Skip to main content
บนเทือกเขาสูงอันไกลโพ้นในดินแดนที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหลังคาโลก บนเทือกเขาสูงกว่า ๕,๐๐๐ ฟุตจากระดับน้ำทะเลถูกปกคลุมด้วยหิมะเย็นจัด หลังการปกคลุมของหิมะ หลายร้อยหลายพันปี เมื่อความร้อนชื้นของอากาศมาเยือน หิมะจึงถูกหลอมละลายจนก่อเกิดเป็นต้นธารของแม่น้ำอันยิ่งใหญ่สายหนึ่งของโลก


ในตอนบน แม่น้ำสีเขียวมรกตอันเกิดจากการละลายของหิมะสายนี้อุดมไปด้วยความหนาวเย็น แม่น้ำได้ไหลจากต้นกำเนิดบนที่สูงลงสู่ด้านต่ำตามกฏแรงโน้นถ่วงของโลกผ่านซอกหุบเขาอันสลับซับซ้อน ผ่านผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และลัทธิการเมืองการปกครอง ทุกพื้นที่ที่แม่น้ำไหลผ่าน ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำได้ใช้ประโยชน์แตกต่างกันออกไป ในแถบชายแดนธิเบต-จีนอันเป็นต้นธารของแม่น้ำ ผู้คนริมสองฝั่งแม่น้ำถือเอาแม่น้ำเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ผู้คนจึงใช้แม่น้ำอันเนื่องด้วยการดำเนินวิถีชีวิตทางจิตวิญญาณ แต่หากว่าเมื่อแม่น้ำไหลลงมาจนถึงเขตที่ราบลุ่มในเขตปกครองตนเองสิบสองพันนา ผู้คนกลับได้พึ่งพาประโชยน์จากแม่น้ำในด้านของการดำรงอยู่ของชีวิต แม่น้ำจึงเป็นทั้งแหล่งอาหาร เส้นทางคมนาคม


นอกจากแม่น้ำได้หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตอันหลากหลายแล้ว แม่น้ำยังได้ให้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ความเป็นไปของธรรมชาติ ขณะเดียวกันนอกจากแม่น้ำจะให้ประโยชน์กับผู้คนแล้ว แม่น้ำยังสอนให้เรารู้จักการอยู่กับธรรมชาติอย่างนอบน้อม ในฤดูฝนกลางสายน้ำเชี่ยวกราก แม่น้ำได้สอนให้เราคารวะความยิ่งใหญ่ของสายน้ำด้วยความหวาดกลัวอันเดินทางสู่เบื้องลึกของหัวใจ


ว่ากันว่าแม่น้ำที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้นี้มีความยาวจากต้นน้ำจนถึงปลายน้ำรวม ๔,๙๐๙ กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลก ไหลผ่าน ๖ ประเทศ มีผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ใช้ประโชยน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ แตกต่างกันออกไป และแม่น้ำก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ผู้คนในมณฑลยูนนานเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘หลานชางเจียง’ ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนาผู้คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำล้านช้าง’ เมื่อแม่น้ำไหลผ่านทางตอนใต้ของชายแดนจีนเข้าสู่ชายแดนลาว-ไทย คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘แม่น้ำของ-โขง’


อยากยิ่งนักที่มนุยษ์เช่นเราๆ จะเรียนรู้แม่น้ำได้ทั้งหมด แม้ว่าจะมีบันทึกหลายหลายเกี่ยวกับแม่น้ำ เราก็ไม่อาจรู้จักแม่น้ำสายนี้ได้ทั้งหมด แต่ในวันนี้เรื่องราวบางเรื่องราว เราได้รู้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำสายนี้


เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเจตนาของการใช้แม่น้ำสายนี้ของหลายประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงล้วนมุ่งสู่การตอบสนองระบบทุนนิยมเป็นหลัก โครงการพัฒนาในด้านต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำสายนี้อย่างต่อเนื่อง


ย้อนหลังไปในปี พ.ศ ๒๕๓๓ ธนาคารพัฒนาเอเชียได้เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อแผนพัฒนาแม่น้ำโขงแทนคณะกรรมการประสานงานชั่วคราวในฐานะผู้สนับสนุนการพัฒนาพลังน้ำในแม่น้ำโขง และดำเนินโครงการต่อเนื่อง โครงการใหญ่ๆ ที่สำคัญหลายโครงการสำหรับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น


