Skip to main content

20080327 ภาพประกอบ 1

พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้น

ในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน ทั้ง ๒ คนเป็นล่ามแปลภาษาของกันและกัน ถัดจากพวกเราไปเป็นหญิงชราวัย ๖๓ หญิงชรามีหน้าที่พายเรือ การพายเรือของหญิงชราแปลกแปร่งไปจากที่เคยเห็น เพราะแกใช้ตีนทั้งสองข้างในการถีบไม้พายที่ผูกติดเอาไว้กับกราบเรือ คงไม่ผิดแปลกอันใดที่จะกล่าวว่า เรือมุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงเฉื่อยของตีนคน

ผมเก็บความสงสัยเอาไว้ไม่อยู่จึงตัดสินใจถามผ่านล่ามว่าด้วยเหตุผลกลใด หญิงชราจึงใช้ตีนทั้งสองข้างพายเรือ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ ตีนมีแรงมากกว่ามือ และมือก็ต้องเอาไว้ใช้เก็บกู้กุบ (เครื่องมือหาปลาชนิดหนึ่ง) ที่จมอยู่ในน้ำ

ขณะเราลอยเรืออยู่เหนือสายน้ำ เวลาก็ล่วงเลยไปเกือบบ่าย ๒ แต่บนฟ้าเฆมยังคงมืดครึ้ม และฝนก็ยังโปรยสายลงมาบางเบา ในม่านฝน เรือบรรทุกทรายลำใหญ่หลายลำกำลังเร่งเครื่องเพื่อทวนน้ำขึ้นไปทางตอนเหนือของแม่น้ำ ในเรือลำใหญ่บรรทุกทรายจนปริ่มกราบเรือ ทรายจากริมฝั่งแม่น้ำถูกนำไปใช้ในกิจการก่อสร้าง เมื่อเรือลำใหญ่วิ่งผ่าน ชายชราก็จะโยนก้อนหินลงน้ำ นัยว่าเพื่อถ่วงเรือเอาไว้

20080227 ภาพประกอบ 2

หลายปีมาแล้วที่เรือใหญ่วิ่งเต็มแม่น้ำ แต่เรือลำเล็กเช่นเรือหาปลาของพ่อเฒ่ากลับค่อยๆ หายไปจากแม่น้ำ คล้ายว่าคลื่นจากเรือใหญ่ได้โถมซัดคนหาปลาเช่นพ่อเฒ่าคนแล้วคนเล่าให้กลับคืนสู่ฝั่ง

ย้อนหลังไปเมื่อ ๕๑ ปีก่อน เรือใหญ่เล่านี้ยังไม่มีมากมาย แต่ผิดกับเรือหาปลาลำเล็ก เมื่อ ๕๑ ปีก่อนเรือหาปลาเหล่านี้มีมากจนเต็มแม่น้ำ หลังจากนโยบายของรัฐที่ให้คนน้ำคืนฝั่ง เพื่อลงหลักปักฐานสร้างชีวิต เรือลำเล็กก็ค่อยๆ หายไป แต่นั่นใช่ว่าจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ผู้คน และเรือลำเล็กหายไปจากแม่น้ำเกือบหมด สิ่งที่ทำให้ผู้คนบนเรือลำเล็กหายไปจนเกือบหมดคือคลื่นของความเปลี่ยนแปลงอันมาพร้อมกับผู้คนที่มากขึ้นนั่นเอง

เมื่อ ๕๑ ปีก่อน และก่อนหน้านั้นไปอีกหลายปี พ่อเฒ่าฟาน ดิน กันยังเป็นหนุ่มแข็งแรงใช้ตีนพายเรือขึ้นเหนือล่องใต้ไปตามแม่น้ำมาแล้วชั่วเจ็ดย่านน้ำ จะมีบ้างในบ้างปีที่ต้องจอดเรือลอยลำหลบหลีกกระสุนปืนของสงคราม หลังสงครามยุติพ่อเฒ่าก็เอาตีนพายเรือต่อไป

พ่อเฒ่าเล่าให้ผมฟังว่า ในชั่วกว่า ๖๐ ปีของชีวิต พ่อเฒ่าต้องเผชิญเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่พ่อเฒ่าก็ผ่านมันมาได้ แต่กับการเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดนี่เองที่พ่อเฒ่าต้องเพ่งพินิจถึงมันด้วยความหวาดกลัว

แต่พ่อเฒ่าก็ยังใจดีบอกว่า “แล้วเราก็จะผ่านมันไปได้”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดขึ้นกับพ่อเฒ่าเพียงอย่างเดียว แต่มันเกิดขึ้นกับแม่น้ำที่พ่อเฒ่าได้อาศัยพึ่งพามาเกือบทั้งชีวิต

