Skip to main content

มาตรการทั่วไปที่ใช้ในการประกันความอิ่มท้องของประชากรในประเทศตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติที่รัฐบาลไทยประกาศสมาทานยึดถือนั้น ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเรื่องสิทธิด้านอาหาร นั้นหมายถึงรัฐไทยต้องมีมาตรการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิประกอบด้วย กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโยบาย   และกรอบทางสถาบัน    ซึ่งกรอบทั้งสามนี้จะครอบคลุมมาตรการทุกประเด็นในเบื้องต้น


กรอบทางกฎหมายที่สำคัญในการคุ้มครองสิทธิด้านอาหาร คือ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับสิทธิด้านอาหาร อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน   และกติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นต้น   ทั้งนี้การบังคับใช้สิทธิภายในประเทศยังต้องอาศัยการออกกฎหมายภายในมารับรองสิทธิโดยตรง หรือการรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศด้วย  ซึ่งรัฐไทยมีพันธกรณีต่อตราสารทั้งสองทั้งในลักษณะกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศและสนธิสัญญา 


หากลองศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายและประสบการณ์ในต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิด้านอาหาร มีตัวอย่างที่น่าสนใจดังต่อไปนี้


ประเทศที่มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิด้านอาหารอย่างชัดแจ้ง และเข้มแข็ง คือ ประเทศอัฟริกาใต้ ซึ่งมีผลผูกพันทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมถึงหน่วยงานของรัฐทุกระดับ   อันมีผลให้สิทธิด้านอาหารมีผลบังคับใช้ได้ในชั้นศาล   ส่วนประเทศที่รับรองสิทธิด้านอาหารในฐานะเป็นสิทธิที่เกี่ยวข้องกับสิทธิด้านอื่นๆ ได้แก่   ประเทศบราซิล ที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิด้านอาหารในฐานะสิทธิทางสังคมในการดำรงชีพที่ดีของประชาชน   และยังได้ประกันสิทธิในการรับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต   ส่วนประเทศอูกันดาได้รับรองสิทธิด้านอาหารในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และสังคม อย่างเป็นธรรม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชน   ส่วนในประเทศอินเดียสิทธิด้านอาหารได้รับการรับรองในฐานะที่เป็นปัจจัยสำคัญของสิทธิในการมีชีวิต   ในขณะที่รัฐธรรมนูญของประเทศแคนาดามิได้รับรองสิทธิด้านอาหารโดยตรง   แต่ศาลสูงแคนาดาได้ตีความกฎบัตรสิทธิและเสรีภาพ ค.ศ.1982 ว่า “สิทธิด้านอาหารของชนพื้นเมืองชาวอะบอริจิ้นที่มีวัฒนธรรมการบริโภคที่แตกต่างออกไปต้องได้รับการคุ้มครอง”   แม้หลายประเทศจะยังมิได้รับรองสิทธิด้านอาหารไว้ในรัฐธรรมนูญของตนอย่างชัดแจ้งก็ตาม   แต่การให้สัตยาบันของรัฐต่อสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ย่อมมีผลให้รัฐต้องบังคับใช้สิทธิด้านอาหารภายในประเทศตามพันธกรณีที่กติกากำหนด


นอกจากตัวบทกฎหมายแล้ว กรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นจริง กฎหมายได้รับรองสิทธิด้านอาหารของประชาชนจริงหรือไม่ ปรากฏในคำพิพากษาและการผลักดันนโยบายตามแนวทางสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน ดังนี้

คดีศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า สิทธิด้านอาหารอาหารมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายได้แก่   คดีศาลสูงอินเดีย มีคำสั่งให้รัฐบาลต้องคุ้มครองสิทธิด้านอาหารของประชาชน   โดยรัฐต้องมีมาตรการประกันสิทธิของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อย่างเหมาะสม   รัฐต้องควบคุมให้ระบบแจกจ่ายอาหารทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   รวมทั้งต้องจัดให้มีโครงการทำงานแลกอาหาร และโครงการความช่วยเหลือด้านอาหารโดยตรง เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน   การจัดให้ประชาชนสามารถซื้อหาอาหารราคาถูกได้ โดยศาลแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นสองคนเพื่อทำหน้าที่ตรวจตราการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารตามคำพิพากษา     กรณี มลรัฐควีเบคแห่งแคนาดาได้ออก พรบ.แก้ไขความยากจนที่มีสิทธิด้านอาหารเป็นแกนกลาง และแผนปฏิบัติการความมั่นคงด้านอาหาร ตามนัยยะที่ศาลสูงได้ตีความไว้       รวมถึง กรณีรัฐสภาแห่งอัฟริกาใต้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลอัฟริกาใต้ออกกฎหมายความมั่นคงด้านอาหารให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หากไม่สำเร็จรัฐบาลต้องรับผิดในฐานะที่ไม่สามารถปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญได้