ปี พ.ศ ๒๕๓๖ จีนเริ่มแสดงบทบาทอย่างเป็นรูปธรรมโดยการเสนอแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เริ่มด้วยการเปิดเส้นทางเดินเรือขาดใหญ่ในแม่น้ำโขงพร้อมกับการแต่งตั้งคณะสำรวจร่วมระหว่าง จีน พม่า ไทย ลาว เป็นที่มาของโครงการระเบิดแก่ง และขุดลอกสันดอนทรายในแม่น้ำหลานซาง-แม่น้ำโขง


ภายหลังการลงนามข้อตกลงใหม่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (The Mekong River Commission) แทนคณะกรรมการแม่น้ำโขง (The Mekong committee) ในปี ๒๕๓๘ จากการพลักดันโดยธนาคารพัฒนาเอเชียโดยมีแนวคิดสำคัญคือ การนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มกำลัง ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งประมาณกันว่าตลอดแม่น้ำโขงทั้งสายหากมีการสร้างเขื่อนสามารถมีมีกำลังผลิตได้ถึง ๓๗,๐๐๐ เมกวัตต์ และภายหลังการก่อตัวของโครงการนี้เริ่มขึ้น ประเทศจีนจึงลงมือก่อสร้างเขื่อนในปีต่อมา โดยเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงคือเขื่อนมันวานในบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน


เมื่อเขื่อนแห่งแรกเกิดขึ้น เขื่อนอีกหลายเขื่อนก็ตามมา หลังการสร้างเขื่อนกระแสการไหลของน้ำได้เปลี่ยนไป น้ำที่เคยท่วมหลากในฤดูฝนก็กลายเป็นน้ำขึ้นน้ำลงตามอิทธิพลของการเปิดประตูเขื่อน ผลกระทบที่ตามมาคือระบนิเวศของแม่น้ำก็เปลี่ยนแปลงไป จำนวนปลาที่คนหาปลาเคยหาได้ก็ลดน้อยลง คนหาปลาหลายคนต้องเลิกหาปลา เพราะปลาลดน้อยลง ที่อยู่อาศัยของปลา เช่น คก บางแห่งก็ตื้นเขิน บางแห่งก็เกิดตะกอนทรายทับถมจมไม่เหลือร่องลอยอีกต่อไป


บทเรียนจากเขื่อนปากมูนได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การสร้างเขื่อนคือการปิดกั้นการอพยพของปลาที่ต้องขึ้นไปหาแหล่งเพาะพันธุ์ยังบริเวณแก่งหินต่างๆ รวมทั้งยังทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ซึ่งจะอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมรวมทั้งแก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยของปลา


เขื่อนจึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำเพียงด้านเดียว แต่หากว่าเขื่อนยังส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ตามริมสองฝั่งแม่น้ำด้วยเช่นกัน


วันนี้ชีวิตของผู้คนริมสองฝั่งยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างอะไรกับแม่น้ำ บางครั้งก็ไหลหลากเกรี้ยวกราด กระชากกระชั้น บางครั้งเรียบเรื่อยนิ่งสงบ แต่ทว่าความเกรี้ยวกราดของแม่น้ำเป็นแค่เพียงภาวะแปรปรวนของธรรมชาติ ต่างจากความกราดเกรี้ยวในจิตใจของมนุษย์ผู้เต็มไปด้วยความมุ่งหวังที่จะอยู่เหนือธรรมชาติ และยึดครองธรรมชาติให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนเอง


แท้จริงแล้ว การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและชีวิตของมนุษย์ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมอย่างเอื้ออาทรกับธรรมชาตินั่นเอง เมื่อเราอยู่ร่วมกับธรรมชาติภายใต้ระบอบสังคมของมนุษย์ เราก็ควรเคารพในธรรมชาติ และเคารพในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ด้วยเช่นกัน


แม่น้ำโขงภายใต้แท่งปูนซีเมนต์มหึมายังคงหลากไหล เพื่อต่อลมหายใจแห่งแม่น้ำได้เดินทางต่อ แต่หากว่าลมหายใจของแม่น้ำในตอนนี้กำลังขาดห้วงลง เสียงของการหายใจไม่สม่ำเสมอเช่นก่อนมา และที่แม่น้ำเป็นเช่นนี้ก็คงจะเป็นการคาดเดาได้อย่างยิ่งว่า ลมหายใจสุดท้ายของแม่น้ำจะเดินทางมาถึงเมื่อไหร่ และก่อนลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ เราผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำได้ถามตัวเองแล้วหรือยังว่า ‘วันนี้เราดูแลแม่น้ำที่ให้ประโยชน์กับเรากันแล้วหรือยัง ถ้ายังเราควรทำเช่นไร ตัดสินใจลงมือทำเสียแต่วันนี้ก่อนที่เราจะได้เห็นลมหายใจสุดท้ายของสายน้ำ’


(ตีพิมพ์ครั้งแรกในแท็บลอยหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๑)

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…