Skip to main content

นับตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ “สีเสื้อ”   สื่อกลายเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นตัวสะท้อนภาพของคนและสังคมเพื่อขับเน้นประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมให้ปรากฏเป็นขบวนการทางการเมืองที่มีผู้คนเข้าร่วมอย่างมากมายมหาศาล และมีกิจกรรมทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ   ดังนั้นอำนาจในการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในการสื่อสาร จึงเป็นประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การแย่งชิงอำนาจเพื่อนำไปสู่ชัยชนะทางการเมืองจนเกิดเป็นความขัดแย้งในสังคมเป็นอันมาก


นอกจากนี้การใช้สื่อใหม่ เช่น อินเตอร์เน็ต และสื่อผสมผ่านเครือข่ายสื่อสารสมัยใหม่ ก็ยังได้นำพาข้อมูลและสารต่าง ๆ จากประชาชนทั่วไปได้มากยิ่งขึ้น   ดังปรากฏว่า “เครือข่ายทางสังคม”(Social Network) ได้กลายมาเป็นช่องทางสำคัญในการสื่อสาร เผยแพร่และเข้าถึงข้อมูลของประชาชน โดยรัฐและทุนควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ยากกว่าเดิม


อย่างไรก็ดีการเผยแพร่เนื้อหาที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยาม (Hate Speech) จนปลุกเร้าอารมณ์ของมวลชนให้ถวิลหาความรุนแรง   ย่อมส่งผลต่อการลดบรรยากาศของความปรองดองอย่างมีนัยสำคัญ


สาเหตุสำคัญที่ทำให้การแสดงความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะที่มีลักษณะสร้างความเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยาม (Hate Speech) อย่างกว้างขวางในสังคมไทย ก็ด้วยเหตุที่ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็นเช่นว่า รวมถึงแกนนำมวลชนที่ใช้ความเกลียดชังเป็นเครื่องมือในการปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของมวลชนให้กระทำผิดกฎหมาย เช่น ปิด ยึด ทำลาย สถานที่ราชการ สาธารณสมบัติ หรือละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป กลับไม่ต้องคดีในฐานะ ผู้ป่าวประกาศหรือผู้โฆษณาดังที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ว่าบุคคลที่กระทำการดังกล่าวต้องรับโทษเท่าเทียมกับตัวการที่ได้กระทำความผิด   เนื่องจากบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะเช่นว่า มักอ้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนว่าทำไปเพื่อปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   โดยมิต้องคำนึงว่าจะต้องใช้ “วิธีการ” ใด ผิดกฎหมายหรือไม่    เท่ากับเป็นการอ้างเอา “เป้าหมาย” มาสร้างความชอบธรรมให้กับ “วิธีการ” ที่มีลักษณะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายเป็นอย่างมาก


ในทางกลับกันผู้ที่ต้องเผชิญกับคดีทางกฎหมายกลับเป็นผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองซึ่งถูกกล่าวหา “ทำลายความมั่นคงของชาติ”   โดยมีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับประชาชนในช่วงปี 2549 -2553 ด้วยข้อหา ดูหมิ่น หรือ หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ต่อสถาบันหลักของชาติ ส่วนผู้ที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะสร้างความเกลียดชัง กลับไม่ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมายด้วยซ้ำ   และประเด็นปัญหานี้ก็แทบจะไม่เป็นที่รับรู้ของเจ้าพนักงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับควบคุมการสื่อสารมิให้ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมิได้อยู่ในการรับรู้ของสังคม   ยิ่งไปกว่านั้นคนจำนวนไม่น้อยกลับสนับสนุนให้ภาวะเช่นว่าดำรงต่อไป


เหตุที่ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติต่างกัน ก็ด้วยการประกอบสร้างนิยาม “ความมั่นคงแห่งชาติ” แบบ “ไทย” ที่ถูกทำซ้ำผ่านสื่อหลักหลายรูปแบบล้วนมีเนื้อหาที่สร้างความชอบธรรมให้กับผู้ที่อ้าง “ความรักชาติ” ต้องการปกป้องความมั่นคงให้กับสถาบันหลักแห่งชาติไทย   และประณามหยามเหยียดความเห็นต่างเกี่ยวกับการสร้างนิยามความเป็นชาติไทย ที่ไม่ตรงกับนิยามหลักที่ต้องปกป้องเทิดทูน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ไว้เหนือสิ่งใด รวมถึงเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่อยู่ในชาติ


