Skip to main content

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม


เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต นี่อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาบนฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตก เมื่อหลายปีมาแล้ว และปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่


ในปี ๒๕๓๖ ภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน ๒ สาละวิน’ โดยการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งถือได้ว่าอาจเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินได้ดีที่สุด หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายออกไป เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน จึงถูกดึงเข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้คนบนฝั่งน้ำด้านตะวันออกอย่างกว้างขวาง


นอกจาก จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังมีหนังสือหลายๆ เล่มที่กล่าวถึงแม่น้ำสาละวิน และความเป็นไปของผู้คนสองฝั่งน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘เพชรพระอุมา’ บทประพันธ์ของพนมเทียน คือหนึ่งในหนังสือหลายๆ เล่มนั้น หากใครได้อ่านคงจดจำการผจญภัยอันตื่นเต้น และเร้าใจในป่าดงดิบสาละวินของระพินทร์ ไพรวัลย์ และม...ดาริน วราฤทธิ์ รวมทั้งแงทรายได้ดี แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่มีภาพประกอบ แต่ผู้เขียนก็ทำให้คนอ่านจินตนาการได้ถึงภาพของผืนป่า และแม่น้ำสาละวินได้ดีทีเดียว


แน่นอนว่าความทรงจำ และการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่การสัมผัสรู้ของแต่ละคน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ ผู้คนจำนวนมากจะจินตนาการถึงสิ่งใดบ้าง


หากย้อนหลังไป เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงเรื่องราวของป่าสักทองจำนวนมากที่ถูกนายทุนเข้าไปสัมปทาน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย


โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ‘แม่น้ำสาละวิน’ ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกฉบับ สาเหตุที่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งในครั้งนั้น เนื่องมาจากมีการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินครั้งมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


โดยการจับกุมมีการยึดไม้ของกลางได้ จำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๕๑ ท่อน และมีการจับกุมขบวนการมอดไม้ได้หลายคน ทั้งข้าราชการ และประชาชนธรรมดา ช่วงที่มีการจับกุมใหม่ๆ นั้น แม่น้ำสาละวิน ก็ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในฐานะเส้นทางการลำเลียงไม้ เส้นทางการค้าไม้ และที่สำคัญคือสาละวินเป็นเส้นทางที่พาผู้คนโลภมากเหล่านั้นไปสู่ความหายนะ


แต่หลังจากคดีสิ้นสุดลง ไม้ส่วนหนึ่งได้มลายหายไป และบางส่วนก็ถูกปล่อยให้โดนแดด โดนฝนเป็นไปตามยถากรรม เรื่องราวเกี่ยวกับไม้สักจากป่าสาละวิน ก็เงียบหายไปจากความทรงจำของผู้คนในประเทศไทยอีกครั้ง


-รู้จักแม่น้ำสาละวิน-


สาละวินเป็นสายเลือด สายน้ำเอยไม่เคยเหือดหาย ขุนเขาสลับซับซ้อนเรียงราย เรื่องราวมากมายมาหลายชั่วคน มีเสียงดนตรี-มีเสียงสงคราม มีความสวยงาม-มีความเข้มข้น สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวน ไหลเชี่ยวเกลียวน้ำหมุนตัว อำนาจเมามัวเหมือนน้ำหมุนวน แสนคนตาย-แสนปืนกล-แสนความจน ข้าวยากหมากแพง สันติธรรมค้ำสาละวิน พิราบเจ้าบินเห็นมาแต่ไกล ขอลูกปืนแปรเป็นดอกไม้ ความเลือดความตายขอให้หลุดพ้น ยิ้มของเด็ก-ยิ้มของแม่ ซึ้งใจเมื่อแล-ซึ้งใจเมื่อยล สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน... เนื้อนัยเพลง,สุรชัย จันทิมาธร,๑๗๓’


บทเพลงของสุรชัย จันทิมาธร ได้กล่าวถึงแม่น้ำสายนี้เอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว และบทเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่บอกเล่ากับเรื่องราวความเป็นจริงของแม่น้ำสายนี้ได้ดีอีกเพลงหนึ่ง


แม่น้ำสาละวิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกว่า ‘แม่น้ำสายเลือด’ บ้างก็เรียกว่า ’แม่น้ำมรณะ’ หากพูดถึงต้นธารแห่งแม้น้ำสายนี้แล้ว สามารถกล่าวได้ว่าแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะในบริเวณที่ราบสูงธิเบต เหนือเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงมากกว่า ๔,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนพื้นถิ่นในราบสูงธิเบต เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘นู่เจียง-หรือแม่น้ำนู แปลว่า ‘แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว’ เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากผ่าโตรกผา และโขดหิน’


เมื่อแม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านตอนกลางในเขตรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตที่มีชาวไตหรือไทใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุด ชาวไตเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำคง’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐคะยา รัฐกระเหรี่ยง เวลาเรียกชื่อแม่น้ำสาละวิน มักจะออกเสียงคล้ายกับชาวไตในรัฐฉานคือออกเสียงว่า ‘คง’ ส่วนชาวปกากะญอ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โคโหล่โกล’


สำหรับชื่อ ‘สาละวิน‘ นั้นเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่า ซึ่งออกเสียงว่า ‘ตาลวิน’


แม่น้ำสาละวิน มีความพิเศษแตกต่างกับแม่น้ำอื่นทั่วไป กล่าวคือ แม่น้ำสาละวิน จะมีอุณหภูมิที่เย็นตลอดปี ในฤดูฝนน้ำจะมีสีเหลืองขุ่น และมีแก่งหินตลอดทั้งสาย ร่องน้ำมีลักษณะคล้ายมีดปักลึกลงไปในแผ่นดิน นอกจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ยังแตกต่างจากแม่น้ำหลายๆ สายบนพรมแดนตะวันตกของประเทศ เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม เพราะในหน้าแล้งเราไม่สามารถเดินข้ามแม่น้ำสาละวินได้ แต่สำหรับแม่น้ำเมยแล้ว ในหน้าแล้งเราสามารถเดินข้ามได้


ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำสาละวิน ได้ถูกเรียกขานว่า ‘แม่น้ำสีเลือด’ ซึ่งความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่มีใครกล้าบอกได้ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมโลกได้รับรู้เสมอมาคือ ในช่วงที่การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกับพม่าทวีความรุนแรง ศพของเหล่านักรบนิรนามก็จะลอยมาตามน้ำอยู่เป็นระยะ ฤดูฝนแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะกลายเป็นแม่น้ำที่โกรธเกรี้ยวไหลเชี่ยวกรากส่งเสียงดัง เนื่องจากการไหลกระทบกันของน้ำกับแก่งหินที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งสาย ในหน้าฝนช่วงที่น้ำเป็นน้ำใหญ่ จึงมีอันตรายกว่าช่วงอื่นๆ


ทีเซ คนขับเรือรับจ้างที่บ้านแม่สามแลบเล่าว่า

ในแม่น้ำสาละวิน จะมีน้ำวนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าฝน บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าแล้ง ในหน้าฝนก็จะไม่ค่อยอันตราย แต่บางแห่งก็จะอันตรายทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง อย่างถ้าขับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือจุดที่อันตรายที่สุด ก็จะเป็นตรงเว่ยจี แถวปากห้วยแม่แต๊ะหลวง


เว่ยจี-เป็นภาษาพม่าแปลว่าน้ำวนใหญ่ ชาวปกากะญอ เรียกว่า กุยเว่ยจี กุยพะโด หรือ “แม่แตะกุย’ เพราะตรงนั้นเป็นช่วงที่สองฝั่งน้ำแคบ แม่น้ำทั้งสายไหลมาเป็นน้ำใหญ่แล้วเหลือเล็กลงและตรงนั้นก็จะเป็นหน้าผาทั้งสองฝั่งน้ำ ถ้าขับเรือไม่ระวังเรือก็จะชนหินแล้วเรือก็จะจมส่วนด้านล่าง จุดที่อันตรายก็มีหลายจุด แต่จุดที่สำคัญคงเป็น แจแปนทีลอซู ห่างจากบ้านสบเมยไปประมาณ ๗๐ กิโล ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า ในช่วงสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) มีทหารญี่ปุ่นหลายร้อยคนล่องเรือตามน้ำลงไปพอไปถึงตรงจุดที่เป็นน้ำตก ซึ่งสูงประมาณตึก ๒ ชั้น เรือก็ไปต่อไม่ได้ เพราะน้ำมันแรง พอไปถึงตรงจุดนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันมีแก่งที่เป็นน้ำตก หลังจากเรือไปถึง เรือก็ตกลงไป พอตกลงไปเรือก็แตก คนก็ตาย ชาวบ้านในแถบนั้นก็เรียกจุดนั้นว่า ‘แจแปนทีลอซู’ คือ หมายถึงน้ำตกของคนญี่ปุ่นหรือน้ำตกที่คนญี่ปุ่นตาย ถ้าคนไม่เคยลงเรือในน้ำสาละวินนี่ เวลานั่งเรือต้องฟังคนขับเรือ อย่างคนขับเรือบอกไม่ให้นั่งขอบเรือ และให้นั่งนิ่งๆ ถ้าไม่นั่งนิ่งๆ เรือจะเสียการทรงตัวได้ ถ้าตกน้ำแล้วไม่ตายก็รอดยาก น้ำสาละวินมันเชี่ยว


