Skip to main content

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม


เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต นี่อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาบนฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตก เมื่อหลายปีมาแล้ว และปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่


ในปี ๒๕๓๖ ภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน ๒ สาละวิน’ โดยการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งถือได้ว่าอาจเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินได้ดีที่สุด หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายออกไป เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน จึงถูกดึงเข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้คนบนฝั่งน้ำด้านตะวันออกอย่างกว้างขวาง


นอกจาก จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังมีหนังสือหลายๆ เล่มที่กล่าวถึงแม่น้ำสาละวิน และความเป็นไปของผู้คนสองฝั่งน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘เพชรพระอุมา’ บทประพันธ์ของพนมเทียน คือหนึ่งในหนังสือหลายๆ เล่มนั้น หากใครได้อ่านคงจดจำการผจญภัยอันตื่นเต้น และเร้าใจในป่าดงดิบสาละวินของระพินทร์ ไพรวัลย์ และม...ดาริน วราฤทธิ์ รวมทั้งแงทรายได้ดี แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่มีภาพประกอบ แต่ผู้เขียนก็ทำให้คนอ่านจินตนาการได้ถึงภาพของผืนป่า และแม่น้ำสาละวินได้ดีทีเดียว


แน่นอนว่าความทรงจำ และการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่การสัมผัสรู้ของแต่ละคน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ ผู้คนจำนวนมากจะจินตนาการถึงสิ่งใดบ้าง


หากย้อนหลังไป เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงเรื่องราวของป่าสักทองจำนวนมากที่ถูกนายทุนเข้าไปสัมปทาน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย


โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ‘แม่น้ำสาละวิน’ ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกฉบับ สาเหตุที่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งในครั้งนั้น เนื่องมาจากมีการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินครั้งมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


โดยการจับกุมมีการยึดไม้ของกลางได้ จำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๕๑ ท่อน และมีการจับกุมขบวนการมอดไม้ได้หลายคน ทั้งข้าราชการ และประชาชนธรรมดา ช่วงที่มีการจับกุมใหม่ๆ นั้น แม่น้ำสาละวิน ก็ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในฐานะเส้นทางการลำเลียงไม้ เส้นทางการค้าไม้ และที่สำคัญคือสาละวินเป็นเส้นทางที่พาผู้คนโลภมากเหล่านั้นไปสู่ความหายนะ


แต่หลังจากคดีสิ้นสุดลง ไม้ส่วนหนึ่งได้มลายหายไป และบางส่วนก็ถูกปล่อยให้โดนแดด โดนฝนเป็นไปตามยถากรรม เรื่องราวเกี่ยวกับไม้สักจากป่าสาละวิน ก็เงียบหายไปจากความทรงจำของผู้คนในประเทศไทยอีกครั้ง


-รู้จักแม่น้ำสาละวิน-


สาละวินเป็นสายเลือด สายน้ำเอยไม่เคยเหือดหาย ขุนเขาสลับซับซ้อนเรียงราย เรื่องราวมากมายมาหลายชั่วคน มีเสียงดนตรี-มีเสียงสงคราม มีความสวยงาม-มีความเข้มข้น สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวน ไหลเชี่ยวเกลียวน้ำหมุนตัว อำนาจเมามัวเหมือนน้ำหมุนวน แสนคนตาย-แสนปืนกล-แสนความจน ข้าวยากหมากแพง สันติธรรมค้ำสาละวิน พิราบเจ้าบินเห็นมาแต่ไกล ขอลูกปืนแปรเป็นดอกไม้ ความเลือดความตายขอให้หลุดพ้น ยิ้มของเด็ก-ยิ้มของแม่ ซึ้งใจเมื่อแล-ซึ้งใจเมื่อยล สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน... เนื้อนัยเพลง,สุรชัย จันทิมาธร,๑๗๓’


บทเพลงของสุรชัย จันทิมาธร ได้กล่าวถึงแม่น้ำสายนี้เอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว และบทเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่บอกเล่ากับเรื่องราวความเป็นจริงของแม่น้ำสายนี้ได้ดีอีกเพลงหนึ่ง