พ่อเฒ่าเล่าให้ฟังว่า หลังจากประเทศเดินทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ดีมากขึ้น ผู้คนในประเทศก็เริ่มสร้างเศรษฐกิจในครัวเรือนของตัวเอง แต่คนในหมู่บ้านทีรอานไม่ได้เป็นอย่างนั้น พวกเรายังอาศัยอยู่ในเรือ และล่องเรือไปตามแม่น้ำแดงเพื่อหาปลา เราไม่เคยอยู่บนฝั่ง แต่พอทางรัฐให้ขึ้นไปอยู่บนฝั่งโดยการให้เราซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสร้าง และทำมาหากิน พวกเราก็ไม่สนที่จะทำ เพราะต่างคิดว่าหาปลาอย่างเดียวก็อยู่ได้ อยู่ในน้ำก็ได้ไม่ต้องขึ้นฝั่ง ภายหลังเมื่อเขื่อนหัวบินถูกสร้างบนแม่น้ำในปี ๑๙๗๘ แล้วเสร็จและทำการกักเก็บน้ำในปี ๑๙๘๕ ระบบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป น้ำน้อยลงกว่าเดิม คนหาปลาที่เร่ร่อนบนเรือหาปลา มีเรือเป็นบ้าน มีน้ำเป็นที่ดิน เกือบ ๓๐๐ คนที่หาปลาเป็นอาชีพก็หาปลาได้น้อยลง สาเหตุที่หาปลาได้น้อยลง เพราะคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่คนหาปลาเป็นอาชีพก็นำเครื่องมือที่ทำลายล้างมาใช้ในแม่น้ำ เช่น นำไฟฟ้ามาช๊อตปลา เมื่อปลาถูกช๊อตมันก็เป็นหมันขยายพันธุ์ไม่ดีอีกต่อไป เมื่อปลาขยายพันธ์ไม่ได้ ปลาที่เคยมีในแม่น้ำก็ลดจำนวนลงด้วย อีกทั้งน้ำในแม่น้ำก็ตื้นเขิน เพราะเขากักน้ำไว้ในเขื่อน และมีการดูดทรายริมฝั่ง ทั้ง ๒-๓ อย่างที่กล่าวมาล้วนส่งผลโดยตรงต่อคนหาปลา

คนหาปลาหลายคนหาปลาไม่ได้ก็ขึ้นไปอยู่บนฝั่ง แต่ขึ้นไปก็ไม่มีที่ดินทำกินก็ต้องไปรับจ้างในเมือง ครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้าก็ค่อยแตกกระจายกันไป ถึงวันไหว้ผีบรรพบุรุษบางคนก็ไม่ได้กลับมาไหว้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง

เมื่อพูดคุยกันอยู่นาน พ่อเฒ่าก็หันหน้ากลับดูกุบที่ใส่เอาไว้ พ่อเฒ่ายกกุบครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่พ่อเฒ่าและเราผู้ผ่านทางมาได้รับรู้คือในกุบว่างเปล่า ไม่มีปลาแม้แต่ตัวเดียว แต่ความพยายามของพ่อเฒ่าที่รู้ทางหนีที่ไล่ แกจึงใส่กุบไว้เกือบ ๓๐ อัน ในที่สุดก็มีปลามาถูกกุบทั้ง ๓๐ อันอยู่ ๓ ตัว ‘ปลา ๓ ตัวรวมกันได้ไม่ถึงกิโลไม่มีคนซื้อหรอก เอากลับบ้านไปทำกินดีกว่า’ พ่อเฒ่ากล่าวออกมาหลังเบนหัวเรือกลับคืนสู่ฝั่ง หลังจอดเรือส่งผู้ผ่านทางมาที่ริมฝั่งเรียบร้อย ก่อนจากกันพ่อเฒ่าก็ตะโกนบอกเราว่า โชคไม่ดีนักวันนี้ไม่ได้ เอาไว้ถ้ามาวันหน้าจะเอาปลาตัวใหญ่ขึ้นมาโชว์ให้ดู

ในรอยทางของคนผู้มีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำอย่างแท้จริง ไม่มีใครเลยที่คิดจะทำลายแม่น้ำ เพราะหากเขาทำลายแม่น้ำไม่ว่าทางใดทางหนึ่งก็เหมือนกับว่า เขาค่อยๆ ตัดเฉือนเนื้อของตัวเองออกไปทีละนิดทีละนิด แล้วเราผู้ไม่มีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำอย่างจริงจัง เราจะไม่ใส่ใจดูแลแม่น้ำ เพื่อคนหาปลาผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างจริงจังกระนั้นหรือ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะให้พันธสัญญาต่อกันว่า จากนี้ต่อไปคนหาปลาผู้มีชีวิตอยู่ด้วยการลอยเรือไปบนคลื่นความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงเพียงลำพัง เราจะร่วมเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงนั้น และร่วมกันทำความเปลี่ยนแปลงนั้นให้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนแปลงไปในทางด้านที่ดี และแม่น้ำต้องเป็น ‘แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย’

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’