จากต้นน้ำบนภูเขาสูงแม่น้ำสาละวิน ได้ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันอันเต็มไปด้วยภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านยูนนาน ประเทศจีน และไหลเข้าสู่รัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยงจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ก็จะลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะไหลเป็นเส้นพรมแดนไทย-พม่าประมาณ ๑๑๘ กิโลเมตร จากนั้นก็จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตระนาวศรีที่บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำสาละวิน ในประเทศไทย


หลังจากนั้นก็จะไหลวกกลับเข้าเขตประเทศพม่า ค่อยๆ ลดระดับลงจนกระทั่งไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ บริเวณเมืองเมาะลำเลิง หรือเมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ รวมระยะการเดินทางของแม่น้ำสายนี้ทั้งหมด ๑,๗๕๐ไมล์หรือ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร มีความยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขง


จากรายงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐระบุว่า แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับ ๔๐ ของโลก และมีน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรมากถึง ๕๓ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที


ในทางภูมิศาสตร์แม่น้ำสาละวิน เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าที่ยาวลงไปตามลำน้ำเมย จนไปถึงเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมผืนป่าขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมด ผืนป่าที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้นี้มีเขตอนุรักษ์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น


ด้านพันธุ์สัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ๒๐ ชนิด มีสัตว์ป่าหายาก ๒๐ ชนิด เช่น กระทิง เสือโคร่ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบนกและสัตว์ปีกอื่นๆ อีก ๑๒๒ ชนิด โดยแบ่งเป็นนกประจำถิ่น ๑๐๘ ชนิด นกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ๑๔ ชนิด และพบสัตว์สะเทินบกอีกประมาณ ๓๘ ชนิด (ศูนย์วิจัยป่าไม้, ๒๕๓๔; ๔๓-๖๑)


สำหรับพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน จากการสำรวจพบ โดยนักคณะวิจัยปกากะญอสาละวิน มีปลาที่ชาวบ้านำมาเป็นอาหารทั้งสิ้น ๗๐ ชนิด แยกเป็นปลาหนัง ๒๒ ชนิด ปลาเกร็ด ๔๘ ชนิด ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ปลาในแม่น้ำสาละวิน น่าจะมีมากถึง ๒๐๐ ชนิด


นอกจากปลาที่กล่าวมาแล้ว ในแม่น้ำสาละวินยังมีปลาหายาก คือ ปลาไหลหูดำหรือปลาตูหนา ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในฤดูวางไข่จะออกไปวางไข่ในทะเลลึก นอกจากจะพบปลาขนิดนี้ ในแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังพบในแม่น้ำสาขาสายอื่นๆ ด้วย เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา รวมไปถึงแม่น้ำปาย คนหาปลาที่บ้านสบเมย บอกตรงกันว่า

ปลาสะเงะจะจับได้ช่วงหน้าหนาวกับช่วงน้ำหลาก คือจับได้ ๒ ช่วงคือ ช่วงน้ำหลากกับช่วงน้ำลด’


ในทางชีววิทยาเชื่อกันว่า เหตุที่ปลาตูหนาเดินทางกลับสู่ทะเลนั้น สาเหตุน่าจะมาจากเกลือในร่างกายหมดทำให้เกิดแรงกระตุ้น เพื่อให้เดินทางกลับไปสู่ทะเล ซึ่งการเดินทางกลับสู่ทะเล ก็คงเป็นช่วงที่ปลาตูหนาเดินทางกลับไปวางไข่ในทะเล


