ
ทศพล ทรรศนพรรณ
อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การลดช่องว่าง ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองมาจัดการเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ สร้างความมั่นคงขจัดความขัดแย้งด้วยแนวทางเจือจานบนพื้นฐานของภราดรภาพป้องกันการลุกฮือของมวลชน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
มหกรรมฟุตบอลโลกจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของกองเชียร์ฝ่ายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้อพยพ เนื่องทีมแชมป์โลกเป็นการรวมตัวของนักฟุตบอลที่มิได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส (พูดอย่างถึงที่สุด คือ มิได้มีบุพการีที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศส)
ทศพล ทรรศนพรรณ
พอมาอยู่ที่ยุโรป ถึงได้รู้ว่า อิตาลี กับ สเปน มันไม่แคร์เรื่อง ขาดดุลตัวเลขเลย เพราะมันเอาไปลงทุนไว้กับคน รอถอนทุนคืน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นคาตาลุนญ่า ราชอาณาจักรสเปน จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2015 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสเปนประมาณ 2 เดือน ความตื่นตัวของประชาชนสูงเพราะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผลิตบนหลักการอย่างหนึ่ง เช่น ทำกำไรจากกิจการอะไรที่ให้เงินเยอะ ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมบริโภคบนหลักการอีกอย่างหนึ่ง เช่น การอุดหนุนสินค้าที่โฆษณาว่าห่วงใยสังคม หรือแสดงออกว่าเสพกิจกรรมการกุศลอาการ พร่องความดี
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทศพล ทรรศนพรรณ
            ความสัตย์ซื่อและยึดถือกฎหมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า            มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ว่า คำสั่งทั้งหลายของรัฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด