Skip to main content

ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้

หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง ยามเช้าแสงแรกแห่งวันยังไม่เยี่ยมกรายมาเยือน แต่สรรพชีวิตก็ถูกปลุกให้ตื่น หลังจากรถจอดสงบนิ่งแล้ว ผู้โดยสารทยอยลงจากรถ เสียงถามไถ่จากคนขับรถรับจ้างดังมาไม่ขาดสาย บางคนลงจากรถแล้วแต่จุดหมายปลายทางของเขายังอีกไกล แต่บางคนก็ได้กลับบ้านไปพักผ่อน เพราะเหนื่อยล้ากับการเดินทางมาทั้งคืน หากนับรวมผู้โดยสารที่ต้องเดินทางต่อไป ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น  

ปลายทางของฉันอยู่ที่หมู่บ้านใกล้แม่น้ำมูน ว่ากันว่าหมู่บ้านแห่งนี้ไกลออกไปจนถึงเส้นขอบแดนประเทศ และปลายทางที่ฉันจะไป ที่นั่นเราจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนใครในประเทศ

20080407 1

ขณะรถโดยสารที่นั่งมากำลังเคลื่อนตัวออกไปจากสถานี ฉันได้นั่งมองมันจนลับสายตา ยามเช้าเช่นนี้ถ้าได้กาแฟขมตายไม่เอาเรื่องสักแก้วก็คงดี แต่ฉันเพียงได้แค่ครุ่นคิดประโยคนี้หลังจากมองดูร้านขายกาแฟในสถานีขนส่งที่ปิดประตูเงียบ เมื่อสิ่งที่หวังไม่เป็นดั่งหวัง ฉันจึงทรุดตัวลงนอนบนม้านั่ง

พระอาทิตย์ยามเช้าทอแสงแรกขึ้นมาแล้ว แต่ฉันยังไม่ได้ขยับร่างกายไปไหนมาไหน เพราะตารางนัดหมายการเดินทางยังคงมาไม่ถึง หลังได้นอนพัก ความเหนื่อยล้าจากการเดินทางที่สะสมมาก็พอผ่อนเบาลงบ้าง ขณะเฝ้ารอการเดินทางเพื่อไปสู่ปลายทาง เพื่อนร่วมทางบนรถโดยสารที่ฉันไม่เคยรู้จัก พวกเขาก็หายไปจนหมด

ในที่สุดกาแฟร้อนผ่าวแก้วแรกของวันก็ถูกยกขึ้นเป่า และถูกกลืนลงลำคอ แม้ว่าจะเป่าให้มันเย็นลงเพียงใด แต่ฉันก็เกือบบ้วนมันออกมาดังเดิม เพราะความร้อนเกินกว่าที่ปากจะรับได้ปรากฏขึ้น หลังดื่มกาแฟหมดแก้ว รถคันที่นัดหมายให้มารับไปส่งยังจุดหมายก็มาถึง หลังเก็บสัมภาระขึ้นบนรถเรียบร้อย รถก็ค่อยๆ เคลื่อนออกจากสถานีขนส่ง

คนขับเร่งคันเร่งขึ้น รถวิ่งไปข้างหน้าด้วยความเร็วพอประมาณ
“นั่งรถมาทั้งคืนเหนื่อยไหม?” เสียงใครบางคนบนรถถาม
“เหนื่อย แต่ก็พอทนได้” ฉันตอบ
“พอรู้ไหมว่าเดินทางมาทั้งหมดกี่กิโล”
“สำหรับเราเบาะๆ ประมาณ ๑,๐๕๐ กิโล”
“ไม่รู้จะมาทำไมไกลก็ไกล”
“นั่นสิไม่รู้จะมาทำไมไกลก็ไกล”


จริงอย่างที่ใครบางคนบนรถว่า ไม่รู้เราจะมาทำไมไกลก็ไกล เดินทางข้ามวันข้ามคืน แต่นั่นเป็นเพียงสิ่งที่พวกเราบนรถพูดหยอกล้อเล่นกันเท่านั้น ความจริงเราล้วนอยากเดินทางมา และมาเพื่อจะได้เห็นความจริงว่า ‘แม่น้ำมูนหลังการเปิดเขื่อนเป็นอย่างไร?’

