Skip to main content

แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี


ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น แต่เรื่องราวที่ทำให้แม่น้ำสายนี้เป็นที่สนใจของผู้คนทั่วไปคงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างเขื่อน


หลังสร้างเขื่อนผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้น บนสันเขื่อนปากมูนจึงกลายเป็นฐานที่มั่นของชาวบ้านผู้มาชุมนุม เพื่อบอกกล่าวความเดือดร้อนของพวกเขาให้คนทั่วไปได้รับรู้ วันที่เราเดินทางไปเยือนครั้งนั้นกระท่อมเรียงรายกระจัดกระจายไปตามสันเขื่อนจำนวนหลายหลัง มีเวทีกลางตรงข้างถนน บัดนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ปัจจุบันมันกลายเป็นลานจอดรถ เป็นที่ปลูกต้นไม้ และเป็นเขตหวงห้ามที่เข้าไปได้เฉพาะคนบางกลุ่ม


ผมยังจำได้ว่าหลายปีก่อนได้เคยมานั่งที่โขดหิน ตกปลากระทิงตรงหน้าเขื่อนกับเด็กน้อยจากโรงเรียนแม่มูนมั่นยืน สิ่งเหล่านี้คือภาพอดีตที่หลายคนยังคงจดจำ ในขณะที่หลายคนก็ลืมหลงภาพเหล่านั้นไปแล้ว


แม่น้ำมูนแห่งนี้คือแหล่งเรียนรู้ของคนปากมูน ทั้งคนริมมูนและคนบ้านโคก แม่น้ำมูนคือโรงเรียนสอนการใช้ชีวิตของผู้คนที่อยู่กับแม่น้ำมายาวนาน เป็นโรงเรียนที่มีเพียงคำสอนคำบอกเล่า ไม่มีตำราให้ท่องจำ มีเพียงการฝึกฝนปฏิบัติจริงจนรู้และชำนาญ จึงไม่แปลกหากจะกล่าวว่า คนอยู่กับแม่น้ำมูน คือคนที่รู้เรื่องแม่น้ำมูนมากที่สุด งานวิจัยไทบ้านเพื่อศึกษาพันธุ์ปลาและทรัพยากรแม่น้ำที่ฟื้นคืนหลังการทดลองเปิดประตูเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี จึงได้เริ่มขึ้นที่นี่


ชาวบ้านปากมูนย่อมรู้ดีที่สุดในเรื่องแม่น้ำมูน และรู้ว่าการกั้นแม่น้ำด้วยเขื่อนมิได้ให้ประโยชน์อะไรกับพวกเขาเลย


ในวัยเด็กผมไม่รู้หรอกว่าเขื่อนมันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แต่รู้ว่าเมื่อมีคนมาชวนไปเที่ยวเขื่อนจะรู้สึกดีใจมาก ผมยังจำคำที่แม่บอกว่า ผมเกิดปีเดียวกับที่เขื่อนอุบลรัตน์แตกและเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ เมื่อเติบโตขึ้นผมก็ได้เรียนรู้จากโรงเรียนว่าเขื่อนมีไว้เพื่อผลิตไฟฟ้า ถ้าไม่มีเขื่อนก็ไม่มีไฟฟ้าใช้


แต่เมื่อได้เรียนรู้มากขึ้น ก็รู้ว่าเขื่อนไม่ได้มีไว้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่มันได้ตัดวิถีชีวิตของชุมชนออกไปจากแม่น้ำ เช่น กรณีเขื่อนปากมูน เขื่อนราษีไศล เมื่อแม่น้ำถูกเขื่อนกั้น คนหาปลาก็ลดจำนวนลง แต่เมื่อเปิดเขื่อน คนหาปลาก็กลับมาจับปลาในแม่น้ำกันอย่างคึกคักกันอีกครั้ง ผมคิดว่า เมื่อจะทำอะไรก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต แม้ผู้ได้รับผลกระทบจะเป็นคนส่วนน้อยก็ตาม สิ่งนั้นย่อมไม่ใช่เป็นสิ่งที่ดี ทำไมคนส่วนน้อยต้องเสียสละ ในเมื่อเขาก็มีเพียงชีวิตเดียวเช่นเดียวกับทุกคน