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
 แม่น้ำโขงจากหลังคาโลกสู่ทะแลจีนใต้แม่น้ำโขงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลกครอบคลุมพื้นที่ ๖ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ ทั้งทำการประมง ทำการเกษตร การขนส่ง และการคมนาคม แม่น้ำโขงตอนบนมีลักษณะลาดชันไหลผ่านช่องเขาที่แคบเป็นแนวยาว แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละหายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในเขตปกครองตนเองของทิเบต และจีนแม่น้ำโขงในส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นแก่ง และมีหน้าผาสูงอยู่ในแม่น้ำและตามริมฝั่ง ระดับน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันถึง ๒๐ เมตร…
สุมาตร ภูลายยาว
การเรียกชื่อของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาษาของคนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อหลักที่ผู้คนทั่วไปรู้จักคงไม่ผิดแปลกกันนัก แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำจะแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น ในแม่น้ำโขงเองก็เช่นกัน มีสถานที่หลายแห่งที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวได้เรียกชื่อของสถานที่เหล่านั้นทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกชื่อของแก่งนี้ตามคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้นว่า ‘คอนผีหลวง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนลาวเรียกว่า ‘คอนผีหลงไม่ใช่คอนผีหลวง’ คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรม…
สุมาตร ภูลายยาว
ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือท้องทะเล ทุกหนแห่งที่กล่าวมาล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยพึ่งพามาตลอด เรียกได้ว่าเมื่อนึกถึงแม่น้ำ เราก็จะนึกถึงคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ นอกจากนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ... เรากำลังกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปรู้จักพวกเขาในนาม ‘คนหาปลา’ เมื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้คงไม่ต้องอธิบายมากว่า พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพอะไร แต่เมื่อเพ่งพิศลงไปในอาชีพ และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขา เราจะพบว่า การดำรงตนด้วยการหาปลานั้นเป็นสิ่งยากยิ่ง แน่ละ มันมีหลายเหตุผลที่จะกล่าวเช่นนี้ เหตุผลอย่างที่หนึ่ง เมื่อเราจะออกสู่แม่น้ำ ลำคลอง…
สุมาตร ภูลายยาว
คนทำเรือแห่งแม่น้ำมูนหากเปรียบ ปู ปลาคือผลผลิตจากนาน้ำของคนไม่มีนาโคก เรือก็คงไม่ต่างอะไรจากรถไถนา ‘เรือ’ คำสั้นๆ แต่ดูเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนริมฝั่งน้ำ นอกจากจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ยังใช้ในการหาปลาอีกด้วย เรือในแม่น้ำย่อมมีขนาดแตกต่างกันออกไป แม่น้ำใหญ่เรือก็ใหญ่ แม่น้ำเล็กเรือก็ลำเล็ก นอกจากขนาดของเรือในแต่ละแม่น้ำจะแตกต่างกันออกไปแล้ว ท้องเรือที่จมอยู่ในแม่น้ำยังแตกต่างกันออกไปด้วย เรือในแม่น้ำสาละวินท้องเรือมีลักษณะแบน แต่เรือในแม่น้ำโขงท้องเรือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายสิ่วเจาะไม้
สุมาตร ภูลายยาว
ในสมัยก่อนคนพื้นถิ่นแถบแม่น้ำของ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าน้ำโขง มีการใช้เรือในแม่น้ำของเพื่อการคมนาคมและขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าของคนพื้นถิ่นแถบอำเภอเชียงของและเวียงแก่นก็จะมีทั้ง เกลือ ข้าว และสินค้าอื่นๆ เพื่อค้าขายและเปลี่ยนกับฝั่งลาวและคนต่างถิ่น การค้าทางน้ำในแม่น้ำของนั้นมีมานานหลายชั่วคน นอกจากประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าแล้ว คนท้องถิ่นยังใช้เรือในการหาปลา ซึ่งก่อนที่คนหาปลาจะหันมาใช้เรืออย่างทุกวันนี้ คนหาปลารุ่น ๗๐ ปีขึ้นไปที่หาปลาในแม่น้ำของในอดีตใช้แพไม้ไผ่เพื่อหาปลา พ่ออุ้ยผุย บุปผา อายุ ๗๖ ปี ชาวบ้านปากอิงใต้เล่าว่า “แต่ก่อนตอนพ่อเป็นหนุ่ม…
