Skip to main content

 

การเลือกผู้นำเป็นอภิสิทธิ์ของคนมีฐานะส่วนน้อย

นักวิชาการคณะ กปปส.กล่าวถูกต้องที่ว่าคนเราไม่เท่ากันในการเลือกตั้งผู้ปกครอง คนมีฐานะและมีการศึกษาสูง.ควรมีสิทธิและเสียงมากกว่าชาวบ้านธรรมดาที่เป็นชาวไร่ชาวนาในชนบท ข้อที่พวกเขาลืมพูดไปด้วยคือ ความจริงอันนั้นมันได้เกิดมาแล้วตั้งแต่ยุคสมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรีกโบราณ สมัยจีนและอินเดียโบราณร่วมสมัยพุทธกาลและขงจื่อ แม้ยังมีการปฏิบัติและเชื่อกันแบบนั้นมาอีก แต่ในระยะ 400 ปีที่ผ่านมานี้ในบางประเทศและภูมิภาคได้มีการเปลี่ยนความคิดและความเชื่อแบบเก่านั้นไป แล้วนำมาสู่การสร้างคติใหม่ว่าคนที่เป็นพลเมืองทุกคนมี 1 เสียง 1 สิทธิเท่ากัน เส้นทางเดินของคติการเลือกตั้งที่เท่าเทียมกันเริ่มใช้กันในประเทศสยามไทยเมื่อ 81 ปีที่ผ่านมานี้เอง

ในยุคก่อนการเลือกตั้งและสิทธิการเลือกตั้งไม่ใช่สิ่งที่มีติดตัวคนทุกคนมาตามธรรมชาติ หากแต่เป็นวิธีการและกระบวนการทางการเมืองที่สังคมสร้างขึ้น การเลือกเกิดขึ้นหลังจากชุมชนมีความมั่นคงทางวัตถุและมีโครงสร้างของอำนาจในระดับที่กว้างขวาง จนสามารถอ้างถึงความถูกต้องชอบธรรมในการทำหน้าที่แทนสมาชิกส่วนมากของชุมชนได้ เมื่อชุมชนอยู่ในภาวะที่พร้อมสำหรับการมีตัวแทนในการใช้อำนาจและรักษาอำนาจเพื่อจุดหมายของความเป็นระเบียบและปลอดภัยของชุมชนแล้ว จึงเกิดความต้องการในการมีผู้ทำหน้าที่แทนคนส่วนมาก การเกิดการคัดสรรและเลือกผู้ที่เหมาะสมมาเป็นผู้นำหรือผู้ปกครองจึงเกิดขึ้น

การเลือกในระยะแรกไม่ใช่การเลือกตั้ง หากแต่เป็นการคัดสรรหรือเลือกสรรมากกว่า และมักจำกัดอยู่แต่ผู้มีคุณสมบัติในข่ายที่จะได้รับการคัดสรร ไม่ใช่เปิดให้แก่คนทุกคนหรือเป็นการทั่วไป ในประวัติศาสตร์ พบว่ากระบวนการเลือกหัวหน้าหรือผู้นำของชุมชนหรือนครรัฐมักจำกัดในหมู่ผู้นำทางศาสนาหรือสมาชิกของศาสนจักร เนื่องจากคนเหล่านั้นมักเป็นผู้มีความรู้และการศึกษาอ่านออกเขียนได้มากกว่าชาวบ้านทั่วไป

ตัวอย่างที่ดีของการเลือกหัวหน้าชุมชนที่ชัดเจนได้แก่เรื่องราวการกำเนิดโลกและมนุษย์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก อัคคัญญสูตรอันเป็นพระสูตรบทที่ 4 เล่มที่ 11 ในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกายปาฏิกวรรค4 หลังจากเกิดโลกและมนุษย์ซึ่งมีความอยากเป็นธรรมชาติ นำไปสู่การเพาะปลูก แล้วเกิดการขัดแย้งในผลผลิต เกิดการวิวาทใช้กำลัง ประชุมชนจึงตกลงให้ไปหา “สัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามกว่าสัตว์ทุกคน แล้วขอให้มาเป็นหัวหน้า”