หลังการเปิดเขื่อนมีงานวิจัยออกมายืนยันว่าแม่น้ำ ปลา และวิถีชีวิตชุมชนฟื้นคืนมาจนเกือบสมบูรณ์เมื่อแม่น้ำปราศจากเขื่อน ผมเชื่อมั่นว่าสังคมย่อมตระหนักดี แม้ในท้ายที่สุดรัฐบาลจะเพิกเฉยต่องานวิจัยทั้งที่ทำโดยมหาวิทยาลัย และของชาวบ้านเอง


รวมพลังผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลก ณ ริมฝั่งแม่น้ำมูน


ลมหนาวพัดมา ณ ริมน้ำมูนตอนกลางที่บริเวณทุ่งน้อย ราษีไศล ผู้คนหลายชาติ หลายภาษา แต่มีภารกิจร่วมกัน มารวมกันรักษาแม่น้ำในงานประชุมนานาชาติครั้งที่ ๒ ของผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลก River for Life


ผมเดินทางมาถึงทุ่งน้อยก่อนวันงานประชุมหลายวันเพื่อเตรียมงาน งานก่อสร้างและการเตรียมการทั้งหลายดำเนินไปอย่างเร่งรีบ เพราะวันงานใกล้เข้ามาทุกที ผมบอกกับตัวเองว่า มนุษย์ต้องรู้จักการใช้แรงกายบ้าง ยามค่ำคืนที่เหนื่อยล้าจากการทำงานกลางแดดเปรี้ยงมาทั้งวัน ก็หวนคิดถึงผู้คนอีกมากมายที่ต้องใช้แรงกายทำงาน เช่น คนที่ทำงานก่อสร้าง เขาเหนื่อยกว่าเราหลายเท่านักเพื่อแลกสิ่งที่จะมาเลี้ยงชีวิต


ระหว่างการเตรียมงานเมื่อมีคนมากมายมารวมกัน ย่อมมีความแตกต่างกันหลายๆ ด้าน และความแตกต่างนี้เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ หลายวันที่ตรากตรำทำงานก่อสร้างหนักๆ ผมได้เรียนรู้ว่าความลำบากให้อะไรเรามากกว่าความสบาย ความสบายทำให้เราดูหมิ่นความลำบาก มองเห็นความลำบากเป็นขวากหนามที่ต้องคอยหลีกเลี่ยง เหมือนกับชนชั้นกลางที่มองเห็นการชุมนุมของผู้เดือดร้อนจากเขื่อนปากมูนอย่างไรอย่างนั้น แต่มนุษย์เหล่านั้นไม่เคยเรียนรู้เลยว่า ทำไมชาวบ้านต้องมาชุมนุม


ช่วงเวลาที่ใช้แรงงานนั้น ผมได้เรียนรู้ทักษะที่ไม่เคยรู้มาก่อน เป็นการเรียนนอกตำรา สิ่งที่ได้เรียนรู้คือการสร้างบ้าน ทำอย่างไรจึงจะให้งานออกมาดี ทำอย่างไรหน้าต่างจึงจะปิดได้ ทำอย่างไรไม้แต่ละแผ่นจึงจะซ้อนออกมาสวยงาม งานก่อสร้างตอกย้ำให้เรารู้ว่าเมื่อเราอยู่กับพี่น้องในชุมชน เราต้องทำตัวเป็นนักเรียนน้อย อย่าคิดว่าตนรู้ทุกสิ่ง ผู้รู้ที่แท้จริงย่อมบอกว่าตัวเองไม่รู้ และเมื่อเราพร้อมจะเรียนจากผู้อื่น เปิดใจและประตูแห่งการรับรู้ เราก็จะเห็นหลายอย่างที่เราไม่เคยได้รู้จากผู้คนมากมาย


