Skip to main content
บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก


ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคม


นอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจ


ว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’


อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้


เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่อง


ย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น


ปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง


ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน


เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไป


บทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา


เขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน


วันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง


แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน


แม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’


(ตีพิมพ์ครั้งแรกในแท็บลอยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑)

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
 แม่น้ำโขงจากหลังคาโลกสู่ทะแลจีนใต้แม่น้ำโขงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลกครอบคลุมพื้นที่ ๖ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ ทั้งทำการประมง ทำการเกษตร การขนส่ง และการคมนาคม แม่น้ำโขงตอนบนมีลักษณะลาดชันไหลผ่านช่องเขาที่แคบเป็นแนวยาว แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละหายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในเขตปกครองตนเองของทิเบต และจีนแม่น้ำโขงในส่วนตอนกลางมีลักษณะเป็นแก่ง และมีหน้าผาสูงอยู่ในแม่น้ำและตามริมฝั่ง ระดับน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันถึง ๒๐ เมตร…
สุมาตร ภูลายยาว
การเรียกชื่อของสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในแม่น้ำสายใดสายหนึ่งล้วนแตกต่างกันออกไปตามแต่ภาษาของคนท้องถิ่นนั้นๆ แต่ชื่อหลักที่ผู้คนทั่วไปรู้จักคงไม่ผิดแปลกกันนัก แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแม่น้ำจะแตกต่างกันไปตามภาษาถิ่น และความเชื่อของคนท้องถิ่น ในแม่น้ำโขงเองก็เช่นกัน มีสถานที่หลายแห่งที่ชาวบ้านทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาวได้เรียกชื่อของสถานที่เหล่านั้นทั้งเหมือนกัน และแตกต่างกัน คอนผีหลงก็เช่นกัน คณะผู้สำรวจจากประเทศจีนอ้างอิงเอาตามคำเรียกชื่อของแก่งนี้ตามคนลาวท้องถิ่นในบริเวณนั้นว่า ‘คอนผีหลวง’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนลาวเรียกว่า ‘คอนผีหลงไม่ใช่คอนผีหลวง’ คำว่า ‘คอน’ ในพจนานุกรม…
สุมาตร ภูลายยาว