การสื่อสารเหล่านี้อยู่ในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ หรือการสื่อสารของกลุ่มการเมืองที่แอบอ้างความรักชาติ เทิดทูนสถาบันหลักของชาติ เพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มตัวเอง ปิดบังอำพรางการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดความชอบธรรมอื่นๆที่ได้กระทำลงไป   กระบวนการสื่อสารดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดของการทำสงครามจิตวิทยาเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น   ที่รัฐต้องสร้างภาพของผู้ที่เห็นต่างต่อต้านรัฐให้กลายเป็น “ผู้ร้าย”   โดยอ้างว่ารัฐและผู้ที่ปกป้องสถาบันหลักของชาติเป็น “คนดี” มีหน้าที่ต้องจับตาหาผู้ร้ายที่ปะปนอยู่ในหมู่ประชาชน แล้วทำลายล้างเสีย   โดยไม่ต้องคำนึงถึง “วิธีการ” ว่าความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่   เช่น   การด่าทอ เหยียดหยาม สืบหาข้อมูลส่วนบุคคล แล้วนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะเพื่อทำให้เกิดการดูถูก เกลียดชัง ต่อบุคคลนั้น   รวมถึงการคุกคามด้วยการ ข่มขู่ หรือทำร้ายร่างกาย   ซึ่งในท้ายที่สุด การสร้างภาพให้ผู้ที่เห็นต่างกลายเป็น “ผู้ร้าย” ก็จะเป็นใบอนุญาตให้มีการใช้กำลังและความรุนแรงแก่ผู้ที่เห็นต่างโดยไม่มีการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย และไม่มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด จึงไม่มีการเยียวยาที่เหมาะสมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว


การทำความเข้าใจรากเหง้าแห่งความขัดแย้งที่เกิดจากการสื่อสารในสังคมจึงจำเป็นต้องพิจารณาบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่ได้มีส่วนสร้างระบอบความคิดที่ครอบงำผู้คนให้เกลียดชังกัน จนถึงขั้นสาปแช่ง และใช้ความรุนแรงต่อกัน   โดยสามารถพิจารณาจากประวัติศาสตร์การสื่อสารทางการเมือง
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 เป็นต้นมา คือ การแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ต่าง ๆ รวมไปถึงการตัดสินใจเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับมวลชนนั้น มีเงื่อนไขทางการรับสื่อของชาวบ้านเสื้อแดงมาจากหลายช่องทาง เช่น วิทยุชุมชน ฟรีทีวี เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งพวกเขานั้นอยู่ในฐานะผู้รับสารที่มีความกระตือรือร้น เพราะมีการประมวลข้อมูลข่าวสารที่รับมาและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันในชุมชน ดังนั้นการรับสื่อที่หลากหลายของชาวบ้าน หรือพลเมืองเน็ต จึงเสมือนเป็นการปรับเปลี่ยนความรับรู้ของตนเองและระหว่างตนเองกับสังคม และสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเมืองในมุมมองใหม่ที่เชื่อมั่นว่าตนเองมีความสำคัญในสังคมและร่วมกำหนดอนาคตของประเทศได้มากกว่าเดิม


จากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็สามารถสรุปประเด็นที่เป็นรากเหง้าของปัญหาทางของความขัดแย้งที่ปรากฏในการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ในสังคมไทย บนพื้นฐานความขัดแย้งระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นสากล ภายใต้ชุดความเชื่อเรื่อง “วัฒนธรรมแบบไทยๆ” ที่ฝังอยู่ในระบบอารมณ์ความรู้สึกของคนรุ่นเก่า  ซึ่งได้สร้างความโกรธ เกลียด ขัดแย้ง รุนแรง ระหว่างประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ให้เพิ่มมากขึ้นและเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม


หากพอจะเป็นไปได้ ทางออกเหล่านี้อาจเป็นแนวทางในการสร้างความปรองดองในสังคมไทยผ่านการสื่อสาร


1. การปรับลดงบประมาณสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) หรือปฏิบัติการทางจิตวิทยา (ปจว.) รึปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร (Information Operation – I.O.) ในลักษณะบ่อนทำลาย  และงบประชาสัมพันธ์ของฝ่ายความมั่นคงไม่ว่าจะเป็น งบของกองทัพ กอ.รมน. หรือหน่วยงานของรัฐที่มีลักษณะปลุกเร้าความรักชาติ และสามัคคี เมื่ออยู่ในบริบททางสังคมที่มีความแตกแยก และมีการอ้างว่าฝ่ายใดรักชาติ อีกฝ่ายขายชาติ หรือเผาบ้านเผาเมือง ในระหว่างที่ความจริงของความขัดแย้งยังไม่ปรากฏ เพราะจะเป็นการสร้างตราบาปให้ฝ่ายหนึ่งเป็น คนไม่รักชาติ ทำลายชาติ สร้างความขัดแย้ง โดยมองข้ามความซับซ้อนของสภาพปัญหาทางสังคม


2. การดำเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งกับบุคคลที่สื่อสารหรือแสดงความคิดเห็นในลักษณะสร้างความเกลียดชัง ดูถูก เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น   ไม่ว่าจะเป็นกรณี การปลุกระดมให้เกลียดชังรัฐหรือผู้อื่นจนทำให้มวลชนทำลายชีวิตและทรัพย์สินของรัฐและเอกชน   รวมถึงกรณีการแสดงความคิดเห็นจนมีลักษณะหมิ่นประมาทบุคคลอื่นทั้งที่เป็นบุคคลสาธารณะ และบุคคลธรรมดา หากมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล คุกคาม ข่มขู่ เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนทำให้เกิดความเสียหาย


3. การดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะยุยงส่งเสริมให้มีการล้มล้างรัฐธรรมนูญ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามประมวลกฎหมายอาญาหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ เช่น ม.113 และ ม.114


4. การสร้างมาตรการกลั่นกรองป้องกันการฟ้องร้องบุคคลอื่นด้วยมาตรา 112 อย่างพร่ำเพรื่อ ทั้งการใช้กระบวนการทางกฎหมายของมาตรานี้เป็นอาวุธทางการเมือง และการฟ้องร้องเพื่อกลั่นแกล้งผู้อื่นในชีวิตประจำวัน   อาทิ การตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยตัวแทนหน่วยงานอิสระด้านสิทธิมนุษยชน และการสร้างหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยที่ต้องเผชิญกับข้อหาดังกล่าว


5. ยุติการริเริ่มโครงการตรวจตราการการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยรัฐ เช่น โครงการลูกเสือไซเบอร์ ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศจัดตั้งขึ้นเพื่อสอดส่องและแจ้งเบาะแสการแสดงความคิดเห็นของประชาชน


6. การดำเนินคดีกลุ่มที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นในโลกอินเตอร์เน็ต เช่น ขบวนการลงทัณฑ์ทางสังคม ที่มีพฤติกรรม จับตาคนที่แสดงความคิดเห็นต่างกับตนแล้วรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่ตกเป็นเป้าหมาย เพื่อนำไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ ทำให้มีการด่าทอ ประณาม และคุกคามชีวิตของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ


7. การประกอบสร้างนิยาม “ความมั่นคงของชาติ” และ “ความเป็นไทย” เสียใหม่ บนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลายของสังคม   ควบคุมจำกัดขอบเขตการอ้าง “สภาวะฉุกเฉิน” เพื่อเป็นเหตุแห่งการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยคำนึงถึง หลักความได้สัดส่วน และจำกัดสิทธิเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น  มิใช่การจำกัดสิทธิเพื่อปกป้อง “ชาติ” ที่ไม่มีประชาชน  


8. การเพิ่มช่องทางในการสื่อสารของประชาชนโดยการรับรองช่องทางต่างที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ชอบด้วยกฎหมาย เช่น โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม วิทยุชุมชน


9. ลดการคุกคามและสร้างภาระให้กับตัวกลางในการสื่อสาร เช่น การเพิ่มภาระในการเก็บข้อมูล พยาน หลักฐาน และร่วมรับผิดของผู้ดูแลเว็บไซต์ที่มีการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไป ถกเถียง


10. การปรับปรุงกฎหมายอาญาsหมวดความมั่นคงในราชอาณาจักร และกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดในการแสดงความคิดเห็น ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนโดยตรง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ และกฎหมายที่เกี่ยวกับพื้นที่ในการสื่อสาร เช่น พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ   รวมถึงกฎหมายที่มีลักษณะจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในยามฉุกเฉิน เช่น ชุดกฎหมายความมั่นคงทั้ง 3 ฉบับ เพื่อป้องกันการครอบงำหรือการบิดเบือนข้อมูลที่ทำลายการรับรับรู้ “ความจริง” และ “ตัวตน” ของผู้อื่นในสังคม


