Skip to main content

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม


เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต นี่อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมาบนฝั่งแม่น้ำด้านทิศตะวันตก เมื่อหลายปีมาแล้ว และปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่


ในปี ๒๕๓๖ ภาพยนตร์เรื่อง ‘มือปืน ๒ สาละวิน’ โดยการกำกับของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน


ซึ่งถือได้ว่าอาจเป็นครั้งแรกของวงการภาพยนตร์ไทยที่กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวินได้ดีที่สุด หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกฉายออกไป เรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน จึงถูกดึงเข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้คนบนฝั่งน้ำด้านตะวันออกอย่างกว้างขวาง


นอกจาก จะมีภาพยนตร์เกี่ยวกับแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังมีหนังสือหลายๆ เล่มที่กล่าวถึงแม่น้ำสาละวิน และความเป็นไปของผู้คนสองฝั่งน้ำ ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ‘เพชรพระอุมา’ บทประพันธ์ของพนมเทียน คือหนึ่งในหนังสือหลายๆ เล่มนั้น หากใครได้อ่านคงจดจำการผจญภัยอันตื่นเต้น และเร้าใจในป่าดงดิบสาละวินของระพินทร์ ไพรวัลย์ และม...ดาริน วราฤทธิ์ รวมทั้งแงทรายได้ดี แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ไม่มีภาพประกอบ แต่ผู้เขียนก็ทำให้คนอ่านจินตนาการได้ถึงภาพของผืนป่า และแม่น้ำสาละวินได้ดีทีเดียว


แน่นอนว่าความทรงจำ และการรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับแม่น้ำสาละวิน ย่อมแตกต่างกันออกไปตามแต่การสัมผัสรู้ของแต่ละคน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ ผู้คนจำนวนมากจะจินตนาการถึงสิ่งใดบ้าง


หากย้อนหลังไป เมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อน เมื่อเอ่ยถึง ‘แม่น้ำสาละวิน’ คนส่วนใหญ่ก็คงนึกถึงเรื่องราวของป่าสักทองจำนวนมากที่ถูกนายทุนเข้าไปสัมปทาน ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย


โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ‘แม่น้ำสาละวิน’ ได้ปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ไทยแทบทุกฉบับ สาเหตุที่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งในครั้งนั้น เนื่องมาจากมีการจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวินครั้งมโหฬารที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์


โดยการจับกุมมีการยึดไม้ของกลางได้ จำนวนทั้งสิ้น ๑๓,๒๕๑ ท่อน และมีการจับกุมขบวนการมอดไม้ได้หลายคน ทั้งข้าราชการ และประชาชนธรรมดา ช่วงที่มีการจับกุมใหม่ๆ นั้น แม่น้ำสาละวิน ก็ถูกพูดถึงหลายต่อหลายครั้ง ทั้งในฐานะเส้นทางการลำเลียงไม้ เส้นทางการค้าไม้ และที่สำคัญคือสาละวินเป็นเส้นทางที่พาผู้คนโลภมากเหล่านั้นไปสู่ความหายนะ


แต่หลังจากคดีสิ้นสุดลง ไม้ส่วนหนึ่งได้มลายหายไป และบางส่วนก็ถูกปล่อยให้โดนแดด โดนฝนเป็นไปตามยถากรรม เรื่องราวเกี่ยวกับไม้สักจากป่าสาละวิน ก็เงียบหายไปจากความทรงจำของผู้คนในประเทศไทยอีกครั้ง


-รู้จักแม่น้ำสาละวิน-


สาละวินเป็นสายเลือด สายน้ำเอยไม่เคยเหือดหาย ขุนเขาสลับซับซ้อนเรียงราย เรื่องราวมากมายมาหลายชั่วคน มีเสียงดนตรี-มีเสียงสงคราม มีความสวยงาม-มีความเข้มข้น สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวน ไหลเชี่ยวเกลียวน้ำหมุนตัว อำนาจเมามัวเหมือนน้ำหมุนวน แสนคนตาย-แสนปืนกล-แสนความจน ข้าวยากหมากแพง สันติธรรมค้ำสาละวิน พิราบเจ้าบินเห็นมาแต่ไกล ขอลูกปืนแปรเป็นดอกไม้ ความเลือดความตายขอให้หลุดพ้น ยิ้มของเด็ก-ยิ้มของแม่ ซึ้งใจเมื่อแล-ซึ้งใจเมื่อยล สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน สาละวิน... เนื้อนัยเพลง,สุรชัย จันทิมาธร,๑๗๓’