20080407 2

ในที่สุดจุดมุ่งหมายของเราก็เป็นจริง เมื่อรถพาเราวิ่งขึ้นไปบนสันเขื่อน (ขออภัยที่ไม่กล้าเรียกว่าถนน) ประตูระบายน้ำของเขื่อนทั้งหมดถูกยกขึ้นจนสุดบาน สายน้ำไหลหลั่งโถมถั่ง เพื่อปลอดปล่อยความอัดอั้นที่สั่งสมมาเนิ่นนาน ในความเป็นจริงแล้ว ใช่ว่าฉันจะไม่เคยมายังที่แห่งนี้ ฉันเคยมาหลายครั้ง แต่ไม่มีครั้งใดเลยที่ฉันจะได้เห็นประตูระบายน้ำของเขื่อนทั้งหมด ซึ่งปิดกั้นแม่น้ำถูกยกขึ้นพร้อมกัน

ใครบางคนบนรถบอกกับฉันว่า “หลังจากเขา--หมายถึงเจ้าหน้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ผิด) ได้เปิดประตูเขื่อนตามมติคณะรัฐมนตรี แม้ว่าจะเปิดช้ากว่าปกติ คนหาปลาได้กลับมาหาปลา คนหาปลาที่ไปทำงานกรุงเทพก็กลับมา”

20080407 3

สิ่งที่เพื่อนคนนั้นพูดไม่ใช่สิ่งเกินเลย เพราะหลังจากเราข้ามสันเขื่อนไปแล้ว รถก็มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวอำเภอโขงเจียม เมื่อไปถึงตลาด ภาพแรกที่ฉันเห็นหลังข้ามสะพานมาถึงตัวอำเภอ แม่ค้าขายปลา และคนหาปลาต่างช่วยกันยกปลาขึ้นใส่ถังน้ำแข็งบนรถที่จอดรออยู่ ว่ากันว่าปลายทางของปลาเหล่านี้อยู่ที่มหานครสมมติ

“แปลกแต่จริง คนไม่เคยเห็นแม่น้ำแต่ได้กินปลาจากแม่น้ำ คนที่ไม่อยากให้เปิดประตูเขื่อนก็ได้กินปลาจากแม่น้ำ เขาจะรู้สึกไหมหนอว่า ปลาที่เขากินนั้นมาจากหยาดเหงื่อ และการเรียกร้องของคนที่พวกเขารู้จักเพียงว่า นักต่อสู้ข้างถนน”

ฉันรำพึงรำพันกับเพื่อนบนรถ
“คนอยู่ไกลเขาไม่รู้สึกหรอก แถมยังไม่อยากมายุ่งเกี่ยวด้วย แต่พอถึงหน้าเปิดเขื่อนได้กินปลาก็ยิ้มแก้มแทบปริ” เพื่อนร่วมทางที่เป็นคนนำทางบอกเล่าความรู้สึกออกมา หลังเขาจมอยู่กับความเงียบเนิ่นนาน

“นี่ละหนาคนเรา พอเห็นความจริงก็ยอมรับไม่ได้ แต่พอดอกผลของความจริงปรากฏก็ยินดีปรีดา ตอนชาวบ้านเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนไม่ยอมมาช่วย แต่พอรู้ว่ามีปลาก็สั่งให้เอาไปขายให้ จะกินแต่ปลา แต่ไม่ยอมเล็งเห็นคุณค่าของคนหาปลา”

“เขาจะไปเห็นความจริงอะไร ยิ่งอยู่ไกล ความจริงที่เห็นยิ่งไกลห่าง นี่ถ้าคนที่ได้กินปลาจากแม่น้ำมูนทั้งหมดมาช่วยชาวบ้านรณรงค์ให้เขาเปิดประตูเขื่อนปากมูนแบบถาวรคงเป็นคลื่นมหาชนที่ยิ่งใหญ่พอสมควรทีเดียว”
“นั่นสินะ ชาวบ้านจะได้มีแนวร่วมมากขึ้น”    


หลังพวกเราพุดคุยกันอยู่ไม่นาน ทุกคนก็เงียบเสียงลง เมื่อรถจอดสงบนิ่งตรงแผงขายปลาข้างทางแห่งหนึ่ง บนแผงขายปลา ปลาเพี้ยหลายขนาดนอนเรียงรายอยู่บนแผงขายปลา
“นี่เพิ่งจับได้ไม่ใช่ปลาเลี้ยง ถ้าเขาไม่เปิดเขื่อนคงไม่ได้มากขนาดนี้หรอก จะซื้อกี่กิโล”
“๒ กิโล”
ใครบางคนบนรถตะโกนบอกแม่ค้าขายปลา
“เปิดเขื่อนมันดีอย่างนี้นี่เอง” ใครบางคนพูดขึ้นมา หลังจากรถเคลื่อนตัวออกจากแผงขายปลามาได้ไม่ไกล...

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’