นอกจากความเข้มข้นทางกฎหมายแล้ว   ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารก็มีความสำคัญในการประกันสิทธิด้านอาหารของบุคคลในทางปฏิบัติด้วย   ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึง   หลักนิติธรรม   หลักธรรมาภิบาล   หลักความรับผิด   และการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วย

การบังคับใช้สิทธิด้านอาหารจึงต้องครอบคลุมไปถึงการใช้อำนาจอธิปไตยของ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ    ดังนั้นเราอาจสังเกตได้ว่าการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารนอกจากจะอยู่ในรูปแบบ    กฎหมายจากฝ่านิติบัญญัติ   และคำตัดสินของฝ่ายตุลาการแล้ว   ยังปรากฏในรูปแบบ สถาบัน และนโยบายสาธารณะ ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ด้วย
ทั้งนี้ กรอบทางนโยบายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้สิทธิด้านอาหาร ต้องมีลักษณะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคคล หรือกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้บุคคลเหล่านี้มีศักยภาพในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ   และต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และตรวจสอบการดำเนินนโยบายด้วย   กรอบในการพิจารณานโยบายต่าง ๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ หลักการห้ามเลือกประติบัติ   หลักความสัมพันธ์และพึ่งพิงกันระหว่างสิทธิด้านอาหารกับสิทธิอื่น ๆ   และหลักการแบ่งแยกไม่ได้ระหว่างสิทธิด้านอาหารกับสิทธิอื่น ๆ เช่น สิทธิในการมีชีวิต

เมื่อมีกฎหมาย และนโยบายที่ส่งเสริมการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารแล้ว   ก็ต้องมีสถาบันเพื่อตรวจตราการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์   รวมถึงตรวจตราการดำเนินนโยบายและโครงการให้เป็นไปตามที่วางเป้าหมายไว้   ดังนั้นจึงอาจมีการจัดตั้งสถาบันขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น   โดยที่สถาบันที่มาตรวจตรานี้อาจแบ่งออกได้เป็นสองลักษณะ คือ
1)   สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวคือ สถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจตราการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนภายในประเทศทั้งหมดโดยมิได้เฉพาะเจาะจงลงไปที่สิทธิใดสิทธิหนึ่ง
2)   สถาบันสิทธิด้านอาหาร   กล่าวคือ   สถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่ตรวจตราการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารโดยเฉพาะ

กรอบทางสถาบันที่เกี่ยวข้องกับการตรวจตรา การบังคับใช้สิทธิด้านอาหารได้แก่   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟริกาใต้ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ   มีอำนาจหน้าที่อย่างอิสระในการรับคำร้องจากปัจเจกชน หรือกลุ่มบุคคล  แล้วทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อทำข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือทำรายงานไปยังรัฐสภาโดยตรง   ซึ่งมีหลายกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งอัฟริกาใต้ได้ทำหน้าที่ตรวจตราว่าคำสั่งของศาลได้รับการตอบสนองโดยฝ่ายบริหารหรือไม่    เช่นเดียวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของอูกันดาที่มีส่วนผลักดันสิทธิด้านอาหารเข้าสู่การสัมมนากำหนดนโยบายของรัฐตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำไปสู่การตระหนักถึงสิทธิด้านอาหารของหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศด้วย   ส่วนในประเทศบราซิลนั้นในขั้นต้นมีเลขาธิการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชน แต่ขาดอำนาจในการปฏิบัติงาน   จึงมีการจัดตั้งทบวงกิจการสาธารณะ (Ministerio Publico) ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนโดยเฉพาะ   องค์กรนี้มีความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย   และริเริ่มมาตรการต่างๆให้รัฐนำไปกำหนดเป็นนโยบาย และจัดตั้งโครงการ  รวมไปถึงร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการปกป้องสิทธิของกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ด้วย เช่น การผลักดันให้รัฐจัดโครงการอาหารในโรงเรียน  โครงการอาหารสำหรับเด็กและชนพื้นเมือง   ในประเทศอินเดียคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนผลักดันประเด็นความขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลสูง   จนในที่สุดศาลตัดสินให้รัฐต้องหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อรองรับกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้านอาหาร

นอกจากสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติที่กล่าวมาแล้ว   ยังมีสถาบันที่ทำหน้าที่ตรวจตราการบังคับใช้สิทธิด้านอาหารโดยตรง อาทิ ผู้แทนพิเศษสิทธิด้านอาหารแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงยุติธรรมของบราซิล   ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจตราการบังคับใช้สิทธิ ทั้งในส่วนนโยบายอาหาร และน้ำ ของทุกภูมิภาค ซึ่งจะทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนของบราซิลด้วย   ส่วนในประเทศอินเดีย ศาลสูงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นสองคน เพื่อลงไปตรวจตราและควบคุมให้รัฐปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลเพื่อขจัดการละเมิดสิทธิด้านอาหารที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้เป็นไปตามคำพิพากษาที่ศาลสูงได้ออกมาบังคับให้รัฐจัดหามาตรการรองรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิด้านอาหาร