นั่นจึงเป็นการกำเนิดขึ้นของคนที่จะเป็นหัวหน้า อันดับต่อมาหัวหน้าที่"เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย" เรียกว่ากษัตริย์ ลำดับต่อมาคือราชา "ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม" หากพิจารณาการเลือกหัวหน้าชุมชนในพระสูตรดังกล่าว กล่าวได้ว่ามีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะรับสมัครเป็นหัวหน้าว่าต้องเป็นผู้มีผิวพรรณงดงาม รูปร่างสวยงามกว่าใครๆ และน่าเกรงขามด้วย

หากตีความแบบสมัยใหม่ปัจจุบันก็คือต้องมีคุณสมบัติของผู้มีบุญบารมีและอำนาจในตัวเอง คือคนอื่นเห็นแล้วต้องชอบและเกรง ไม่ต้องขอดูปริญญาหรือหลักฐานอื่นๆ อีก จีงไม่จำเป็นต้องหาเสียงและหาหัวคะแนน (การเลือกสมาชิกวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ที่ไม่ต้องหาเสียง และสรรหาโดยคณะผู้มีบุญวาสนาสูงจึงมีวิธีคิดแบบการเลือกผู้มีบุญบารมีในอัคคัญสูตร)

ในนครรัฐกรีกโบราณที่ร่วมสมัยกับพุทธกาลก็มีการเลือกหัวหน้า พลเมืองกรีกส่วนน้อยเท่านั้นที่มีสิทธิในการเลือก คนที่เป็นผู้หญิง คนต่างด้าวและทาสไม่มีสิทธิของพลเมือง เรื่อยมาถึงยุคโรมันที่มีสภาของผู้ปกครองก็มีการเลือกตั้งอันเป็นหน้าที่มากกว่าสิทธิของผู้มีฐานะและอภิสิทธิ์ จนมาถึงยุคกลางในยุโรป เมื่อศาสนาคริสเตียนได้ขึ้นมาเป็นศาสนาของรัฐ ตำแหน่งจักรพรรดิ์ของอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในทางโลก และตำแหน่งสันตะปาปาอันเป็นประมุขสูงสุดของทางฝ่ายศาสนจักรก็ดำเนินไปด้วยการเลือกตั้งเช่นกัน ทั้งหมดนั้นเป็นการเลือกผู้นำสูงสุดโดยผู้เลือก (the elect) ที่มีฐานะนำของชุมชน ไม่ใช่การเลือกโดยคนทั่วไปที่ไม่มีคุณวุฒิชาติวุฒิและวัยวุฒิ

การเลือกตั้งแบบสมัยใหม่เกิดเมื่อไร

การเลือกตั้งคนที่เป็นผู้แทนที่ไปทำหน้าที่ในการปกครองซึ่งไม่ใช่การได้อำนาจแต่คนเดียว เป็นแนวความคิดสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในทวีปอเมริกาเหนือและในยุโรป ในสังคมและอาณาจักรอื่นๆ ในโลกตะวันออกไม่มีสภาพแวดล้อมและความต้องการในการเลือกตั้งผู้แทนของราษฎร ในอาณาจักรจีนมีการสร้างระบบสอบไล่เพื่อเลือกคนหัวดีจากคนทั่วไปให้ขึ้นมารับราชการจนเป็นข้าราชการชั้นสูงเรียกว่าระบบจอหงวน การมีระบบสอบไล่เพื่อคัดเลือกเอาคนที่มีความรู้โดยไม่คำนึงถึงฐานะและตระกูล ทำให้อาณาจักรจีนมีกลุ่มขุนนางข้าราชการที่มีคุณภาพสูง แม้ระบบจักรพรรดิยังเป็นระบบปิดและเต็มไปด้วยเส้นสายการอุปถัมภ์และเล่นการเมืองราชสำนักกันก็ตาม นี่เองเป็นเหตุที่ระบบจักรพรรดิหาทางเล่นงานและจำกัดระบบการสอบไล่จอหงวนเมื่อมีโอกาส ด้วยการทำให้ “พวกไพร่ไม่ได้วิชา” เสีย โอกาสสอบติดก็ยากขึ้น