ไม่ว่าจะในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง หรือท้องทะเล ทุกหนแห่งที่กล่าวมาล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งอาศัยพึ่งพามาตลอด เรียกได้ว่าเมื่อนึกถึงแม่น้ำ เราก็จะนึกถึงคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกๆ นอกจากนึกถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำ... เรากำลังกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ผู้คนทั่วไปรู้จักพวกเขาในนาม ‘คนหาปลา’ เมื่อกล่าวถึงคนกลุ่มนี้คงไม่ต้องอธิบายมากว่า พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการทำอาชีพอะไร แต่เมื่อเพ่งพิศลงไปในอาชีพ และวิถีทางแห่งการดำรงอยู่ของพวกเขา เราจะพบว่า การดำรงตนด้วยการหาปลานั้นเป็นสิ่งยากยิ่ง แน่ละ มันมีหลายเหตุผลที่จะกล่าวเช่นนี้ เหตุผลอย่างที่หนึ่ง เมื่อเราจะออกสู่แม่น้ำ ลำคลอง…
สุมาตร ภูลายยาว
คนทำเรือแห่งแม่น้ำมูนหากเปรียบ ปู ปลาคือผลผลิตจากนาน้ำของคนไม่มีนาโคก เรือก็คงไม่ต่างอะไรจากรถไถนา ‘เรือ’ คำสั้นๆ แต่ดูเปี่ยมด้วยความหมายยิ่งใหญ่สำหรับผู้คนริมฝั่งน้ำ นอกจากจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางแล้ว ยังใช้ในการหาปลาอีกด้วย เรือในแม่น้ำย่อมมีขนาดแตกต่างกันออกไป แม่น้ำใหญ่เรือก็ใหญ่ แม่น้ำเล็กเรือก็ลำเล็ก นอกจากขนาดของเรือในแต่ละแม่น้ำจะแตกต่างกันออกไปแล้ว ท้องเรือที่จมอยู่ในแม่น้ำยังแตกต่างกันออกไปด้วย เรือในแม่น้ำสาละวินท้องเรือมีลักษณะแบน แต่เรือในแม่น้ำโขงท้องเรือมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายสิ่วเจาะไม้
สุมาตร ภูลายยาว
ในสมัยก่อนคนพื้นถิ่นแถบแม่น้ำของ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าน้ำโขง มีการใช้เรือในแม่น้ำของเพื่อการคมนาคมและขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าของคนพื้นถิ่นแถบอำเภอเชียงของและเวียงแก่นก็จะมีทั้ง เกลือ ข้าว และสินค้าอื่นๆ เพื่อค้าขายและเปลี่ยนกับฝั่งลาวและคนต่างถิ่น การค้าทางน้ำในแม่น้ำของนั้นมีมานานหลายชั่วคน นอกจากประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าแล้ว คนท้องถิ่นยังใช้เรือในการหาปลา ซึ่งก่อนที่คนหาปลาจะหันมาใช้เรืออย่างทุกวันนี้ คนหาปลารุ่น ๗๐ ปีขึ้นไปที่หาปลาในแม่น้ำของในอดีตใช้แพไม้ไผ่เพื่อหาปลา พ่ออุ้ยผุย บุปผา อายุ ๗๖ ปี ชาวบ้านปากอิงใต้เล่าว่า “แต่ก่อนตอนพ่อเป็นหนุ่ม…
สุมาตร ภูลายยาว
ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคนไทยจำนวนไม่น้อยคงได้ดีใจกับเหรียญทองเหรียญแรกในกีฬาโอลิมปิก แต่ในความดีใจนั้นก็มีความเศร้าใจปะปนมาด้วย และความเศร้าใจก็เดินทางมาพร้อมกับความสูญเสียจำนวนมหาศาลที่คิดเป็นมูลค่าของเงินแล้วไม่ตำกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ความเศร้าใจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำโขงเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน และที่สวนไร่นาจำนวนมหาศาล ที่บอกว่าเหตุการณ์อันกำลังเกิดขึ้นเป็นความเศร้าใจนั้น เพราะพืชผลทางการเกษตรจำนวนไม่น้อยกำลังอยู่ในช่วงรอการเก็บเกี่ยวผลิต บ้างก็กำลังเริ่มให้ผลผลิต ในจำนวนผู้คนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ดูเหมือนว่าในส่วนของประเทศไทย…
สุมาตร ภูลายยาว
