Skip to main content

เกษตรกรรมถือเป็นวิถีการผลิตที่อยู่ควบคู่กับชีวิตคนไทยจำนวนไม่น้อยมาเป็นเวลานาน   แต่ในปัจจุบันนี้การผลิตในวิถีทางเดิมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่คนในสังคมไทยมิได้ตระหนักรู้    ความคิดและจินตนาการเดิมเกี่ยวกับเกษตรกรรมที่มีทุ่งนาสีเขียว ชาวนารวมตัวกันลงแขกเกี่ยวข้าว หรือทำการผลิตอย่างหลากหลายในพื้นที่เล็กๆของตนได้เปลี่ยนไปแล้ว

            จากการลงพื้นที่ทำการวิจัยภาคสนามเกี่ยวกับ “เกษตรพันธะสัญญา” เพื่อในนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พบว่า   ชีวิตของเกษตรกรจำนวนมากได้เข้าไปข้องเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมแบบพันธะสัญญา   กล่าวคือ   ทำการเกษตรที่ผูกพัน พึ่งพิง หรือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น พาณิชย์เกษตร หรืออุตสาหกรรมเกษตร   ในรูปแบบของโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร   ร้านขายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร   การปล่อยสินเชื่อหลากหลายชนิดให้เกษตรกร   หรือแม้กระทั่งการสร้างเครือข่ายนายหน้าธุรกิจเกษตรกับตัวเกษตรกร ในหลายพื้นที่   ข้อสังเกตที่สำคัญอีกประการ คือ เกษตรพันธะสัญญาได้ครอบคลุมไปยังหลากหลายชนิดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น สัตว์บก สัตว์น้ำ หรือพืชผลไร่ พืชสวน รวมถึงข้าว

            อย่างที่เราทราบกันดีว่า คุณภาพชีวิตของคน ขึ้นอยู่กับคุณภาพอาหาร และผู้ที่ผลิตอาหารให้เรารับประทานก็คือภาคการเกษตร ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่าได้เปลี่ยนไปแล้ว   จากเดิมเส้นทางของอาหารที่เข้าปากเราอยู่ที่เกษตรกรซึ่งอยู่ในท้องถิ่นใกล้เคียงกับถิ่นที่อยู่ของเรา   ปัจจุบันอาหารมาจากสายการผลิตขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่เป็นผู้วางแผนควบคุมการผลิต ผ่าน “พันธะสัญญา” ที่มีกับเกษตรกร แล้วลำเลียงเข้าสู่สายพานการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร   ก่อนที่จะมาวางในห้างร้านตลาด หรือเข้าสู่ห้องครัวของร้านอาหารที่เราไปนั่งกินกันเป็นประจำ   ภาพที่สะท้อนออกมาคือ ธุรกิจการเกษตรได้ผูกขาดชีวิตเกษตรกรในชนบท และชีวิตผู้บริโภคในเมือง ไว้อยู่หมัดแล้ว   (เว้นเพียงเครือข่ายผู้บริโภคและเกษตรกรรมทางเลือก ที่พูดกันจริงๆ ก็คือ คนส่วนน้อยมากๆในสังคม)