บทเพลงของสุรชัย จันทิมาธร ได้กล่าวถึงแม่น้ำสายนี้เอาไว้เมื่อหลายปีมาแล้ว และบทเพลงนี้ก็เป็นเพลงที่บอกเล่ากับเรื่องราวความเป็นจริงของแม่น้ำสายนี้ได้ดีอีกเพลงหนึ่ง


แม่น้ำสาละวิน มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป บ้างก็เรียกว่า ‘แม่น้ำสายเลือด’ บ้างก็เรียกว่า ’แม่น้ำมรณะ’ หากพูดถึงต้นธารแห่งแม้น้ำสายนี้แล้ว สามารถกล่าวได้ว่าแม่น้ำสาละวิน มีต้นกำเนิดจากการละลายของหิมะในบริเวณที่ราบสูงธิเบต เหนือเทือกเขาหิมาลัย ที่ระดับความสูงมากกว่า ๔,๐๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ชนพื้นถิ่นในราบสูงธิเบต เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘นู่เจียง-หรือแม่น้ำนู แปลว่า ‘แม่น้ำที่โกรธเกรี้ยว’ เนื่องจากลักษณะของแม่น้ำที่ไหลเชี่ยวกรากผ่าโตรกผา และโขดหิน’


เมื่อแม่น้ำสาละวิน ไหลผ่านตอนกลางในเขตรัฐฉาน ซึ่งเป็นเขตที่มีชาวไตหรือไทใหญ่อาศัยอยู่มากที่สุด ชาวไตเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำคง’ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐคะยา รัฐกระเหรี่ยง เวลาเรียกชื่อแม่น้ำสาละวิน มักจะออกเสียงคล้ายกับชาวไตในรัฐฉานคือออกเสียงว่า ‘คง’ ส่วนชาวปกากะญอ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โคโหล่โกล’


สำหรับชื่อ ‘สาละวิน‘ นั้นเป็นชื่อที่ชาวอังกฤษเรียกเพี้ยนมาจากเสียงเรียกของชาวพม่า ซึ่งออกเสียงว่า ‘ตาลวิน’


แม่น้ำสาละวิน มีความพิเศษแตกต่างกับแม่น้ำอื่นทั่วไป กล่าวคือ แม่น้ำสาละวิน จะมีอุณหภูมิที่เย็นตลอดปี ในฤดูฝนน้ำจะมีสีเหลืองขุ่น และมีแก่งหินตลอดทั้งสาย ร่องน้ำมีลักษณะคล้ายมีดปักลึกลงไปในแผ่นดิน นอกจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ยังแตกต่างจากแม่น้ำหลายๆ สายบนพรมแดนตะวันตกของประเทศ เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม เพราะในหน้าแล้งเราไม่สามารถเดินข้ามแม่น้ำสาละวินได้ แต่สำหรับแม่น้ำเมยแล้ว ในหน้าแล้งเราสามารถเดินข้ามได้


ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา แม่น้ำสาละวิน ได้ถูกเรียกขานว่า ‘แม่น้ำสีเลือด’ ซึ่งความจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่มีใครกล้าบอกได้ แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่สังคมโลกได้รับรู้เสมอมาคือ ในช่วงที่การสู้รบระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกับพม่าทวีความรุนแรง ศพของเหล่านักรบนิรนามก็จะลอยมาตามน้ำอยู่เป็นระยะ ฤดูฝนแม่น้ำสายใหญ่สายนี้จะกลายเป็นแม่น้ำที่โกรธเกรี้ยวไหลเชี่ยวกรากส่งเสียงดัง เนื่องจากการไหลกระทบกันของน้ำกับแก่งหินที่จมอยู่ใต้น้ำตลอดทั้งสาย ในหน้าฝนช่วงที่น้ำเป็นน้ำใหญ่ จึงมีอันตรายกว่าช่วงอื่นๆ


ทีเซ คนขับเรือรับจ้างที่บ้านแม่สามแลบเล่าว่า

ในแม่น้ำสาละวิน จะมีน้ำวนอยู่หลายแห่ง บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าฝน บางแห่งก็จะมีอันตรายช่วงหน้าแล้ง ในหน้าฝนก็จะไม่ค่อยอันตราย แต่บางแห่งก็จะอันตรายทั้งหน้าฝน และหน้าแล้ง อย่างถ้าขับเรือทวนน้ำขึ้นเหนือจุดที่อันตรายที่สุด ก็จะเป็นตรงเว่ยจี แถวปากห้วยแม่แต๊ะหลวง


เว่ยจี-เป็นภาษาพม่าแปลว่าน้ำวนใหญ่ ชาวปกากะญอ เรียกว่า กุยเว่ยจี กุยพะโด หรือ “แม่แตะกุย’ เพราะตรงนั้นเป็นช่วงที่สองฝั่งน้ำแคบ แม่น้ำทั้งสายไหลมาเป็นน้ำใหญ่แล้วเหลือเล็กลงและตรงนั้นก็จะเป็นหน้าผาทั้งสองฝั่งน้ำ ถ้าขับเรือไม่ระวังเรือก็จะชนหินแล้วเรือก็จะจมส่วนด้านล่าง จุดที่อันตรายก็มีหลายจุด แต่จุดที่สำคัญคงเป็น แจแปนทีลอซู ห่างจากบ้านสบเมยไปประมาณ ๗๐ กิโล ผู้เฒ่าเล่าให้ฟังต่อๆ กันมาว่า ในช่วงสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ ๒) มีทหารญี่ปุ่นหลายร้อยคนล่องเรือตามน้ำลงไปพอไปถึงตรงจุดที่เป็นน้ำตก ซึ่งสูงประมาณตึก ๒ ชั้น เรือก็ไปต่อไม่ได้ เพราะน้ำมันแรง พอไปถึงตรงจุดนั้น ไม่มีใครรู้ว่ามันมีแก่งที่เป็นน้ำตก หลังจากเรือไปถึง เรือก็ตกลงไป พอตกลงไปเรือก็แตก คนก็ตาย ชาวบ้านในแถบนั้นก็เรียกจุดนั้นว่า ‘แจแปนทีลอซู’ คือ หมายถึงน้ำตกของคนญี่ปุ่นหรือน้ำตกที่คนญี่ปุ่นตาย ถ้าคนไม่เคยลงเรือในน้ำสาละวินนี่ เวลานั่งเรือต้องฟังคนขับเรือ อย่างคนขับเรือบอกไม่ให้นั่งขอบเรือ และให้นั่งนิ่งๆ ถ้าไม่นั่งนิ่งๆ เรือจะเสียการทรงตัวได้ ถ้าตกน้ำแล้วไม่ตายก็รอดยาก น้ำสาละวินมันเชี่ยว


จากต้นน้ำบนภูเขาสูงแม่น้ำสาละวิน ได้ไหลลงสู่พื้นที่ลาดชันอันเต็มไปด้วยภูเขาทางด้านทิศใต้ ผ่านยูนนาน ประเทศจีน และไหลเข้าสู่รัฐฉาน รัฐคะยา และรัฐกะเหรี่ยงจากนั้นแม่น้ำสาละวิน ก็จะลดระดับลงมาเหลือต่ำกว่า ๓๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ก่อนที่จะไหลเป็นเส้นพรมแดนไทย-พม่าประมาณ ๑๑๘ กิโลเมตร จากนั้นก็จะไหลไปบรรจบกับแม่น้ำเมย ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาตระนาวศรีที่บ้านสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อันเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำสาละวิน ในประเทศไทย