กรอบทางกฎหมาย   กรอบทางนโยบาย และกรอบทางสถาบันที่ได้กล่าวไปนั้น   ถือเป็นมาตรการทั่วไปที่สร้างหลักประกันสิทธิด้านอาหารให้แก่ปัจเจกชน   ซึ่งเป็นเพียงเนื้อหาเบื้องต้น หากรัฐไทยที่ต้องการประกาศศักดาเป็นครัวโลก ต้องการขจัดความหิวโหยให้หายไปจากประเทศ    จำต้องเจาะลึกลงสู่มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาที่มีความจำเพาะเจาะจงลงไปในแต่ละประเด็นมากขึ้น   แล้วตรวจสอบว่ามีมาตรการระหว่างประเทศ และภายในประเทศใดบ้างที่ปรากฏอยู่   และศึกษาถึงบทเรียนของการดำเนินมาตรการเหล่านั้น และอุดช่องว่าหรือสร้างมาตรการเสริมให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เท่าที่ทรัพยากรเอื้ออำนวย


สกัดจากงานวิจัย โครงการศึกษาเพื่อจัดทำหลักการประกอบร่างกฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืน 2554

 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี มีการพูดถึงการพัฒนาประเทศโดยใช้เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness - GNH)  มาแทนเป้าหมายด้านการเพิ่ม “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Product - GNP) โดยมีการหยิบยกกรณี ภูฐาน มาพูดกัน   แต่หลังจากที่มีรายงานข่าวสถานการณ์ความเปลี่ยนแ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ทุกประเทศสนใจและให้ความสำคัญมาก จนมีบรรษัทข้อมูลอย่าง Statista และองค์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ออกรายงานสรุปข้อมูลเป็นประจำทุกปี โดยสามารถถ้าสรุปง่ายๆ คือ 
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุวินาศกรรมในเมืองหลวงโดยเฉพาะย่านธุรกิจที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งที่รัฐทั้งหลายไม่ปรารถนามากที่สุด เนื่องจากความเสียหายสูงเพราะมีร้านค้าและผู้คนแออัดหนาแน่น แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือ สภาพจิตใจของผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเคยชินในบริเวณนั้น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตั้งแต่มาประกอบวิชาชีพนี้ สิ่งที่เห็น คือ ความเหนื่อยของคนรุ่นใหม่ต้องขยันตั้งใจเรียน ทำโน่นทำนี่ กระตือรือล้น ทะเยอทะยาน ให้ได้อย่างที่ คนรุ่นก่อนคาดหวังพอทำพังก็อยู่ในสภาพใกล้ตาย เพราะถูกเลี้ยงมาแบบ "พลาดไม่ได้"
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นมาแรงของยุคนี้เห็นจะไม่พ้นสตาร์ทอัพนะครับ (Start-Up Business) เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทุนนิยมที่รัฐต้องการจะผลักดันประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก มาเป็นการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกร
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนจบมหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ คือ กรรมกร?ไร้ตัวตน กว่า พวกเซเล็ปแถมรายได้ต่ำ กว่า คนหาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย รับจ้างอิสระ วิเคราะห์ความคิด สศจ. บทสนทนากับ นิธิ เกษียร ชัดเจน
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนผู้เสียภาษีไม่น้อย คือ ทำไมกองทัพไทยจึงต้องจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ตอนนี้ และซื้อของ “จีน” ด้วยเหตุใด
ทศพล ทรรศนพรรณ
การศึกษาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ณ ต่างประเทศของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามให้มากว่า เรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วได้อะไร ความรู้หรือทักษะที่ได้จะเป็นประโยชน์อะไรกับสังคม หรือครอบครัว   เนื่องจากนักเรียนแทบทั้งหมดใช้เงินทุนจากภาษีของรัฐ หรือทุนของครอบครัว&nbs
ทศพล ทรรศนพรรณ
กระแสการนึกย้อนคืนวันแห่งความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์วัยในช่วงปี ค.ศ.1990-1999 หรือ ปี พ.ศ.2533-2543 ของผู้คนร่วมสมัยในตอนนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ทศพล ทรรศนพรรณ
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้มอบให้แด่ ศาสตราจารย์ชอง ติโรล (Jean Tirole) แห่งมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส    องค์กรให้เหตุผลอย่างชัดเจว่าเป็นผลจาก การวิเคราะห์อำนาจเหนือตลาดของผู้เล่นน้อยรายที่มักจะมีอำนาจเหนือตลาด ประสิทธิภาพของกลไกตลาดจึงเสียหาย และมีข้อเสนอในงานวิจัยของเขา