งานประชุมนี้ทำให้ผมได้เห็นภาพที่กว้างขึ้นของขบวนการผู้เดือดร้อนจากเขื่อนว่า แท้จริงแล้วเรื่องของการปกปักรักษาแม่น้ำไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทยเพียงที่เดียวเท่านั้น


จากการเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยในประเด็นต่างๆ ประเด็นที่สำคัญที่ได้รับรู้คือ เบื้องหลังของเขื่อนและโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้นมิใช่แค่เรื่องของรัฐบาลในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ยังมีตัวละครอีกหลายตัวที่เข้าร่วมผลักดันโครงการเหล่านี้ให้ดำเนินไปอย่างไม่เห็นชีวิตคนตัวเล็กๆ อาทิ ธนาคารเพื่อการพัฒนาต่างๆ รัฐบาลประเทศร่ำรวย และกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน แนวโน้มปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบันมิได้จำกัดอยู่เพียงในพรมแดนประเทศอีกต่อไป มีแต่จะข้ามพรมแดนไปเรื่อยๆ


เมื่อประเทศที่มีทุนมากกว่าเข้ารุกล้ำประเทศที่ยังคงมีทรัพยากร เช่น ไปสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อบ้านแล้วเอาไฟฟ้าหรือน้ำมาใช้ในประเทศตนเอง หรือสร้างเขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติที่ใช้ร่วมกันหลายประเทศ ผลกระทบของโครงการก็มิได้อยู่เฉพาะในพื้นที่โครงการ แต่ไหลบ่าข้ามพรมแดนแห่งรัฐมากระทบประชาชนที่ร่วมสายน้ำในประเทศอื่นๆ ด้วยเช่นกัน


และการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านเขื่อนจะหยุดอยู่เป็นเรื่องท้องถิ่นเพียงในพื้นที่หรือในประเทศของตนมิได้อีกต่อไป เครือข่ายระดับภูมิภาคในประเด็นเดียวกัน เช่น การเรียกร้องค่าปฏิกรณ์ หรือเครือข่ายร่วมลุ่มน้ำเดียวกัน เป็นยุทธศาสตร์รวมพลังที่สำคัญและมีประสิทธิภาพ ทำให้การต่อสู้สัมฤทธิ์ผลได้จริงด้วยความร่วมมือ


ผมได้พบว่าเรื่องทรัพยากรเราจะมองเพียงเรื่องทรัพยากรที่เป็นเงื่อนไขของรัฐชาติไม่ได้เพราะเมื่อเรามองเพียงเงื่อนไขของความเป็นรัฐชาติที่มีอยู่ เราก็จะจัดการและปกป้องทรัพยากรเฉพาะในประเทศเราเท่านั้น ในงานนี้ผมได้รับการเปิดมุมมองของตัวเองใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรว่า เราต้องมองเรื่องทรัพยากรให้ไปไกลกว่าการมองการจัดการทรัพยากรแบบความเป็นรัฐชาติ แล้วเราจะได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับตัวเองในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดิน น้ำ ป่า


สิ่งนี้ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงเชียงของ ที่ชาวบ้านในประเทศไทยต้องเดือดร้อนเพราะโครงการเขื่อนและระเบิดแก่งในจีนและพรมแดนพม่า-ลาว ที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตร ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำพัดพาความเดือดร้อนไปไกลนัก


ยามค่ำของวันสุดท้ายของการประชุม พี่น้องต่างเชื้อชาติต่างภาษาต่างพากันทยอยเดินไปยังแม่น้ำมูนเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของผู้ปกป้องแม่น้ำ และต้องการให้แม่น้ำได้ไหลอย่างอิสระ ขบวนเรือกาบกล้วยหลายสิบลำไหลสู่แม่น้ำ เรือลำน้อยไหลตามน้ำไปอย่างช้าๆ คำประกาศของการประชุมดังกึกก้อง บางคนกำหมัดชูขึ้นพร้อมคำประกาศว่า “พอกันทีกับการที่คนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่ออำนาจผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มที่อ้างว่าเป็นคนส่วนมาก”

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’