Skip to main content

หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้ว

ชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน

เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น

ในพิธีมีพระสงฆ์จากวัดประจำหมู่บ้านได้เดินทางมาร่วมกับชาวบ้านด้วย เพื่อความเป็นศิริมงคลให้กับชาวบ้าน ถัดจากตรงที่ชาวบ้านกลุ่มใหญ่นั่งอยู่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ ตรงใต้ร่มไม้นั้นชายชราคนหนึ่งกำลังจุดเทียนบูชาเทพแถนอารักษ์เทวดา แสงเทียมวอมแวมไหวตามแรงลมร้อน

หลังพิธีกรรมทุกอย่างเสร็จสิ้น เสียงหินหล่นลงกระทบกับน้ำดังก้องขึ้น น้ำที่มีอยู่ไม่มากในลำห้วยแตกกระจาย ต้นไม้ริมฝั่งถูกตัดถางลง เพื่อใช้เป็นคันแกนกลางรองรับหินจำนวนมากที่จะถูกทิ้งลงไปในน้ำ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าการทิ้งหินลงแม่น้ำเพื่อสร้างฝายแบบชาวบ้านที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังใช้ได้จริงมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ และใครเริ่มทำเป็นคนแรก ถึงแม้ไม่รู้ แต่ชาวบ้านก็เรียกการทำฝายแบบนี้ว่า ‘การทำฝายหินทิ้ง-ฝายแม้ว’ ส่วนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกเช่นนี้คงเพราะสิ่งที่ชาวบ้านทำ และสิ่งที่ชาวบ้านเห็นนั่นเอง

20080508 (1)

 

การทำฝายหินทิ้งคือ การนำหินจำนวนมากทิ้งลงไปเพื่อกั้นน้ำ ตรงใต้สุดของหินก็จะใช้ใบไม้กิ่งไม้รองรับ เพื่อเป็นทางระบายน้ำอีกทางหนึ่ง การทำฝายหินทิ้งเพื่อกักเก็บน้ำให้น้ำค่อยๆ ล้นออกมาจากคันฝาย แล้วไหลไปตามลำห้วย การทำเช่นนี้จะช่วยให้น้ำไม่แห้งเร็วจนเกินไป และน้ำที่มีอยู่น้อยก็จะใช้ได้ตลอดหน้าแล้ง ในหนึ่งลำห้วยอาจทำหลายที่ อย่างที่ห้วยหลวงก็ทำกันถึง ๓ ฝายลดหลั่นกันไปตามลำดับ

หินหลายก้อน ต้นไม้หลายต้นถูกล้มลงเพื่อเป็นคันกั้นน้ำ ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของคนในหมู่บ้าน จากหินก้อนเล็กก้อนน้อย ฝายแห่งที่ ๑ ก็เดินทางไปสู่ความสำเร็จเมื่อเวลาล่วงเข้ายามใกล้เที่ยง

ฝายชนิดนี้ทำด้วยแรงคน และทำด้วยความสามัคคีของคน มันจึงเป็นมากกว่าฝายกั้นน้ำ แต่หากว่าในการเกิดขึ้นของฝาย มันยังได้รวมเอาแรงงานของผู้คนลงไปอยู่ในนั้นด้วย ฝายแบบชาวบ้านทำโดยชาวบ้าน ไม่ต้องใช้งบประมาณมาก ฝายแบบนี้แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาความแห้งแล้งทั้งระบบ แต่ในหน่วยเล็กๆ เช่นชุมชนก็สามารถแก้ปัญหาให้กับชุมชนของตัวเองได้

หลังจากกลุ่มแม่ครัวทำกับข้าวเสร็จสิ้น และนำไปถวายเพลพระ หลังจากนั้นชาวบ้านที่ไปช่วยกันทำงานก็ทยอยนำข้าวปลาอาหารที่ตัวเองห่อติดตัวไปออกมาแบ่งกันกิน

กลิ่นเครื่องแกงหน่อไม้โชยมาแต่ไกล หลังแม่ครัวส่วนหนึ่งเดินทางไปหาหน่อไม้ตั้งแต่ตอนเช้า เพื่อมาทำเป็นอาหารแบ่งกันกินในตอนเที่ยงวัน เหล้าขาว ๓๕ ดีกรีต้มเองถูกนำมาแจกจ่ายกันพอเป็นพิธี เมื่อทุกคนกินข้าวเสร็จ คนเฒ่าคนแก่บางส่วนก็ไปตัดไม้ไผ่มาทำเป็นตะกร้าเพื่อใส่หิน

เมื่อข้าวเต็มท้อง ความหิวหายไป ขบวนนักสร้างฝายชายหญิงก็ได้ร่วมตัวกัน เพื่อเดินทางสู่เป้าหมายแห่งใหม่ต่อไป

20080508 (2)