๑.แม่น้ำสาละวินและระบบนิเวศแม่น้ำ -บทพูด- -มีคนบรรยายเกิ่นนำเรื่องแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำเนิดจากการละลายของหิมะในธิเบตแล้วไหลผ่านประเทศจีน,ไหลเข้าเขตรัฐฉาน,รัฐคะยาห์ และไหลเรื่อยมาเป็นเส้นแบ่งพรมแดนไทย-พม่ารวมระยะทาง ๑๑๘ กิโลเมตร ก่อนจะสิ้นสุดพรมแดนไทย-พม่าที่บ้านสบเมย หลังจากนั้นแม่น้ำสาละวินก็จะไหลลงสู่มหาสมุทรอินเดียที่อ่าวเมาะตะมะบริเวณเมืองเมาะลำเลิงหรือมะละแหม่งของรัฐมอญ รวมระยะทางทั้งสิ้น ๒,๘๐๐ กิโลเมตร แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ ๒๖ ของโลก สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
 ๑.ภาพเปิดก่อนนำเข้าสู่เรื่องราวทั้งหมด            -ภาพของเด็กๆ กำลังเล่นน้ำ            -ภาพของคนกำลังหาปลา            -ภาพของงานวัฒนธรรม            -ภาพของเรือจีน            -ภาพเรือหาปลาในลาว / ภาพเรือรับจ้างขนของ / เรือโดยสาร            -…
สุมาตร ภูลายยาว
เสียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’ เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน…
สุมาตร ภูลายยาว
สุมาตร ภูลายยาว เฆมฝนสีดำทะมึนฉาบไปทั่วทิศทาง เรือหาปลาลำเล็กหนึ่งลำ และเรือลำใหญ่สองลำค่อยๆ เคลื่อนออกจากฝั่งริมแม่น้ำ เพื่อลอยลำไปยังเบื้องหน้าแท่งคอนกรีตอันเป็นสัญลักษ์ของความชั่วร้ายในนามการพัฒนามาหลายปี เมื่อเรือไปถึงกลางแม่น้ำ คนบนเรือค่อยๆ คลี่ผ้าขาวที่ห่อหุ้มถ่านเถ้าเบื้องหลังความตายแล้วปล่อยถ่านเถ้านั้นไหลลอยไปกับสายน้ำริมฝั่งดอกไม้ทั้งดอกจำปา ดอกเข็มแดง ดอกดาวเรือง ต่างเข้าแถวเรียงรายกันไหลไปตามแม่น้ำ หลังจากมันถูกปล่อยออกจากกรวยใบตองในมือคนริมฝั่ง ถัดออกไปจากริมฝั่งพ่อทองเจริญกับพ่อดำ ได้พาชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปขอขมาแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
สำเนียงภาษาอีสานจากหนังเรื่อง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ฉุดให้ผมคิดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับหนังขึ้นมาอีกครั้ง ผมตั้งใจเอาไว้หลายครั้งแล้วว่า อยากจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ซ่อนอยู่ในเนื้อในหนังอันเป็นเรื่องราวที่ผู้กำกับหนังคนนั้นๆ ต้องการอยากให้เราเห็น ฉากทุกฉากที่ปรากฏอยู่ในหนังแทบทุกเรื่อง ล้วนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือความจงใจที่ผู้กำกับต้องการอยากให้เราเห็นในสิ่งที่เขาเห็น เขาจึงได้ใส่มันเข้าไปในหนัง หลังจากดู ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ จบ ผมก็มานั่งนึกว่าตัวเองได้ดูหนังอะไรบ้างที่พูดถึงแม่น้ำโขง หรือมีชาวโขงเข้าไปโลดเล่นอยู่บนจอสีขาวในโรงหนัง…
สุมาตร ภูลายยาว
‘นายน้ำ’ เป็นคำเรียกคนขับเรือที่คนลาวใช้เรียกกัน กี่ชั่วอายุคนมาแล้วก่อนที่เราจะมีถนนใช้ แม่น้ำคือถนนชนิดหนึ่งในระหว่างทางที่เรือล่องขึ้น-ลงในแม่น้ำ ยากจะคาดเดาได้ว่า บรรพบุรุษของนายน้ำคนแรกเป็นใคร บนนาวาชีวิตที่ล่องไปบนสายน้ำกว้างใหญ่ และไหลเชี่ยว ชีวิตของพวกเขาล้วนฝากไว้กับบางสิ่งบางอยางที่บางคนเรียกมันว่าชะตากรรมบ่อยครั้งที่ล่องเรือไปบนสายน้ำ เราล้วนแต่ต้องค้อมคารวะหัวใจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา เมื่อเดินทางสู่ฝั่ง หากมองทะลุลงไปถึงก้นบึ้งของหัวใจ อะไรคือหมุดหมายที่ฉุดรั้งพวกเขาให้มุ่งหน้าสู่เส้นทางที่มองทางไม่เห็นทางเช่นนี้ในบรรดานายน้ำที่มีอยู่มากมาย พวกเขาไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นนายของน้ำ…