แม่น้ำสาละวิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกว่า ‘แม่น้ำสายเลือด’ บ้างก็เรียกว่า ’แม่น้ำมรณะ’ หากพูดถึงต้นธารแห่งแม้น้ำสายนี้แล้ว สามารถกล่าวได้ว่าแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะในบริเวณที่ราบสูงธิเบต เหนือเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงมากกว่า ๔,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนพื้นถิ่นในราบสูงธิเบต เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘นู่เจียง-หรือแม่น้ำนู แปลว่า ‘แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว’ เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากผ่าโตรกผา และโขดหิน’


เมื่อแม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านตอนกลางในเขตรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตที่มีชาวไตหรือไทใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุด ชาวไตเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำคง’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐคะยา รัฐกระเหรี่ยง เวลาเรียกชื่อแม่น้ำสาละวิน มักจะออกเสียงคล้ายกับชาวไตในรัฐฉานคือออกเสียงว่า ‘คง’ ส่วนชาวปกากะญอ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โคโหล่โกล’


สำหรับชื่อ ‘สาละวิน‘ นั้นเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่า ซึ่งออกเสียงว่า ‘ตาลวิน’


แม่น้ำสาละวิน มีความพิเศษแตกต่างกับแม่น้ำอื่นทั่วไป กล่าวคือ แม่น้ำสาละวิน จะมีอุณหภูมิที่เย็นตลอดปี ในฤดูฝนน้ำจะมีสีเหลืองขุ่น และมีแก่งหินตลอดทั้งสาย ร่องน้ำมีลักษณะคล้ายมีดปักลึกลงไปในแผ่นดิน นอกจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ยังแตกต่างจากแม่น้ำหลายๆ สายบนพรมแดนตะวันตกของประเทศ เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม เพราะในหน้าแล้งเราไม่สามารถเดินข้ามแม่น้ำสาละวินได้ แต่สำหรับแม่น้ำเมยแล้ว ในหน้าแล้งเราสามารถเดินข้ามได้


ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำสาละวิน ได้ถูกเรียกขานว่า ‘แม่น้ำสีเลือด’ ซึ่งความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่มีใครกล้าบอกได้ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมโลกได้รับรู้เสมอมาคือ ในช่วงที่การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกับพม่าทวีความรุนแรง ศพของเหล่านักรบนิรนามก็จะลอยมาตามน้ำอยู่เป็นระยะ ฤดูฝนแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะกลายเป็นแม่น้ำที่โกรธเกรี้ยวไหลเชี่ยวกรากส่งเสียงดัง เนื่องจากการไหลกระทบกันของน้ำกับแก่งหินที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งสาย ในหน้าฝนช่วงที่น้ำเป็นน้ำใหญ่ จึงมีอันตรายกว่าช่วงอื่นๆ


ทีเซ คนขับเรือรับจ้างที่บ้านแม่สามแลบเล่าว่า

ในแม่น้ำสาละวิน จะมีน้ำวนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าฝน บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าแล้ง ในหน้าฝนก็จะไม่ค่อยอันตราย แต่บางแห่งก็จะอันตรายทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง อย่างถ้าขับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือจุดที่อันตรายที่สุด ก็จะเป็นตรงเว่ยจี แถวปากห้วยแม่แต๊ะหลวง


เว่ยจี-เป็นภาษาพม่าแปลว่าน้ำวนใหญ่ ชาวปกากะญอ เรียกว่า กุยเว่ยจี กุยพะโด หรือ “แม่แตะกุย’ เพราะตรงนั้นเป็นช่วงที่สองฝั่งน้ำแคบ แม่น้ำทั้งสายไหลมาเป็นน้ำใหญ่แล้วเหลือเล็กลงและตรงนั้นก็จะเป็นหน้าผาทั้งสองฝั่งน้ำ ถ้าขับเรือไม่ระวังเรือก็จะชนหินแล้วเรือก็จะจมส่วนด้านล่าง จุดที่อันตรายก็มีหลายจุด แต่จุดที่สำคัญคงเป็น แจแปนทีลอซู ห่างจากบ้านสบเมยไปประมาณ ๗๐ กิโล ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า ในช่วงสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) มีทหารญี่ปุ่นหลายร้อยคนล่องเรือตามน้ำลงไปพอไปถึงตรงจุดที่เป็นน้ำตก ซึ่งสูงประมาณตึก ๒ ชั้น เรือก็ไปต่อไม่ได้ เพราะน้ำมันแรง พอไปถึงตรงจุดนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันมีแก่งที่เป็นน้ำตก หลังจากเรือไปถึง เรือก็ตกลงไป พอตกลงไปเรือก็แตก คนก็ตาย ชาวบ้านในแถบนั้นก็เรียกจุดนั้นว่า ‘แจแปนทีลอซู’ คือ หมายถึงน้ำตกของคนญี่ปุ่นหรือน้ำตกที่คนญี่ปุ่นตาย ถ้าคนไม่เคยลงเรือในน้ำสาละวินนี่ เวลานั่งเรือต้องฟังคนขับเรือ อย่างคนขับเรือบอกไม่ให้นั่งขอบเรือ และให้นั่งนิ่งๆ ถ้าไม่นั่งนิ่งๆ เรือจะเสียการทรงตัวได้ ถ้าตกน้ำแล้วไม่ตายก็รอดยาก น้ำสาละวินมันเชี่ยว


