Skip to main content
บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก


ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคม


นอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจ


ว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’


อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้


เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่อง


ย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น


ปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง


ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน


เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไป


บทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา


เขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน


วันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง


แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน


แม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’


(ตีพิมพ์ครั้งแรกในแท็บลอยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑)

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
จากประวัติศาสาตร์ที่มีการบันทึกทั้งเป็นอักษร และไม่มีอักษร การสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำ และทำกิจกรรมอย่างอื่นมีมาหลายร้อยปีแล้ว หากนึกถึงเขื่อนหลายคนอาจนึกถึงสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ขวางกั้นลำน้ำ และเมื่อนึกถึงเขื่อน เรานึกถึงอะไรเกี่ยวกับเขื่อนบ้าง แน่ละบางคนอาจตอบว่าไฟฟ้า บางคนอาจตอบว่าสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงน้ำเพื่อการเกษตร แต่สิ่งหนึ่งที่เราลืมนึกถึงไปเมื่อพูดถึงเขื่อน คือเรื่องราวเล็กๆ ในบริเวณสร้างเขื่อน ทั้งเรื่องของป่าไม้ ที่ดิน สัตว์ป่า และรวมไปถึงเรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่ก่อการสร้างเขื่อน “ทองปาน”…
สุมาตร ภูลายยาว
เราต่างรู้ชัดแจ้งเห็นจริงว่า บนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก อันมีสันฐานเป็นทรงกลมคล้ายผลส้มใบนี้มีน้ำมากกว่าพื้นดิน แต่สิ่งหนึ่งที่เราหลายคนอาจไม่รู้คือ เรื่องการแบ่งพรมแดนแผ่นดินโดยใช้แม่น้ำเป็นเส้นแบ่ง คนในยุคสมัยก่อนคิดได้ยังไงว่า แม่น้ำส่วนไหนเป็นของประเทศใด เพราะธรรมชาติแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา    ในเอเชียของเรามีแม่น้ำหลายสายที่ถูกขีดแบ่งเป็นเส้นพรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเส้นแบ่งหมู่บ้านกับหมู่บ้าน ตำบลกับตำบล จังหวัดกับจังหวัด และประเทศกับประเทศ และบ่อยครั้งที่การแบ่งแม่น้ำออกเป็นพรมแดน คนที่อยู่ริมน้ำไม่เคยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง…
สุมาตร ภูลายยาว
“มื้ออื่นไปแต่เช้าเด้อ เดี๋ยวพ่อสิไปเอิ้นดอก” ถ้อยคำสุดท้ายของชายวัย ๖๐ กว่าที่นั่งอยู่ในบ้านดังแว่วออกมา ขณะเรากำลังเดินจากกระท่อมของพ่อเฒ่ามา หลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปไม่นาน หมู่บ้านจมอยู่ในความมืด ถ้าเป็นเมื่อ ๑๐ กว่าปีก่อนในตอนเย็นเช่นนี้หมู่บ้านจะเงียบกว่าที่เป็นอยู่ เพราะคนในหมู่บ้านยังไม่ได้เดินทางกลับมาจากไร่
สุมาตร ภูลายยาว