คติเรื่องอำนาจเปลี่ยน

แนวคิดเรื่องการเลือกตั้งคนที่มาจากคนทั่วไปที่ไม่มีฐานันดรและชาติตระกูลเพื่อให้เข้าไปยังทำเนียบแห่งอำนาจรัฐนั้นเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุโรปแต่แห่งเดียวในโลก แต่ก่อนที่ความคิดและการปฏิบัติเรื่องการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ในสังคมนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในโลกทรรศน์และความเชื่อมั่นในหลักการอันรองรับความชอบธรรมของอำนาจรัฐที่ปกครองเสียก่อน เรื่องใหญ่ๆ ที่สำคัญได้แก่ ประการแรกคือการที่สังคมและนักคิดทั้งหลายปฏิเสธการใช้กำลังเข้าโค่นล้มเพี่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและผู้ปกครองว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรมและไม่ถูกต้องอีกต่อไป คือปฏิเสธการทำรัฐประหารว่าไม่ชอบธรรมอีกต่อไป

คติต่อมาได้แก่เรื่องการแบ่งแยกอำนาจ สังคมยุโรปมีการต่อสู้อย่างหนักระหว่างอำนาจที่เป็นของพระสันตปาปากับอำนาจที่เป็นของกษัตริย์ ในที่สุดต้องประนีประนอมกัน นำไปสู่การยอมรับว่าอำนาจรัฐแบ่งและถ่วงดุลกันได้ ถึงทำให้เกิดแนวคิดที่นำไปสู่การมี “ผู้แทน” ของราษฎรส่วนใหญ่ขึ้นมาได้ กระทั่งในที่สุดวิวัฒน์ไปสู่การให้ “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ขึ้นมาก่อนเป็นแห่งแรกในโลก (และอาจเป็นแห่งสุดท้ายด้วย)

อีกปัจจัยคือการมีระบบกฎหมายเชิงประจักษ์ที่ดำเนินควบคู่ไปกับกฎหมายธรรมเนียม ทำให้อาญาสิทธิ์ของส่วนรวม (public authority) เป็นความจริงที่ผู้มีอำนาจและราชศักดิ์ต้องยอมรับ ทำให้ชุมชนการเมืองและปัจเจกบุคคลในนั้นว่ามีความชอบธรรมในทางการเมือง

วิวัฒนาการของอำนาจการเมืองในยุโรปนำไปสู่การทำให้อำนาจเป็นเรื่องทางโลกย์แยกออกจากทางธรรม มันมีเหตุผลและความถูกต้องในตัวมันเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจภายนอกตัวมนุษย์อีกต่อไป นั่นคือที่มาของความคิดว่าด้วยความเป็นเหตุผลและความเสมอหน้ากันของคนแต่ละคนภายใต้อำนาจปกครองที่เป็นโลกียะธรรม