ตะวันบ่ายคล้อยความเหนื่อยล้าเริ่มปรากฏบนใบหน้าของหลายคน แต่ความย่อท้อของหลายคนก็ไม่เคยหมด ฝายแห่งที่ ๓ จึงเดินทางไปสู่ความสำเร็จเมื่อเวลาบ่ายคล้อยมาเยือน เสียงร้องเพลง เสียงพูดคุยดังมาไม่ขาดระยะเมื่อฝายแห่งสุดท้ายสำเร็จลง คนเฒ่าคนแก่บางคนเริ่มเก็บเครื่องมือ เพื่อคืนสู่บ้าน ในตะกร้าบนบ่าของกลุ่มแม่บ้านบางคนมีหน่อไม้เรียงรายอยู่ในนั้น

ขณะเดินตามหลังชาวบ้านกลับคืนสู่หมู่บ้าน ชาวบ้านบางคนก็พูดออกมาให้ได้ยินว่า “ทำฝายปีนี้ ปีหน้าต้องเลี้ยงผีฝาย เพื่อน้ำจะได้ไม่หมด ชาวบ้านเราก็จะมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี”

ในสายลมร้อนที่พัดมา แม้เหงื่อไคลบนใบหน้าของใครหลายคนยังมีอยู่ แต่รอยยิ้มบนใบหน้ากลับกลบความร้อนบนร่างกายไปจนสิ้น หลายคนเมื่อเดินทางกลับสู่บ้านแล้วเปิดก๊อกน้ำ เมื่อสายตามองเห็นน้ำที่ไหลมาไม่ขาดสายจากปลายก๊อก คนเหล่านั้นจะรู้สึกเช่นไร หลายคนคงคิดว่าไม่ใช่สิ่งยากที่จะค้นหาคำตอบจากเรื่องนี้
    