หลังมุ่งแก้ปัญหาการขาดน้ำใช้ในฤดูแล้งมาตลอดระยะเวลา ๒ ปี ชาวบ้านหลวงบางส่วนจึงมุ่งหน้าเดินทางขึ้นสู่ภูเขา เพื่อไปสู่ขุนห้วย ผู้ชายบางคนถือมีด บางคนถือจอบ ผู้หญิงหาบเครื่องครัวทั้งพริก ถ้วย ชาม เดินตามทางเดินเล็กๆ มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดียวกัน เสียงดังมาจากเบื้องหน้าให้เร่งฝีเท้าในการเดินทางขึ้นอีก เพราะเป้าหมายใกล้ถึงแล้วชาวบ้านเหล่านี้เดินทางเพื่อไปสู่เป้าหมายใดกัน เมื่อขบวนเดินทางพ้นจากที่ราบอันเป็นไร่ข้าวโพดไปแล้วก็มุ่งหน้าขึ้นสู่ขุนห้วยอันเป็นต้นกำเนิดของห้วยหลวง ที่ขุนห้วยมีชาวบ้านบางส่วนเดินล่วงหน้าไปรออยู่ก่อนแล้ว เมื่อขบวนใหญ่เดินมาสมทบในภายหลัง พิธีการบูชาเทพแถนผีป่าผีน้ำก็เริ่มขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ลำเซียงทาล่องไหลมาเนิ่นนาน.....ทานทน ฝน-ร้อน-หนาวปล่อยไอหมอกขาวลอยล่องสู่ท้องฟ้าเมฆมหึมาก่อฝน....เหนือโป่งขุนเพชรในหุบห้วยล้วนร่องธารที่ผ่านมาเวลานาฑีไม่มีใครรู้เพียงกระพริบไหวของสายตาแห่งหมู่เมฆลมโยกเยกฝนใหญ่โปรยปรายลำเซียงทามาจากหุบห้วยใหญ่ไหลล่องผ่านปี-เดือนไผ่ไหวเหนือสายน้ำลำเซียงทายามลมผ่านผิวปลิดปลิวเคว้งคว้างพลิ้วไหวอ่อนโยนลำเซียงทาโอบอุ้ม-อุ่นเอื้อโป่งขุนเพชร,เทพสถิตย์, ชัยภูมิ ,๒๕๔๗
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำเกิดมาจากสายฝน-สายฝนเกิดจากแม่น้ำ นานมาแล้วต้นกำเนิดของแม่น้ำ และสายฝนมาจากที่เดียวกัน ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์เชื่อมโยง เช่นเดียวกับแม่น้ำสายใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนในแถบอีสานใต้ แม่น้ำสายนี้ชื่อว่า ‘แม่น้ำมูน’ มีต้นกำเนิดจากสายน้ำเล็กๆ บริเวณเขาแผงม้า จังหวัดนครราชสีมา หลังจากนั้นก็ไหลเรื่อยผ่านสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ก่อนไหลลงบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บริเวณแม่น้ำสองสีในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลำน้ำสายยาวได้หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาหลายชั่วอายุคน ตั้งแต่หลายปีตลอดการไหลของแม่น้ำมีเรื่องราวหลายเรื่องเกิดขึ้น…
สุมาตร ภูลายยาว
ฉันเคยสงสัยอยู่ว่า คนเราเมื่อเดินทางไกลข้ามคืนข้ามวัน เราล้วนได้รับความเหนื่อยล้า แต่เมื่อไปถึงปลายทาง เราจะสลัดทิ้งความเหนื่อยล้าได้ยังไง คำถามเช่นนี้ไม่เคยเป็นคำตอบเลยสำหรับฉัน เพราะบ่อยครั้งที่เริ่มต้นเดินทางไกล–อันหมายถึงระยะทาง ทุกครั้งเมื่อถึงจุดหมาย ฉันหวังเพียงได้เอนตัวลงพักพอหายเหนื่อยแล้วค่อยคลี่คลายชีวิตไปสู่ทิศทางอย่างอื่น แต่นั้นก็เป็นเพียงความคิดที่วูบเข้ามา ความจริงการจะทำเช่นนั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกับการเดินทางครั้งนี้ หลังรถโดยสารปรับอากาศสายเชียงใหม่-อุบลราชธานี พาผู้โดยสารออกเดินทางยาวนานถึง ๑๗ ชั่วโมงจอดสงบนิ่งลงที่ท่ารถห่างออกมาจากตัวเมือง…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อเฒ่าฟาน ดิน กัน แห่งหมู่บ้านทรีอาน (หมู่บ้านแห่งสันติ) หมู่บ้านริมแม่น้ำซมฮอง (แม่น้ำแดง) เส้นเลือดใหญ่ของชาวฮานอยยืนตระหง่านบนหัวเรือ หากไม่มีการถามไถ่คงยากที่จะคาดเดาอายุของพ่อเฒ่าได้ ปีนี้พ่อเฒ่าอายุ ๖๔ แล้ว ขณะพ่อเฒ่ายืนตระหง่านตรงหัวเรือ สายลมหนาวของเดือนมกราคมยังคงพัดมาเย็นเยือก ในสายลมหนาวนั้นมีฝนปนมาเล็กน้อย พ่อเฒ่าบอกว่า ฝนตกช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคมที่ฮานอยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาคือความหนาว เพราะปลายปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปี ๕๑ ความหนาวเย็นที่พัดมาขนาดหนักเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ๓ ครั้ง ว่ากันว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะโลกเรามันร้อนขึ้นในเรือมีผม และเพื่อนร่วมทางอีก ๒ คน…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังการเดินทางอันเหนื่อยล้าด้วยการล่องเรือข้ามวันข้ามคืนในแม่น้ำโขงสิ้นสุดลง ผมพบว่าตัวเองกลายเป็นคนติดการฟังเป็นชีวิตจิตใจ บางครั้งในยามเย็นที่ขี่รถมอเตอร์ไซค์ (ขออภัยที่ไม่ใช้จักรยาน เพื่อการประหยัดพลังงาน) ไปซื้อกับข้าว ผมพบว่า รถเข็นขายอาหารสำเร็จรูปจำพวกแกงถุงของลุงรัญเจ้าเก่าในซอยวัดโป่งน้อยมีเรื่องเล่าหลายเรื่องให้ผมต้องนิ่งฟังเรื่องเล่าหลายเรื่องที่ผู้ซื้อนำมาเล่าให้พ่อค้าฟัง และหลายเรื่องเช่นกันที่พ่อค้าได้นำมาเล่าให้ลูกค้าฟัง บางเรื่องที่ผมได้ยิน ผมก็เลยผ่านเลยไป แบบว่าฟังพอผ่านๆ แต่บางเรื่องต้องนำกลับมาคิดต่อ…
สุมาตร ภูลายยาว
แม่น้ำโขงถือว่าเป็นแม่น้ำแห่งพรมแดนสายสำคัญที่ไหลเป็นเส้นแบ่งของหลายประเทศมีผู้คนจำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้  ในจำนวนของคนริมสองฝั่งแม่น้ำโขงมีคนจำนวนไม่น้อยรับรู้ได้ว่า วันนี้มีอะไรเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายที่พวกเขาคุ้นเคย ฤดูหนาวแม่น้ำสีคล้ายน้ำโอวันติลไหลเอื่อยๆ เหมือนคนหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจเต็มที แม่น้ำไม่เป็นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเป็นมา เมื่อรับรู้ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ชาวบ้านห้วยลึก หมู่ ๔ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายที่ได้อาศัยประโยชน์จากแม่น้ำมาหลายชั่วอายุคนจึงได้รวมตัวกันทำพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ…
สุมาตร ภูลายยาว
“สาละวินไม่มีคน” คือคำพูดของบรรดานักพัฒนาผู้แสวงหากำไรบนหนทางของการพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ได้ยกขึ้นมาบอกกล่าวจนชินหู แต่หากได้ลงมาล่องเรือเลียบเลาะสายน้ำชายแดนแห่งนี้ จะพบว่าแม่น้ำนานาชาติสายที่ยาวที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่ยังคงไหลอย่างอิสระแห่งนี้เป็นบ้าน เป็นชีวิตของผู้คนมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตลอดสองฝั่งน้ำงานวิจัยปกากญอ “วิถีแม่น้ำและผืนป่าของปกากญอสาละวิน” ได้จัดทำโดยนักวิจัยชาวบ้าน ปกากญอ หรือชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงจาก ๕๐ หย่อมบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวินบนพรมแดนไทย-พม่า เขต อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามมาจากขุนเขา บางคนบอกว่าลมหนาวพัดมาจากไซบีเรีย ซึ่งสังเกตได้จากการดูนกอพยพหนีหนาวมา บางคนก็บอกว่าลมหนาวพัดมาจากเทือกเขาสูงของประเทศจีน เมื่อลมหนาวมาเยือน เพียงต้นฤดูหนาวเช่นนี้ก็สามารถสัมผัสได้ทางผิวกายที่เริ่มแห้งลงเรื่อยๆ และป่าเริ่มเปลี่ยนสีพร้อมผลัดใบไปกับลมแล้งในความหนาวเย็นนั้น เขาเดินทางรอนแรมฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากของหน้าแล้งไปตามลำน้ำสายหนึ่งที่อยู่สุดเขตแดนประเทศไทยด้านตะวันตก เขาก็ไม่รู้เช่นกันว่าทำไมเขาต้องมายังที่แห่งนี้ เพราะในส่วนลึกของหัวใจของเขามันไม่ได้เรียกร้องให้เขาเดินทางมายังที่แห่งนี้เลย ในห้วงแห่งกาลเวลาอย่างนี้ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น‘สบเมย’…