วิธีการ   “ผูกขาดชีวิต”   ประกอบด้วยแนวทางสำคัญอยู่ 5 ประการดังต่อไปนี้

  1. ผูกขาดการถือครองปัจจัยการผลิต       การผลิตทางการเกษตรจำเป็นต้องมีปัจจัยการผลิตต่างๆเข้ามาเป็นฐานเพื่อทำการผลิต อาทิ   ที่ดิน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ตัวอ่อน อาหาร หรือทรัพยากรต่างๆที่เข้ามาเกื้อหนุนให้มีการเพาะปลูกหรือปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิผล   ดังนั้นธุรกิจการเกษตรจึงต้องสร้างข้อผูกพันกับเกษตรกรว่า   ปัจจัยการผลิตทั้งหลายจะมีธุรกิจการเกษตรจัดหาให้เกษตรกร   ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำกิน หากไม่มีก็ให้เงินไปเช่า หรือให้เช่า การให้สินเชื่อเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน อาหาร หรือปุ๋ยที่เกษตรกรทั้งหลายจะเข้าถึงได้ด้วยเงินและสินเชื่อ   ทั้งนี้การกำหนดราคาหรืออำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิตจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา อาทิ ที่ดินจะต้องมีการจัดสรรหรือปฏิรูปเพื่อทำกิน ไม่ปล่อยให้มีการถือครองที่ดินเพื่อเก็งกำไรโดยมิได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง       เมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย หรืออาหารสัตว์จะต้องไม่อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันจะมีผลต่อการบิดเบือนตลาดสินค้าเกษตรทำให้เกษตรกรต้องซื้อปัจจัยผลิตในราคาแพง และท้ายที่สุดจะทำให้อาหารที่มาจากสินค้าเกษตรต้องมีราคาแพงตามไปด้วย   การไม่ปฏิรูประบบถือครองสิทธิในปัจจัยการผลิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการผูกขาดชีวิตของเกษตรกร
  2. การผูกขาดสิทธิในทรัพยากรสาธารณะ การดำรงอยู่ของภาคการเกษตรจำเป็นต้องอาศัยฐานทรัพยากรที่ยิ่งใหญ่ คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   เนื่องจากปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยทางธรรมชาติ   เช่น   ดิน น้ำ  อากาศ  และความหลากหลายทางชีวภาพ   สัจธรรมในเรื่องนี้ธุรกิจการเกษตรจึงต้องสร้างแนวร่วมกับภาครัฐที่ดูแลเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพยากรต่างๆ ให้เหนือกว่าเกษตรกรทั้งหลายซึ่งเป็นประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน หากเปิดโอกาสให้ธุรกิจเกษตรเข้ามามีบทบาทก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเกษตรกรในระบบพันธะสัญญาเองในแง่ของการใช้ประโยชน์เพื่อผลิตในระบบเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว แต่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะในแง่ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในทรัพยากรเหล่านั้นอันเป็นมรดกร่วมกันของคนทั้งชาติและลูกหลานของตนในอนาคต    นอกจากนี้ยังมีทรัพยากรสาธารณะอีกส่วนหนึ่งที่ต้องปิดโอกาสเกษตรกรให้ร่วมตัดสินใจเพื่อจัดสรรแบ่งปันน้อยลง   นั่นก็คือ   ทรัพยากรของรัฐ อันได้แก่ งบประมาณ กลไก บุคคลากรของภาครัฐและบริการสาธารณะ   ทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญให้แก่เกษตรกรผู้ด้อยโอกาสในการพัฒนาอันเนื่องมาจากการขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและขาดอำนาจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง   ดังนั้นการลดโอกาสเข้ามีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะน้อยลง ก็ย่อมลดโอกาสให้เกษตรกรพัฒนาตนเองมากขึ้นนั่นเอง   ดังปรากฏการรวมตัวของเกษตรกรใต้พันธะสัญญาของธุรกิจเกษตรเป็นสมาคมต่างๆ แต่มิได้ทำงานเพื่อเกษตรกรรายย่อย   หรือการพยายามส่งคนเข้าไปนั่งในสภาเกษตรกรที่กำลังจะตั้ง
  3. การผลักภาระความเสี่ยงในกระบวนการเกษตรกรรมให้แก่เกษตรกร          การประกอบธุรกิจการเกษตรในปัจจุบัน บรรษัทการเกษตรทั้งหลายไม่รวมเอาการผลิตทุกขั้นตอนมาอยู่ที่ตนเอง แต่จะพยายามผลักขั้นตอนต่างๆที่มีความเสี่ยงหรือต้องลงทุนไปให้เกษตรกรแบกรับภาระเสีย ตั้งแต่ การลงทุนปรับปรุงพื้นที่ผลิต การมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ให้ได้มาตรฐาน หรือแม้กระทั่งราคาสินค้าที่ผันผวนตามราคาตลาดโลก   ดังนั้นความมั่งคงในชีวิตของเกษตรกรจึงอาจหายไปได้ด้วย 2 ทาง คือ  

