ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Richard Humphries, Kingdom’s Edge. Published by Richard Humphries photography (RHP)
St Albans, Hertfordshire, United Kingdom 2016. Pp.192. Introduction essay by Gerard McDermott. ISBN 978-1-5272-0081-4
เมื่อค่ำวันที่ 7 กรกฎาคม นี้ ผมมีโอกาสไปชมและฟังการเปิดนิทรรศการภาพถ่ายของช่างภาพอาชีพผู้มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารและนิตยสารทั่วโลก ริชาร์ด ฮัมฟรีส์ ซึ่งมาแสดง ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศกรุงเทพฯ เขารวมผลงานในหนังสือชื่อ Kingdom’s Edge อันเป็นชุดภาพถ่ายของผู้คนในบริเวณสามจังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในมิติและแง่มุมที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งชีวิตทางวัฒนธรรม ศาสนาและการทำงาน งานบันเทิง การละเล่นและการศึกษา อย่างมีชีวิตและความเป็นจริงในขณะนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ภาพตลาดในเมืองยะลาที่สตรีมุสลิมสวมฮิยาบขี่และซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ไปซื้อของในร้าน คำบรรยายบอกว่า
“ฮิยาบในหลากสีสันวางขายในร้านในเมืองที่อึกทึกไปด้วยกิจกรรมต่างๆ การสวมฮิยาบไม่ใช่เพียงเป็นสัญลักษณ์ในความศรัทธาทางศาสนา หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ด้วย” (หน้า34)
ในขณะที่ถัดไปเป็นภาพของนายสถานีรถไฟที่อำเภอจะนะโบกธงให้ขบวนรถไฟวิ่งผ่านไป
“รถไฟเป็นวิถีการคมนาคมที่สำคัญสำหรับคนในชายแดนใต้สุดของไทย รถไฟฟรีสำหรับคนท้องถิ่นและเป็นสัญลักษณ์สำคัญสำหรับรัฐบาลไทยในการแสดงให้เห็นว่าเขายังสามารถควบคุมในดินแดนหนึ่งที่ห่างไกลและยังเป็นชนบทของประเทศได้” (หน้า 40)
มิติชีวิตและสังคมที่เด่นชัดและสร้างผลสะเทือนทางอารมณ์และความรับรู้ของผู้ชมอย่างมากในหนังสือภาพเล่มนี้ คือภาพชุดอันสะท้อนและแสดงออกถึงความจริงของความรุนแรงในสามจังหวัด อันเป็นความขัดแย้งและย้อนแย้งที่กระทบถึงความหมายและความรับรู้ว่าความจริงคืออะไร อำนาจรัฐดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร และสัมพันธภาพระหว่างชุมชนกับรัฐควรดำเนินไปอย่างไร ปรากฏการณ์แรกๆ ของความรุนแรงที่เป็นการเมืองเหล่านี้แสดงออกง่ายสุดในภาพของโรงเรียนรัฐบาลที่ถูกเผา ในภาพนักเรียนชายหญิงมุสลิมยืนเคารพหน้าธงชาติ เบื้องหน้าของพวกเขาคืออาคารโรงเรียนที่ถูกเผาเหลือแต่เสาและคานและหลังคาสังกะสีบางอัน (หน้า 48) อีกภาพที่เล่าเรื่องได้ดีกว่าคำบรรยายคือภาพของพระออกบิณฑบาตโดยมีทหารถือปืนกับรถทหารคุ้มกันอยู่ (หน้า 146) อีกภาพคือชาวบ้านกำลังขุดหลุมฝังศพผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซึ่งถูกยิงตายขณะเดินทางกลับจากประชุมในหมู่บ้าน “ว่าถูกยิงโดยผู้สงสัยว่าเป็นคนในขบวนการก่อความรุนแรงอิสลาม” (หน้า 168)
