Skip to main content

 

Sovereignty หรืออธิปไตย,อธิปัตย์ ในความหมายดั้งเดิมคือสิทธิอำนาจ (ชอบธรรม) authority ที่สูงสุดในชุมชนการเมืองหนึ่งๆ ในสมัยก่อนสังคมการเมืองยังไม่หลากหลาย การยอมรับอำนาจสูงสุดอันหนึ่งจึงเป็นเรื่องธรรมดา เช่น นักปรัชญาโทมัส ฮอบส์สมมติว่ากษัตริย์ คือ องค์อธิปัตย์เพราะคนรับรู้และเข้าใจก่อนแล้ว แต่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่สังคมและชุมชนการเมืองแตกแขนงและกระจายออกไปตามศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้ความหมายดั้งเดิมของอธิปไตยไม่ศักดิ์สิทธิอีกต่อไป กล่าวคืออำนาจนั้นไม่สมบูรณ์เด็ดขาดหรือ absolute อีกต่อไป ดังนั้นความหมายใหม่จึงได้แก่ สิทธิอำนาจของกลุ่มประชาชนที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ทำการปกครองตนเองด้วยกฎหมายของพวกเขาและตามวิถีชีวิตของเขาปลอดหรือเป็นอิสระจากการครอบงำภายนอก นิยามสมัยใหม่สุดนี้อาจทำให้คนที่กลัวโรค "แบ่งแยกดินแดน" ประสาทเสียและเสียประสาทไปเสียก่อนได้

ปัญหาที่จะต้องคิดและเกิดตามมาคือเรื่องอำนาจรัฐและการดำรงอยู่ของรัฐ เพราะชุมชนและสังคมไม่อาจดำรงอยู่โดดๆ คนเดียวได้ ปมเงื่อนของความยุ่งยากในเรื่องอธิปไตยจึงเกิดจากปัญหาของการเป็นรัฐชาติ และการสร้างรัฐชาติ และในหลายๆ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผูกขาดและใช้อธิปไตยมากที่สุดคือรัฐชาติ

ที่ผ่านมาคุณลักษณะที่สำคัญของรัฐคือ การเป็นองค์อธิปัตย์ (รัฏฐาธิปัตย์ state sovereignty) รัฐสามารถใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องแบ่งปันหรือใช้ร่วมกันใครทั้งสิ้น รัฐใช้อำนาจในสองทางหลักๆ คือทางแรกได้แก่บทบาทในการเป็นองค์กรทางจริยธรรม เป็นผู้สร้างและออกกฎหมายให้ทุกคนทำตาม ในทางที่สองรัฐใช้อำนาจโดยผ่านการทำสงครามหรือความรุนแรง (เช่นการใช้กำลังทหาร ตำรวจ คุกตะราง การลงโทษต่างๆ ) ทั้งสองด้านล้วนนำไปสู่การบังคับปกครองทำให้ผู้อยู่ใต้การปกครองของรัฐกลายเป็นคนที่รัฐต้องการหรือปรารถนาที่จะให้เป็นอย่างนั้น

ประการต่อมาคือ การเป็นอาณาเขตที่แน่นอน (being territorial) รัฐใช้อำนาจและการปกครองเหนือผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตที่แน่นอนของตนเท่านั้น จะไปใช้เหนือคนในประเทศอื่นไม่ได้ ในความรับรู้และเข้าใจเมื่อพูดถึงรัฐ คนจึงมักคิดถึงรัฐที่แสดงออกผ่านบรรดาสถาบันทางการเมืองการปกครองที่มีลักษณะพิเศษในการผูกขาดความรุนแรงและการใช้อำนาจกับผู้อื่น เช่น รัฐบาล กองทัพ กระทรวง หน่วยงานความมั่นคง และราชการต่างๆ เป็นต้น มีหน้าที่ใหญ่ๆ คือการรักษาความมั่นคงและสงบสุขในพื้นที่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล ทำหน้าที่ในการเก็บภาษีจากราษฎร กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ บริหารจัดการสาธารณูปโภค บริหารความยุติธรรม และจัดการระบบการศึกษา เป็นต้น

การประกาศเป็นรัฏฐาธิปัตย์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อสามารถใช้อำนาจสูงสุดในรัฐในการปกครองได้ หมายความว่าต้องทำให้การผูกขาดอำนาจทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย (เหมือนอย่างคณะ คมช.ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว) ไม่เช่นนั้นก็ต้องผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการเข้าครองอำนาจรัฐและรัฐบาล เช่นการเลือกตั้งหรือลงประชามติ อย่างในไครเมีย

ข้อคิดสำหรับการเมืองไทยปัจจุบันคือ ไม่ใช่เพียงว่าใครจะเป็นองค์อธิปัตย์ แต่คือการเริ่มตระหนักและทำความเข้าใจว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประชาสังคมและชุมชนการเมืองสยามไทยจักต้องมีการเรียกร้องและเสนอให้มีอำนาจอธิปไตยที่หลากหลายและไม่สำเร็จเด็ดขาดกับสถาบันใดสถาบันหนึ่งแต่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป หากแต่จะเป็นอำนาจสูงสุดที่ "มาจาก" ปวงชนในพื้นที่และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรรมและเชื้อชาติที่แตกต่างหลากหลายกัน จะไม่มีใครมาผูกขาดความเป็นอธิปไตยที่แบ่งแยกไม่ได้อีกต่อไป ดังตัวอย่างของพัฒนาการของประชาคมยุโรป EU ที่อำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศสมาชิกไม่ใช่สิ่งสูงสุดของตนและคนอื่นอีกต่อไป หากแต่กำลังเป็น diminished sovereignty หรือ อำนาจอธิปไตยที่ถดถอย ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือทำลายความมั่นคงและเอกลักษณ์อะไรอีกต่อไป เพราะอำนาจจริงๆ นั้นมันไปอยู่ที่พลเมืองและประชาชนของเขาเกือบหมดแล้ว ทำให้คนของเขามีสง่าศักดิ์ศรีและมีความรู้มีความคิด ที่รู้เท่าทันผู้นำนักการเมืองและนายทุนทั้่งหลายรวมทั้งสื่อมวลชน และไม่ต้องมาตบตีฆ่าฟันกันอย่างมนุษย์ในยุคหินเก่ากันอยู่อีก

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ข้อมูลจาก Sovereignty in Fragments: The Past, Present and Future of a contested Concept, Ed. by Hent Kalmo and Quentin Skinner, Cambridge University Press, 2010) มีในห้องสมุดปรีดี พนมยงค์ มธ.