คนที่ยกระดับแนวคิดอำนาจที่เป็นทางโลกย์แต่ยังมีความชอบธรรมจากพระเจ้าคือจอห์น คัลแวง เขาสร้างสิทธิอำนาจทางการเมืองในนครรัฐเจนีวา เขาตอกย้ำคำสอนว่าด้วยการเชื่อฟังและเน้นเป็นพิเศษถึงผลลัพธ์อันเลวร้ายที่จะเกิดกับคนที่ไม่เชื่อฟังและต่อต้านการกระทำของคนที่พระเจ้าเลือก ความเชื่อนี้แรงมากในหมู่พวกพิวริตันที่เดินทางอพยพจากอังกฤษไปอาณานิคมอเมริกา และก่อตั้ง “นครบนเนินเขา” ผู้นำพิวริตันและต่อมาเป็นผู้นำของอาณานิคมนิวอิงแลนด์ด้วย ใช้แนวคิดสิทธิธรรมทางโลกย์แบบคัลแวง คือพวกเขาเป็นคนที่พระเจ้าเลือก เลยเรียกพวกผู้นำเหล่านี้ว่า “นักบุญที่มองเห็น” (the visible saints) ดังนั้นคนอื่นๆ หรือประชาชนทั่วไปจึงต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม หาไม่ก็จะถูกลงโทษอย่างแรง ดังที่บางคนซึ่งมีความคิดนอกรีตและต้องการเสรีภาพทางศาสนาก็ถูกขับไล่ให้ไปอยู่นอกอาณานิคมแมสซาชูเสตส์เป็นต้น ถ้าเทียบกับการเมืองไทยปัจจุบันก็คงต้องพูดทำนองว่า “เป็นพิวริตันหรือปล่าว” ถ้าไม่เพียวก็ไสหัวออกไปจากเมืองนี้หรือไม่ก็โดน ม.112 เป็นอาทิ

การเปลี่ยนคติจาก “ข้า” มาเป็น “กู”

ในทางปรัชญาความคิด อาจสรุปสั้นๆ ถึงลักษณะเด่นที่เกิดในยุโรปสมัยยุคเรเนซองส์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครทำได้แบบนั้นอีกเลย ไม่ว่าในตอนนั้นหรือตอนนี้ก็ตาม ได้แก่การทำให้ subject (ตัวเอสเล็ก) ที่เป็นข้าราชบริพารและข้าละอองธุลีพระบาท ที่ไม่มีอัตลักษณ์และความเป็นตัวตน เปลี่ยนแปลงอย่างปฏิวัติมาสู่การเป็น Subject (ตัวเอสใหญ่)ที่เป็นองค์ประธานของตัวเอง มีอัตลักษณ์ความคิดจิตใจและในที่สุดเป็นเจ้าของตนเองได้ในโลกนี้โดยไม่ต้องรอการหลุดพ้นจากสังสารวัฏของโลกหน้า ที่น่าสังเกตในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัย ไม่มีประวัติศาสตร์ประเทศหรืออาณาจักรใดๆ ในเอเชียที่แม้จะมีความเจริญและมั่งคั่งกว่ายุโรปสมัยเก่าก็ตาม เกิดสิ่งที่เรียกว่ายุคเรเนซองส์ขึ้นได้

ที่เล่ามายืดยาวก็เพื่อแสดงให้เห็นภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองในยุโรป ก่อนที่จะมาถึงการแตกหน่อและเติบใหญ่ของสิทธิพลเมืองและประชาสังคมที่มีความชอบธรรมไม่น้อยกว่าอำนาจรัฐและรัฐบาลที่มาจากการสืบสันตติวงศ์ ดังปรากฏในทฤษฎีสัญญาสังคมของล๊อคและรุสโซ ที่ทำให้บรรดาเศษหินและเศษดินหรือ Multitude อันมหึมาในสังคมกลายมาเป็น “ผู้ทรงสิทธิอิสราธิปไตย” แบบกษัตริย์ในสมัยก่อนไปได้ ดังที่ได้ประกาศออกมาอย่างกึกก้องในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศส หลังการปฏิวัติกระฎุมพีนั้นแล้ว การเลือกตั้งจึงสามารถทำให้เป็นสิทธิทางการเมืองทั่วไปของพลเมืองผู้เป็นสามัญชนแห่งรัฐได้ในที่สุด

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

หมายเหตุ : งานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่บนเฟซบุคส่วนตัวตั้งแต่ 15 ก.พ.2557