1) การทำให้เกษตรกรไม่มีปัจจัยการดำรงชีพโดยตรง  ผ่านการสร้างระบบผูกขาดในการครอบครองผลผลิตที่ตนเองผลิตได้ เนื่องจากเกษตรกรจำเป็นต้องขายออกไปเพื่อแลกเงินทั้งหมด   นั่นก็คือ การทำลายอธิปไตยเหนืออาหาร   ให้เกษตรกรตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำของกลุ่มทุนที่ดึงดูดเอาผลผลิตทั้งหมดไปจากเกษตรกรอันเนื่องมาจากภาวะรุมเร้าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สิน ที่เกิดจากการกู้ยืมเพื่อนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือค่าเช่าปัจจัยการผลิตต่างๆ   รวมไปถึงการตกอยู่ภายใต้ระบบเกษตรพันธะสัญญาที่มีลักษณะผูกขาดขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม

2) การทำให้เกษตรกรไม่มีปัจจัยการดำรงชีพทางอ้อม  ผ่านการบิดเบือนระบบประกันรายได้จากการซื้อขายผลผลิตการเกษตรกร ด้วยมาตรการแทรกแซงของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น   การประกันราคาสินค้า   การกำหนดปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรล่วงหน้า   การรับซื้อรับจำนำสินค้าในราคาที่เหมาะสม  ซึ่งธุรกิจการเกษตรทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นเข้าไปมีเอี่ยวด้วยทั้งสิ้น   และในบางกรณีหากเกษตรกรประสบภัยพิบัติธรรมชาติก็อาจมีมาตรการช่วยเหลือโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นดอกเบี้ยหนี้สิน หรือจัดระบบการเงินเข้าไปอุดหนุนเกษตรกรที่ประสบปัญหา   แต่ไม่อยู่ในรูปแบบสหกรณ์ หรือสถาบันการเงินภาคประชาชน   กลายเป็นภาคธุรกิจเข้ามาแทน

  1. การทำลายวิถีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน การเกษตรเป็นวิถีชีวิตที่ต้องอาศัยการสืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษสู่   ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาทางการผลิต การเก็บรักษาพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ หรือแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน   นโยบายหรือโครงการใดที่รัฐหรือเอกชนริเริ่มในระบบพันธะสัญญาจึงทำลายความสัมพันธ์เดิมของคนในชุมชน แต่เริ่มความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ธุรกิจการเกษตร กับ เกษตรกรรายย่อย แทน  ดังที่รู้จักกันในนาม   “เกษตรกรรมไร้ญาติ”   เพราะต้องไปผูกญาติกับบรรษัทแทนในระบบอุปถัมภ์ใหม่ ความต่อเนื่องของวัฒนธรรมชุมชนอันจะเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของชุมชนและเกษตรกรจึงหายไป
  2. การผูกขาดข้อมูลข่าวสาร   ข้อมูลทั้งหมดได้ถูกเปลี่ยนมือจากเกษตรกรในวิถีเดิมไปสู่ธุรกิจการเกษตรที่นำเข้าเทคโนโลยีใหม่มาสู่ทุกพื้นที่การผลิต   การบิดเบือนปิดบังข้อมูล ต้นทุนและความเสี่ยงด้านต่างๆ อันทำให้เกษตรกรต้องก้มหน้ารับกรรมเมื่อล้มเหลว ก็ด้วยการขาดข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ว่า เกษตรกรรมที่เลือกทำ มันรวยจริงหรือไม่ หรือได้ 3 ปี ที่เหลือ “เจ๊ง”

ผู้บริโภคทั้งหลายจึงพึงตระหนักว่า   “ราคา” และ “คุณภาพ” ของอาหารตกอยู่ในการควบคุมของธุรกิจการเกษตรแล้วทั้งสิ้น   หากเราต้องการ ราคาและคุณภาพอาหารที่ดี   เราก็ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากเกษตรกรแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป   แต่เราต้องแสวงหาแนวทางในการสื่อสารกับธุรกิจการเกษตรเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ระหว่าง ผู้บริโภค กับ ธุรกิจการเกษตร   เนื่องจากธุรกิจเกษตรได้ผูกขาดชีวิตของเกษตรกร และผู้บริโภคในเมืองไว้เกือบหมดแล้ว

เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
สิ่งที่ขับเคลื่อนโลก คือ เทคโนโลยี การทหาร การค้า และการแพร่ความคิด ความเชื่อ ศาสนา
ทศพล ทรรศนพรรณ
หลังจากรัฐบาล คสช.
ทศพล ทรรศนพรรณ
รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงไซเบอร์” ได้กล่าวอ้างว่า ในปัจจุบันมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม และมีความรุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของบุคคลและชาติ ซึ่งรวมถึงความมั่น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ในอีก 10 หรือ 100 ปี โครงการร่วมของ Google และ Facebook ในการปล่อยโดรนส์และบอลลูน เพื่อส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล อาจถูกนับเป็นจุดเปลี่ยนประวัติศาสตร์โลกเนื่องจากโครงการนี้สร้างผลกระทบมหาศาลไม่ว่าจะในแง่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ หรือ "การข่าวกรอง" ในการเมืองระหว่างประเทศ
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจจะใช้ เศรษฐกิจดิจิตอล เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ   วาระแบบนี้เคยเกิดขึ้นกับยุโรปที่เห็นสัญญาณการล่มของเศรษฐกิจมาตั้งแต่สองทศวรรษก่อนใน Banglemann Report on Digital Economy ซึ่งล้าสมัยไปเยอะแล้ว และนักยุทธศาสตร์รุ่นหลังก็ได้ก้าวข้ามวิธีคิดของเขาไปแล้ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
สำหรับคนที่ทำงานประจำต้องเริ่มต้นสัปดาห์ในวันจันทร์อย่างเบื่อหน่าย จนอยากจะหลีกลี้หนีหน้าไปจากสำนักงาน อาจจะเคยบ่นหรือฟังคำบ่นของเพื่อนร่วมชะตากรรมมาไม่น้อย จนถึงขั้นมีบริษัทรับสมัครงานนำมาเป็นคำโปรยว่า หากเบื่อวันจันทร์นักก็หางานใหม่ทำเถอะ   แต่ถ้าย้ายไปแล้วก็ไม่หาย ทำไปหลายปีก็ยังเบื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
ทำไม สิทธิการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องพื้นฐานของรัฐ?คงต้องตอบโดยใช้ความรู้อย่างน้อยสองชุด คือ1) กฎหมายเรื่องความเป็น "คน"2) เศรษฐศาสตร์การเมือง เรื่อง เลือกตั้ง
ทศพล ทรรศนพรรณ
จะคืนความสุขให้คนไทย ไม่ง่ายนะครับปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้ประชาชนรู้มากขึ้น เห็นข่าวการใช้เงินหรือยุทธศาสตร์ที่วางไว้ยาวนานโดยผู้สูงอายุก็พลอยทำให้คนรุ่นใหม่เครียดมาก  
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับสารพัดโหรที่ออกมาทำนายการเมือง และชะตาประเทศกันอยู่เป็นประจำ แต่บทความนี้จะลองพาไปท่องสังคมไทยที่มีกลิ่นไอของไสยศาสตร์เจือปนอยู่แทบทุกหัวระแหง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ในปีที่ผ่านมา กระแสที่มาแรงในประเทศไทยและมีอิทธิพลมานานในประเทศพัฒนาแล้วก็คือ Slow Life วิถีการใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้า ละเมียดความสุขจากกิจกรรมการบริโภค และผ่อนคลาย แล้วขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆในชีวิตประจำวัน
ทศพล ทรรศนพรรณ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติ (สกว.) กำหนดหัวข้อจับ “ตามหาอำนาจจีน รัสเซีย สหรัฐอเมริกา” โดยประเทศสหรัฐอเมริกา ให้มุ่งเน้นในประเด็นความมั่นคง/สิทธิมนุษยชนในสหรัฐอเมริกา/TPP/อุตสาหกรรมอาวุธ