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
    ...เสียงปืนดังลั่นเปรี้ยง-คล้ายเสียงชะนีหวน
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมเริ่มพัดเปลี่ยนทิศจากเหนือลงใต้ ฤดูฝนใกล้พ้นผ่านแล้ว ฤดูหนาวกำลังเดินทางมาแทน ขณะอาทิตย์ใกล้ลับฟ้าถัดจากกระท่อมหลังสุดท้ายตรงหาดทรายไปไม่ไกล คนจำนวนมากกำลังวุ่นวายอยู่กับการเก็บเครื่องมือทำงาน หากนับตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าไป ๔ วันแล้วที่ช่างในหมู่บ้านถูกไหว้วานให้มาช่วยกันทำเรือไฟ เพื่อให้ทันใช้ในวันออกพรรษา หลังจมอยู่กับงานมาทั้งวัน เมื่อโรงงานต่อเรือไฟปิดประตูลงในตอนเย็น โรงมหรสพริมฝั่งน้ำก็เข้ามาแทน
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำนิ่งงันลงชั่วการกระพริบตาของพญามังกร ชาวบ้านริมฝั่งน้ำไม่มีใครรู้ว่า พญามังกรกระพริบตากี่ครั้ง หรือด้วยอำนาจใดของพญามังกร แม่น้ำจึงหยุดไหล ทั้งที่แม่น้ำเคยไหลมาชั่วนาตาปี วันที่แม่น้ำหยุดไหล คนหาปลาร้องไห้ปานจะขาดใจ เพราะปลาจำนวนมากได้หนีหายไปจากแม่น้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
แดดร้อนของเดือนมีนาคมแผดเผาหญ้าแห้งกรัง หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าทุกปี เพราะฝนไม่ตก ยอดมะม่วงอ่อนจึงไม่ยอมแตกช่อ มะม่วงป่าเริ่มออกดอกรอฝนพรำ เพื่อให้ผลได้เติบโต ความร้อนมาพร้อมกับความแห้งแล้ง ในความแห้งแล้ง ดอกไม้ป่าหลากสีกำลังผลิบาน มีทั้งดอกสีส้ม แดง ม่วง ความแห้งแล้งดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง
สุมาตร ภูลายยาว
‘ย่างเข้าเดือนห้า น้ำท่าก็เริ่มขอดแล้ง’ คนแก่บางคนว่าอย่างนั้น (ถ้าผมจำไม่ผิด) คำพูดนี้ได้สะท้อนบางอย่างออกมาด้วย นั่นคือสิ่งที่ผู้คนในยุคสมัยก่อนเห็น พอถึงเดือนห้า น้ำที่เคยมีอยู่ก็แห้งขอดลงเป็นลำดับ ผู้คนในสมัยก่อนที่จะก้าวเข้าสู่สังคมเกษตรอุตสาหกรรมเช่นทุกวันนี้ทำอะไรบ้าง ในสังคมภาคกลางยุคที่ทำการเกษตรไม่ใช่อุตสาหกรรม หน้าแล้งไม่มีใครทำนา เพราะทุกคนต่างรู้ว่า หน้าแล้งแล้วนะ น้ำท่าจะมาจากไหน แต่พอยุคอุตสาหกรรมเกษตรเรืองอำนาจ หน้าแล้งผู้คนก็ยังคงทำนา เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการเกษตรกันอยู่
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้ดีตีนแดง-ขอ โทษ เท้าแดง ตะแคงเท้าเดิน เวลาเหยียบปุ่มปมของพรมผืนนุ่มนิ่มราวกับปุยเมฆ นั่นแหละเท้าของผู้ดี และโลกของผู้ดีมีแต่น้ำครำ –น้ำคำ แห่งการหลอกลวง ทั้งผู้ดีจริง และผู้ดีกลวง ขณะเดินย่ำไปบนเส้นทางสู่ร้านอาหารเลิศหรู เมนูไข่คาเวียกับบรั่นดีแก้วทรงสูงดัดจริตวางรอ ผู้ดีน้ำครำละเลียดเมรัยรสคมผ่านลำคอ และละเลียดไข่คาเวียที่มีอยู่นับจำนวนได้บนจานราคาแพงกว่าการขึ้นห้องกับปอง ของโฉน ไพรำ ผู้ดี น้ำครำมองออกไปนอกหน้าต่างสูงลิบของห้องอาหารโรงแรมเสียดฟ้า เบื้องล่างแม่น้ำไหลเอื่อยเหนื่อยปานจะขาดใจตาย ผู้ดีน้ำครำละเลียดไข่คาเวียราคาแพง เพื่อเลิศหรูมีหน้ามีตา…
สุมาตร ภูลายยาว
สายลมหนาวพัดมาพร้อมกับสายฝนที่โปรยสายลงมา ว่ากันว่านี่คือฝนหลงฤดู! กาแฟแก้วของวันเป็นคาปูชิโน่ร้อนสองแก้ว แต่ไม่ใช่ของผมเป็นของลูกค้าต่างชาติ รสชาติของกาแฟเป็นอย่างไรในเช้านี้ ผมไม่อาจรู้ เพราะไม่ได้ชิม หลังสตรีมนมสดจนร้อนได้ที่ กลิ่นกาแฟสดหอมกรุ่นโชยออกมา และพร้อมแล้วสำหรับการดื่ม-กิน
สุมาตร ภูลายยาว
เนิ่นนานหลายปีแล้วที่ผมพเนจรจากบ้านเกิด แต่หลายๆ ความรู้สึกเกี่ยวกับบ้าน ผมไม่มีทางลืมได้เด็ดขาด บางค่ำคืนที่มีโอกาสอยู่กับตัวเองเพียงลำพัง ด้วยความสงบเงียบ ภาพบ้านเกิดจะย้อนกลับมาสู่ความทรงจำ-ความทรงจำในวัยเยาว์เกี่ยวกับบ้านเกิด
สุมาตร ภูลายยาว
เวลาผ่านไปเร็ว ยามที่เราโตขึ้น เราเชื่อเช่นนั้น เพราะเราโหยหาเวลาของวัยเยาว์ เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นลำดับมีหลายความรู้สึกของวัยเยาว์ที่หล่นหายไปอย่างไม่อาจเรียกคืนกลับมา ราวกับสายน้ำที่ไหลไกลออกไปทุกทีๆ มิอาจหวนกลับมาเป็นสายน้ำได้เช่นเดิม แต่กลายเป็นสายฝนพรำลงมาแทน หากพูดถึงอดีตแล้ว บางด้านที่เลวร้าย เราอยากผ่านเลย แต่กลับจำได้ฝังใจ...
สุมาตร ภูลายยาว
บุนทะนอง ซมไซผล แปลโดย สุมาตร ภูลายยาว    ๑.ผลน้ำเต้าบุ่ง และวรรณคดีพื้นเมือง ถ้าจะให้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-ลาว ความเชื่อมโยงด้านวรรณคดีของชนชาติเผ่าพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำของ สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าคิดถึงคือ น้ำเต้าบุ่ง
สุมาตร ภูลายยาว
ดอกเกดเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ลำต้นมีลักษณะเหมือนต้นปาล์ม เวลาออกดอก ดอกจะส่งกลิ่นหอม คนเฒ่าคนแก่จะนิยมนำไปบูชาพระและนำมาทัดหู ผมไม่รู้เหมือนกันว่าดอกไม้ชนิดนี้จะมีอยู่ทั่วไปในประเทศไทยหรือมีเฉพาะที่ภาคอีสานและประเทศลาว
สุมาตร ภูลายยาว
จากใบไม้ใบสุดท้ายถึงซิ่นไหมผืนเก่าๆ: ๒ เรื่องสั้นซีไรต์บนแผ่นดินเบื้องซ้ายแม่น้ำของ (โขง) เมื่อพูดถึงวรรณกรรมบนแผ่นดินฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้ว หลายคนคงอดที่จะพูดถึงวรรณกรรมชิ้นคลาสสิกเช่น ‘สังสินไซ’ ไม่ได้ เพราะสังสินไซเป็นวรรณกรรมพื้นบ้านที่คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงรู้จักมากที่สุดชิ้นหนึ่ง นอกจากสังสินไซแล้ว ผลงานของนักเขียนลาวหลายคนในความรับรู้ของคนไทยคงหนีไม่พ้นผลงานเขียนของท่านมหาสีลา วีระวงค์ ผู้รจนางานมหากาพย์อันยิ่งใหญ่ในนาม ‘ท้าวฮุ่งและขุนเจือง’