เมื่อความรุนแรงยกระดับและขยายขอบเขตออกไปทั้งทางกายภาพและในที่สุดในทางความคิด ชีวิตที่ปกติของสังคมซึ่งดำรงอยู่ด้วยการผสมผสานและสมานฉันท์บนความแตกต่างและหลากหลายไม่ว่าในภาษา ศาสนา หรืออาหาร และความคิดความเชื่อ เริ่มถูกความรุนแรงในนามของความจงรักภักดี ความมั่นคง และความบริสุทธิ์ของแต่ละฝ่ายเข้ามาทำให้ดุลยภาพของความสัมพันธ์ติดต่อระหว่างผู้คนไม่เป็นไปเองตามธรรมดาวิสัย หากแต่ดุลยภาพและความสัมพันธ์ค่อยๆ กลายมาเป็นทางการเป็นระบบและถูกจัดวางหรือจัดการตามที่อำนาจต้องการ ในร้านน้ำชาแห่งหนึ่งมีภาพปฏิทินของในหลวงแขวนไว้เคียงข้างกับนาฬิกาที่มีภาพของกะอ์บะห์ในนครเมกกะอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลาม (หน้า 86)
ริชาร์ด ฮัมฟรีส์ยังฉายภาพของคนจีนและคนงานพม่าในสามจังหวัดด้วย ผ่านภาพงานประจำปีที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ส่วนคนงานพม่าทำงานในเรือประมงและสะพานปลา
กล่าวโดยสรุป หนังสือภาพ Kingdom’s Edge หรือชายขอบของอาณาจักรเป็นหนังสือภาพที่เป็นมากกว่าภาพ ผลงานของเขาพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพของการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะมองจากทางเทคนิค ความงามและพลังของภาพที่สื่อออกมายังสายตาของผู้ชม เหนือกว่าความสามารถในอาชีวะและการนำเสนอของเขาแล้ว ผมคิดว่าเขามีทรรศนะทางสังคมหรือปรัชญาสังคมชุดหนึ่งที่ผลักดันและนำทางเขาไปยังดินแดนชายขอบแห่งนี้ของประเทศไทย ดังที่เขาตอบคำถามแก่ผู้ร่วมงานในวันเปิดแสดงนิทรรศการที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า สิ่งที่ทำให้เขาเดินทางมาถ่ายภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ “เพราะผมสงสัยว่าทำไมถึงเกิดความรุนแรงอย่างมากในบริเวณนี้ และที่ทำให้ต้องมาดูด้วยตาเพราะว่ามันแทบไม่มีข่าวออกไปข้างนอกเลย คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าในบริเวณดินแดนแห่งนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้น”
ริชาร์ด ฮัมฟรีส์ ช่างภาพผู้บันทึกภาพผู้คนในสามจังหวัดชายแดนใต้รวมพิมพ์เป็นเล่มในหนังสือ Kingdom’s Edge
ริชาร์ด ฮัมฟรีส์เป็นช่างภาพนักข่าว (photojournalist) ด้วยประสบการณ์ 15 ปีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เขาซึมซับวัฒนธรรมและภาษาของภูมิภาคนี้ เขาพูดภาษาอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีความสนใจในปัญหาสังคม โดยเฉพาะที่เกิดจากความต้านตึงทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ปัญหาอัตลักษณ์และพรมแดน เขากล่าวว่าเรื่องชายแดนชายขอบเป็นประเด็นที่เขาติดใจมากเป็นพิเศษ ดังเห็นได้จากภาพแรกในหนังสือเขาที่ฉายภาพพรมแดนไทยกับมาเลเซีย แสดงให้เห็นตำแหน่งของสามจังหวัดที่อยู่ติดกับมาเลเซียมากกว่ากรุงเทพฯ และนั่นคือที่มาของ “ชายขอบพระราชอาณาจักร”
นอกจากนี้ หนังสือภาพเล่มนี้ยังมีคำนำเขียนโดย Gerard McDermott ซึ่งเป็นนักเขียน ช่างภาพและนักวิจัย เขามาจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ขณะนี้พำนักอยู่ในประเทศจีน ต้องบอกว่าคำนำของเขาในปัญหาและความเป็นมาของสามจังหวัดชายแดนใต้เขียนได้ดีมาก เรียบเรียงและอธิบายสั้นและง่ายตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์มาถึงสมัยปฏิรูปของรัชการที่ 5 กระทั่งมาถึงยุคประชาธิปไตยและไม่ประชาธิปไตย ว่าสภาพสถานะและปัญหาสามจังหวัดใต้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
สนใจประวัติและงานเขียนของเขาติดตามได้ใน http://independent.academia.edu/GerardMcDermott