หลังจากนั้นก็จะไหลวกกลับเข้าเขตประเทศพม่า ค่อยๆ ลดระดับลงจนกระทั่งไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะ บริเวณเมืองเมาะลำเลิง หรือเมืองมะละแหม่ง ในรัฐมอญ รวมระยะการเดินทางของแม่น้ำสายนี้ทั้งหมด ๑,๗๕๐ไมล์หรือ ๒,๘๐๐ กิโลเมตร มีความยาวเป็นอันดับ ๒๖ ของโลก ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่ และมีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากแม่น้ำโขง


จากรายงานการสำรวจทางภูมิศาสตร์ของสหรัฐระบุว่า แม่น้ำสาละวิน มีปริมาณน้ำมากเป็นอันดับ ๔๐ ของโลก และมีน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรมากถึง ๕๓ ลูกบาศก์ฟุตต่อวินาที


ในทางภูมิศาสตร์แม่น้ำสาละวิน เป็นส่วนหนึ่งของเขตป่าที่ยาวลงไปตามลำน้ำเมย จนไปถึงเทือกเขาตะนาวศรี ครอบคลุมผืนป่าขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยทั้งหมด ผืนป่าที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาวจากเหนือลงใต้นี้มีเขตอนุรักษ์ที่สำคัญหลายแห่ง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นต้น


ด้านพันธุ์สัตว์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ๒๐ ชนิด มีสัตว์ป่าหายาก ๒๐ ชนิด เช่น กระทิง เสือโคร่ง เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบนกและสัตว์ปีกอื่นๆ อีก ๑๒๒ ชนิด โดยแบ่งเป็นนกประจำถิ่น ๑๐๘ ชนิด นกอพยพเข้ามาในช่วงฤดูหนาว ๑๔ ชนิด และพบสัตว์สะเทินบกอีกประมาณ ๓๘ ชนิด (ศูนย์วิจัยป่าไม้, ๒๕๓๔; ๔๓-๖๑)


สำหรับพันธุ์ปลาในแม่น้ำสาละวิน จากการสำรวจพบ โดยนักคณะวิจัยปกากะญอสาละวิน มีปลาที่ชาวบ้านำมาเป็นอาหารทั้งสิ้น ๗๐ ชนิด แยกเป็นปลาหนัง ๒๒ ชนิด ปลาเกร็ด ๔๘ ชนิด ทั้งนี้ นักวิจัยเชื่อว่า ปลาในแม่น้ำสาละวิน น่าจะมีมากถึง ๒๐๐ ชนิด


นอกจากปลาที่กล่าวมาแล้ว ในแม่น้ำสาละวินยังมีปลาหายาก คือ ปลาไหลหูดำหรือปลาตูหนา ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยหากินตามแหล่งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในฤดูวางไข่จะออกไปวางไข่ในทะเลลึก นอกจากจะพบปลาขนิดนี้ ในแม่น้ำสาละวินแล้ว ยังพบในแม่น้ำสาขาสายอื่นๆ ด้วย เช่น แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม แม่น้ำเงา รวมไปถึงแม่น้ำปาย คนหาปลาที่บ้านสบเมย บอกตรงกันว่า

ปลาสะเงะจะจับได้ช่วงหน้าหนาวกับช่วงน้ำหลาก คือจับได้ ๒ ช่วงคือ ช่วงน้ำหลากกับช่วงน้ำลด’


ในทางชีววิทยาเชื่อกันว่า เหตุที่ปลาตูหนาเดินทางกลับสู่ทะเลนั้น สาเหตุน่าจะมาจากเกลือในร่างกายหมดทำให้เกิดแรงกระตุ้น เพื่อให้เดินทางกลับไปสู่ทะเล ซึ่งการเดินทางกลับสู่ทะเล ก็คงเป็นช่วงที่ปลาตูหนาเดินทางกลับไปวางไข่ในทะเล


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…