Skip to main content

สังคมไทยเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง แตกแยก และปะทะกันอย่างรุนแรงทั้งในด้านความคิด และกำลังประหัตประหารกัน ระหว่างการปะทะกันนั้นระบบรัฐ ระบบยุติธรรม ระบบคุณค่าเกียรติยศ และวัฒนธรรมถูกท้าทายอย่างหนัก จนสูญเสียอำนาจในการบริหารจัดการรัฐ   ในวันนี้ความตึงเครียดจากการเผชิญหน้าอาจเบาบางลง พร้อมกันชีวิตผู้คนมากมายที่สังเวยไป สังคมไทยจึงควรรื้อฟื้นระบบบริหารจัดการสังคมต่างๆ ขึ้นมาใหม่ โดยคำนึงและยึดเอาความเปลี่ยนไปของสังคม ในที่นี้คือ การกลายเป็นสังคมประชาธิปไตย (Democratization) เป็นสรณะในการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย   อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ความขัดแย้งรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และในโลก ทั้งการอภิวัฒน์การปกครองในปี 2475 การต่อสู้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ตามมาด้วย 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 พฤษภาคม 2553 และขบวนการเรียกร้องสิทธิของเยาวชนปลดแอกในปี 2563 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นความขัดแย้งระดับประเทศที่ยึดโยงคนทุกภูมิภาคเข้าในในกระแสความเปลี่ยนแปลง ยังไม่นับความขัดแย้งในระดับภูมิภาคอีกนับไม่ถ้วน แต่นั้นไม่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้เสียที

ในขณะที่ในหลายประเทศสามารถข้ามพ้นความขัดแย้งไปโดยไม่ได้ปล่อยให้ใครสูญหายหรือตายเปล่า โดยสถาปนาประสบการณ์ความขัดแย้งและความสูญเสียขึ้นมาเป็นบรรทัดฐานในสังคม และสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงได้ในที่สุด เช่น ประเทศเกาหลีใต้ อินเดีย อัฟริกาใต้  เป็นต้น


สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ คือ ประเทศไทยปล่อยให้ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สังคมไม่เรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้น กลับยังคงเหยียบซากศพผู้คนมากมายแบบทำเป็นไม่เห็น และปล่อยให้คนตายไปด้วยเหตุที่ไม่ต่างจากการตายในอดีต ในขณะที่ประเทศอื่นได้เรียนรู้และเดินหน้าออกจากวงจรความรุนแรงที่ไร้ความรับผิด   กล่าวคือ ประชาชนชาวไทยยังมีข้อกังวลสงสัยอยู่ว่า

1) ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวทางการเมืองจริงหรือไม่

2) คนในสังคมมีความเสมอภาคกันหรือไม่ และ

3) รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับตนได้อย่างไรและในเงื่อนไขใด

การปล่อยผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมในครั้งที่ผ่านๆ มา ทำให้สังคมไม่เคยมั่นใจใน 3 ประเด็นข้างต้นนี้ และทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านโดยที่ประชาชนเชื่อมั่นในสิทธิของตนในการอยู่ในนิติรัฐที่พึงมีนิติธรรม และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยได้เลย


สภาพปัญหา คือ แรงกดดันจากประชาคมโลก และชนชั้นนำไทยไม่อาจยับยั้งสังคมไทยมิให้เปลี่ยนไปสู่รัฐประชาธิปไตยไม่ได้แล้ว แนวทางพัฒนารัฐไทยที่ต้องมุ่งไป ก็คือ การทำให้ระบบรัฐ ระบบยุติธรรม และวัฒนธรรมของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน


การไปสู่ประชาธิปไตย ประเทศไทยต้องรับรองสิทธิพลเมืองและการเมืองของประชาชน ยอมรับความเท่าเทียมกันของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญมากคือ การรับรองว่ากฎหมายสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ และประเทศไทยปกครองโดยกฎหมายอย่างเป็นธรรม (The Rule of Law) ซึ่งเงื่อนปมเหล่านี้สามารถทำได้โดยกระบวนการยุติธรรมที่ต้องรับรองสิทธิและสร้างความชัดเจนให้กับระบอบประชาธิปไตย จนสามารถใช้เป็นบรรทัดฐานทางสังคมได้ในอนาคต


พื้นฐานที่สุดของแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) คือ การสถาปนาหลักการปกครองโดยกฎหมายอย่างเป็นธรรมขึ้น นั่นหมายถึงผู้กระทำผิดในสถานการณ์ความขัดแย้งนั้นจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย โดยไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีความผิดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดลอยนวลเหนืออำนาจของกฎหมายไปได้สักคนเดียว เพราะนั้นหมายความว่าบุคคลเหล่านั้นมีอำนาจเหนือกฎหมาย และการปกครองโดยกฎหมายจะไม่เกิดขึ้น พลเมืองจะไม่มีความเท่าเทียมกัน คนตายและทายาทจะไม่ได้รับการเยียวยา สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยจะไม่เกิด และสังคมไทยจะปราศจากภูมิปัญญาเมื่อเกิดความขัดแย้งในอนาคต   แต่นั้นไม่ได้เปลว่าจะต้องมีผู้รับผิดเสมอ ความรับผิดจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ทำผิดกฎหมาย

แนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงพยายามนำความยุติธรรมมาสู่สังคมที่บอบช้ำจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน แทนที่จะพยายามลืมอดีต

การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องอาศัยปัจจัย 5 ประการ ได้แก่

ประการแรก การแสวงหาความจริง (Truth seeking) ทั้งในด้านของรัฐและด้านของประชาชน เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และตัดสินเชิงคุณค่าเกี่ยวกับการกระทำของฝ่ายต่างๆ ได้ และยังเป็นพื้นที่ให้แต่ละฝ่ายได้บอกกล่าว (Speaking out) เพื่อลดความคับข้องใจด้วย  โดยการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงอันเป็นหน่วยงานนอกกระบวนการยุติธรรม (Non-Judicial Bodies) คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่ในการทำความเข้าใจ หาความรู้ และแจ้งข้อมูลแก่ผู้เสียหายเพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในประเทศที่เคยเผชิญกับความขัดแย้งรุนแรงทางการเมือง เช่น ติมอร์ตะวันออก ไลบีเรีย โมรอคโค เซียร่าลีโอน และแอฟริกาใต้   ประเด็นที่สำคัญคือ ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น ความจริงต้องปรากฏเสียก่อน  

ประการที่สอง การดำเนินคดี (Prosecution) กับผู้กระทำผิดกฎหมาย เพราะกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านต้องวางหลักการการปกครองโดยกฎหมายเพื่อรื้อฟื้นระบบยุติธรรมที่ล้มเหลวมาก่อนหน้านี้ และไม่ว่าผลการดำเนินคดีจะออกมาอย่างๆ ไร จากการดำเนินคดีนี้สังคมจะได้รับทราบข้อมูล ร่วมกันถกเถียง และวิพากษ์วิจารณ์ นำไปสู่การทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ปรากฏการณ์ จนเกิดความปรองดองในที่สุด  

ประการที่สาม การชดเชยและเยียวยา (Reparation) ไม่ว่าฝ่ายใดจะผิดหรือจะไม่ผิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองจะต้องได้รับการเยียวยา  ครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ควรได้รับการเยียวยาพอพอกับประชาชนผู้เป็นเหยื่อของความรุนแรง ถึงแม้จะสมมุติว่ารัฐบาลที่มีคำสั่งจะมีความผิดก็ตาม เพราะความสูญเสียไม่ใช่ความสูญเสียของใครคนหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นความสูญเสียอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของสังคม ที่เราร่วมกันก่อสร้างขึ้นมา ทั้งนี้รวมถึงความเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินทาองได้ก็ควรได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจ เช่น การขอโทษ การยอมรับผิด เป็นต้น  

ประการที่สี่ การปฏิรูปสถาบัน (Institutional reform) ที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในสังคม  เช่น กองทัพ ตำรวจ รัฐบาล ศาล สถาบันจารีตประเพณี ฯลฯ เพราะปัญหาที่ทำให้เกิดความรุนแรง คือ สถาบันเหล่านี้ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ การเข้าไปพิเคราะห์เพื่อหาทางออก เพื่อปรับปรุง หรือยกเลิก สถาบันเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติรุนแรงในอนาคตอันเนื่องมาจากปัญหาเดิมๆ จากสถาบันเดิมๆ อีก 

ประการสุดท้าย คือ การปรองดอง (Reconciliation) หรือการให้อภัยกันอย่างจริงใจซึ่งสำคัญมาก เพราะเงื่อนไขพื้นฐานที่สุดของความยุติธรรมคือ เพื่อให้คนในสังคมอยู่กันได้โดยไม่คับแค้นใจจนเกินไป และเพราะถึงอย่างไรคนในสังคมนี้ก็ต้องอยู่ด้วยกันต่อไป การให้อภัยจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ในเงื่อนไขว่าการให้อภัยนั้นไม่ได้ทำไปในลักษณะถูกบังคับ หรือทำลายล้างสังคมเสียเอง เช่น การให้อภัยจนทำลายหลักการปกครองโดยกฎหมาย เป็นต้น การนิรโทษกรรมแบบเหมารวมหรือไม่มีเงื่อนไขนั้น โดยนิรโทษกรรมให้ตัวเองนั้นไม่ถูกต้อง


ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านจึงไม่ได้เป็นวาระแห่งการแก้แค้นเยียวยาเท่านั้น แต่เป็นการปูทางให้สังคมมีแนวทาง หรือพื้นที่เพื่อจัดการความขัดแย้งในอนาคต ซึ่งในบริบทโลกปัจจุบัน คือ สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ที่เปิดให้คนทุกฝ่ายเข้ามาต่อรองผลประโยชน์ของตนได้ โดยที่มั่นใจว่าเมื่อลุกขึ้นมาต่อรองเรียกร้องอะไรแล้วจะไม่ถูกอุ้ม ฆ่า ล้อมปราบ ตราหน้า เพราะพวกเขาเหล่านั้นมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปกครองในระบอบประชาธิปไตย

*ปรับปรุงจาก รายงาน ข้อมูลประกอบรายงานฉบับสมบูรณ์สำหรับจัดทำรายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), 2555. (เนื้อหาส่วนนี้ค้นคว้าโดย ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร)

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
หากสังคมไทยมีแนวโน้มจะเป็น สังคมทุนนิยม องค์กร สถาบัน จารีต ต่างๆ เสื่อมลง คนสัมพันธ์ผ่านระบบตลาด แคร์คนอื่นน้อยลง ขาดสำนึกร่วมในความอยุติธรรมทางสังคม หรือ มีสำนึกเชิง “ปัจเจก” มากขึ้นเรื่อยๆ
ทศพล ทรรศนพรรณ
อาจจะดูแปลกประหลาดไปสักหน่อยสำหรับบางท่านเมื่อพูดว่ากฎหมายได้รับรอง “สิทธิที่จะพักผ่อน” ไว้เป็นสิทธิมนุษยชนประการหนึ่ง เพราะคนไทยถือว่าการขยันตั้งใจทำมาหากินหามรุ่งหามค่ำเป็นศีลธรรมอันดีงามประเภทหนึ่งที่ต้องยึดถือปฏิบัติ หรือต้องแสดงออกให้สังคมเห็นเป็นประจักษ์ และสังคมก็ยกย่องบุคคลสำคัญโดยพิจารณา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การลดช่องว่าง ด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองมาจัดการเศรษฐกิจรัฐสวัสดิการ สร้างความมั่นคงขจัดความขัดแย้งด้วยแนวทางเจือจานบนพื้นฐานของภราดรภาพป้องกันการลุกฮือของมวลชน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
มหกรรมฟุตบอลโลกจบลงไปแล้วด้วยชัยชนะของกองเชียร์ฝ่ายสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกลุ่มสนับสนุนสิทธิของผู้อพยพ เนื่องทีมแชมป์โลกเป็นการรวมตัวของนักฟุตบอลที่มิได้มีพื้นเพเป็นคนฝรั่งเศส (พูดอย่างถึงที่สุด คือ มิได้มีบุพการีที่เกิดในดินแดนฝรั่งเศส)
ทศพล ทรรศนพรรณ
พอมาอยู่ที่ยุโรป ถึงได้รู้ว่า อิตาลี กับ สเปน มันไม่แคร์เรื่อง ขาดดุลตัวเลขเลย เพราะมันเอาไปลงทุนไว้กับคน รอถอนทุนคืน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นคาตาลุนญ่า ราชอาณาจักรสเปน จะเกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 2015 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศสเปนประมาณ 2 เดือน ความตื่นตัวของประชาชนสูงเพราะอยู่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบกันไปทั่ว
ทศพล ทรรศนพรรณ
เกษตรพันธสัญญาที่ดี มีการสร้างความร่ำรวยให้กับเกษตรกรจำนวนมาก ลดความไม่แน่นอนในการผลิตและประกันว่ามีตลาดขายสินค้าแน่นอน หากมีปัญหาระหว่างการเพาะปลูก/เลี้ยงสัตว์จะมีการแบ่งรับความเสียหายกับบรรษัท นั้นมีจริง
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผลิตบนหลักการอย่างหนึ่ง เช่น ทำกำไรจากกิจการอะไรที่ให้เงินเยอะ ไม่คำนึงถึงชีวิตเพื่อนมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมบริโภคบนหลักการอีกอย่างหนึ่ง เช่น การอุดหนุนสินค้าที่โฆษณาว่าห่วงใยสังคม หรือแสดงออกว่าเสพกิจกรรมการกุศลอาการ พร่องความดี
ทศพล ทรรศนพรรณ
การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
ทศพล ทรรศนพรรณ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้ตกเป็นเหยื่อ "ความมักง่าย" เข้าแล้วครับท่านผู้อ่าน
ทศพล ทรรศนพรรณ
            ความสัตย์ซื่อและยึดถือกฎหมายด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้า            มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสำนักกฎหมายบ้านเมือง ว่า คำสั่งทั้งหลายของรัฐาธิปัตย์ถือเป็นกฎหมายอย่างเด็ดขาด