จากต้นน้ำบนภูเขาสูงแม่น้ำสาละวิน ได้ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันอันเต็มไปด้วยภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านยูนนาน ประเทศจีน และไหลเข้าสู่รัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยงจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ก็จะลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะไหลเป็นเส้นพรมแดนไทย-พม่าประมาณ ๑๑๘ กิโลเมตร จากนั้นก็จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตระนาวศรีที่บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำสาละวิน ในประเทศไทย


หลังจากนั้นก็จะไหลวกกลับเข้าเขตประเทศพม่า ค่อยๆ ลดระดับลงจนกระทั่งไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ บริเวณเมืองเมาะลำเลิง หรือเมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ รวมระยะการเดินทางของแม่น้ำสายนี้ทั้งหมด ๑,๗๕๐ไมล์หรือ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร มีความยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขง


จากรายงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐระบุว่า แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับ ๔๐ ของโลก และมีน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรมากถึง ๕๓ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที


ในทางภูมิศาสตร์แม่น้ำสาละวิน เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าที่ยาวลงไปตามลำน้ำเมย จนไปถึงเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมผืนป่าขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมด ผืนป่าที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้นี้มีเขตอนุรักษ์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น


ด้านพันธุ์สัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ๒๐ ชนิด มีสัตว์ป่าหายาก ๒๐ ชนิด เช่น กระทิง เสือโคร่ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบนกและสัตว์ปีกอื่นๆ อีก ๑๒๒ ชนิด โดยแบ่งเป็นนกประจำถิ่น ๑๐๘ ชนิด นกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ๑๔ ชนิด และพบสัตว์สะเทินบกอีกประมาณ ๓๘ ชนิด (ศูนย์วิจัยป่าไม้, ๒๕๓๔; ๔๓-๖๑)


สำหรับพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน จากการสำรวจพบ โดยนักคณะวิจัยปกากะญอสาละวิน มีปลาที่ชาวบ้านำมาเป็นอาหารทั้งสิ้น ๗๐ ชนิด แยกเป็นปลาหนัง ๒๒ ชนิด ปลาเกร็ด ๔๘ ชนิด ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ปลาในแม่น้ำสาละวิน น่าจะมีมากถึง ๒๐๐ ชนิด


นอกจากปลาที่กล่าวมาแล้ว ในแม่น้ำสาละวินยังมีปลาหายาก คือ ปลาไหลหูดำหรือปลาตูหนา ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในฤดูวางไข่จะออกไปวางไข่ในทะเลลึก นอกจากจะพบปลาขนิดนี้ ในแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังพบในแม่น้ำสาขาสายอื่นๆ ด้วย เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา รวมไปถึงแม่น้ำปาย คนหาปลาที่บ้านสบเมย บอกตรงกันว่า

ปลาสะเงะจะจับได้ช่วงหน้าหนาวกับช่วงน้ำหลาก คือจับได้ ๒ ช่วงคือ ช่วงน้ำหลากกับช่วงน้ำลด’


ในทางชีววิทยาเชื่อกันว่า เหตุที่ปลาตูหนาเดินทางกลับสู่ทะเลนั้น สาเหตุน่าจะมาจากเกลือในร่างกายหมดทำให้เกิดแรงกระตุ้น เพื่อให้เดินทางกลับไปสู่ทะเล ซึ่งการเดินทางกลับสู่ทะเล ก็คงเป็นช่วงที่ปลาตูหนาเดินทางกลับไปวางไข่ในทะเล


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…