สุมาตร ภูลายยาว
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย…
สุมาตร ภูลายยาว
๑.แม่น้ำสาละวินและระบบนิเวศแม่น้ำ -บทพูด- -มีคนบรรยายเกิ่นนำเรื่องแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำเนิดจากการละลายของหิมะในธิเบตแล้วไหลผ่านประเทศจีน,ไหลเข้าเขตรัฐฉาน,รัฐคะยาห์ และไหลเรื่อยมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่ารวมระยะทาง ๑๑๘ กิโลเมตร ก่อนจะสิ้นสุดพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านสบเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะบริเวณเมืองเมาะลำเลิงหรือมะละแหม่งของรัฐมอญ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๒,๘๐๐ กิโลเมตร แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ ๒๖ ของโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
 ๑.ภาพเปิดก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวทั้งหมด            -ภาพของเด็กๆ กำลังเล่นน้ำ            -ภาพของคนกำลังหาปลา            -ภาพของงานวัฒนธรรม            -ภาพของเรือจีน            -ภาพเรือหาปลาในลาว / ภาพเรือรับจ้างขนของ / เรือโดยสาร            -…
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’ เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน…
สุมาตร ภูลายยาว
สุมาตร ภูลายยาว เฆมฝนสีดำทะมึนฉาบไปทั่วทิศทาง เรือหาปลาลำเล็กหนึ่งลำ และเรือลำใหญ่สองลำค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่งริมแม่น้ำ เพื่อลอยลำไปยังเบื้องหน้าแท่งคอนกรีตอันเป็นสัญลักษ์ของความชั่วร้ายในนามการพัฒนามาหลายปี เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ คนบนเรือค่อยๆ คลี่ผ้าขาวที่ห่อหุ้มถ่านเถ้าเบื้องหลังความตายแล้วปล่อยถ่านเถ้านั้นไหลลอยไปกับสายน้ำริมฝั่งดอกไม้ทั้งดอกจำปา ดอกเข็มแดง ดอกดาวเรือง ต่างเข้าแถวเรียงรายกันไหลไปตามแม่น้ำ หลังจากมันถูกปล่อยออกจากกรวยใบตองในมือคนริมฝั่ง ถัดออกไปจากริมฝั่งพ่อทองเจริญกับพ่อดำ ได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปขอขมาแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
สำเนียงภาษาอีสานจากหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ฉุดให้ผมคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังขึ้นมาอีกครั้ง ผมตั้งใจเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า อยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่ในเนื้อในหนังอันเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับหนังคนนั้นๆ ต้องการอยากให้เราเห็น ฉากทุกฉากที่ปรากฏอยู่ในหนังแทบทุกเรื่อง ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือความจงใจที่ผู้กำกับต้องการอยากให้เราเห็นในสิ่งที่เขาเห็น เขาจึงได้ใส่มันเข้าไปในหนัง หลังจากดู ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จบ ผมก็มานั่งนึกว่าตัวเองได้ดูหนังอะไรบ้างที่พูดถึงแม่น้ำโขง หรือมีชาวโขงเข้าไปโลดเล่นอยู่บนจอสีขาวในโรงหนัง…
สุมาตร ภูลายยาว
‘นายน้ำ’ เป็นคำเรียกคนขับเรือที่คนลาวใช้เรียกกัน กี่ชั่วอายุคนมาแล้วก่อนที่เราจะมีถนนใช้ แม่น้ำคือถนนชนิดหนึ่งในระหว่างทางที่เรือล่องขึ้น-ลงในแม่น้ำ ยากจะคาดเดาได้ว่า บรรพบุรุษของนายน้ำคนแรกเป็นใคร บนนาวาชีวิตที่ล่องไปบนสายน้ำกว้างใหญ่ และไหลเชี่ยว ชีวิตของพวกเขาล้วนฝากไว้กับบางสิ่งบางอยางที่บางคนเรียกมันว่าชะตากรรมบ่อยครั้งที่ล่องเรือไปบนสายน้ำ เราล้วนแต่ต้องค้อมคารวะหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา เมื่อเดินทางสู่ฝั่ง หากมองทะลุลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ อะไรคือหมุดหมายที่ฉุดรั้งพวกเขาให้มุ่งหน้าสู่เส้นทางที่มองทางไม่เห็นทางเช่นนี้ในบรรดานายน้ำที่มีอยู่มากมาย พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นนายของน้ำ…