11. สร้างแหล่งความทรงจำเชิงสัญลักษณ์ อาทิ อนุสาวรีย์ พิพิธภัณฑ์ งานศิลปะวัฒนธรรม ที่เก็บความความทรงจำร่วมที่หลากหลายของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่มี “ส่วนร่วม” ในประวัติศาสตร์   เพื่อทำให้เกิด “ความทรงจำร่วม” ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง


 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
ก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี มีการพูดถึงการพัฒนาประเทศโดยใช้เรื่อง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Happiness - GNH)  มาแทนเป้าหมายด้านการเพิ่ม “ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ” (Gross National Product - GNP) โดยมีการหยิบยกกรณี ภูฐาน มาพูดกัน   แต่หลังจากที่มีรายงานข่าวสถานการณ์ความเปลี่ยนแ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การท่องเที่ยวถือเป็นกิจกรรมที่ทุกประเทศสนใจและให้ความสำคัญมาก จนมีบรรษัทข้อมูลอย่าง Statista และองค์การท่องเที่ยวระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ออกรายงานสรุปข้อมูลเป็นประจำทุกปี โดยสามารถถ้าสรุปง่ายๆ คือ 
ทศพล ทรรศนพรรณ
เหตุวินาศกรรมในเมืองหลวงโดยเฉพาะย่านธุรกิจที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของระบบทุนนิยมถือเป็นสิ่งที่รัฐทั้งหลายไม่ปรารถนามากที่สุด เนื่องจากความเสียหายสูงเพราะมีร้านค้าและผู้คนแออัดหนาแน่น แต่ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือ สภาพจิตใจของผู้คนที่จับจ่ายใช้สอยและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเคยชินในบริเวณนั้น
ทศพล ทรรศนพรรณ
ตั้งแต่มาประกอบวิชาชีพนี้ สิ่งที่เห็น คือ ความเหนื่อยของคนรุ่นใหม่ต้องขยันตั้งใจเรียน ทำโน่นทำนี่ กระตือรือล้น ทะเยอทะยาน ให้ได้อย่างที่ คนรุ่นก่อนคาดหวังพอทำพังก็อยู่ในสภาพใกล้ตาย เพราะถูกเลี้ยงมาแบบ "พลาดไม่ได้"
ทศพล ทรรศนพรรณ
ประเด็นมาแรงของยุคนี้เห็นจะไม่พ้นสตาร์ทอัพนะครับ (Start-Up Business) เนื่องจากเป็นแนวทางที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมทุนนิยมที่รัฐต้องการจะผลักดันประเทศก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง หรือการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก มาเป็นการพัฒนาธุรกิจที่มีนวัตกร
ทศพล ทรรศนพรรณ
คนจบมหาวิทยาลัย ทำงานออฟฟิศ คือ กรรมกร?ไร้ตัวตน กว่า พวกเซเล็ปแถมรายได้ต่ำ กว่า คนหาเช้ากินค่ำ หาบเร่แผงลอย รับจ้างอิสระ วิเคราะห์ความคิด สศจ. บทสนทนากับ นิธิ เกษียร ชัดเจน
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนผู้เสียภาษีไม่น้อย คือ ทำไมกองทัพไทยจึงต้องจัดซื้อ “เรือดำน้ำ” ตอนนี้ และซื้อของ “จีน” ด้วยเหตุใด
ทศพล ทรรศนพรรณ
การศึกษาสายสังคมศาสตร์มนุษย์ศาสตร์ ณ ต่างประเทศของนักศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตั้งคำถามให้มากว่า เรียนไปเพื่ออะไร เรียนแล้วได้อะไร ความรู้หรือทักษะที่ได้จะเป็นประโยชน์อะไรกับสังคม หรือครอบครัว   เนื่องจากนักเรียนแทบทั้งหมดใช้เงินทุนจากภาษีของรัฐ หรือทุนของครอบครัว&nbs
ทศพล ทรรศนพรรณ
กระแสการนึกย้อนคืนวันแห่งความหลังเมื่อครั้งยังเยาว์วัยในช่วงปี ค.ศ.1990-1999 หรือ ปี พ.ศ.2533-2543 ของผู้คนร่วมสมัยในตอนนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ทศพล ทรรศนพรรณ
รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้มอบให้แด่ ศาสตราจารย์ชอง ติโรล (Jean Tirole) แห่งมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส    องค์กรให้เหตุผลอย่างชัดเจว่าเป็นผลจาก การวิเคราะห์อำนาจเหนือตลาดของผู้เล่นน้อยรายที่มักจะมีอำนาจเหนือตลาด ประสิทธิภาพของกลไกตลาดจึงเสียหาย และมีข้อเสนอในงานวิจัยของเขา